ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 - 14 กรกฎาคม 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | นงนุช สิงหเดชะ |
เผยแพร่ |
คาดว่ายังคงจะสร้างความไม่แน่นอน ปั่นป่วนให้กับเศรษฐกิจโลกไปอีกนานพอสมควร หลังจากผลการลงประชามติเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ออกมาว่าชาวอังกฤษส่วนใหญ่ต้องการให้อังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (อียู) หรือที่เรียกว่า Brexit (มาจาก Britain+exit) ตามที่รัฐบาลของ นายเดวิด คาเมรอน จากพรรคอนุรักษนิยม จัดให้มีการลงประชามติเรื่องนี้ตามที่เคยสัญญาไว้ในคราวหาเสียงเลือกตั้งเมื่อต้นปี 2558 จนได้รับเลือกนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2
คาเมรอน อยู่ฝ่ายที่สนับสนุนให้อังกฤษอยู่ในอียูต่อไป ขณะที่นักการเมืองในพรรคของเขาเองอย่าง นายบอริส จอห์นสัน ดันไปร่วมกับ ส.ส. และรัฐมนตรีอีกหลายคนในพรรคอนุรักษนิยม แล้วแท็กทีมพากันไปจับมือกับซีกของ นายไนเจล ฟาราจ หัวหน้าพรรคยูเค อินดีเพนเดนซ์ ที่อยู่ฝ่ายรณรงค์ให้อังกฤษออกจากอียู
เมื่อผลออกมาว่าฝ่ายออกเป็นฝ่ายชนะ คาเมรอนจึงประกาศลาออกจากตำแหน่งโดยทันที
แม้ว่าก่อนหน้านั้น นายบอริส จอห์นสัน (ตัวเต็งนายกฯ คนต่อไป) และเพื่อน ส.ส. หลายคนแถลงเรียกร้องขอให้นายคาเมรอนอยู่ในตำแหน่งต่อไปแม้ผลจะออกมาว่าฝ่ายอยากออกเป็นฝ่ายชนะ
สื่อแท็บลอยด์อังกฤษอย่างเดอะ ซัน พาดหัวข่าวอ้างว่านายคาเมรอนพูดกับผู้ช่วยว่า “Why should I do the hard sh**t” (ทำไมผมต้องอยู่ทำงานหนักฉิบนี่ล่ะ) ซึ่งก็เป็นไปได้เช่นกันที่คาเมรอนจะพูดอย่างนั้น เพราะภาระในการนำประเทศออกจากอียูนั้นหนัก ซับซ้อน กินเวลาและน่าปวดหัวมาก พวก (นักการเมือง) ที่อยากให้ออกก็รับภาระไปทำเองสิ รณรงค์กันดีนักไม่ใช่เรอะ
เหตุการณ์ครั้งนี้คาเมรอนคงได้รับการจารึกว่าเป็นผู้นำอังกฤษออกจากอียู (ทั้งที่ตัวเองไม่ต้องการ) ส่วนจะถูกจารึกในทางไหน ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป แต่อย่างน้อยที่สุดหลังจากผลออกมาสิ่งแรกที่อังกฤษทำก็คือนั่งนับเงินที่ไหลออกจากประเทศ
ส่วนฝ่ายค้านก็โจมตีรัฐบาลว่าเป็น Brexit ที่ไม่มี exit plan รองรับ เลยเละ โกลาหลกันใหญ่
ศุกร์ที่ 24 มิถุนายน หลังประชามติออกมา ได้ชื่อว่าศุกร์ทมิฬ เพราะตลาดหุ้นโลกควงสว่านปักหัวด้วยอัตราความเร็วสูง ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดตลาดลดลงไป 699 จุดหรือ 6.8 เปอร์เซ็นต์ ฝรั่งเศสติดลบ 359 จุดหรือ 8 เปอร์เซ็นต์ ดาวโจนส์ของสหรัฐลดลง 610 จุด เลวร้ายที่สุดนับจากปี 2011
แม้แต่วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน ดาวโจนส์ก็ยังปิดตลาดติดลบต่อเนื่องอีก 260 จุด ส่วนตลาดหุ้นญี่ปุ่นอาการหนักกว่าเพื่อนร่วงวันเดียว 1,268 จุด จนต้องใช้มาตรการระงับซื้อขายชั่วคราวเพื่อให้นักลงทุนไปตั้งสติ ย่อยข้อมูลก่อน
ด้านเงินปอนด์อ่อนค่าสุดในรอบ 31 ปี ราคาทองคำพุ่งขึ้น 71 ดอลลาร์ในระหว่างชั่วโมงการซื้อขาย น่าจะเป็นการเพิ่มขึ้นภายในวันเดียวสูงที่สุดเนื่องจากนักลงทุนโยกเงินออกจากสินทรัพย์เสี่ยง
เลยมีการสร้างคำใหม่ขึ้นมาอธิบายสภาพที่เกิดขึ้นในตอนนี้ว่า Brexit คงทำให้อังกฤษ Regrexit (เสียใจที่ออก) หลังจากฝ่ายชนะแสดงอาการดีใจฉลองชัยกันใหญ่ทันทีที่ผลประชามติออกมา
ประเด็นที่น่าห่วงพอๆ กับเรื่องเศรษฐกิจก็คือความขัดแย้งแตกแยกทางสังคม หากฟังการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษนัดแรกหลังจากผลประชามติออกมา นายคาเมรอนและ ส.ส. หลายคนได้แสดงความวิตกกังวลปัญหาอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชังคนต่างชาติที่เริ่มระบาดในอังกฤษ มีการทำร้ายผู้อพยพหรือคนต่างชาติ มีการพ่นข้อความแสดงการเกลียดชังตามที่ต่างๆ
แม้แต่คนอังกฤษก็ขัดแย้งแตกแยกหนักเรื่องออกหรือไม่ออกอียูตั้งแต่ก่อนวันลงประชามติแล้ว โดยเหตุร้ายแรงน่าเศร้าที่สุดก็คือ โจ ค็อกซ์ ส.ส.หญิงดาวรุ่งวัย 41 ปีจากพรรคแรงงานถูกผู้ชายคนหนึ่งยิงและแทงจนเสียชีวิต เพราะค็อกซ์รณรงค์ให้อังกฤษอยู่ในอียู
กระแสออกจากอียูนั้นมีมานานแล้วและเพิ่มดีกรีขึ้นเรื่อยๆ ประเด็นสำคัญไม่น้อยที่ทำให้ฝ่ายรณรงค์ให้ออกเป็นฝ่ายชนะก็คือปัญหาเรื่องอพยพจากชาติยุโรปด้วยกันและนอกชาติยุโรปที่หลั่งไหลเข้ามาในอังกฤษ จนทำให้คนอังกฤษรู้สึกว่าถูกแย่งงานและยังต้องนำภาษีของตัวเองไปรับภาระผู้อพยพเหล่านี้ โดยที่อังกฤษไม่สามารถขัดขืนข้อกำหนดของอียูเรื่องการเปิดรับผู้อพยพได้
นอกจากนั้น ยังมีเรื่องที่ว่าอังกฤษต้องส่งเงินให้กับอียูสัปดาห์ละ 350 ล้านปอนด์เพื่อเป็นค่าสมาชิกโดยที่คนอังกฤษแทบไม่ได้ประโยชน์อะไร ขณะเดียวกัน การอยู่ในอียูยังทำให้อังกฤษเหมือนไม่มีอธิปไตยของตัวเอง ต้องขึ้นกับคณะผู้มีอำนาจในอียู
นี่ขนาดอังกฤษไม่ได้เข้าร่วมกับอียูแบบเต็มที่ ยังยุ่งขนาดนี้ กล่าวคือ อังกฤษยังใช้เงินปอนด์ของตัวเอง ไม่ใช้ยูโร อีกทั้งไม่เข้าร่วมข้อตกลงเชงเก้น (ข้อตกลงที่อนุญาตให้ประเทศสมาชิกอียูเดินทางระหว่างกันโดยไม่ต้องใช้หนังสือเดินทาง)
มีอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกหลายอย่างจาก Brexit เช่น คนลอนดอนเรียกร้องให้แยกลอนดอนออกมาจากอังกฤษเพื่อจะได้เข้าไปอยู่กับในอียูต่อไป เพราะลอนดอนกำลังจะสูญเสียฐานะศูนย์กลางการเงินโลก นักลงทุนเตรียมย้ายสำนักงานไปประเทศอื่น
ที่วุ่นหนักเข้าไปอีกก็คือสกอตแลนด์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร ประกาศจะจัดให้ชาวสก๊อตลงประชามติรอบ 2 ว่าจะแยกออกจากอังกฤษหรือไม่
เพราะไม่พอใจประชามติ Brexit ของคนอังกฤษ เนื่องจากผลโหวตในสกอตแลนด์เมื่อ 24 มิถุนายนนั้น คนสก๊อตโหวตให้อังกฤษอยู่ในอียูต่อไป เมื่อสก๊อตอยากอยู่ต่อก็ต้องขอแยกตัวจากอังกฤษ
ดูแล้วเป็นเรื่องขำไม่ออก เพราะเมื่อปี 2557 ตอนที่สกอตแลนด์ลงประชามติรอบแรกว่าจะแยกตัวเป็นเอกราชจากอังกฤษหรือไม่นั้น คนอังกฤษเองก็พากันออกมาโน้มน้าวรณรงค์ให้สกอตแลนด์อยู่กับอังกฤษต่อไป จนในที่สุดชาวสก๊อตราว 55 เปอร์เซ็นต์โหวตอยู่กับอังกฤษต่อ
แต่ตอนนี้ผล Brexit อาจสร้างแรงสะเทือน กระตุ้นให้คนสกอตแลนด์แยกตัวจากอังกฤษในการลงประชามติรอบใหม่ก็เป็นได้
อีกปัญหาหนึ่งที่ตามมาก็คือบรรดาคนอังกฤษราว 1.3 ล้านคนที่อาศัยและทำงานอยู่ในยุโรปจะได้รับผลกระทบทันทีที่กระบวนการออกจากอียูเสร็จสิ้น (ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา 2 ปี) เพราะสิทธิพิเศษและสถานะต่างๆ ที่เคยมีในฐานะพลเมืองอียู ก็จะหายไปจากคนอังกฤษ ทุกอย่างจะยากขึ้น เช่น ต้องขอใบอนุญาตทำงานในแต่ละประเทศเป็นแห่งๆ ไป ซึ่งอาจทำให้คนอังกฤษเหล่านี้ไม่น้อยต้องเลือกการเปลี่ยนสัญชาติหากต้องการทำงานในอียูต่อไป
อุทาหรณ์จาก Brexit บอกให้รู้ว่าการรวมกันไม่ใช่ว่าเราจะอยู่รอดเสมอไป เพราะการไปอยู่รวมกันกลุ่มใหญ่อย่างใกล้ชิดเกินไปจะเกิดความไม่พอใจกระทบกระทั่งกันได้ง่าย เพราะทนนิสัยกันไม่ได้ เฉกเช่นเดียวกับคนที่เป็นแฟนกัน แต่ละวันแต่งตัวสวยงามออกมาจากบ้านใครบ้านมัน เจอกันก็หวานชื่น มีแต่สิ่งสวยงาม
พอแต่งงานอยู่บ้านเดียวกัน นอนเตียงเดียวกัน จะเกิดความช็อก นึกไม่ถึงว่าอีกฝ่ายจะมีนิสัยแบบนี้ บางคู่ถึงกับเลิกกันเพราะทนนิสัยบางอย่างของอีกฝ่ายไม่ได้ ยิ่งมีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้องยิ่งหนัก สุดท้ายก็ต้องโบกมือลากัน
ยังต้องดูต่อไปว่าจะเกิดโดมิโน โดยชาติอื่นในอียูขอถอนตัวตามอังกฤษหรือไม่ และคงเป็นบทเรียนสำหรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC เช่นกันหากคิดจะรวมตัวกันใกล้ชิดมากไปกว่านี้
บางเรื่องรักษาระยะห่างไว้บ้างก็ดี จะได้รักกันนานๆ