อภิญญา ตะวันออก : “ทรยศ-ขายชาติ” ในวรรณกรรมเขมร

“แต่จะมี (นักเขียน) สักกี่คนที่ฟื้นคืน ขณะที่โลกวรรณกรรมกำลังจมดิ่ง บางทีการจมน้ำยังไม่เลวร้ายเท่ากับกลายเป็นศพเปลือยเปล่าที่ไร้แม้แต่หลุมจะฝังร่าง […] อา แล้วป่าวรรณกรรมผืนนั้นจะมีสภาพเยี่ยงใด? เพราะหลังจากโศกนาฏกรรมแห่งการสังหารหมู่ ก็เห็นจะมีแต่ไม้ต้นสักหนึ่งหรือสองต้นเท่านั้นที่เหลือรอด”

(Alexandre Soljenitsyne

: ปาฐกถารางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ค.ศ.1970)

 

เสียงจากนักเขียนคนหนึ่ง (ต่อ)

ผมไม่เคยกล่าวหาว่าใครคือพวก “ขายชาติ” และคำกล่าวที่น่าอับอายนี้ไม่เคยอยู่ในจิตใจของผมแม้แต่น้อย ขอยกเอาบทความ “อิน เอ็กเท็นโซ” (in extenso) ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร “เลอ แขฺมร์ อินดิเพ็นเดนต์” ฉบับวันที่ 4 กันยายน 2515 ดังนี้ :

“คนขายชาติ” ข้อกล่าวหาร้ายแรงนี้เองที่ทำให้คนทั่วไปพากันหวาดกลัวต่อการได้เห็นวิธีปราบปรามอย่างเหี้ยมโหดทรมาน ตลอดจนการลงทัณฑ์จากศาลทหาร นั่นก็น่าจะเพียงพอต่อปัญหาทั่วไปของคำว่า “ขายชาติ” ทั้งในแง่สังคมและการเมือง โดยเฉพาะการเผชิญข้อกล่าวหาร้ายแรงที่ระบาดไปทั่วบ้านทั่วเมืองและชวนให้สับสน

ผนวกกับการเป็นประเทศโลกที่สาม ทั้งล้าหลังสองเท่าอย่างเราเข้าไปอีก ทั้งเรื่องชนชั้น วรรณะในผู้คน นัยว่าทัศนะทั้งหมดนี้ ดูจะเกี่ยวโยงเป็นเรื่องเดียวกัน รูปแบบนี้เองที่เราได้เห็น ตอนหนึ่งจากละครเวทีของเปา ยูเลง และโอม เฌือน เรื่อง “Salaud de paton” ซึ่งเขียนในปี 2499 ในบทสรุปแต่ละวรรณะ ตลอดจนกรรมาชนผู้เสียสละความทุกข์ยากเพื่อแลกกับภารกิจของตน และแต่ละฝ่าย ต่างมีกลยุทธ์ในการต่อสู้ตามแบบฉบับของตน ตามข้อสันนิษฐานของนักสังคมวิทยา ซึ่งต่างเชื่อว่า เป็นยุทธการที่ยาวนานและมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ (1)

ด้วยเงื่อนไขนี้ จึงจะมีหมายความเช่นใดเล่า? สำหรับผู้คนที่ถูกกล่าวหาว่า เป็นพวก “ทรยศ?”

ทั้งที่จริงแล้ว พวกเขาแค่ไม่ยอมจำนนต่อการถูกคุกคาม ต่อการตกเป็นเหยื่อและเครื่องมือของผู้ตักตวงผลประโยชน์ และเช่นนี้เองหรือ ที่พวกเขาจะถูกกล่าวว่าเป็นคน “ทรยศ?”

ทั้งหมดนี้ก็แค่ภาพรวม แต่เปลือกนอกของความขัดแย้งทางสังคมที่เกิดจากปัญหาการให้ความสำคัญต่อคำว่า “ชาติ” ในแบบที่ไร้ “คุณธรรม” เป็นแนวทางค้ำชู

แล้วมันยุติธรรมหรือไม่เล่า ในการกระทำต่อผู้ตกเป็นเหยื่อที่ทุกข์ทรมานเช่นนั้น? โดยแทนที่เราจะพิจารณาว่า อะไรคือคำว่า “ทรยศ” ในความหมายของบรรดานักสู้ผู้มีอุดมการณ์ ผู้ที่เสียสละตนและชีวิตครอบครัว โดยฝากชะตากรรมของตนไว้กับฝนเหล็ก (ระเบิด) และห่ากระสุน ที่ทำให้พวกเขาต้องเสี่ยงชีวิตในแต่ละวัน

 

ดูแต่อัจฉริยะวิกเตอร์ ฮูโก (2345-2428) ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในระดับสากลของฝรั่งเศส โดยกล่าวถึงนัยยะของการต่อสู้ที่มีอยู่สองประเภทคือธรรมะกับอธรรม และสำหรับผู้ที่เลือกธรรมะ พวกเขาย่อมประสบกับความเจ็บปวด โดยเฉพาะยามที่บ้านเมืองเกิดวิกฤต

มีการเล่นพรรคเล่นพวกและละเมิดอำนาจ (ดู Les Miserables)

นั่นแหละ ความหมายของคำว่า “ทรยศ”

ลองย้อนประวัติศาสตร์ของชายผู้น่าทึ่งเหล่านี้ดูเถิด จะทราบเองว่า พวกเขาล้วนถูกกล่าวหา “ทรยศ” ต่อชาติบ้านเมือง ล้วนถูกสังหารและถูกกระทำต่างกรรมต่างวาระทั้งสิ้น

โสกราตีส-นักปรัชญากรีก คืออีกคนหนึ่งที่ถูกกล่าวหาว่าทำลายศีลธรรม จากการที่ออกมาตักเตือนถึงภาพลวงตาของชาวเอเธนส์ เขาถูกประณามและประหารชีวิตโดยการดื่มยาพิษ

กาลิเลโอ ผู้เปิดเผยความจริงว่าโลกไม่ได้เป็นศูนย์กลางของจักรวาล แต่เป็นเพียงบริวารที่หมุนรอบดวงอาทิตย์ เขาถูกศาสนจักรกล่าวหาว่า “ทรยศ” และถูกควบคุมตัวไว้ในบ้านจนวาระสุดท้ายของชีวิต

ในตอนหนึ่งของวรรณคดีรามเกียรติ์ กุมภกรรณ จอมทัพตนหนึ่งของฝ่ายอสูรที่ต่อกรกับฝ่ายพระราม ก็ถูกสังหารอย่างไร้ความปรานี ด้วยข้อกล่าวหาว่าทรยศต่ออสูรผู้ยิ่งใหญ่

แล้วตอนนี้ คล้อยศตวรรษที่ 19 หลังปฏิวัติฝรั่งเศส มีวิกเตอร์ ฮูโก ลูกหลานจำนวนเท่าใด ที่ได้ชื่อว่าเป็นคนทรยศ? ต้องสังเวยชีวิตอย่างน่าสังเวชไปกับนโยบายกวาดล้าง

เช่นเดียวกับช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ที่เยอรมันจำนวนหนึ่งผู้ไม่เห็นด้วยกับฮิตเลอร์ พวกเขาถูกตราหน้าว่า “ทรยศ” และบทลงโทษของพวกเขาคือถูกประหารชีวิต นี่หรือสิ่งสูงสุดของความเป็นเยอรมันเวลานั้น?

แต่สำหรับประเทศของเรา “คนกล้า” เหล่านี้ อาทิ นายเอียว เกอส์ เจ้ายุทธวงศ์ อาจารย์สวา พระอาจารย์เหม เจียว และท่านอื่นๆ ซึ่งล้วนแต่มีสถานะสูงส่งกว่าคนยุคหลัง ทว่าเรื่องราวคนเหล่านี้กลับถูกบิดเบือนไปในทางเดียวกัน กล่าวคือ ความกล้าหาญ เสียสละและเกียรติยศทั้งมวล ได้ถูกลบเลือนออกจากประวัติศาสตร์และความทรงจำของคนรุ่นหลังในกาลต่อมา (2)

อา จงอย่าเป็นผู้ให้ จงอย่าเสียสละให้ใครอื่น

จงเห็นแก่ตัวอย่างท่วมท้น

นั่นต่างหากมิใช่หรือ ที่คือภัยพิบัติ และ “ทรยศ”

สำหรับผู้ที่ปราศจากความกรุณาปรานีต่อหยาดเหงื่อ แรงกาย คราบน้ำตา เลือดเนื้อ และความเจ็บปวดของผู้อื่น

สำหรับผมแล้ว ทั้งหมดนี้ต่างหากที่หมายถึงการ “ทรยศ” กบฏต่อชาติ และความต้องการของคนส่วนใหญ่ หาใช่ข้อกล่าวหาร้ายแรงที่ได้ชื่อว่า “ทรยศ” ต่อแผ่นดินเกิดที่เกินจริงที่ปราศจากทางออกต่อสามัญสำนึกในแบบปุถุชน ผู้ตระหนักต่อความหมายของคำว่าดีงาม ตลอดจนความกล้าหาญที่จะอุทิศตนต่อบ้านเมืองในสักวันหนึ่ง

ถึงตอนนั้น เราก็คงจะทราบเองว่า ใครกันเล่าที่เห็นแก่ได้? และใครเล่าที่เสียสละ?

โดยก่อนที่จะกล่าวหาผู้อื่นนั้น ท่านโปรดตรวจสอบองค์กรของตนด้วยเถิด

 

แต่การเมืองเรื่องของผมคงเป็นสิ่งที่ซับซ้อน

ผมเป็นนักการเมืองหรือเปล่า? ดูเหมือนทั้งตำรวจและคนของรัฐจะปักใจเชื่อไปแล้ว แต่เพราะว่าผมไม่เคยไว้ใจในอำนาจ และอย่างเดียวที่ผมสนใจคือ มานุษยวิทยา จริยธรรม และความคิดทางปรัชญา

อา สำหรับผมแล้ว การเมืองเป็นเรื่องของพวกฉ้อฉล เป็นองค์กรจัดตั้งและปราบปราม ซึ่งผมไม่อาจนิยามหรือยอมรับได้ ไม่ว่าจะทางใดหรือทางหนึ่ง

มีแต่ชีวิตที่เรียบง่ายเท่านั้นที่ผมปรารถนา ชีวิตที่มีเวลารื่นรมย์ในความงามของดวงจันทร์ ดวงดาวและธรรมชาติ ที่อาจนำพาจิตวิญญาณของผมไปสู่มนุษยชาติ

แต่กระนั้น ฝ่ายแผนกและต้นสังกัดก็ยังมีคำสั่งคุมขังผมต่อไป การคุมขังที่โหดร้ายและทารุณ ที่ทำให้จิตใจของผมย่ำแย่ลงไปอีก

ดังนั้น ผมจึงยืนยันอีกครั้งว่า ด้วยพลังจิตอันยิ่งใหญ่ที่ต้องวางเฉยต่อการถูกคุกคามในการกระทำต่างๆ แม้จะมีความยากลำบากต่อการรับมือในเกมการเมือง ไม่หวั่นไหวครั้งแล้วครั้งเล่าต่อการข่มขู่ การถูกเนรเทศ การกักขัง การทรมาน หรือแม้แต่ความตายที่ผมยังไม่พร้อมจะเผชิญ

ผมยังอยากจะมีชีวิตที่ปลอดภัย

สำหรับท่านนักการเมืองผู้มีภารกิจอันยิ่งใหญ่ ข้าราชการระดับสูง อัยการ ผู้พิพากษา ที่ปรึกษาอาวุโส เอกอัครราชทูต นายกรัฐมนตรี หรือแม้แต่ประธานาธิบดี ที่ล้วนแต่สูงส่ง และผมไม่อาจจะเข้าถึงระบอบนี้ที่มีผู้คนจำนวนมากปรารถนาจะครอบครอง และพร้อมจะฟาดฟันให้ได้มาซึ่งอำนาจที่ว่านี้ เว้นแต่ผม ผู้ที่อยู่ในกลุ่มคนส่วนน้อย

อา นานแค่ไหนที่ความคิดแบบนั้นได้ฉุดรั้งให้ผมเร่งรุดไปสู่จุดหมายอื่น ซึ่งคือความสุขุมและเรียบง่าย

ชีวิตแบบนี้ต่างหากที่ผมปรารถนา การมีสุขภาพดี มีที่พักผ่อนหลับนอน มีอาหารพอประทัง

และมีเสรีภาพในการแสดงออกอย่างที่ผมปรารถนา

การสังหารหมู่

จากยุครุ่งรางของวรรณกรรมเขมร (2488-2516) การผลิตบทละครเวทีเพื่อเล่นแสดงและวิพากษ์สังคมในกลุ่มนักเขียนยุคเดียวกับฆุน สรุน ที่รับมาจากนักเขียนตะวันตก เช่นเดียวกับเรื่องสั้นและวรรณกรรมจำนวนหนึ่ง ซึ่งเกิดจากผลพวงแห่งความคับแค้นในช่วงเวลานั้น จนเกิดเป็นความเชื่อที่ว่า “ทางออกของการต่อสู้วรรณะกรรมาชีพครั้งนี้ จะเกิดขึ้นอย่างยาวนานและไม่อาจหลีกเลี่ยง จนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะถึงแก่กาลพินาศ” (1)

สมัย “สีหนุราช” มีการจัดตั้งองค์กร “ตำรวจลับ” คอยกำจัดฝ่ายตรงข้าม ส่วนใหญ่คือกลุ่มก้าวหน้าของพรรคประชาธิปไตย ก่อตั้งโดยเอียว เกอส์-เจ้ายุทธวงศ์ ที่เสียชีวิตในเวลาไล่เลี่ยกัน (2)

พลันเมื่อโค่นล้มสีหนุ รัฐบาล “เขมรสาธารณรัฐ” ก็ใช้วิธีการลงทัณฑ์ฝ่ายตรงข้าม แบบเดียวกับระบอบเดิมที่ตนต่อต้าน เช่นเดียวกับดุจ อดีตครูคณิตศาสตร์โรงเรียนมัธยมของระบอบ “เขมรแดง” ที่ออกแบบการทรมานและสังหารฆุน สรุน ในเรือนจำตวลสแลงราวปี พ.ศ.2521

แต่บันทึกของฆุน สรุน ยังคงอธิบายได้ดีตลอด 4 ทศวรรษครึ่งที่ผ่านมาของระบอบการเมืองกัมพูชา

เครดิต : Khmer Republic /1973