เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ : เติมพลังสานพลัง

๐ หนองตะพานบ้านค่ายใจระยอง

สืบครรลองวัฒนธรรมงามนาไร่

ปลูกไร่นาในใจ เป็นใจไทย

ปลูกใจในไร่นา เป็นนาธรรม

หนองตะพานคือสะพานที่ผ่านพาด

ให้รู้ศาสตร์รู้ศิลป์รู้สิ่งสำ

น้ำมีปลานามีข้าวคงเค้าคำ

ความเลิศล้ำของแผ่นดิน ถิ่นบ้านเรา ฯ

ระหว่างเสาร์-อาทิตย์ 22-23 กันยายนที่ผ่านมา ไปร่วมวง “คันนายาว” กับชาว ปตท. นำโดยคุณประเสริฐ สลิลอำไพ กับผู้บริหาร ปตท.ท่านอื่นที่ริเริ่มโครงการนำเจ้าหน้าที่ ปตท.ลงพื้นที่ร่วมอยู่ร่วมทำนากับชาวชุมชนหนองตะพาน อำเภอบ้านค่าย เมืองระยอง

จัดงานสังสรรค์กันที่โรงเรียนวัดเกาะ อาจารย์ชูใจ กุญแจทองเป็น ผอ. ร่วมวงอาหารพื้นบ้านฝีมือชาวบ้านแสนอร่อยล้ำกับชาวบ้านหนองตะพาน มีผู้ใหญ่บ้านสุชาติ อ่ำเอี่ยม เป็นผู้ร่วมต้อนรับขับสู้อย่างดียิ่ง

กิจกรรมที่ผ่านมาเมื่อเดือนกรกฎาคมปีนี้คือชาวเจ้าหน้าที่ ปตท.จำนวนหนึ่งได้ลงมาอยู่บ้านชาวบ้านเพื่อช่วยกันดำนา ซึ่งนอกจากชาวบ้านและชาว ปตท.แล้ว ยังมีเด็กนักเรียนระดับประถมของโรงเรียนวัดเกาะลงลุยน้ำลุยโคลนร่วมเรียนรู้การทำนาจากการปลูกข้าวที่เรียกว่า “ดำนา” กันอย่างสนุกสนาน

เล่าว่าเด็กลงลุยโคลนเถลือกไถลเปรอะเลอะไปทั้งตัวตลอดหัวหู ดำนาจริงสมชื่อ

วันนี้กลับมาทำ “ขวัญข้าว”

เพราะข้าวกำลังเริ่มออกรวงเขียวขจี เรียกว่ากำลัง “ตั้งท้อง” คือ “แม่ข้าว” กำลังแตกรวงสดเขียวเป็น “ข้าวใหม่” แค่ยังไม่ได้ที่ รอแก่อีกนิดจะเกี่ยวมาตำเป็น “ข้าวเม่า” ได้เลย

ข้าวเม่าเอามากวนกระยาสารท ทำบุญเดือนสิบพอดี

เครื่องกระยาสารทนอกจากข้าวเม่าที่เป็นข้าวอ่อนเพิ่งแตกรวงตั้งรวงแล้วก็จะมีถั่ว งา ข้าวตอกคือ ข้าวโพดคั่วกวนกับน้ำตาลโตนด กระยาสารทนี้เวลาจะกินต้องคลุกมะพร้าวขูด แล้วกินกับกล้วยไข่ละวิเศษสุด

ขนมกระยาสารทจึงเป็นผลผลิตที่ผูกพันกับวิถีชาวไร่ชาวนาโดยแท้ ทั้งผู้คน พื้นดิน พืชไร่ และฤดูกาล

เริ่มฤดูเดือนหกฝนแรกเริ่มงานนาด้วยแรงของหนุ่มสาวลูกไร่ลูกนาเป็นหลัก เสร็จงานไร่นาลูกชายก็ครบบวชเข้าพรรษา ถึงเดือนสิบ ผลผลิตที่ลงแรงไว้เริ่มปรากฏ ชาวบ้านจึงเก็บเกี่ยวมากวนกระยาสารท ที่เป็นดัง “ข้าวทิพย์” จากน้ำเหงื่อน้ำแรง น้ำดินน้ำฟ้ามาเลี้ยงพระทำบุญวันสารทเดือนสิบ

ซึ่งพระในพรรษาก็คือลูกหลานชาวบ้านผู้ร่วมลงแรงมาแต่เริ่ม ได้ร่วมรู้รสมือตนจากผลผลิตอันรวมเป็นทิพยรสในกระยาสารทกระยาทิพย์นี้เอง

บุญเดือนสิบ เป็นบุญ “ข้าวประดับดิน” ของชาวอีสาน เป็นประเพณีเดียวกัน คือเรื่องราวของวิถีชีวิตชาวชุมชนเกษตรบนแผ่นดินไทยใต้ฟ้าฝนเดียวกัน

บ้านหนองตะพานวันนี้ก็เช่นกัน ยังคงวิถีวัฒนธรรมชุมชนชาวไร่ชาวนา เป็นพื้นเป็นฐานชีวิตอย่างมั่นคง

“จะต้านพลังเงินได้นานเท่าไรไม่รู้ ก็ให้มันรู้ไป” ผู้ใหญ่สุชาติยิ้มแย้มและยืนยัน

“โรงเรียนให้นักเรียนมีกิจกรรมทั้งนาทั้งไร่ โดยเฉพาะมีสวนผักผลไม้แบบเกษตรอินทรีย์ คือไม่ใช้ปุ๋ยเคมี นอกจากเป็นอาหารกลางวันนักเรียนแล้วยังจำหน่ายเป็นรายได้ทำให้นักเรียนรู้คุณค่าของการทำงาน และรู้ถึงความสามารถของตัวเองไปในตัวด้วย”

อาจารย์ผู้อำนวยการชูใจ กุญแจทอง กล่าวอย่างมั่นใจในภูมิรู้ของนักเรียนโรงเรียนวัดเกาะวันนี้

มีวาทะจีนเกี่ยวกับการตั้งเข็มมุ่งหรือทิศทางของประเทศ ก่อนจะมาเป็นจีนวันนี้ว่า

1. ปลดปล่อยพลังการผลิต พัฒนาพลังการผลิต

2. ทำลายการกดขี่ขูดรีด

3. ขจัดช่องว่างระหว่างความรวยความจน

4. บรรลุสู่ความมั่งคั่งร่วมกัน

บัดนี้จีนเหมือนจะพัฒนามาถึงขั้น 3-4 แล้ว

น่าสนใจคำว่า “พลังการผลิต”

เขามองเห็นศักยภาพหรือความสามารถที่ทุกคนมี และเรียกศักยภาพหรือความสามารถนี้ว่า “พลังการผลิต”

คือการนำความสามารถที่มีอยู่นั้นมาใช้เป็นพลังสร้างสรรค์สังคมได้จริง เรียกพลังนี้ว่า “พลังการผลิต”

การปลดปล่อยพลังการผลิต ก็คือการขจัดพันธนาการที่เป็นเครื่องขัดขวางหรือข้อจำกัดมิให้พลังนั้นได้ปรากฏหรือได้แสดงออก ให้มันได้หลุดพ้นไปเหมือนปลดปล่อยให้ความสามารถอันเป็นดัง “พลังการผลิต” นั้นได้สำแดงพลังออกมาอย่างทรงค่า สมพลังสร้างสรรค์

ดังเช่น ความไม่รู้ที่ปิดกั้นความรู้

ความโง่บดบังความฉลาด

ความเกียจคร้านข่มขับความขยัน

ความเห็นแก่ตัวปิดกั้นความเห็นแก่ส่วนรวม

เหล่านี้คือเครื่องพันธนาการที่จะต้องขจัดปลดปล่อย

ประเทศเราเหมือนจะเต็มไปด้วยพันธนาการอยู่มากมายหลายเรื่องนัก ที่ได้แต่รอการปลดปล่อย ซึ่งก็ดูเหมือนว่าจะได้แต่รออยู่เท่านี้เท่านั้น

การศึกษาเป็นเครื่องมือปลดปล่อยความรู้ที่สำคัญสุด แต่ก็ดูเหมือนว่าการศึกษานั้นเอง ยังคงติดอยู่ในถ้ำหลวงอยู่แม้จนวันนี้

น่ายินดีที่ผู้บริหาร ปตท.ส่วนนี้มองเห็นความสำคัญของงานเกษตรว่าเป็นสันหลังของชาติที่ต้องการให้ชาว ปตท.ส่วนหนึ่งได้รับรู้ร่วมกันอย่างแท้จริง ตามสูตรแห่ง “ศาสตร์พระราชา” ข้อที่ว่า “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”

การลงพื้นที่ชนิดลงแรงลงใจร่วมกันอยู่กับชาวไร่ชาวนานี้เป็นการ “เข้าใจ” และ “เข้าถึง” แท้จริง

จากนั้นการพัฒนาทั้งหลายที่เกียวกับแผ่นดินนี้ก็จะเริ่มด้วยการมีทัศนะที่ถูกต้องขึ้น

โครงการนี้ของ ปตท.จึงเท่ากับไปช่วย “เติมพลัง-ต่อพลัง และสานพลัง” ให้ชุมชนได้ “เติมเต็มพลัง” สมศักยภาพของพลังการผลิตอันสำคัญสุดของแผ่นดินนี้

น่าจะตั้งธงประเทศไว้ได้เลยว่า ประเทศไทยจะต้องเป็น

มหาอำนาจแห่งไร่นา

ขวัญข้าวแม่เอย

ขวัญข้าวแม่เอย ขอเชยขอชม

แม่เอวกลม ละองค์อ้อนแอ้น

ใบคือแขน ค่อยโบกค่อยไหว

น้ำใสใส คือน้ำสระสรง

สะโอดสะอง สะอางแม่ข้าว

ฝนพราวพราว คือเพชรคือพลอย

รวงสายสร้อย รับท้องสาวสวย

แม่สำรวย สำเริงลมฝน

เขียวหมอกหม่น แม่ข้าวแต่งตัว

ขาวหมอกมัว แม่ข้าวตั้งท้อง

เหลืองเป็นทอง เต็มทุ่งเต็มท่า

รวงระย้า เป็นสร้อยเป็นสาย

เคียวขอฉาย ชักชวนแม่ข้าว

หมอกฟ้าหนาว ท้องทุ่งท้องนา

มาเถิดมา แม่มาอยู่ลาน

บายศรีสู่พาน ขวัญข้าวแม่เอย ฯ