วิธีการดูแลเส้นผมของคนล้านนาโบราณ ที่บางคนไม่ยอมตัดไว้ผมยาวถึงพื้นก็มี


อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “เก้าผม”

แปลว่า “มวยผม”

คนล้านนาโบราณไว้ผมยาวตั้งแต่เด็กจนแก่ ไม่นิยมตัดผม บางคนมีผมยาวถึงพื้นด้วยซ้ำ

การทำความสะอาดผมจึงต้องมีพิธีกรรมในการสระผม โดยนำน้ำหม่าจากการแช่ข้าวเหนียว ส้มป่อย มะกรูด ใบหมี่ ประคำดีควาย เครือสะบ้า (ถ้าหาได้) เอามาต้มรวมกัน แล้วเอาน้ำมาชโลมผมยาว เอาหวีสาง

รองเอาน้ำที่สระผมแล้วมาโกรกผมอีกครั้ง ทำซ้ำๆ จนผมและหนังศีรษะสะอาด

กระบวนการนี้บางครั้งกินเวลาเป็นชั่วโมง

จากนั้นสาวล้านนาจะสยายผม สางด้วยหวี ใช้น้ำมันมะพร้าวที่เคี่ยวเอง หวีชโลมจนทั่วเพราะเชื่อว่าจะทำให้เส้นผมแข็งแรงดกดำ

หากอายุเพิ่มมากขึ้น มีผมขาวแซม ไม่มีใครชอบผมหงอก แม่อุ๊ยก็จะเอาเขม่าควันไฟ ผงละเอียดสีดำที่ติดอยู่ตามข่า (ไม้ไผ่สานเป็นแผ่น) เหนือเตาไฟ ที่เรียกว่า “ขี้ข่า” หรือ “ขี้เหม้า” มาผสมลงไปในน้ำมันมะพร้าว

เมื่อนำไปเคลือบเส้นผม จะทำให้ผมดำ วาวอยู่เสมอ

หลังจากผมแห้งก็จะเกล้าผมขมวดเป็นมวยเพื่อสะดวกในการรักษาความสะอาด จะได้ไม่ไปปาดป่ายกับสิ่งรอบตัวให้เปรอะเปื้อน

มวยผมของหญิงชาวล้านนามีหลายแบบ ที่นิยมมากสุดคือการเอาผมยาวไปขมวดพันกันเป็นมวยค่อนไปทางท้ายทอย ใช้หวีสับหรือปิ่นปักให้มวยอยู่ทรง

แต่ก็มีอีกหลายทรงผมที่ชาวล้านนานิยมได้แก่

“เกล้าผมวิดว้อง” คือเกล้ามวยสูงกลางศีรษะ โดยดึงผมปอยหนึ่งมาเป็นห่วงกลางมวยผม อย่างที่เห็นตามจิตรกรรมฝาผนัง

“เกล้าผมอั่วช้อง” คือเอาเส้นผมมาทำเป็นช้อง เอาชันโรงมาติดตรงขั้ว เพื่อเสริมมวยผมให้ขนาดใหญ่สวยงามขึ้น ซึ่งบางครั้งก็เอาช้องผมไปเสริมด้านบนของศีรษะก่อนเกล้ามวย เพื่อให้ผมดูโป่งไม่ลีบติดหนังศีรษะ

สมัยล่าสุดมีทรงผมที่ “เกล้าแบบญี่ปุ่น” ซึ่งพระราชชายาเจ้าดารารัศมีเป็นต้นแบบ มีการยกผมด้านหน้าเป็นกระบังสูงขึ้นไป

คนล้านนายังนิยมแซมมวยผมด้วยดอกไม้ เช่น ดอกมะลิ ดอกกระดังงา ดอกเก็ดถะหวา ดอกต๋าเหิน ซึ่งมีกลิ่นหอม ดอกเอื้องก็นิยมกัน แล้วแต่ว่าในบ้านจะมีดอกไม้ชนิดไหนบาน

ดอกไม้ที่มวยผม นอกจากเพิ่มความสวยงาม ความหอมน่าชื่นใจแล้ว ยังแฝงด้วยนัยยะแห่งการบูชา

เป็นการบูชาขวัญแห่งตน บูชาเทวดาประจำกายที่สถิตเหนือเกล้า บูชาพระพุทธเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนสถาน ยามที่ได้เข้าไปกราบกรานด้วยเศียรเกล้าอีกด้วย