ศิลปินผู้ตีแผ่ความอัปลักษณ์ของจิตใจมนุษย์ และความขลาดเขลาของสังคม ‘ฟรานซิสโก โกยา’

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ช่วงที่ผ่านมาเราเล่าเรื่องราวของศิลปินร่วมสมัยกันไปหลายตอนแล้ว

เพื่อเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศ ในตอนนี้เลยจะขอเล่าถึงเรื่องราวของศิลปินชั้นครูในยุคเก่าก่อนกันบ้าง

และศิลปินที่เราจะกล่าวถึงนี้ก็เป็นหนึ่งในศิลปินเอกผู้ยิ่งใหญ่ของโลก

เขาผู้นั้นมีชื่อว่า

ฟรานซิสโก โกยา (Francisco Goya) (1746-1828)

หรือในชื่อเต็มว่า ฟรานซิสโก โฆเซ่ เดอ โกยา อี ลูเซียนเตส (Francisco Jos? de Goya y Lucientes)

ศิลปินชาวสเปนแห่งยุคโรแมนติก

ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นศิลปินคนสำคัญที่สุดของสเปนในช่วงปลายยุคศตวรรษที่ 18 และต้นศตวรรษที่ 19

ตลอดอาชีพการทำงานอันยาวนาน โกยาประสบความสำเร็จอย่างมากในฐานะศิลปิน

เขาได้รับการกล่าวขานถึงในฐานะทั้งจิตรกรชั้นครูคนสุดท้ายแห่งยุคสมัยเก่า และจิตรกรผู้ก้าวหน้าคนแรกแห่งยุคโมเดิร์น

เขายังเป็นนักวาดภาพเหมือนบุคคลผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งยุคสมัยของเขาอีกด้วย

ภาพเหมือนที่โด่งดังที่สุดของเขาคือภาพวาด La Maja Desnuda (ภาพเปลือยของมายา) (1797-1800) ซึ่งเป็นภาพวาดผู้หญิงเปลือย (ขนาดเท่าคนจริง) ที่ถือได้ว่าเป็นภาพวาดที่เปิดเผยจะแจ้งที่สุด

La maja desnuda, (1790–1800),สีน้ํามันบนผ้าใบ,พิพิธภัณฑ์ปราโด(Museo del Prado),กรุงมาดริด,สเปน,
ภาพจากhttps://bit.ly/1HFpFjG

ภาพแรกในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก ที่ไม่แสแสร้งแกล้งเป็นภาพวาดเชิงสัญลักษณ์หรือตำนานเทพนิยาย

ภาพวาดนี้มีอีกเวอร์ชั่นชื่อ La maja vestida (มายาสวมเสื้อผ้า) (1800-1805) ที่นางแบบคนเดิม โพสท่าเหมือนเดิมแทบไม่ผิดเพี้ยน

ต่างกันตรงที่สวมเสื้อผ้าเต็มยศเท่านั้นเอง

La maja desnuda, (1790-1800), สีน้ํามันบนผ้าใบ, พิพิธภัณฑ์ปราโด (Museo del Prado), กรุงมาดริด, สเปน ภาพจาก https://bit.ly/1HFpFjG

ผลงานของโกยา นอกจากจะเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกอันรุนแรง ลึกลับ ฟุ้งฝันตามแบบศิลปะยุคโรแมนติกแล้ว ยังเปี่ยมไปด้วยแนวคิดที่ล้ำสมัยซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินในยุคต่อมาอย่างสูง

นอกจากนี้เขายังเป็นศิลปินภาพพิมพ์ชั้นเยี่ยมที่ทำผลงานภาพพิมพ์ที่สำรวจจิตใจเบื้องลึกของมนุษย์ และแฝงประเด็นวิพากษ์วิจารณ์เสียดสีสังคมการเมืองออกมามากมาหลายชิ้น

ดังเช่นในผลงาน Los caprichos (ความเพ้อคลั่ง) ชุดภาพพิมพ์โลหะที่โกยาทำขึ้นในช่วงปี 1797 และ 1798 และตีพิมพ์รวมเล่มในปี 1799

Capricho No. 59: ¡Y aún no se van! (And still they don’t go!) (1797 – 1798),ภาพพิมพ์โลหะ,
ภาพจากhttps://bit.ly/1HFpFjG
Capricho No. 43: El sueño de la razón produce monstruos (The Sleep of ReasonProduces Monsters/การหลับใหลของเหตุผลก่อให้เกิดฝูงปิศาจ) (1797 – 1798),ภาพพิมพ์โลหะ,ภาพจาก https://bit.ly/1HFpFjG
Capricho No. 39: Hasta su abuelo (And so was his grandfather) (1797 – 1798),ภาพพิมพ์โลหะ,ภาพจาก https://bit.ly/1HFpFjG

ผลงานชุดนี้เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ความโง่เง่าขลาดเขลา, ความงมงาย, ไร้ความสามารถ และขาดไร้เหตุผล ของชนเหล่าชั้นปกครองในสังคมสเปนที่เขาอาศัยอยู่อย่างแสบสัน

ถึงแม้โกยาจะมีตำแหน่งเป็นจิตรกรเอกผู้ทรงเกียรติแห่งราชสำนักสเปน แต่เขาก็เป็นศิลปินนักปฏิวัติ, นักบันทึกประวัติศาสตร์, นักวิพากษ์วิจารณ์สังคม และนักต่อต้านสงครามตัวยงอีกด้วย

ดังจะเห็นได้จากผลงานหลายชิ้นของเขาที่มุ่งเน้นในการแสดงออกถึงความทารุณโหดร้ายของสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพวาด

The Third of May 1808 (1814)

The Third of May 1808 (1814),สีน้ํามันบนผ้าใบ,พิพิธภัณฑ์ปราโด(Museodel Prado),กรุงมาดริด,สเปน,
ภาพจากhttps://bit.ly/1HFpFjG

ภาพวาดที่แสดงความโหดร้ายสะเทือนอารมณ์ของการสังหารหมู่ประชาชนโดยเหล่าทหารจากกองทัพของนโปเลียน ที่บุกเข้าโจมตีสเปนในปี 1808 ระหว่างสงครามคาบสมุทร (Peninsular War)

โกยาเปลี่ยนขนบในการนำเสนอจุดเด่นของตัวละครในภาพวาดภาพนี้ ด้วยการให้ผู้ชมมองตรงไปยังใบหน้าของเหยื่อที่กำลังตื่นตระหนกและหวาดหวั่นกับความตายที่กำลังคุกคาม แทนที่จะเป็นเหล่าทหารผู้รุกรานที่มองไม่เห็นใบหน้าชัดเจน

เขาถ่ายทอดห้วงขณะอันน่าสะเทือนใจ ด้วยแสงเงาที่ตัดกันอย่างเข้มข้นรุนแรง

ในจุดที่สว่างไสวที่สุดเป็นภาพของชายหนุ่มที่ยืนอยู่ท่ามกลางฝูงชนผู้หวาดกลัว สายตาจ้องมองไปยังเหล่าศัตรูที่กำลังเล็งปืนหมายเอาชีวิตพวกเขา สองมือชูขึ้นเหนือหัวคล้ายกับยอมจำนน

แต่ในขณะเดียวกันเขาก็มีท่าทางราวกับพระเยซูกำลังถูกตรึงกางเขน

อีกทั้งบนมือขวาของเขายังปรากฏร่องรอยที่ดูคล้ายกับรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ (Stigmata) ซึ่งดูเหมือนกับว่า โกยาเปรียบภาพการสังหารหมู่ครั้งนี้กับการพลีชีพเพื่อไถ่บาปให้มวลมนุษย์ของพระเยซูก็ไม่ปาน

ภาพวาดของโกยาภาพนี้ แหวกขนบของภาพวาดแบบประเพณีทางศาสนาและภาพวาดสงครามตามแบบแผนอย่างสิ้นเชิง

ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในภาพวาดแห่งยุคสมัยใหม่ภาพแรก และเป็นผลงานศิลปะที่เรียกได้ว่าเป็นการปฏิวัติในทุกแง่มุมของการวาดภาพเลยก็ว่าได้

มันส่งอิทธิพลต่อศิลปินรุ่นหลังมากมาย อาทิ ภาพวาด Massacre in Korea (1951) และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Guernica (1937) ภาพวาดต่อต้านสงครามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของศิลปินเอกของโลกชาวสเปน ปาโบล ปิกัสโซ

นอกจากนั้นมันยังส่งอิทธิพลสู่ภาพวาดชุด The Execution of Emperor Maximilian ของจิตรกรชาวฝรั่งเศส เอดูอาร์ มาเนต์ อีกด้วย

ในช่วงวัยชรา หูซ้ายของโกยาหนวกสนิทจากอาการป่วย และต้องประสบกับความทุกข์ทรมานจากการรักษา

ประสบการณ์นี้ทำให้เขาตั้งคำถามอย่างจริงจังเกี่ยวกับความตายของตัวเอง

เขาปลีกตัวจากสายตาของสาธารณชนไปอาศัยอยู่ที่บ้านในกรุงมาดริดที่มีชื่อว่า Quinta del Sordo หรือ House of the Deaf Man (บ้านของชายหูหนวก) ที่ตั้งชื่อตามเจ้าของเดิมที่หูหนวก (บังเอิญว่าโกยาเองก็หูหนวกด้วยเหมือนกัน)

ที่นี่เองที่เขาวาดภาพในชุด Black Paintings (Pinturas Negras) ลงบนกำแพงปูนปลาสเตอร์ในบ้านจำนวน 14 ภาพ ในช่วงปี 1819-1823 นัยว่าเพื่อเป็นการบำบัดอาการป่วยไข้ โดยไม่ได้ตั้งใจจะนำออกแสดงต่อสาธารณชน และไม่มีหลักฐานว่าโกยาตั้งชื่อภาพเหล่านี้ด้วยซ้ำไป

ภาพวาดชุดนี้มีเนื้อหามุ่งเน้นในการแสดงอารมณ์หวาดผวา, ความหวาดกลัว, ความชั่วร้าย, อัปลักษณ์ และความวิปลาสวิปริตผิดเพี้ยนที่ซ่อนอยู่ภายในจิตใจมนุษย์

หลังจากที่โกยาเสียชีวิต ภาพวาดเหล่านี้จึงถูกตัดและลอกออกจากกำแพงลงมาติดบนผ้าใบ และตั้งชื่อใหม่โดยนักวิชาการศิลปะ หนึ่งในภาพวาดที่โด่งดังที่สุดในชุดนี้มีชื่อว่า

Saturno devorando a su hijo หรือ Saturn Devouring His Son (1819-1823) (แซตเทิร์นกัดกินบุตรชายของตัวเอง)

Saturn Devouring His Son (1819–1823),สีน้ํามันบนผ้าใบ,พิพิธภัณฑ์ปราโด(Museo delPrado),กรุงมาดริด,สเปน
ภาพจากhttps://bit.ly/1NUlI

ภาพวาดชิ้นสำคัญอันสุดสยดสยองของเขาภาพนี้ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากตำนานเทพปกรณัมกรีกโบราณของเทพไททันส์ “โครโนส” (หรือเรียกในภาษาโรมันว่าแซตเทิร์น) ผู้หวาดกลัวว่าบุตรของตนจะเติบโตขึ้นมาปล้นชิงราชบัลลังก์แห่งสรวงสวรรค์ตามคำทำนาย เขาจึงจับลูกๆ ของตนมากินทั้งเป็น!

ที่น่าสนใจก็คือ มีการค้นพบว่ารายละเอียดของภาพบางส่วนได้เสียหายไปมาก ส่วนหนึ่งเกิดจากการโยกย้ายภาพจากกำแพงลงบนผ้าใบ และส่วนที่เสียหายไปนั้น เดิมทีมีหลักฐานว่าเป็นส่วนล่างของภาพที่เป็นรูปอวัยวะเพศชายที่กำลังแข็งตัว (พูดง่ายๆ ว่า “จู๋โด่” อยู่นั่นแหละ) ซึ่งแปลว่าเทพแซตเทิร์นหรือโครโนสในภาพนั้นเกิดอารมณ์ทางเพศในขณะที่กำลังฆ่าและกินลูกตัวเองอยู่!

ซึ่งพ้องกับทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของซิกมุนด์ ฟรอยด์ (ที่ถือกำเนิดในภายหลัง) ที่ว่า “พ่อ” ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิด ในขณะเดียวกันก็เป็นผู้ทำลายด้วยเช่นกัน

มีข้อมูลเพิ่มเติมว่า ช่วงที่วาดภาพนี้โกยาป่วยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (น่าจะเป็นโรคซิฟิลิส) ซึ่งส่งผลกระทบทำให้ลูกที่เกิดมามีปัญหาทางสุขภาพและเสียชีวิตไปหลายคน ภาพวาดนี้เลยเหมือนการแสดงความรู้สึกเสมือนว่าเขากินลูกตัวเองจากความป่วยไข้ของตัวเอง

ว่ากันว่าโกยาอาจได้แรงบันดาลใจในการวาดภาพนี้จากภาพในปี 1636 ที่มีชื่อเดียวกันของปีเตอร์ พอล รูเบนส์ ปัจจุบันภาพวาดทั้ง 14 ภาพถูกแสดงเป็นคอลเล็กชั่นถาวรอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติปราโด (Museo del Prado) กรุงมาดริด, ประเทศสเปน

อนึ่ง ถ้าใครเคยอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นยอดฮิตอย่าง Attack on Titan เองก็ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพวาดแซตเทิร์นกินลูก และภาพวาดยักษ์ในชุด The Colossus (1808-1812) ของโกยานั่นเอง

บั้นปลายชีวิต โกยาอัปเปหิตัวเองออกจากประเทศสเปน เกษียณตัวเองไปอยู่ในแคว้นบอร์โดซ์ ประเทศฝรั่งเศส และทำงานชุดสุดท้ายของชีวิตที่นั่น จนกระทั่งเสียชีวิตในปี 1828 ในวัย 82 ปี ร่างของเขาถูกฝังอยู่ที่นั่นระยะหนึ่ง ก่อนที่จะถูกย้ายไปฝังในโบสถ์ St.Anthony of La Florida ในกรุงมาดริด

ที่ที่เขาเคยฝากผลงานทิ้งเอาไว้นั่นเอง