ธเนศวร์ เจริญเมือง : หนังสือพิมพ์กับบทบาทต่อสังคม

หนังสือพิมพ์เกิดขึ้นในยุคที่สังคมมีการค้าขายมากขึ้น และเริ่มมีการติดต่อสื่อสารมากขึ้น

เพราะการค้าขายต้องมีความรู้ในด้านต่างๆ เช่น รัฐบาลมีนโยบายอะไร ส่งเสริมอะไร หรือออกกฎหมายเรื่องอะไร ผู้คนสนใจอยากได้อะไร ไม่ชอบอะไร เมืองไหนเจริญก้าวหน้า การค้าขายคึกคัก สินค้าอย่างไหนขายดี ผู้คนเดินทางไปที่ไหนกันบ้าง ฯลฯ

หนังสือพิมพ์เกิดขึ้นเพื่อรับใช้ความรู้เหล่านั้น กระทั่งมีประกาศข่าวสำคัญๆ ให้คนรับรู้กันทั่ว คนเห็นเข้าก็เกิดความคิดที่อยากจะประกาศข่าวบ้าง เช่น ข่าวแต่งงาน ข่าวลูกคลอด ข่าวมรณกรรม ข่าวคนย้ายถิ่น ข่าวโบสถ์เปิดใหม่-ร้านเปิดใหม่ ข่าวตลาดนัด ข่าวกิจกรรมบันเทิงต่างๆ ฯลฯ

ในสังคมที่ไม่มีช่องทางอื่นๆ ที่จะให้คนได้รับรู้ ได้หนังสือพิมพ์มาสัก 1 ฉบับ อ่านด้วยความดีใจ เพิ่งได้อ่าน แม้ข่าวจะเก่าไปบ้าง หรือครึ่งปีก่อน ก็ยังดีกว่าไม่มีอะไรอ่านเลย

หนังสือพิมพ์สะท้อนภาวะสังคมอย่างไม่น่าเชื่อ ยิ่งสังคมมีการค้าขายมากขึ้น หนังสือพิมพ์ยิ่งขายดี นสพ.มีรายได้ ก็ยิ่งมีข่าวมากขึ้น คนก็ขวนขวายหาซื้ออ่าน กระทั่งออกทุกวัน ทุกเช้า โดยเฉพาะข่าวสารการเมืองและธุรกิจ

กลายเป็นของสำคัญในทุกๆ เช้า ก่อนผู้คนจะเริ่มออกไปทำงาน กระทั่งเอา นสพ.ไปใช้ประกอบการทำงาน

 

ในสังคมตะวันตกหนังสือพิมพ์มีมานาน ผู้คนอยากอ่านข่าวสำคัญๆ รายวัน รูปภาพก็ลดลง ไม่ต้องมีภาพสวยงาม เพราะเน้นขายข่าว สังเกตจากคนอ่าน นสพ.ทุกเช้า อ่านที่บ้าน อ่านในรถไฟ-รถโดยสาร ข่าวสำคัญทางการเมือง-ธุรกิจทั้งนั้น

นานๆ เข้า ช่วงบ่ายกลับบ้าน ไม่มีอะไรอ่าน อยากพักผ่อน หนังสือขนาดเล็กลง มีข่าวเบาๆ ก็เกิดขึ้น และได้รับความนิยม มีเรื่องดารา เบื้องหลังชีวิตของคนดัง ร้านอาหารอร่อยๆ แนะนำวิธีทำอาหารแปลกๆ กิจกรรมบันเทิงช่วงค่ำ ฯลฯ

กลายเป็นเสพข่าวสารทั้งที่มีสาระเพื่อการทำมาหากินภาคเช้าและบันเทิงและบริโภคภาคบ่าย ต่อมาเพิ่มวันอาทิตย์ หนังสือพิมพ์ในตะวันตกหนาปึ้ก โฆษณาสินค้า-คูปองแลกแจกแถมมากมาย การ์ตูนเพียบ เพิ่มแผนกวิจารณ์-แนะนำหนังสืออีก เล่มละ 1 เหรียญอ่านกันทั้งวัน อ่านให้จบต้องใช้ทั้งสัปดาห์

อีกอันที่น่าสนใจคือ งานเขียนถึงคนเด่นคนดัง (Eulogy) ที่จากไป ผลงานที่เขาทิ้งไว้

แต่สังคมที่ภาคธุรกิจยังเติบโตไม่มาก คนอ่านหนังสือไม่มาก คนทำ นสพ.ก็ต้องดัดแปลงให้ นสพ.ขายได้ เช่น ทำ นสพ.หลากสี มีภาพคนดังลงหน้าหนึ่งเรียกร้องความสนใจ หรือภาพเหตุการณ์ใหญ่ประจำวัน มีการ์ตูนมากๆ มีเรื่องสั้น นิยายลงเป็นตอนๆ วันอาทิตย์คนหยุดงานมีพิมพ์ภาพสาวงามแต่งกายน้อยชิ้น มีข่าวบันเทิงมาก เพราะ นสพ.ได้รับสปอนเซอร์ชักชวนผู้คนไปอุดหนุนบันเทิงเริงรมย์

สังคมประชาธิปไตยมีการแข่งขันหาเสียง สัมภาษณ์ผู้อยู่ในตำแหน่ง สัมภาษณ์ผู้สมัคร การเสนอความเห็นต่อโครงการต่างๆ หลากหลาย เปิดการโต้วาทีเป็นระยะๆ ข่าวโครงการหรือกฎหมายของเมืองและประเทศที่จะมีผลกระทบ ฯลฯ

ทั้งหมดนี้เป็นสาระสำคัญของข่าว 3-4 หน้าแรกในแต่ละวัน

 

นสพ.เป็นหน้าต่างของสังคม นสพ.เนื้อหาเข้มข้นมากๆ ย่อมสะท้อนคนอ่านที่ต้องการสาระจากข่าวสาร

ถ้า นสพ.มีแต่ข่าวอาชญากรรม ลงรูปภาพเห็นเลือด ข่าวดาราโชว์เนื้อหนังมังสา ข่าวคาวคนเป็นแฟนกัน คนเลิกกัน ฯลฯ เขียนข่าวแบบใส่อารมณ์ ขาดความเป็นกลางในการเสนอข่าว เช่น “นรกส่งมาเกิด” “แม่ใจยักษ์” “ถูกข่มขืนยับเยิน” “หัวอกแม่ใจจะขาด” ฯลฯ ก็บอกได้ว่าสังคมเป็นแบบใด

ถ้าวันๆ มี นสพ.แบบนี้หลายๆ ฉบับ ก็ลองคิดดูว่าเราเอาอะไรใส่ลงไปในสมองของคนอ่าน และคนเขียนเล่าคิดอะไรในแต่ละวัน เขาเคยคิดไหมว่าบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร ถ้าเสนอเรื่องเหล่านั้นลงไป

การที่รัฐมีอำนาจ มีงบประมาณ มีหน่วยงานประชาสัมพันธ์ของตนเอง รัฐจึงมีแขนขามากมายในการควบคุมสื่อให้เป็นไปตามความต้องการของรัฐ เช่น ออกหนังสือพิมพ์เอง ออกวิทยุเอง สั่งให้หน่วยงานภาคเอกชนไปทำข่าวและเผยแพร่ หรือจับกุมสื่อที่เสนอความเห็นด้านลบต่อรัฐ ให้รางวัลสื่อที่เชียร์ เสนอข่าวของรัฐมากๆ กระทั่งจ้างคนไปเขียนข่าวเชียร์ ออกรายการเชียร์ในโทรทัศน์-วิทยุ และรายการบันเทิงต่างๆ

ในสังคมประชาธิปไตยที่ประชาชนเข้มแข็ง มีบทบาททางการเมือง มีปากเสียงทางการเมือง มีกลุ่มก้อนที่ต่อรองกับรัฐ วิทยุ-โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์-นิตยสารของภาคประชาสังคมก็จะมีบทบาทมาก แต่ก็ยังต้องดูว่าขึ้นกับภาคเอกชนเป็นรายๆ หรืออยากให้ชุมชนในวงกว้างเข้มแข็งกว่าเดิมด้วย

เช่น 1. รายงานข่าวเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยความเที่ยงตรง เสนอข่าวหลายๆ ด้าน ได้เห็นจุดแข็งจุดอ่อนของฝ่ายต่างๆ แน่นอน แม้ไม่ครบทุกด้าน แต่ก็ถือว่ามีความตั้งใจสูง ทำให้ผู้อ่านมองเห็นหลายแง่มุม

2. รูปธรรมอีกอย่างหนึ่งที่ชัดเจน ได้แก่ การแสดงความรับผิดชอบด้วยการเปิดเผยชื่อผู้รายงานข่าว ไม่ใช่ใครไม่รู้เขียน มีแต่นามปากกา ไม่แสดงตัวตน ฟ้องร้องได้ อาจมีบทวิเคราะห์ของนักข่าวในหน้า 1 กระทั่งมีบทนำแสดงจุดยืนของหนังสือพิมพ์ด้วยว่ามองเรื่องนี้อย่างไร ยิ่งต้อนรับจดหมายจากผู้อ่าน หรือเปิดเวทีมองต่างมุม

นี่คือสิทธิเสรีภาพอันเข้มแข็งของพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย

 

นสพ.ในสังคมไทยระยะหลังมีความก้าวหน้าเกิดขึ้นในบางเรื่อง เช่น ในหน้า 1 การเสนอภาพอาชญากรรม เลือดสาด คอ-ขาขาด หายไป การใช้ถ้อยคำกระตุ้นอารมณ์ (Sensationalized-dramatized headlines and reporting) ลดลง สีสันบนหน้าหนึ่งก็ลดลง กลายเป็นขาว-ดำ และการลงภาพสตรีในชุดนุ่งห่มน้อยก็ลดลง กระทั่งหายไปเลยในหนังสือพิมพ์ที่ขายดี

แต่คุณภาพของการเสนอข่าวและการวิเคราะห์ยังสะท้อนให้เห็นระดับการศึกษาที่ยังไม่มีการปฏิรูปอย่างจริงจัง

เพราะถ้าการศึกษาพัฒนาคนเขียน-คนอ่านและสมาชิกในสังคมได้ทั่ว การเสนอข่าวจะลึกซึ้งรอบด้านมากขึ้นไปในทุกๆ หน้า ไม่เว้นแม้แต่หน้าบันเทิง หรือหน้ากีฬา

โดยจะขอยกตัวอย่างล่าสุดจากข่าวกีฬาอันโด่งดัง กรณีสาวญี่ปุ่นลูกครึ่ง (ไฮติ) วัย 20 ปี ชื่อ นาโอมิ โอซาก้า (Naomi Osaka) เรามาลองดูข่าวกีฬาที่เขาเขียนกันในสังคมตะวันตกสิครับ

(หนังสือพิมพ์ The Guardian ของอังกฤษ ฉบับวันจันทร์ที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา)

 

“แม้ชัยชนะของนาโอมิเหนือเซรีน่าจะถูกบดบังไปด้วยการทะเลาะกันระหว่างเซรีน่ากับกรรมการตัดสิน แต่สื่อญี่ปุ่นก็เต็มใจรายงานข่าวดีนี้ของนาโอมิ นายกฯ ญี่ปุ่นบอกว่าชัยชนะของโอซาก้าเป็นกำลังใจให้คนญี่ปุ่นที่กำลังประสบภัยธรรมชาติทางทะเลเป็นชุดๆ… คุณตาเท็ตสุโอะ บอกนักข่าวที่ฮอกไกโดว่า ตื่นขึ้นมากับคุณย่าตอนตี 1 เพื่อดูหลานสาวดีเทนนิสจนได้แชมป์ ดีใจมากหลังจากที่หมางเมินกับลูกสาวที่ไปแต่งงานกับหนุ่มไฮติ จนลูกสาวกับลูกเขยพานาโอมิไปอยู่ที่ฟลอริดาตอน 3 ขวบ…

นสพ.โยมิอุริ ชิมบุน ยกย่องว่าความแข็งแกร่งและความน่ารักไร้เดียงสาของนาโอมิรวมกันเป็นเสน่ห์ที่ยอดเยี่ยมของ “ดาวดวงใหม่” จากญี่ปุ่นคนนี้…

คนดู 2 หมื่นกว่าคนดูเหมือนจะเชียร์ให้เซรีน่าคว้าแชมป์รายการสำคัญครั้งที่ 24 ในประวัติศาสตร์ แต่เสียงไชโยโห่ร้องหรือเสียงโห่ที่ดังสนั่นไม่อาจทำลายสมาธิอันแข็งแกร่งของนาโอมิ…ช่างน่ามหัศจรรย์จริงๆ ไม่เสียแรงที่คนญี่ปุ่นตื่นขึ้นมาดูกันตอนตี 1 เศษ…

ยิ่งญี่ปุ่นจะได้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนในอีก 2 ปีข้างหน้า

นาโอมิคงจะได้เป็นพรีเซ็นเตอร์อีกมากมาย กระตุ้นกีฬาโอลิมปิก…ชัยชนะของนาโอมิยังน่าจะมีผลสำคัญต่อความเข้าใจเรื่องอัตลักษณ์ใหม่ๆ ของคนญี่ปุ่น ว่าคนญี่ปุ่นไม่ใช่มีแต่หน้าขาวๆ ตาหยีๆ ผมดำ และไม่ค่อยยิ้ม…น่าจะเปิดโอกาสให้คนที่ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า haafu (ฮาฝุ – half – ลูกครึ่ง) ได้เงยหน้าอ้าปากขึ้นบ้าง

ขณะนี้สังคมญี่ปุ่นมีลูกครึ่งหลายคนที่เล่นกีฬาเก่ง เช่น ยู ดาร์วิช (Yu Darvish) นักเบสบอลฝีมือดีในสหรัฐ ที่พ่อเป็นชาวอิหร่าน, หรือนักวิ่งเร็ว อาซูก้า เคมบริดจ์ (Asuka Cambridge) พ่อเป็นชาวจาเมกา

สังคมญี่ปุ่นก็คงต้องยอมรับว่าวัฒนธรรมในโลกปัจจุบันมีความหลากหลายมากขึ้น “ก็ถ้านักกีฬาลูกครึ่งเขามีใจให้ญี่ปุ่นเต็มร้อย พวกเขาก็ควรได้รับการยอมรับอย่างเท่าเทียมกัน”…”

 

เห็นไหมครับว่า บทความเรื่องกีฬา แต่มีทั้งการเมือง สังคมวิทยา และประวัติศาสตร์รวมอยู่ในนั้นหมด สะท้อนให้เห็นความเข้มแข็งของระบบการศึกษา ที่ไม่ว่าคนทำหนังสือพิมพ์ไม่ว่าจะจบสาขาวิชาใดก็ตาม ย่อมมีมุมมองที่กว้างขวาง มีการสำรวจ เก็บข้อมูล และนำมาเสนอในช่วงเวลาต่างๆ

ถ้าหากเราสังเกต สังคมสื่อมวลชนในสายบันเทิง และสายกีฬาของประเทศเรา เราจะพบว่าเขียนบทวิเคราะห์น้อยมาก แม้แต่ในหน้าบทความวิเคราะห์ข่าวก็มีจำนวนจำกัด ต้องอาศัยคนอ่านหรือนักเขียนจากข้างนอกส่งเข้าไป

เราได้อ่านข่าวนักแสดงคนนั้นแสดงเรื่องนั่นเรื่องนี่ เป็นแฟนกับคนนั้น มีข่าวกับคนโน้น เลิกกับคนนี้ หรือไปสัมภาษณ์ชีวิตของเหล่าดารา

ข่าวกีฬาก็เช่นเดียวกัน คือรายงานว่าผลการแข่งขันเป็นอย่างไร ใครชนะ ด้วยคะแนนเท่าใด หรือใครยิง ยิงได้ในนาทีเท่าใด จบเท่านั้น ไม่มีการวิเคราะห์เลย

หน้าบันเทิง ควรมีการวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน หรือจุดที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์ ละคร ภาพยนตร์ การแสดง การกำกับการแสดง กระทั่งนิสัยของนักแสดง ฯลฯ ได้

เช่นเดียวกัน ข่าวกีฬาก็มีแต่ผลการแข่งขัน ทีมไหนชนะ ด้วยคะแนนเท่าใด หรือใครเป็นคนยิงประตู นาทีเท่าใด เราไม่เคยเห็นการวิเคราะห์ผลการแข่งขัน นักมวยคนไหนต่อยแย่ลงหรือดีขึ้น นักกีฬาคนไหนโดดเด่น เขาฝึกซ้อมอย่างไร ประสบปัญหาอะไร สมาคมกีฬามีงบประมาณมากพอไหม การแข่งขันประเภทใดพัฒนาไปไกลมากแล้ว ทำได้อย่างไร ประเภทไหนยังต้องพัฒนา

นักกีฬาไทยไปโด่งดังในต่างประเทศหลายคน เช่น นักฟุตบอลที่ไปสร้างชื่อในญี่ปุ่น นักกีฬาวอลเลย์บอลหญิงไปเป็นนักกีฬาอาชีพในแถบเอเชียกลางหรือยุโรปตะวันออก หรือค่ายมวยไทยที่ไปทำเงินในต่างประเทศ เป็นอย่างไรบ้าง ฯลฯ

นี่คือบทบาทของสื่อมวลชนทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วิทยุ และโทรทัศน์

 

สุดท้าย เราก็พบว่าการศึกษานั่นเองที่เป็นรากฐานสำคัญในการมองปรากฏการณ์และปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตามที่เราทำ LAE หรือ ม.ส.ว. กลับมามีบทบาทอีกครั้ง

คือการศึกษาที่จะสร้างบัณฑิตทุกๆ สาขาวิชาให้มีความรู้ในสังคมด้านต่างๆ และวิทยาศาสตร์ทั้งด้านธรรมชาติและสังคม เพื่อหาเหตุและผลในความสัมพันธ์ระหว่างสิ่ง

เพื่อให้ความเข้าใจของสังคมของเราแต่ละด้านมีมุมมองที่เฉียบคมมากขึ้น เห็นหลายๆ ด้าน และรู้ว่าต่อไปจะพัฒนาอะไร ด้วยการทำให้อะไรซึ่งเป็นเหตุ

นำไปสู่ผลอะไร