วงค์ ตาวัน : เครื่องมือการเมืองเรื่องต้านทุจริต

วงค์ ตาวัน

พอใกล้จะเลือกตั้ง เหล่าประชาชนผู้หวงแหนในสิทธิเสรีภาพทางการเมืองที่เคยอยู่ในมือของทุกคนแล้วจู่ๆ ต้องสูญเสียไป ด้วยเหตุการณ์ในช่วงปลายปี 2556 ถึงต้นปี 2557 ทำให้บ้านเมืองไร้ประชาธิปไตย ฉุดสังคมให้ถอยไปสู่ความล้าหลังมายาวนานกว่า 4 ปี

“ทำให้ต้องนึกทบทวนถึงปมปัญหาในสังคมไทยเรา ทำอย่างไรเราจึงจะพ้นจากวงจรความล้าหลังเหมือนพายเรือวนในอ่างเช่นนี้ไปได้”

จนเมื่อไม่นานมานี้ ในการเสวนาครบรอบ 70 ปี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการบรรยายของศาสตราจารย์โยชิฟูมิ ทามาดะ แห่งมหาวิทยาลัยเกียวโต หัวข้อ “Anti-Corruption Politics สู้กับทุจริตเพื่ออะไร” ได้ให้ข้อสรุปที่แหลมคมประการหนึ่งว่า

“ปัญหาใหญ่กว่าการทุจริต คือการต่อต้านทุจริต เพราะมีการนำมาใช้เป็นเครื่องมือทำลายประชาธิปไตยไทย!!”

นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกียวโตกล่าวว่า การทุจริตเป็นปัญหาใหญ่ แต่การต่อต้านการทุจริตเป็นปัญหาใหญ่กว่าเมื่อมีการทำลายประชาธิปไตย เมืองไทยในปัจจุบัน การทุจริตเป็นต้นเหตุของเผด็จการทหาร เพราะเขาอ้างว่าทำเพื่อปราบปรามทุจริต

กปปส.อ้างความร้ายแรงของการทุจริต เรียกร้องการแก้ปัญหาและการปฏิรูป โดยคนดีเหล่านี้ปฏิเสธทั้งทักษิณและประชาธิปไตย

The Asia Foundation ได้สำรวจความเห็นผู้เข้าร่วม กปปส. ส่วนใหญ่อธิบายการมาชุมนุมว่าเพื่อทำลายระบอบทักษิณ เพื่อปฏิรูประบบการเมือง เพื่อล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์

“เมื่อถามว่าการปฏิรูปคืออะไร ส่วนใหญ่ตอบว่าปฏิรูปเรื่องการทุริต และทักษิณทุจริตต้องกำจัด”

ถ้าเปรียบการทุจริตเป็นโรคมะเร็ง แต่การฆ่าผู้ป่วยไม่ใช่ทางที่ดี หากเข้าใจเรื่องการทุจริตไม่ดีพอ เราจะถูกใช้เป็นเครื่องมือทำลายประชาธิปไตยง่ายขึ้น

“เมื่อการทุจริตถูกใช้เป็นเครื่องมือการเมือง และถึงที่สุดก็ปฏิเสธการเมือง!”

จากข้อมูลของนักวิชาการญี่ปุ่น ระบุถึงภาพรวมของการต่อต้านคอร์รัปชั่นว่า กระแสต่อต้านการทุจริตทั่วโลกรุนแรงขึ้นใน 30 ปีที่ผ่านมา

คอร์รัปชั่นเกิดเป็นศัตรูใหม่ในยุคหลังสงครามเย็น เมื่อไม่มีคอมมิวนิสต์จึงต้องมีศัตรูใหม่เพื่อจับมือกันต่อสู้ เพื่อผู้ดำเนินการจะเกิดศีลธรรม

ขณะที่ปัญหาคือการต่อต้านทุจริตไทย ได้เป็นส่วนหนึ่งของการเมือง เช่น กระบวนการยุติธรรมมีลักษณะเลือกปฏิบัติ การทุจริตเป็นข้ออ้างต่อต้านประชาธิปไตย อีกทั้งไทยมีการปราบปรามการทุจริตที่ไม่เท่าเทียมกันและไม่เสมอกันเมื่อเทียบกับต่างชาติ

โดยยกตัวอย่างคดีจัดซื้อรถดับเพลิง กทม. คดีมิตซูบิชิกับโรงไฟฟ้า

“รวมถึงกรณีจีที 200 รัฐบาลไทยซื้อมาจำนวนมากโดยเฉพาะกองทัพบก การใช้งานเกิดปัญหาตั้งแต่ปี 2551 จนอังกฤษห้ามส่งออกปี 2553 และลงโทษผู้ผลิตปี 2556 แต่ ป.ป.ช.ทำงานช้ามาก ล่าสุดกรรมการ ป.ป.ช.บอกว่า “เครื่องนี้เป็นความเชื่อเหมือนพระเครื่อง ฉะนั้น มีประโยชน์””

มีบทความของบีบีซี เทียบคดีจีที 200 กับจำนำข้าว ซึ่งจำนำข้าวความคืบหน้ารวดเร็วมาก มีการลงโทษไปแล้ว หรือในกรณีการขายข้าวแบบจีทูจีปลอมนั้น ที่มีการซื้อแพงขายถูกแล้วรัฐบาลขาดทุน ถ้าคิดแบบญี่ปุ่นไม่ผิดกฎหมาย เพราะถือเป็นนโยบายสังคม (Social Policy) ค่าข้าวถึงมือชาวนาแล้วเรียกค่าเสียหายกับนายกฯ ได้อย่างไร

การเล่นการเมืองกับการทุจริต คือการตราหน้าว่าทุจริต เพื่อเรียกความชอบธรรมต่อการกระทำที่ผิดกติกา มีอะไรก็ตราหน้าว่าการทุจริตหมด ไม่ชอบนักการเมืองก็ว่าทุจริต

นักวิชาการญี่ปุ่นตั้งคำถามด้วยว่า แล้วองค์กรต่อต้านการทุจริตเชื่อถือได้แค่ไหน

เมื่อองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นไทยแถลงว่าให้คะแนนร้อยเปอร์เซ็นต์ในความตั้งใจปราบปรามทุจริตในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์!?!

คนที่ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทยมายาวนานจะรู้ดีว่า ก่อการล้มประชาธิปไตยทุกครั้ง จะมีการสร้างกระแสโจมตีความเลวร้ายของนักการเมืองเพื่อปูทางล่วงหน้า และมุขประจำก็คือ การโหมเรื่องคอร์รัปชั่น ย้อนไปในการรัฐประหารปี 2534 ก็ข้อหารัฐบาลบุฟเฟ่ต์คาบิเนต กินทั้งตามน้ำและทวนน้ำ แต่เบื้องหลังการยึดอำนาจ มีชนวนแตกหักจากเรื่องการแต่งตั้งอดีต ผบ.ทบ.เข้าไปนั่งในรัฐบาลนั่นเอง

ขณะที่ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเกียวโต บรรยายว่า ประชาชนไทยที่สนับสนุนรัฐประหารสองครั้ง ปี 2557 และ 2549 เพราะหวังว่าทหารจะเข้ามาขจัดทุจริต และการเมืองจะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

“จึงนำมาสู่ข้อเสนอว่า ต้องแยกเรื่องการทุจริตกับเรื่องประชาธิปไตย”

เพราะการบอกว่าขจัดทุจริตแล้วจะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นนั้นไม่จริง หรือบอกว่าเป็นประชาธิปไตยจะมีการทุจริตมากขึ้นก็ไม่เกี่ยวกัน ไม่มีการเลือกตั้งก็มีการทุจริต

เราควรไว้ใจประชาชนมากขึ้น การเลือกตั้งเป็นวิธีที่ตรวจสอบอำนาจที่ดีอันดับหนึ่ง ถ้าไม่มีการเลือกตั้งก็ไม่มีการตรวจสอบ การให้ประชาชนตรวจสอบ ไม่ได้หมายความว่าลงโทษ แต่คือการให้ ส.ส.สอบตก เป็นการลงโทษอย่างรุนแรงสำหรับนักการเมือง

“นั่นคือสาระสำคัญจากนักวิชาการญี่ปุ่นที่มองปัญหาของเมืองไทยได้ชัดเจนว่า ปัญหาใหญ่กว่าการทุจริต คือการต่อต้านทุจริต เพราะนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง!”

คงไม่ได้หมายความว่านักวิชาการญี่ปุ่นจะรู้เรื่องการเมืองไทยดีกว่าคนไทย เพราะนักวิชาการไทย นักวิเคราะห์การเมืองไทยหลายต่อหลายคน ได้เคยเสนอปมประเด็นเช่นเดียวกันมาตลอด

โดยเห็นว่า การทุจริตเกิดขึ้นแน่นอนในทุกยุคทุกสมัย และต้องช่วยกันแก้ แต่ไม่ควรหลงเชื่อว่า มีแค่รัฐบาลนักการเมืองเท่านั้นที่โกงกิน

รัฐบาลที่ไม่ใช่นักการเมือง ไม่มีเรื่องอื้อฉาวเลยใช่ไหม

คนที่อยากให้รัฐบาลรัฐประหารเข้ามาปราบคอร์รัปชั่น ถามตัวเองดูว่า 4 ปีมานี้ ไม่มีข่าวเรื่องอื้อฉาวเกิดขึ้นเลยหรือ!?

ดังนั้น การแก้คอร์รัปชั่น สำคัญสุดคือระบบตรวจสอบ ยิ่งในยุคที่ประชาชนตรวจสอบได้ง่าย ย่อมตรวจพบการทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่า มีสภาผู้แทนฯ ที่เปิดอภิปรายซักฟอกรัฐบาล เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี ทำให้ทั้งสังคมได้รับรู้ อาจจะไม่มีพยานหลักฐานเอาผิดทางคดีก็ได้

แต่ถึงเวลาเลือกตั้ง ประเด็นนี้จะมีการนำมาขยายเพื่อให้ประชาชนได้มองเห็น และเพื่อตัดสินใจในการเข้าคูหากาบัตร

จริงอยู่ การตัดสินใจของชาวบ้านในวันเลือกตั้ง อาจจะเห็นแก่ประโยชน์ในด้านอื่นๆ มีปัจจัยอีกหลายด้านในการตัดสินใจ การเลือกตั้งที่ผ่านๆ มาอาจจะยังมีคุณภาพไม่ดีพอ

“แต่ถ้าประชาธิปไตยมีเวลาในการพัฒนา ทำให้ประชาชนร่วมเรียนรู้ และร่วมกันยกระดับการเมืองขึ้นไปเรื่อยๆ ในอนาคตเราก็จะมีประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ”

ทุกวันนี้เรามีสื่อมวลชน มีแหล่งเผยแพร่ข้อมูลในโลกออนไลน์มากมาย เข้าถึงประชาชนได้ง่าย

มีนักคิด นักวิชาการที่เป็นกลางบริสุทธิ์ ที่เสนอข้อเท็จจริงและแนวคิดหลักการให้สังคมได้เรียนรู้มากมาย

“ถ้าประชาธิปไตยไม่ถูกหาเรื่องล้มจนสะดุดบ่อยๆ ปล่อยให้เติบโตไปเรื่อยๆ สังคมไทยและประชาธิปไตยจะยกระดับขึ้นแน่นอน”

สังคมไทยในวันนี้ มีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่เชื่อในระบบเลือกตั้ง จึงไม่เคยเห็นด้วยกับการรัฐประหาร และเกิดกระแสต้านการล้มประชาธิปไตยจากคนฝ่ายเสรีนิยม ฝ่ายนักประชาธิปไตยมาตลอด

แต่ก็มีประชาชนอีกส่วน ที่อาจจะมีผลประโยชน์ทางชนชั้นในฐานะคนชั้นสูง ชนชั้นกลาง จึงมีความสุขกับรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมากกว่า

ไปจนถึงประชาชนที่ถูกกระแสคนดีมีศีลธรรมเข้ามาครอบงำ จนหลงไปกับกลเกม

เอาการต้านคอร์รัปชั่นมาเป็นเครื่องมือการเมืองเพื่อล้มประชาธิปไตย!