วงค์ ตาวัน : การเมืองที่ทำร้ายชาวนา

วงค์ ตาวัน

ประเทศเกษตรกรรมอย่างไทยเรา มีประชากรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร และในจำนวนนี้มีคนปลูกข้าวเป็นเปอร์เซ็นต์มากสุด จนเปรียบกันว่าชาวนาคือกระดูกสันหลังของชาติ ดังนั้น การพบปะพูดคุยกับคนทำนา จึงไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร

ในกรุงเทพฯ อาจจะแทบไม่เหลือชาวนาอยู่อีกแล้ว เพราะตึกรามอาคารสูงเต็มไปหมด ยังพอมีผืนนาและคนทำนาอยู่บ้างแถวชาน กทม.

แต่แค่ขับรถออกจากเมืองหลวงไปแถวปทุมธานี อยุธยา สุพรรณบุรี มีแต่ชาวนาเต็มไปหมด อยากรู้อยากถามอะไร ไม่ใช่เรื่องยาก

เมื่อช่วงต้นปี 2559 ผืนนาเงียบเหงา ประมาณเดือนพฤษภาคม เริ่มเข้าฤดูฝน แต่แหงนมองฟ้าเจอแต่ดวงอาทิตย์แผดจ้า ชาวนาบอกว่าภาวะแห้งแล้งรุนแรงมาตั้งแต่ปีก่อน แถมปีนี้ฝนยังล่าช้าอีก จึงหาน้ำทำนาไม่ได้ แต่ก็นั่งนับวันนับเดือน คาดหวังว่าราวเดือนกรกฎาคม น่าจะพอเริ่มลงนากันได้

“เข้าสู่เดือนกรกฎาคม ชาวนาบางพื้นที่ เริ่มตัดสินใจลงขัน ลงทุนสูบน้ำเข้าคลองเป็นทอดๆ เพื่อจะได้มีน้ำมาหล่อเลี้ยง แล้วเริ่มลงมือทำนา ทั้งเชื่อว่ากลางเดือนกรกฎกาคมนี่แหละ ฝนจะเริ่มมาแล้ว คงช่วยหล่อเลี้ยงเมล็ดข้าวได้พอดี”

โดยสาเหตุที่ต้องเริ่มทำนากันตั้งแต่ต้นกรกฎาคม เพราะคนทำนาทุกคนรู้ดีว่า ล่าช้ากว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว

เนื่องจากประมาณเดือนกันยายนหรือตุลาคม จะเข้าสู่ช่วงฤดูมรสุม พายุดีเปรสชั่นทั้งหลายจะแห่กันมาในช่วงดังกล่าวของทุกปี

แล้วเมื่อมรสุมเข้าเมื่อไร สิ่งที่จะตามมาคือฝนถล่มจมนา ก็ต้องรีบเก็บเกี่ยวก่อนนาล่ม

ถ้าปลูกข้าวช้ากว่าต้นเดือนกรกฎาคม แล้วหากถึงกันยายน-ตุลาคม ต้องรีบเก็บเกี่ยวหนีพายุ ข้าวก็จะไม่สมบูรณ์พอ

“นี่เป็นข้อมูลพื้นๆ เรื่องฤดูกาลฟ้าฝน ที่คนทำนาทุกคนเขารู้ดี เพราะทำนากันมาชั่วชีวิต!”

A Thai vendor carries a variety of rice to refill a bag at his shop at a market in Bangkok on September 25, 2011. A populist policy aimed at boosting the incomes of Thai farmers has raised fears of global rice price turbulence, but experts say the kingdom could just be hurting itself. AFP PHOTO/Christophe ARCHAMBAULT / AFP PHOTO / CHRISTOPHE ARCHAMBAULT
ภาพถ่ายเมื่อเดือนกันยายน ปี2554 (AFP PHOTO / CHRISTOPHE ARCHAMBAULT)

แล้วถึงที่สุด สิ่งที่ชาวนาพูดเอาไว้ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม ก็ไม่ใช่เรื่องผิดคาด กลางเดือนกันยายนมรสุมก็มาเยือนจริงๆ เริ่มเห็นภาพชาวนาต้องรีบเก็บเกี่ยวผลผลิตตั้งแต่ช่วงนั้นเป็นต้นมา ทยอยเก็บช้าเร็วแล้วแต่พื้นที่ที่เจอฤทธิ์ฝนกระหน่ำรุนแรง

“บรรดากระดูกสันหลังของชาติบอกว่า ต้องรีบเก็บเกี่ยวทั้งที่ผลผลิตยังไม่สมบูรณ์ดี แต่ปล่อยไปก็ไม่ได้ ฝนกระหน่ำขนาดนี้เดี๋ยวนาคงล่มแน่”

เก็บเกี่ยวเสร็จแล้วก็ต้องเอาไปส่งโรงสี สภาพอย่างนี้โดนตัดราคาค่าความชื้นมากมายซ้ำอีก

ราคาข้าวก็ตกต่ำอย่างหนักอยู่แล้ว จากสมัยก่อนตอนรัฐบาลยุคจำนำข้าว ชาวนาได้ตันละหมื่นห้าหมื่นหก ยุคนี้เหลือแค่ตันละหกพันเจ็ดพัน แถมยังต้องโดนหั่นค่าความชื้นลงไปอีก

“นี่คือข้อเท็จจริงที่สัมผัสได้ไม่ยาก”

แล้วทำให้เข้าใจได้ไม่ยากว่า เหตุใดข้าวราคาตกต่ำเหลือแค่กิโลกรัมละ 5 บาท จึงมาดังกระหึ่มเอาในระยะนี้

เพราะเป็นช่วงที่ชาวนาทยอยเก็บเกี่ยวข้าวเพื่อหนีพายุฝน จึงไปส่งโรงสีในสภาพที่มีปัญหาความชื้นสูง และโดนหั่นราคาจนตกต่ำดำดิ่งอย่างหนัก

ชาวนาจึงเริ่มออกมาโอดครวญกันระงมไปทั่วทุกพื้นที่

ถ้ารัฐบาลอ้างว่า ต้นตอทั้งหมดมาจากนักการเมืองสมคบกับโรงสี เพื่อหวังจุดชนวนให้ชาวนาต่อต้านรัฐบาล

ฟังข้อมูลทั้งหมดแล้ว ต้องบอกว่า นักการเมืองคงสมคบกับพวกเมฆฝนมากกว่ากระมัง โดยเจาะจงให้ฝนมาช้าในตอนต้นปี และมาถล่มหนักในช่วงเดือนสองเดือนนี้!

แน่นอนว่า ระบบการซื้อขายข้าว ยังมีช่องโหว่ให้คนที่อาบเหงื่อต่างน้ำตัวจริง ต้องถูกเอารัดเอาเปรียบ นั่นเป็นประเด็นที่รัฐบาลต้องปรับแก้กันอย่างเป็นระบบและอย่างครบวงจรกันต่อไป
14486970181448697053lแต่ในระยะเฉพาะหน้านี้ จึงเป็นเรื่องช่วยไม่ได้ ที่บรรดาคนทำอาชีพปลูกข้าว จะมีข้อเปรียบเทียบในการดูแลเอาใจใส่ชีวิตชาวนาที่ต่างกันระหว่างรัฐบาลแต่ละชุด

นโยบายจำนำข้าวในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่เข้าบริหารประเทศตั้งแต่ปี 2554 สำหรับคนทำนาในไทยเราแล้ว นั่นคือ ยุคที่รัฐบาลใช้เงินงบประมาณแผ่นดินมาอุ้มชูชาวนาอย่างเป็นจริงเป็นจังมากที่สุด

บางยุคบางสมัย บางรัฐบาลอาจจะทุ่มเงินงบประมาณไปอุ้มธนาคาร อุ้มสถาบันการเงิน เพื่อไม่ให้ล้ม บางยุคใช้งบประมาณก้อนโตไปอุ้มชนชั้นกลาง

“แต่รัฐบาลยุคจำนำข้าว คือ การอุ้มชาวนาให้ลืมตาอ้าปากอย่างเป็นจริง”

ในช่วงปี 2556 นักการเมืองบางราย บางกลุ่ม เคลื่อนไหวอภิปรายต่อต้านโครงการจำนำข้าวอย่างหนัก กล่าวหาว่ามีการคดโกงอย่างมโหฬาร เป็นนโยบายเลวร้ายผลาญงบประมาณแผ่นดิน

สำหรับชาวนาแล้ว ก็พอได้ยินถึงขั้นตอนที่เงินรั่วไหลอยู่เหมือนกัน แต่ถ้าถามว่าชาวนาโดนโกงหรือไม่ ย่อมไม่ใช่แน่ เพราะเงินตันละหมื่นห้าหมื่นหกนั้นได้เต็มๆ ธ.ก.ส. เป็นผู้โอนตรงเข้าบัญชีชาวนา

ประเด็นสำคัญก็คือ ถ้าเห็นว่ามีการทุจริตตรงไหน ก็ควรจะแก้ตรงนั้น

“หากกล่าวหาแบบเหมารวมว่า นโยบายนี้เลวร้ายต้องล้มเลิกให้ได้ นั่นเท่ากับทำให้ผลประโยชน์ของชาวนา ที่สามารถลืมตาอ้าปากได้ครั้งแรกจากนโยบายนี้ ก็ต้องพังทลายไปด้วย”

Thai farmers hold protest palcards next to a tractor as they protest the governments delayed payments for rice submitted to the pledging scheme, at the Commerce Ministry in Nonthaburi province on February 6, 2014. Thailand's embattled government on February 6 defended a much-criticised rice subsidy scheme after a Chinese firm cancelled a one million tonne order for stockpiled grain, following a graft probe into Thai officials. AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL
AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

ในปี 2557 ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล สามารถปลุกการชุมนุมได้สำเร็จ และเริ่มมีการไปปิดล้อมธนาคารเพื่อทำให้การจ่ายเงินให้ชาวนาเริ่มสะดุด

พร้อมๆ กับเสียงนกหวีดขับไล่ยิ่งลักษณ์ที่ดังระงม นักการเมืองพรรคหนึ่งและแกนนำนกหวีดส่วนหนึ่ง ก็โหมกระแสล้มนโยบายจำนำข้าวอย่างเอาเป็นเอาตาย

จากนั้นนโยบายจำนำข้าวก็ล้มไปพร้อมกับการปิดฉากรัฐบาลยิ่งลักษณ์

แถมการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ก็ตีกรอบชัดเจนไม่ให้นโยบายแบบนี้เกิดได้อีก

ชาวนาย่อมต้องสงสัยว่า แล้วผลประโยชน์ที่เคยได้จากนโยบายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จะเป็นเช่นไรในรัฐบาลใหม่

ลงเอยราคาข้าวก็ลงมาเหลือตันละหกพันเจ็ดพัน ก่อนจะเหลือกิโลละ 5 บาท

16-1

ยังดีที่ล่าสุดรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตัดสินใจใช้นโยบายจำนำยุ้งฉางออกมาช่วยเหลือชาวนา ซึ่งก็ดูคล้ายๆ นโยบายจำนำข้าว และได้ราคาขยับขึ้นมาตันละเกินหมื่นบาท แน่นอนว่ายังดีกว่าเหลือแค่ตันละหกเจ็ดพัน จนถึงเหลือโลละ 5 บาท

“เสียงชื่นชมในรัฐบาล คสช. จากชาวนา จึงเริ่มกลับคืนมา”

แต่ก็ถือเป็นเรื่องเหน็ดเหนื่อยสำหรับรัฐบาลประยุทธ์ และอาจรวมไปถึงรัฐบาลชุดต่อๆ ไป ว่าจะจัดการกับราคาข้าวเพื่อดูแลชีวิตชาวนาได้อย่างไรในฤดูกาลถัดไป

เพราะบรรทัดฐานของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ทำเอาไว้สูงลิ่ว และสำหรับชาวนาเขาเคยได้เงินเป็นจริงมาแล้วในราคาดังกล่าว

ย่อมเกิดภาพเปรียบเทียบกับนโยบายของรัฐบาลอื่นๆ อย่างช่วยไม่ได้

นโยบายจำนำข้าว แม้จะถูกล้มไปแล้ว แต่ก็ยังคงมีอิทธิฤทธิ์มากมาย ไม่อาจทำลายความรู้สึกที่ฝังในใจชาวนาได้

เชื่อกันว่า ความทุกข์ของชาวนาในช่วงข้าวเหลือโลละ 5 บาท จะทำให้เหล่าคนปลูกข้าวในประเทศนี้ ต้องไม่ลืมเลือนนโยบายจำนำข้าวที่เคยมีจริงในยุคหนึ่ง

“รวมทั้งคงไม่ลืมเลือนนักการเมืองบางราย บางกลุ่ม ที่เคลื่อนไหวทุกทางเพื่อล้มนโยบายนี้ อันกระทบปากท้องชาวนาอย่างรุนแรงยิ่ง!!”

ขณะที่รัฐบาล คสช. ประกาศชัดล่าสุดว่า การเลือกตั้งยังเป็นไปตามเดิม ไม่มีการเลื่อนโรดแม็ป

นั่นเท่ากับว่า อีกไม่เกิน 1 ปี ประชาชนจะได้อำนาจทางการเมืองกลับคืนมา และสามารถใช้อำนาจในมือในวันที่เดินเข้าคูหาได้

ชาวนาซึ่งเป็นอาชีพของคนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ ย่อมรู้ดีว่า ในวันนั้นจะมีโอกาสใช้อำนาจในมือตัดสินนักการเมืองคนไหน พรรคไหน เช่นไร

ใครที่โอบอุ้มชาวนา ใครที่ทุบหม้อข้าวชาวนา!?!