คำ ผกา : ออกลายมาเลย

คำ ผกา

เมื่อวันที่ 30 กันยายน นายวันชัย สอนศิริ อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองในขณะนี้ว่าพรรคการเมืองและนักการเมืองเริ่มเปิดตัวกันบ้างแล้วทำให้รู้ว่าใครเป็นใคร แต่ก็ยังมีบางคนบางพรรคที่เล่นการเมืองแบบเก่าๆ น้ำเน่าแบบเดิมๆ ซึ่งตกยุคตกสมัย โดยเฉพาะพวกที่ประเภทตั้งหน้าตั้งตาด่าเผด็จการ ด่าผู้มีอำนาจ ด่าฝ่ายตรงข้าม อย่าคิดว่าจะได้คะแนน เพราะเดี๋ยวนี้คนเขาทันการเมืองกันหมดแล้ว จะหากินแบบเก่าคงไม่ได้ และก็อย่าลืมว่าประชาธิปไตยที่ผ่านมาใช่ว่าดีไปเสียทั้งหมด และเผด็จการที่เป็นอยู่ก็ใช่ว่าจะเลวร้ายไปเสียทีเดียว เพราะการเลือกตั้งครั้งหน้านี้จะเป็นการเมืองที่แตกต่างจากการเมืองในอดีตทั้งหมด เป็นการกำหนดโดยประชามติของประชาชนที่ต้องการให้รัฐบาลที่จะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต เป็นการประนอมอำนาจกันของฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายการเมือง ช่วยกันประคับประคองสร้างความปรองดองและปฏิรูปประเทศในระยะเปลี่ยนผ่าน ดังนั้น ใครที่ยังคิดแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เลือกสีเลือกข้าง เอาแพ้เอาชนะกันเพื่อพรรคพวกตัวเอง หรือสนองอารมณ์ชำระความแค้น เตรียมกลับบ้านเก่าไปได้เลย

ที่มา https://www.prachachat.net/politics/news-227361

เริ่มมีเสียงครหาแล้วว่าพรรคพลังประชารัฐทำไมจึงมีสมาชิกพรรคที่เป็นรัฐมนตรีใน ครม.ชุดปัจจุบันอยู่ถึง 4 คน และ 1 ใน 4 ยังดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอีกด้วย

อ้าว.. เป็นรัฐมนตรีแล้วเป็นสมาชิกพรรคการเมืองด้วยแล้วมันผิดตรงไหน แปลกตรงไหน ที่ผ่านๆ มาไม่ได้เป็นแบบนี้เหรอ?

เดี๋ยว

ในภาวะปกติ พรรคการเมืองลงเลือกตั้ง พรรคที่ชนะการเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาล สมมุติอยู่ครบวาระ 4 ปี ต้องเลือกตั้งตามวาระ นายกฯ ณ ขณะนั้นย่อมมีสถานะเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง หรือเป็นสมาชิกพรรคการเมือง รัฐมนตรีทั้งหลายก็ย่อมสังกัดพรรคการเมือง

แต่สภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันคือ เรามีรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร เราไม่มีรัฐสภา ไม่มีฝ่ายค้าน มีแต่ สนช. และ สปท. ที่ได้รับการแต่งตั้งเข้ามา

และคนเหล่านี้ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดๆ มาตั้งแต่แรก เป็นข้าราชการเกษียณบ้าง เป็นเทคโนแครตบ้าง ไม่นับว่าคนเหล่านี้มักจะพูดว่า เราอาสามาทำงานให้ชาติบ้านเมือง ไม่ได้เข้ามาแสวงหาอำนาจ ผลประโยชน์ มาด้วยใจบริสุทธิ์ ไม่มีผลประโยชน์แบบพวกนักการเมืองและพรรคการเมืองที่ต้องหาเงิน ทำตามใจนายทุนพรรค ลงทุนกับการหาเสียงไปเยอะ เข้ามามีอำนาจ ตำแหน่งก็ต้องมาถอนทุน-พวกเราไม่ใช่แบบนั้น นี่อาสากันเข้ามากอบกู้บ้านเมืองในยามวิกฤต

ผ่านไป 4 ปี รัฐบาลนี้มีนโยบายที่เรียกว่า “ประชารัฐ” ที่ดูไปก็จะคล้ายกับประชานิยม

แต่ที่ไม่คล้ายคือ มีพันธมิตรเป็นกลุ่มธุรกิจเอกชนที่เปิดหน้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประชารัฐแบบโปร่งใสเห็นแจ๋วแหววว่าใครเป็นใคร

และแล้วเมื่อใกล้ถึงกำหนดการเลือกตั้ง ก็เกิดพรรคการเมืองที่ชื่อ “พลังประชารัฐ” ขึ้นมา และต่อให้เด็ก ป.3 ก็ต้องเข้าใจว่า พรรคการเมืองพรรคนี้ต้องการสนับสนุนให้มีการสานต่อนโยบาย “ประชารัฐ” แน่นอน

เอ๊ะ! มันก็ชักทะแม่งๆ เพราะในสามัญสำนึกทั่วไป วิญญูชนย่อมคิดว่า โอ.. บรรดาคนดีทั้งหลาย เมื่อเข้ามาทำหน้าที่กอบกู้บ้านเมืองหลัง “วิกฤต” (คือเป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร) แล้วหมดวาระก็คงกลับบ้าน วางมือ เพราะคนดีเขาไม่ได้มาเพราะอยากมีอำนาจหรืออยากมีตำแหน่ง

ที่มาเป็นๆ อยู่นี่ก็เพราะเสียสละ ทำงานเหนื่อยจะตาย ไม่ได้อยากเป็น

แต่ในทันใดนั้น (หลังจากปฏิเสธ แบ่งรับแบ่งสู้กันมาตลอด) ในการเปิดตัวพรรคพลังประชารัฐ เปิดตัวกรรมการบริหารพรรค ก็เป็นอย่างที่ลือกันว่า คนในรัฐบาลและคนที่ขับเคลื่อนเรื่องนโยบายประชารัฐได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของพรรคพลังประชารัฐจริงๆ

เป็นรัฐบาลก่อน เป็นรัฐมนตรีก่อน แล้วค่อยตั้งพรรคการเมืองกันทีหลัง-แบบนี้ก็ทำได้ และไม่ผิดกฎหมาย

มือกฎหมายอย่างวิษณุ เครืองาม ก็ยืนยันว่าทำได้ แถมยังจะช่วยส่งเสริมกระบวนการประชาธิปไตยอีกด้วย!!!

เขียนถึงตอนนี้ก็อยากจะร้องเพลง “ออกลายมาเล้ยยย”

หลายคนท้วงติงว่าทำแบบนี้ไม่สง่างาม น่าจะลาออกก่อน

แต่ฉันกลับคิดว่า “ออกลาย” มาแบบนี้ถูกต้องแล้ว ดีแล้ว เพราะเราจะได้เห็น “ลาย” ของคนที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งกันชัดๆ

เพราะต่อให้ลาออก ก็ไม่ได้ช่วยให้เกิดความสง่างามอะไรขึ้น

เพราะรัฐบาลปัจจุบันยังถืออำนาจเต็มและมีอำนาจคู่ขนานกับ กกต. ในการคุมกติกาการเลือกตั้ง ในขณะที่การเลือกตั้งปกตินั้น กติกาการเลือกตั้งอยู่ในอำนาจของ กกต.และรัฐบาล (ที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่สามารถเข้าไปล้วงลูกอะไรได้)

พูดให้ถึงที่สุดก็คือ ประชาชนเลิกถามหาความสง่างามหรือมารยาททางการเมืองอะไรได้แล้ว

เพราะใครก็ตามที่สังฆกรรมกับรัฐบาลที่ไม่ได้รับความชอบธรรมจากเสียงประชาชน พวกเขาก็ไม่มีความสง่างามมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว

ตลกไปกว่านั้น คุณวันชัย สอนศิริ ซึ่งเป็นอดีต สปท. ได้ออกมาเตือนว่า อย่าเล่นการเมืองน้ำเน่า เอาแต่ด่าฝ่ายตรงกันข้าม และประชาธิปไตยที่ผ่านมาไม่ใช่ว่าดีไปเสียทั้งหมด เผด็จการที่เป็นอยู่ก็ใช่ว่าจะเลวไปเสียทั้งหมด…

ดูกรวิญญูชน นี่เราเข้าใจประชาธิปไตยกันแบบไหนหรือ?

คงต้องเขียนและอธิบายกันเป็นครั้งที่ล้านว่า ประชาธิปไตยไม่ได้แปลว่า “ดี” เพราะประชาธิปไตยไม่ใช่สินค้า ผลิตภัณฑ์ ไม่ใช่มะม่วง ส้มโอ จึงบอกไม่ได้ว่าดีหรือไม่ดี

แต่ในการเมืองสมัยใหม่ มีแต่ “ประชาธิปไตย” เท่านั้นที่ทำให้ประชาชนได้กำหนดชะตากรรมทางการเมืองของตนเองด้วยตนเองผ่านการเลือกตั้ง มีระบบตรวจสอบ ถ่วงดุล ไม่อนุญาตให้ใครผูกขาดอำนาจไว้ตลอดกาล

ประชาธิปไตยอาจทำให้เราได้รัฐบาลชั่วๆ ดีๆ เก่งบ้าง ไม่เก่งบ้าง บ้างก็โกง บ้างก็บ้า บ้างก็โง่ แต่ทั้งหมดนั้นมาจากการ “เลือก” ของเรา และถ้าเราไม่ชอบในสิ่งที่ถูก “เลือก” เรามีโอกาสเลือกใหม่เสมอ-หัวใจของประชาธิปไตยมีเท่านี้

ตรงกันข้ามกับเผด็จการ ที่จะมาบอกเราว่า อยู่เฉยๆ เดี๋ยวดีเอง เดี๋ยวคิดให้ เดี๋ยวทำให้ อย่าหือ อย่าถาม และต่อให้เราได้เผด็จการที่ดีแสนดี แต่หัวใจสำคัญคือ ในดีในชั่วนั้น เราไม่ได้เลือก การเป็นมนุษย์ที่ไม่มีสิทธิเลือก มีความหมายเท่ากับความเป็นคนที่ถูกลดทอนคุณค่า ทั้งไม่นับว่าเราต้องอยู่ภายใต้การใช้อำนาจที่ปราศจากการตรวจสอบ

การเมืองที่ไม่น้ำเน่า คือการเมืองที่เห็นประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ และใช้อำนาจนั้นในการเลือกตัวแทนของตนไป “ทำงาน” ตรงกันข้าม การเมืองน้ำเน่าคือ การเมืองที่พอใกล้ถึงการเลือกตั้ง แล้วก็ออกเดินสาย “ประจบ” ประชาชน บอกว่ารักประชาชนอย่างนี้อย่างนั้น

ประชาชนไม่ได้อยากให้นักการเมืองมารัก มาเอ็นดู มาเห็นใจ แต่ประชาชนต้องการให้นักการเมือง “เคารพ” และ “ให้เกียรติ” ประชาชนในฐานะที่เป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง ไม่ต้องลูบหัว เอื้ออาทร กอบกู้ขึ้นมาจากความโง่ ความจน

เมื่อพรรคการเมืองขยับ การเลือกตั้งใกล้เข้ามา สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเข้าใจหลักการประชาธิปไตยพื้นฐานที่สุดคือ ประชาชนเป็น “คน” ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่ต้องการการเอื้ออาทร ความเอ็นดูจากนักการเมือง

“ลาย” ของนักการเมืองที่แสดงออกมาในช่วงคลายล็อกและในฤดูหาเสียงที่ใกล้เข้ามานี้ สิ่งที่ประชาชนต้องสนใจนอกจากนโยบายก็คือ นักการเมืองคนไหนให้เกียรติประชาชนอย่างเรามากน้อยแค่ไหนด้วย หรือนักการเมืองคนไหนยังเห็นว่าประชาชนยังโง่ หลอกง่าย ด้วยโครงการขายฝัน คำพูดหรูๆ สวยๆ หรือแค่หยิบยืมคำขวัญจากพรรคที่เคยชนะการเลือกตั้งมาย้อมแมวขายเป็นนโยบายเสินเจิ้น เพราะคิดว่าประชาชนหลอกได้ง่ายๆ

นั่นคือการไม่ให้เกียรติสติปัญญาประชาชนที่กำลังจะเดินเข้าคูหาเลือกตั้งนั่นเอง

ในฐานะประชาชน เราจะไม่เรียกร้องให้นักการเมืองคนไหนทำตัวให้สง่างาม เพราะความ “กล้า” ที่จะไม่สง่างาม เป็นสิทธิส่วนบุคคล และเราก็ชอบที่นักการเมืองได้เผย “ลาย” ของแต่ละคนออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน

เพื่อเราจะตัดสินใจได้โดยง่ายในวันเลือกตั้งว่าจะให้ใครกลับบ้าน