เมื่อ “ฝนเหลือง” ขึ้นศาล

แน่นอน ตัว “ฝนเหลือง” ไม่ได้ถูกส่งขึ้นศาล

แต่ผู้ที่อาจตกเป็นจำเลยในศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) คือ “มอนซานโต” ผู้รับผิดชอบในการผลิต “ฝนเหลือง” ให้กับกองทัพสหรัฐอเมริกา นำมาใช้จนเป็นที่เลื่องลือในช่วงสงครามเวียดนาม

“ฝนเหลือง” ถูกเรียกจากสีขาวแกมเหลืองกับลักษณะที่ถูกโปรยปรายลงมาจากเครื่องบินรบหรือเฮลิคอปเตอร์ ทหารอเมริกันเรียกมันว่า “เอเย่นต์ ออเรนจ์” ตามสีของถังบรรจุ (ขนาดเท่าถังน้ำมัน 100 ลิตร) ที่เป็นสีส้มจัดทั้งถัง หรือมีแถบสีส้มคาดเป็นสัญลักษณ์

“ฝนเหลือง” เป็นสารกำจัดวัชพืชชนิดรุนแรงที่สุดชนิดหนึ่งเท่าที่มนุษย์เคยคิดค้นกันมา ที่เวียดนาม มันทำลายไม่เพียงแค่วัชพืช แต่ถูกทำให้สามารถทำลายป่าได้ทั้งป่า ป้องกันไม่ให้ถูกใช้เป็นที่กำบังของทหารเวียดนามเหนือและกองกำลังเวียดกง และทำลายพืชพรรณที่เป็นเสบียงของกองทัพฝ่ายเหนือ

ฝนเคมี ที่ทำให้ใบไม้ร่วงทั้งป่า มีฤทธิ์ตกค้างสูง ส่งผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์เป็นอเนกอนันต์

มีหลักฐานเป็นจำนวนมากที่เชื่อมโยง “ฝนเหลือง” เข้ากับอาการพิกลพิการทางร่างกายของผู้ที่ได้รับพิษและก่อให้เกิดภาวะทุพพลภาพตั้งแต่แรกคลอด กาชาดเวียดนามเคยรายงานไว้ว่า ชาวเวียดนามไม่แบ่งฝ่ายมากถึง 3 ล้านคนได้รับผลกระทบจากสารเคมีนี้ และมีเด็ก 150,000 คนที่พิการแต่กำเนิดสืบเนื่องจากการได้รับสารระหว่างตั้งครรภ์

50 ปี หลังจากได้รับมอบหมายภารกิจพัฒนา “ฝนเหลือง” จากกองทัพอเมริกัน มอนซานโตถึงได้มีโอกาสตกเป็นจำเลยในศาล

ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้มีบทบาทในการก่อเหตุอันเป็น “อาชญากรรมสงคราม”

 

คณะผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายระหว่างประเทศ และภาคประชาสังคมระหว่างประเทศจำนวนหนึ่งรวมตัวกันขึ้นจัดกิจกรรม “อินเตอร์เนชั่นแนล มอนซานโต ทริบูนาล อิน เดอะ เฮก” เรียกสั้นๆ ว่า “มอนซานโต ทริบูนาล”

ดำเนินกระบวนการทำนองเดียวกันกับกระบวนการศาลระหว่างประเทศ แต่ไม่มีพันธะเชิงกฎหมาย

องค์คณะตุลาการศาลจะทำหน้าที่รับฟังข้อมูลจากผู้ที่ตกเป็นเหยื่อได้รับผลกระทบ ควบคู่ไปกับการจัด “สมัชชาประชาชน” เพื่อให้เป็นศูนย์รวมของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมจากทั่วโลก ที่เกี่ยวเนื่องกับฝนเหลืองและพฤติกรรมต่อเนื่อง แลกเปลี่ยนแนวความคิดและหาแนวทางดำเนินการตามต้องการต่อไป

เหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้นระหว่าง 14-16 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์

แม้จะไม่มีผลผูกพันเชิงกฎหมาย

แต่หน้าที่สำคัญประการหนึ่งของคณะตุลาการศาล “มอนซานโต ทริบูนาล” ก็คือ ให้คำแนะนำและให้ความเห็นเชิงที่ปรึกษาต่อทุกฝ่าย ว่าควรดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไปทั้งในส่วนของคดีความและในส่วนของกระบวนการ อันจะนำไปสู่การยื่นฟ้องร้องกล่าวหามอนซานโต ต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ

ในฐานะเป็นผู้สมคบคิด กระทำการอันเป็นการ “ละเมิดสิทธิมนุษยชน”, มีการกระทำอันเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และกระทำการอันเป็น “อีโคไซด์” หรือการทำลายล้างสภาวะแวดล้อมอย่างกว้างขวาง

และการดำเนินการดังกล่าวจะสร้างบรรทัดฐานระหว่างประเทศในการดำเนินคดีกับอาชญากรรมอื่นๆในทำนองเดียวกันนี้ และกระตุ้นให้ศาลอาญาระหว่างประเทศ นำอาชญากรรมต่อสภาวะแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อมนุษยชาติทำนองนี้บรรจุเพิ่มเติมไว้ในธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ ต่อไป

คณะตุลาการมอนซานโต กำหนดจะประกาศแนวความเห็นเชิงปรึกษาต่อกรณีนี้ออกมาในวันที่ 10 ธันวาคมที่จะถึงนี้

 

ในทัศนะของมอนซานโต ซึ่งแสดงปฏิกิริยาในเรื่องนี้ออกมาอย่างเป็นทางการเมื่อ 12 ตุลาคม ระบุว่า กิจกรรมครั้งนี้ “ไม่ใช่การสานเสวนา” เพื่อหาทางออกที่แท้จริง

เป็นเพียงการ “สร้างศาลจำลอง” ขึ้นมาภายใต้การสนับสนุนของกลุ่มต่อต้าน เทคโนโลยีการเกษตรและกลุ่มต่อต้านมอนซานโต ที่ “แสดงบทบาทเอง” เป็นทั้งโจทก์ ผู้พิพากษา และลูกขุน ที่ผลลัพธ์ “ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้า” ก่อนแล้ว

แต่ เฟอร์กาล เกย์เนอร์ นักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญของไอซีซี บอกว่า พลังของประชาชนนั้นเคยส่งผลให้มีการเพิ่มอาชญากรรมใหม่เข้าไปในธรรมนูญกรุงโรมฯ มาแล้วเมื่อปี 1998 ว่าด้วยการบังคับให้ตั้งครรภ์ที่ถือว่าเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

แบบอย่างดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าไอซีซียังคงเปิดรับข้อเสนอแนะให้บรรจุอาชญากรรมใหม่ๆ ที่เหมาะสมลงไปอยู่เสมอนั่นเอง