วิรัตน์ แสงทองคำ : มหาวิทยาลัยหันปรับเข้าสู่โลกดิจิตัล

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ไปออนไลน์

มหาวิทยาลัยไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่ยุคใหม่ที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น ผ่านสิ่งที่เรียกกว่า Digital Transformation

ว่าด้วย “มหาวิทยาลัยไทยไปทางไหน” มาถึงบทสรุปแล้ว ด้วยข้อเสนอเดียวเท่านั้น ต้องไปออนไลน์

นั่นคือ ระบบการศึกษาออนไลน์ที่เรียกกันว่า MOOC (Massive Open Online Courses)

ในตอนก่อนๆ ได้นำเสนอบางภาพมาบ้าง ได้กล่า;ถึง 2 เครือข่ายใหญ่

“หนึ่ง – edX (https://www.edx.org) ซึ่งก่อตั้งโดย Harvard University และ MIT ในปี 2545 ปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลกเข้าร่วมมากกว่า 120 แห่ง เริ่มต้นจากหลักสูตรพื้นฐาน พัฒนาอย่างรวดเร็วเป็นหลักสูตรต่อเนื่อง หลักสูตร Professional Certificate และ MicroMasters Program จนถึง Online Master”s Degree อีกค่ายหนึ่ง – Coursera (https://about.coursera.org/) ก่อตั้งในปีเดียวกัน โดยศาสตราจารย์ 2 คนจาก Stanford University ปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาชั้นนำทั่วโลกเข้าร่วมมากกว่า 150 แห่ง มีมากกว่า 2,700 หลักสูตร ในสาขาเฉพาะทางมากกว่า 250 สาขา และให้ปริญญาถึง 12 หลักสูตร รวมทั้ง MBA ด้วย”

นั่นคือภาพกว้างๆ บางส่วนเท่านั้น

แท้จริงมีเรื่องราวในนั้นอีกมากมาย

ระบบการศึกษาแบบใหม่หรือ MOOC เป็นปรากฏการณ์สำคัญ พัฒนาการระบบการศึกษาของโลกยุคใหม่ได้เกิดขึ้น พัฒนาและเติบโต มีอิทธิพลอย่างรวดเร็วภายในช่วงทศวรรษเดียว

 

เครือข่าย

ความเป็นไปเครือข่ายผู้ให้บริหารการศึกษาดังกล่าว สะท้อนมิติอันหลากหลายและซับซ้อน

มิติแรก ปรากฏการณ์สำคัญว่าด้วยการปรับตัวของมหาวิทยาลัยระดับโลก ไม่ว่าจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งมี 2 เครือข่ายสำคัญ ดังกล่าวถึงมาแล้ว เป็นโมเดลอ้างอิง (edX–https://www.edx.org กับ Coursera–https://about.coursera.org/) สู่สหราชอาณาจักร ด้วยการเริ่มต้นผนึกกำลังของมหาวิทยาลัยชั้นนำของอังกฤษ (FutureLearn–www.futurelearn.com) ไปยังยุโรป โดยเฉพาะเครือข่ายมหาวิทยาลัยบางแห่งในเยอรมนี (Iversity–www.iversity.org) ไปจนถึงเครือข่ายมหาวิทยาลัยในออสเตรเลีย (Open Universities Australia–www.open.edu.au)

บรรดาผู้ให้บริการในนามมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ภายใต้เครือข่ายอันหลากหลาย เป็นการผนึกพลังและรวมตัวกันอย่างซับซ้อน

สถาบันการศึกษาหลายแห่งอยู่ในหลายเครือข่ายในเวลาเดียวกัน พร้อมด้วยสถาบันการศึกษาทั่วโลก ไม่ใช่มีเพียงหลักสูตรเป็นภาษาอังกฤษ ยังมีภาษาสำคัญอื่นๆ ของโลกอีกหลายภาษา รวมทั้งภาษาจีน

โดยมหาวิทยาลัยในสาธารณรัฐประชาชนจีน ยกตัวอย่าง Fudan University Xi”an Jiaotong University และ University of Science and Technology of China เข้ามาอยู่ใน Coursera ขณะที่ Tsinghua University อยู่ในเครือข่าย edX ส่วน Peking University อยู่ทั้งใน Coursera และ edX ขณะ Shanghai Jiao Tong University อยู่ทั้งใน Coursera และ FutureLearn

ปรากฏการณ์อีกมิติหนึ่งที่สำคัญ การปรากฏขึ้นของผู้ให้บริการการศึกษาแบบออนไลน์ที่มิใช่สถาบันการศึกษา เป็นขบวนกันคึกคักอย่างคาดไม่ถึง ถือเป็นคู่แข่งที่น่าเกรงขาม

ว่าไปแล้วเป็นปรากฏการณ์ส่งผลกระทบอย่างรวดเร็วในโลกตะวันตก

และเชื่อว่าในระยะต่อมาจะสั่นสะเทือนในโลกที่กว้างขึ้น ถือเป็น Disruptive อย่างหนึ่งต่อระบบการศึกษาแบบดั้งเดิม

ผู้ให้บริการการศึกษาดังกล่าวมีหลากหลาย โดยเฉพาะธุรกิจระดับโลก ในความพยายามเข้าสู่ธุรกิจใหม่ที่น่าตื่นเต้น

เช่น กรณี Microsoft เปิดคอร์สพื้นฐานจำนวนมากผ่าน edX คอร์สซึ่งเคยเป็นบริการเสริมกับคู่ค้าได้นำมาสู่สาธารณชนวงกว้างขึ้น

หรือกรณี IBM เปิดคอร์สหลากหลายผ่าน edX และ Coursera มีทั้งคอร์สฟรีและเก็บเงิน

ส่วน Google มีคอรส์ใน Coursera รวมทั้งให้ประกาศนียบัตรวิชาชีพเฉพาะผู้ทำงานด้านสนับสนุนไอทีระดับต้น และ Intel มีคอร์สใน Coursera ซึ่งน่าสนใจทีเดียวเกี่ยวกับ deep learning

มีอีกบางกรณีจะยกขึ้นมาอ้างไว้เช่นกัน ธุรกิจที่ปรึกษาระดับโลก ก้าวเข้าสู่ธุรกิจใหม่เช่นกัน Boston Consulting Group (BCG) และ PwC ใน Coursera หรือกรณี Accenture ในเครือข่าย FutureLearn

 

เปิดกว้าง

ด้วยระบบการศึกษา MOOC มีเป้าหมายสำคัญ เพื่อให้ผู้เรียนเข้าถึงอย่างเปิดกว้าง ไม่จำกัดจำนวน ภายใต้เครือข่ายอินเตอร์เน็ตที่ครอบคลุมทั่วโลก ถือเป็นปรากฏการณ์และพัฒนาการในเชิงอุดมคติ ให้การศึกษาเข้าถึงผู้คนอย่างเท่าเทียม กว้างขวางที่สุดอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

รวมทั้งมีความพยายามให้บริการเสริม โดยเฉพาะเพื่อการแชร์ความรู้ข้ามพรมแดน และขจัดอุปสรรคในด้านภาษาด้วย

อย่างที่กล่าวมาแล้ว คอร์สและหลักสูตรต่างๆ พัฒนาไปอย่างมาก จากพื้นฐานสู่การศึกษาอย่างเป็นระบบ มีทั้งประกาศนียบัตรวิชาชีพ หลักสูตรย่อย อย่างที่เรียกว่า MicroMaster และ MiniMBA ไปจนถึงหลักสูตรเต็มรูปแบบในระดับปริญญา มีความหลากหลายจากหลักสูตรไม่เก็บเงิน จนถึงหลักสูตรเสียเงิน

ซึ่งถือว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการเดินทางไปศึกษาต่างประเทศแล้ว เป็นทางเลือกที่เพิ่มขึ้น เป็นการลงทุนเพื่อการศึกษาที่มีราคาถูกกว่ามาก

ในเชิงธุรกิจ เป็นสิ่งท้าทายและความเสี่ยง ด้วยเผชิญสถานการณ์การแข่งขันเข้มข้น จะมีมากขึ้นๆ เป็นลำดับ ท่ามกลางกระบวนการเบียดขับ ทำลายสถาบันการศึกษาดั้งเดิมโดยเฉพาะในท้องถิ่น ซึ่งแบรนด์ไม่แข็งแกร่งเท่ากับสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลก

ประกาศนียบัตร หรือปริญญาจากเครือข่ายการศึกษาออนไลน์จะมีค่ามากขึ้น

แม้กระทั่งประกาศนียบัตรความชำนาญเฉพาะอย่างย่อยๆ จากองค์กรธุรกิจระดับโลก ซึ่งมีความสำคัญ มีความทันสมัยเชื่อมโยงกับอาชีพการงานที่เป็นจริง จะมีคุณค่ามากกว่าสิ่งที่ได้จากการศึกษาในระบบดั้งเดิม

ที่พูดๆ กันว่าในอนาคตอันใกล้ การศึกษาในระบบดั้งเดิมจะมีคุณค่าลดลงนั้น ไม่เกินความจริง

ระบบการศึกษาแบบออนไลน์ข้างต้นมีความยืดหยุ่นอย่างสูงในการปรับตัว ตอบสนองความต้องการในระดับและโมเดลต่างๆ จากระดับปัจเจก สู่แพ็กเกจ กลายเป็นหลักสูตรพัฒนาบุคลากรในองค์กรและธุรกิจ เป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่น่าสนใจ มีความเป็นไปอย่างคึกคักพอสมควรในเวลานี้เข้าทดแทนแบบแผนเดิม

โดยเฉพาะกับเครือข่ายธุรกิจระดับโลก และองค์กรรัฐที่ทันสมัย

 

ต่อมหาวิทยาลัยไทย

มองภาพกว้างอย่างที่ว่าไว้ คุณูปการอินเตอร์เน็ต มีความหมายเชิงอุดมคติอย่างชัดเจนและน่าสนใจอย่างมากๆ ในกระบวนการสร้างระบบการศึกษาเพื่อเข้าถึงผู้คนอย่างกว้างขวาง

ในแง่สถาบันการศึกษาดั้งเดิมกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายครั้งใหญ่ มองได้ว่ามีอีกด้านหนึ่ง การเรียนแบบออนไลน์เป็นเพียงระบบเสริม และเป็นแรงกระตุ้นบางระดับให้การศึกษาระบบเดิมปรับตัว ยกระดับขึ้นนั้น น่าจะเป็นการประเมินสถานการณ์ที่ต่ำเกินไปเสียแล้ว

การปรับเปลี่ยนระบบภายในครั้งใหญ่ของมหาวิทยาลัยไทย เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากๆ ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

–ภายใต้สมมุติฐานสังคมไทย เชื่อว่าคอร์สการศึกษาในระบบออนไลน์ ตามมาตรฐานอ้างอิงกับเครือข่ายระดับโลกที่ว่าข้างต้นนั้น จะได้มาก็ต่อเมื่อมีการจัดการ จัดระบบ ด้วยการจัดการเนื้อหา (content) ใหม่อันครบถ้วน ไม่ว่าคลิปบรรยาย textbook ระบบข้อมูล (Archive) หนังสืออ้างอิง ชุดโจทย์และข้อทดสอบ (problem sets)

บางคอร์สมี online laboratories ระบบติวแบบเรียลไทม์ (live tutorials) การจัดให้มี forum เพื่อการสนทนาแลกเปลี่ยนระหว่างผู้เรียนทั่วโลก มีการประเมินและวัดผลเป็นระยะๆ

กระบวนการพัฒนาให้ได้ข้างต้น ย่อมเป็นการพัฒนาและปรับเปลี่ยนระดับโครงสร้าง ว่าด้วยแบบแผนและความสามารถของผู้สอนหรืออาจารย์ในระบบมหาวิทยาลัยไทย อย่างที่เห็นและเป็นอยู่ แต่ไหนแต่ไรมา อ้างอิงและขึ้นอยู่กับตัวบุคคลอย่างมากๆ

ความเป็นปัจเจกของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยไทยมีเรื่องเล่ามากมาย บางกรณีไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนักมาตลอดหลายทศวรรษ ไม่ว่า ไม่ตรงต่อเวลา มีเนื้อหาการสอนไม่เป็นระบบ แบบแผน เน้นการบอกเล่าและบรรยาย

อีกมิติหนึ่งสำคัญต่อระบบการศึกษาไทย ต่อคุณค่ามหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาซึ่งถ่ายทอดบทเรียนและความรู้จากแหล่งที่อ้างอิงได้ทั่วโลก สามารถผลิตความรู้เอง (มาจากงานวิจัย) ซึ่งมีความสำคัญมากขึ้น

กับมีทรัพย์สินที่มีคุณค่าและเคลื่อนย้ายได้ นั่นคือเนื้อหาและระบบหลักสูตรใหม่ เนื้อหาคอร์สออนไลน์ ถือเป็นบทสรุปการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เป็นการเคลื่อนย้ายความรู้ ความชำนาญ จากปัจเจก จากอาจารย์ ให้กลายเป็นองค์ความรู้ของระบบและมหาวิทยาลัยด้วย

—การปรับเปลี่ยนข้างต้นมิใช่เฉพาะส่วน บางคอร์ส หรือบางหลักสูตร แยกออกมาจากระบบดั้งเดิม

หากควรเป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ ทุกคอร์ส ทุกหลักสูตร

เชื่อว่าส่วนใหญ่สามารถเคลื่อนย้ายสู่ระบบออนไลน์ได้ 100%

มีเพียงบางส่วนเท่านั้นไม่สามารถเข้าสู่ระบบออนไลน์ทั้งหมด จะเป็นระบบคู่ขนานและเสริมกัน

การเปลี่ยนแปลงทั้งระบบดังกล่าวจะสร้างโอกาสใหม่ให้กับมหาวิทยาลัย สามารถปรับตัวเข้าการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ความต้องการของผู้เรียน ซึ่งเชื่อกันว่าไม่สามารถอ้างอิงอย่างถาวรกับกลุ่มดั้งเดิมได้อีกต่อไป

–ระบบการศึกษา MOOC ของมหาวิทยาลัยไทย ควรอยู่ในระบบเครือข่ายระดับโลก ซึ่งไม่เป็นเช่นนั้นในเวลานี้ เป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อยกระดับมาตรฐานและความสามารถ โดยการอ้างอิง เปรียบเทียบกับสถาบันการศึกษาอื่นๆ ในเครือข่ายระดับโลกดังกล่าว

การเข้าสู่ระบบการศึกษาออนไลน์ เพื่อยกระดับสู่มาตรฐานโลก เป็นทางสองแพร่ง จะอยู่รอด หรือถูกเบียดขับ