โฟกัสพระเครื่อง/เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก มงคล ‘พระอุปัชฌาย์คำ’ วัดสนามจันทร์ ฉะเชิงเทรา

โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ [email protected]

เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก

มงคล ‘พระอุปัชฌาย์คำ’

วัดสนามจันทร์ ฉะเชิงเทรา

 

“หลวงปู่คำ พรหมสุวัณโณ” วัดสนามจันทร์ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา หรือ “พระอุปัชฌาย์คำ” เป็นอีกหนึ่งพระเกจิชื่อดังเมืองแปดริ้วที่มีชื่อเสียงเป็นที่เคารพเลื่อมใสโดยเฉพาะทางภาคตะวันออก

วัตถุมงคลล้วนเป็นที่นิยมสะสมและแสวงหาอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะ “เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก ปี 2481” ซึ่งถือเป็นสุดยอดเหรียญดังของจังหวัด

นอกจากตัวท่านแล้ว ยังมีพระเกจิชื่อดังในยุคนั้นร่วมปลุกเสกอีกมากมาย มีประสบการณ์สูงส่งยิ่ง

ในปี พ.ศ.2481 ก่อสร้างอุโบสถวัดสนามจันทร์ แต่ยังขาดทุนทรัพย์อีกจำนวนมาก จึงดำริสร้างเหรียญรูปเหมือน เพื่อเป็นที่ระลึกแก่ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคทรัพย์ให้การก่อสร้างสำเร็จลุล่วง

ซึ่งได้รับความร่วมมือจากบรรดาลูกศิษย์ นำแผ่นทองแดงประมาณ 300 แผ่น ไปให้พระเกจิอาจารย์ชื่อดังในยุคนั้นร่วมกุศลจิตในการลงอักขระเลขยันต์เพื่อเป็นชนวนมวลสาร อาทิ หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม, หลวงพ่อคง วัดซำป่างาม, หลวงพ่อดิ่ง วัดบางวัว, หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ, หลวงพ่อจาด วัดบางกะเบา, หลวงพ่อเสือ วัดสามกอ, หลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก ฯลฯ

จากนั้น นำกลับมาให้ช่างในกรุงเทพฯ รีดเป็นแผ่นโลหะ ก่อนปั๊มเป็นรูปเหรียญ โดยสร้างเป็นเนื้อทองแดง นอกจากนี้ ยังมีกะไหล่เงิน สำหรับแจกกรรมการ ซึ่งมีจำนวนน้อยมาก

เหรียญปั๊มรูปเหมือนพระอุปัชฌาย์คำ พฺรหฺมสุวณฺโณ พิมพ์หลังยันต์ใหญ่

ต่อมา เมื่อเหรียญแล้วเสร็จ ได้เข้าพิธีพุทธาภิเษก ณ วัดสนามจันทร์ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2481 ซึ่งเป็นวันฝังลูกนิมิตของอุโบสถหลังที่จะสร้างด้วย โดยนิมนต์พระเกจิผู้มีชื่อเสียงมาร่วมปลุกเสกถึง 9 รูป คือ พระพุทธรังสีมุนีวงศ์ (โฮ้ว) เจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา, พระสันทัตธรรมาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดปราจีนบุรี, หลวงพ่อพูน วัดตาล้อม ชลบุรี, หลวงพ่อศรี วัดพนัสนิคม ชลบุรี, หลวงพ่อดิ่ง วัดบางวัว ฉะเชิงเทรา, หลวงพ่อเสือ วัดสามกอ ฉะเชิงเทรา, หลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก ฉะเชิงเทรา และหลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา ปราจีนบุรี

หลังจากนั้น ได้นำเหรียญมาปลุกเสกต่ออีก 1 พรรษา จึงนำมาแจกในงานฝังลูกนิมิตอุโบสถวัดสนามจันทร์

 

เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรกพระอุปัชฌาย์คำ ปี 2481 ลักษณะเป็นเหรียญรูปอาร์ม หูในตัว

ด้านหน้าเหรียญ ตรงกลางเป็นรูปเหมือนพระอุปัชฌาย์คำ ด้านบนจารึกอักษรไทยว่า “พระอุปัชฌาย์คำ” ด้านล่างเขียนคำว่า “พรหมสุวณณ”

ด้านหลังเหรียญ เป็นยันต์ตรีนิสิงเห มีอักษรไทยกำกับว่า “ที่ระลึก ในการฝังลูกนิมิตร์ วัดสนามจันทร์ อภ บ้านโพธิ์ จว ฉะเชิงเทรา ๒๔/๑๑/๘๑”

แบ่งออกเป็น 2 พิมพ์คือ พิมพ์ยันต์ใหญ่และพิมพ์ยันต์เล็ก

เหรียญปั๊มรูปเหมือนพระอุปัชฌาย์คำ พฺรหฺมสุวณฺโณ พิมพ์หลังยันต์เล็ก

ด้วยกิตติศัพท์ของผู้สร้าง วัตถุประสงค์ ขั้นตอนการจัดสร้าง และพิธีพุทธาภิเษก เหรียญนี้จึงนับเป็นวัตถุมงคลชิ้นเอกในยุคนั้น ขึ้นทำเนียบเหรียญดังเมืองแปดริ้วที่เป็นที่ต้องการและแสวงหาสืบมา

 

สําหรับประวัติหลวงปู่คำ มิได้มีผู้บันทึกไว้อย่างเป็นทางการ ได้จากบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ที่เป็นลูกศิษย์แทบทั้งนั้น ได้ใจความว่า ท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ.2401 ที่บ้านปากคลองสนามจันทร์ จ.ฉะเชิงเทรา

สมัยเป็นวัยรุ่นนั้น มีพรรคพวกเพื่อนฝูงมาก ได้รับยกให้เป็นลูกพี่ ด้วยอุปนิสัยไม่เคยกลัวใคร

พออายุครบบวช ในปี พ.ศ.2421 เข้าพิธีอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดสนามจันทร์ อ.บ้านโพธิ์ โดยมีหลวงพ่อแก้ว วัดบ้านโพธิ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายา พรหมสุวัณโณ

เมื่อบวชได้ 5 พรรษา จึงออกธุดงค์ไปในป่าเพื่อฝึกสมาธิ วิปัสสนากัมมัฏฐาน และได้พบกับตาปะขาวท่านหนึ่ง ชื่อพุ่ม จึงได้ศึกษาวิทยาคมกับตาปะขาวท่านนี้ ซึ่งตาปะขาวพุ่มมีวิทยาคมแก่กล้า หลวงพ่อคำได้ศึกษากับตาปะขาวพุ่มจนเชี่ยวชาญ นอกจากนี้ ยังศึกษาวิทยาคมกับหลวงพ่อแก้ว พระอุปัชฌาย์ของท่าน ซึ่งหลวงพ่อแก้วมีวิทยาคมสูงรอบด้าน

ต่อมา หลวงปู่คำได้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดสนามจันทร์ และปกครองพัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรืองเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง จนได้รับการเลื่อนตำแหน่งทางปกครองสงฆ์

ในเวลาต่อมา สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้า เสด็จมาที่วัดสนามจันทร์ และทรงแต่งตั้งให้หลวงปู่คำเป็นพระอุปัชฌาย์ ก็มีชาวบ้านมาบวชเป็นจำนวนมาก ท่านได้พัฒนาวัดสนามจันทร์จนเจริญรุ่งเรือง สร้างอุโบสถหลังใหม่สวยงาม ได้รับพระราชทานเหรียญจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทั้งสองพระองค์ นับเป็นเกียรติประวัติสำหรับท่านและวัดสนามจันทร์

จากนั้นได้รับการเลื่อนตำแหน่งพระสังฆาธิการเรื่อยมา สุดท้ายเป็นเจ้าคณะแขวง

 

มีเรื่องเล่ากันมาในหมู่ศิษย์ว่า ขุนแพทย์มงคล มัคนายก ในสมัยนั้นต้องการพิสูจน์ จึงแอบขโมยหยิบผ้าอาบของหลวงปู่คำไปผูกติดกับต้นไม้แล้วลองยิง ปรากฏว่ายิงเท่าไรก็ไม่ออก ท่ามกลางความตกตะลึงของผู้คนที่ได้พบเห็น ก่อนที่ชาวบ้านในละแวกนั้น ต่างเข้ามาแย่งผ้าอาบฉีกกันไปเก็บไว้เป็นเครื่องรางคุ้มครองตัว

ด้วยสังขารเป็นสิ่งไม่เที่ยง หลวงปู่คำมรณภาพในปี พ.ศ.2488 สิริอายุ 87 ปี พรรษา 66

เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก พระอุปัชฌาย์คำ ปี 2481 นับเป็นเหรียญอันทรงคุณค่า