รู้จักเข้าใจ ความทรงจำที่ไม่เสื่อมคลายของ “กองทัพปากีสถาน” : คุยกับทูต ‘พันเอกราซา อุล ฮัซเนน’

คุยกับทูต พันเอกราซา อุล ฮัซเนน กองทัพไทย-ปากีสถานกระชับความร่วมมือ (จบ)

เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามปากีสถานประจำประเทศไทย โดยพันเอกราซา อุล ฮัซเนน (Colonel Raza Ul Hasnain) ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารได้จัดงานเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสครบรอบ 53 ปี วันกองทัพปากีสถาน (Defence and Martyrs Day)

บุคคลสำคัญที่เข้าร่วมงานจำนวนมาก ได้แก่คณะทูตานุทูตและผู้ช่วยทูตทหารจากต่างประเทศ ผู้แทนระดับสูงจากกระทรวง ทบวง กรม นักธุรกิจหลายสาขา และผู้แทนชาวปากีสถานในประเทศไทย

งานวันกองทัพปากีสถานที่กรุงเทพฯ

“วันกองทัพปากีสถานจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการรำลึกถึงผู้เสียสละเลือดเนื้อเพื่อปกป้องรักษาแผ่นดินปากีสถานเมื่อปี ค.ศ.1965 ในสงครามอินเดีย-ปากีสถาน (Indo-Pakistani War) ซึ่งกองทัพปากีสถานสามารถยืนหยัดต่อต้านการรุกรานอย่างก้าวร้าวของประเทศที่มีขนาดใหญ่และกองทัพที่มีแสนยานุภาพยิ่งใหญ่กว่ามากได้” ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารกล่าว

“เราสามารถปกป้องผืนแผ่นดินทุกตารางนิ้วของประเทศของเราได้จากการถูกจู่โจมโดยกองทัพอินเดียที่ล่วงล้ำข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ ในวันนี้เราจึงมารวมกันเพื่อระลึกถึงและสดุดีวีรกรรมเพื่อเชิดชูเกียรติทหารผู้เสียสละเลือดเนื้อและชีวิตปกป้องอธิปไตยของชาติ”

งานวันกองทัพปากีสถานที่กรุงเทพฯ

กรณีพิพาทบาดหมางกันตามแนวชายแดน ความแตกต่างระหว่างศาสนา และประวัติศาสตร์ความขัดแย้งยาวนานเหนือแคว้นแคชเมียร์ ลุกลามเข้าสู่สงครามเต็มรูปแบบระหว่างอินเดียและปากีสถาน

“วันที่ 6 กันยายน ค.ศ.1965 จึงเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของปากีสถาน โดยกองทัพอินเดียได้ข้ามพรมแดนระหว่างประเทศและโจมตีปากีสถานโดยปราศจากการเตือนหรือการประกาศสงครามอย่างเป็นทางการ ในขณะที่อินเดียมีความภาคภูมิใจในความเป็นประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก แต่กลับละเมิดกฎบัตรระหว่างประเทศของสหประชาชาติและบรรทัดฐานของอารยประเทศ”

แม้จะผ่านมาเป็นปีที่ 53 แล้ว แต่สำหรับผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์สงครามอินเดีย-ปากีสถานปี ค.ศ.1965 และยังคงมีชีวิตอยู่

ความทรงจำถึงการสู้รบ 16 วันนั้นยังไม่เสื่อมคลาย

สงครามอินเดีย-ปากีสถานเริ่มต้นเมื่อวันที่ 6 กันยายน ค.ศ.1965 และสิ้นสุดลงด้วยการหยุดยิงหลังจากนั้นในวันที่ 22 กันยายน ค.ศ.1965

งานรำลึกเนื่องในวันกองทัพปากีสถานจัดเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการเตือนสติคนรุ่นใหม่ว่า กองทัพปากีสถานนั้นได้รับการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งจากประชาชนทั้งประเทศจนนำความพ่ายแพ้สู่ศัตรูผู้รุกรานได้อย่างไร

ในคำกล่าวเปิดงานรำลึกเนื่องในวันกองทัพปากีสถานที่กรุงเทพฯ ของพันเอกราซา อุล ฮัซเนน ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร ตอนหนึ่งความว่า

“ความมุ่งมั่นของกองทัพปากีสถานนั้นไม่เพียงแต่จะร่วมกันปกป้องเอกราชของประเทศด้วยศักดิ์ศรีและเกียรติยศแล้ว แต่ยังต้องทำให้โลกเป็นสถานที่ที่ปราศจากความขัดแย้ง ซึ่งเห็นได้จากบทบาทของกองกำลังปากีสถานในปฏิบัติการรักษาความสงบของสหประชาชาติ บทบาทในการต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์และการก่อการร้าย”

กองทัพปากีสถานจัดเป็นกองทัพที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 6 ของโลกในแง่กำลังประจำการและใหญ่ที่สุดในหมู่ประเทศมุสลิม ประกอบด้วยสามเหล่าหลักคือ กองทัพบก กองทัพเรือ (ซึ่งรวมนาวิกโยธินปากีสถาน) และกองทัพอากาศ ร่วมกับกำลังกึ่งทหารและกำลังกองพลแผนยุทธศาสตร์

“ปัจจุบันปากีสถานอยู่ในขั้นตอนการกวาดล้างเพื่อขุดรากถอนโคนผู้ก่อการร้าย และจากผลการดำเนินงานโดยฐานข้อมูลอัจฉริยะแบบผสมผสานซึ่งมีชื่อว่า “Operation Radd-ul-Fasaad” นั้นนับได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก นอกจากนี้ ความสำเร็จของปากีสถานในสงครามต่อต้านการก่อการร้ายและความรุนแรงอย่างสุดขั้วก็ได้เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก”

การสวนสนามในวันกองทัพปากีสถานในปากีสถาน

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2017 กองทัพบกปากีสถานประกาศปฏิบัติการ Radd-ul-Fasaad อันเป็นชื่อรหัสในความพยายามร่วมกันของทหารปากีสถานในการสนับสนุนหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในท้องถิ่นเพื่อการปลดอาวุธและขจัดผู้ก่อการร้ายที่ซุกซ่อนตัวอยู่ทั่วประเทศ

“ปากีสถานมีความมุ่งมั่นและความพยายามในการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ในการรักษาสันติภาพของโลก เน้นการเรียกร้องไม่ให้ทำอันตรายแก่เด็ก เยาวชน สตรี ทั้งในแคชเมียร์และปาเลสไตน์ ให้ความสนับสนุนในเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน และประณามการใช้กำลังอย่างรุนแรงกับพลเรือนผู้บริสุทธิ์ปราศจากอาวุธ”

“เราปรารถนาและแสวงหาการแก้ปัญหาในระดับภูมิภาคอย่างสันติโดยสนับสนุนการเจรจาสันติภาพในอัฟกานิสถานที่นำโดยอัฟกานิสถาน ปากีสถานเชื่อว่าสันติภาพในอัฟกานิสถานไม่เพียงแต่จะประกันความสงบสุขในภูมิภาค แต่ยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความมั่นคงภายในของปากีสถานด้วย”

“และเราต้องการยุติปัญหาแคชเมียร์โดยสันติกับอินเดีย แต่เป็นอินเดียที่หลีกเลี่ยงการนั่งโต๊ะเจรจากับปากีสถาน ซึ่งนับว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสันติภาพของภูมิภาคและโลก”

พันเอกราซา อุล ฮัซเนน

ก่อนจบการสนทนา พันเอกราซา อุล ฮัซเนน ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารปากีสถาน กล่าวว่า

“ขอขอบคุณรัฐบาลไทยและกองทัพไทยในการขยายความร่วมมือและความสัมพันธ์ทวิภาคีให้พัฒนาดังปัจจุบัน ผมเชื่อมั่นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างทหารและประชาชนของประเทศไทยและปากีสถาน จะช่วยสร้างเสริมสันติสุข ความมั่นคง ความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศชาติของเรา และภูมิภาคในที่สุด