จรัญ พงษ์จีน : “ชวลิต” ชูรัฐบาลเฉพาะกาล แต่ “นายกฯคนนอก” เสียงดังกว่า

จรัญ พงษ์จีน

จู่ๆ อยู่ดีไม่ว่าดี “พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ” อดีตขงเบ้งกองทัพ ผู้บัญชาการทหารบกเก่า อดีตนายกรัฐมนตรี ไปกินยาผิดซองมาอะไรหรือเปล่า ลุกขึ้นมาเสนอไอเดียอันวิลิศมาหรา ว่า

ผลสืบเนื่องมาจาก “รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560” เมื่อมีการเลือกตั้งแล้ว ก็ต้องจัดตั้งรัฐบาล ที่จะประกอบขึ้นด้วยพรรคการเมืองหลายพรรค ที่มีมากกว่า 20 พรรค เพื่อจะได้ไม่แตกแยก หรือหากฝืนใช้รูปแบบเดิม จะนำไปสู่การทะเลาะที่ไม่สิ้นสุด จึงคิดว่าการที่จะปล่อยให้มีการเลือกตั้งขึ้นเช่นนี้ อย่าให้มีเลย

“แต่ควรให้มีรัฐบาลเฉพาะกาลเข้ามาแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ใช้เวลาประมาณ 2 ปี แล้วนำรัฐธรรมนูญปี 2540 มาปรับปรุงแก้ไขและใช้แทนฉบับปัจจุบันก่อนที่จะเลือกตั้งใหม่ วันนี้ต้องเซ็ตซีโร่ เพื่อนำไปสู่สิ่งที่ถูกต้อง”

“วินิจฉัย” ที่มาได้ 2 ปัจจัย หนึ่ง “พล.อ.ชวลิต” หลังกลับมามีเสน่ห์หวือหวือ เกิด “โลกสวย” ประกาศแต่งงานใหม่สละโสดตอนไม้ใกล้ฝั่งอีกครั้ง สุขภาพสมบูรณ์พูนสวัสดิ์ เตะปี๊บดังปั๋ง แต่ “ป่วย” …ต้องพาไปหาหมอ

ประการที่สอง หากพิจารณาบทบาทของ “บิ๊กจิ๋ว” ที่ผ่านๆ มา แม้อายุขัยจะวัยปลายคน 80 กว่าปีเข้าไปแล้ว ผ่านร้อนผ่านหนาวมาด้วยความโชกโชน การที่จะออกมาพูดอะไรที่ไม่เป็นสับปะรดขลุ่ยในสถานการณ์บ้านเมืองตกอยู่ในภาวะล่อแหลมอย่างนี้ย่อมไม่ได้ “ลุงจิ๋ว” ต้อง “มีของ” ไม่มีดีคงไม่มา…อยู่กระท่อมน้อยๆ จูจิ๊บ ปิ๊งกันลั่นเปรี้ยง ย่อมสนุกกว่า

ที่สำคัญคือ รายการนี้ “พล.อ.ชวลิต” ปกติแก่พูดจาสับสน ไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่คาบนี้ใจความกระชับ สั้น กะทัดรัด ไม่ต้องแปลไทยเป็นไทย

ที่สำคัญคือ การบ้านการเมืองว่าด้วยโหมดเลือกตั้ง “ยกระดับ” ใกล้ความเป็นจริงมากเข้ามาทุกขณะ ขนาดว่า “พรรคพลังประชารัฐ” พรรคนอมินีของ “คสช.” ได้ปล่อยของ ประกาศเปิดตัวออกมาอย่างเป็นทางการไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

“4 รัฐมนตรี” ในคณะรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ที่เปิดตัวต่างมีตำแหน่งแห่งหนในพรรคพลังประชารัฐ ทั้งหัวหน้าพรรค-รองหัวหน้า-เลขาธิการและโฆษกพรรค ส่งสัญญาณเชิงสัญลักษณ์มาเป็นหลักประกันว่า อีกไม่ช้าไม่นาน จะมีเลือกตั้งแน่

อีหรอบเดียวกับพรรคการเมืองอื่นๆ ไม่ว่า “เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย” ก็พากันขยับขับเคลื่อนกันด้วยความเสมอภาค ตามโปรแกรมที่คาดหมายไว้ในเบื้องต้น คือวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562

กระนั้นก็แล้ว แต่มีผู้คนอีกจำนวนมากยังไม่เชื่อว่า “จะมีเลือกตั้ง” …เพราะดังที่ทราบๆ นับตั้งแต่ “คสช.” ปฏิวัติ-ยึดอำนาจมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2557 “เบี้ยว” มาไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบ แต่สุดท้ายก็ยกเหตุผลมาอ้างข้างๆ คูๆ เลื่อนโปรแกรมได้เรื่อยมา

ครั้งนี้ก็ยังสุ่มเสี่ยง ไม่มีอะไรแน่นอน ของมันเคย

 

อย่างไรก็ตาม แม้ตลาดการเมืองจะเปิด “คนเลือกตั้ง” เริ่มเคลื่อนไหวกันคึกคัก แต่มีเงื่อนไขที่ส่อเค้าเล่าอาการว่า โปรแกรมเลือกตั้งอาจจะต้องขยักอีกครั้งก็เป็นไปได้

กล่าวคือ “พรรคพลังประชารัฐ” ที่ลั่นกลองรบเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปแล้วนั้น ยังไม่ทันแตกใบอ่อน ก็กลายเป็น “บ้องกัญชา” ทำท่าจะยุ่งเป็นยุงตีกัน

เมื่อล่าสุดมีข่าวคลุกวงในระบุว่า “กลุ่มสามมิตร” ของ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ-สมศักดิ์ เทพสุทิน” เกิดไม่สบอารมณ์โก๋ เกี่ยวกับการจัดพื้นที่ให้ผู้สมัคร ส.ส. มีสภาพลักลั่น ปีนเกลียวกันในหลายเขต

ซึ่งก่อนหน้านี้ “ส.สมศักดิ์-ส.สุริยะ” เดินสายประสานสิบทิศ เตรียมบุคคลไว้เรียบร้อยเกือบหมดแล้ว ทั้งในภาคอีสาน-เหนือ และภาคกลางบางส่วน

แต่มี “สายแข็ง” จิ้มให้ลง ทั้งเครือข่ายทหาร ที่ออกไปทำมวลชน และกลุ่มนักการเมืองอีกบางส่วน อาศัยความสนิทสนทนากับ “ผู้บริหารพรรค” เคยทับซ้อนพื้นที่ และทำท่าจะพูดจาภาษาดอกไม้กันไม่รู้เรื่อง

โอกาสที่จะ “วงแตก” แยกกันเดินตั้งแต่ฝนไม่ตก มีความเป็นไปได้สูง

ซึ่งแน่นอนว่า กรณีของ “กลุ่มสามมิตร” ก็เป็นเงื่อนไขหนึ่ง กลุ่มอื่นๆ ที่ทยอยเปิดตัวไปแล้ว และกำลังจะเปิดตัวในลำดับถัดไป มีสภาพที่ไม่แตกต่างกัน

“ฝัน” ที่เคยหวานว่า “พรรคพลังประชารัฐ” ซึ่งอุดมสมบูรณ์ทั้ง “บุคคล-กระแส” ต้องชนะศึกเลือกตั้ง แต้มเฉือน “พรรคเพื่อไทย” นาทีนี้อาจจะลมๆ แล้งๆ

สงครามเมื่อรู้ว่า “รบแล้วแพ้” จะสู้รบปรบมือให้เมื่อยตุ้มทำไม นี่ก็คือห้องเครื่องสำคัญที่ทำให้เกิดการคาดเดากันว่า โปรแกรมเลือกตั้ง ท้ายที่สุดแล้วก็ต้องเลื่อนอีกครั้ง

กระนั้นก็ตาม เชื่อว่าหาก “คสช.” ของ “บิ๊กตู่” งัดลูกไม้เก่ามาเพื่อลากศึกเลือกตั้งออกไปอีก จะโดน “กระแสสังคม” กดดันหนัก แม้จะมี “ไอ้โอ๊บ” เป็นเครื่องทุ่นแรง แต่ก็เสี่ยง ครั้นจะไปใช้สูตร “พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ” ตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจ-เฉพาะกาล ก็ดูจะเกินไป

ต้องเลือกตั้งไปก่อน แต่กรณีที่เกิดเสียงกิ๊กๆ กั๊กๆ ก็สามารถใช้บริการ “ช่องทางที่ 2”

เป็นตามบทเฉพาะกาลในมาตรา 272 หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ “ไม่ว่าด้วยเหตุใด”

ให้สมาชิกกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา ให้รัฐสภามีมติยกเว้น เพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้

ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และให้รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด “ให้ยกเว้นได้”

“ช่องทางที่ 2” คือที่มาของ “นายกรัฐมนตรีคนนอก” เสียงจาก 2 สภารวมกันเกิน 500 เสียง

ช่วงนี้ข่าว “นายกฯ คนนอก” หลังเลือกตั้ง แรงมากไม่น้อยเลยทีเดียว

ที่ “กระแสระอุผุด-ผุด มีอยู่ 3 คนด้วยกัน” ไผเป็นไผ ไว้คุยกันหลังไมค์