เกษียร เตชะพีระ : ประชาธิปไตยของประชาชนต้องเป็นอิสระจากรัฐและทุน ย้อนอ่าน 30 ปี 14 ตุลาฯ

เกษียร เตชะพีระ

ประชาธิปไตยของประชาชนต้องเป็นอิสระจากรัฐและทุน ย้อนอ่าน 30 ปี 14 ตุลาฯ (1)

เมื่อ 30 ปีก่อน ระหว่างผมกลับจากมหาวิทยาลัยคอร์แนล มาค้นข้อมูลเพื่อทำดุษฎีนิพนธ์ (Commodifying Marxism : The Formation of Modern Thai Radical Culture, 1927-1958 ตีพิมพ์ ค.ศ.2001) ผมได้รับเชิญชวนไปร่วมอภิปรายในงานสัมมนาเรื่องประชาธิปไตยกับกลุ่ม อาจารย์เศรษฐศาสตร์การเมืองจุฬาฯ และคนอื่นๆ ที่อุทยานวังตะไคร้ จ.นครนายก

ในสถานการณ์ใหม่ที่ระบอบประชาธิปไตย “เต็มใบ” จากการเลือกตั้งกำลังจะฟื้นฟูกลับมาภายใต้รัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ หลัง 8 ปีในระบอบประชาธิปไตย “ครึ่งใบ” ของรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เพื่องานดังกล่าว ผมได้ยกร่างบทความ “ประชาธิปไตยของประชาชนต้องเป็นอิสระจากรัฐและทุน” ขึ้นมาแล้วนำเสนอ ปรากฏว่าไม่เป็นที่สนใจถกเถียงของที่ประชุมนัก

หลังงานนั้น ผมได้ส่งบทความดังกล่าวไปลงนิตยสารบานไม่รู้โรยฉบับเมษายน พ.ศ.2531 ที่มีคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นบรรณาธิการ โดยได้ตัดทอนเนื้อหาบางส่วนลงเพื่อเหมาะแก่การลงพิมพ์ในนิตยสาร

ต่อมา ทางสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ได้มาติดต่อขอบทความดังกล่าวฉบับเต็มไปลงในหนังสือรำลึก 15 ปี 14 ตุลาคม 2516 ชื่อ อำนาจชาวบ้าน รูปการณ์ใหม่ประชาธิปไตยไทย ซึ่งมีคุณสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี เป็นบรรณาธิการ โดยนำข้อเสนอจากบทความของผมไปเป็นแกนเรื่องของหนังสือ

ภายหลังผมเรียนจบปริญญาเอกกลับมาสอนหนังสือที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมคงลืมบทความนั้นไปแล้ว ถ้าหากอาจารย์ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ในการถกเถียงหลังอภิปรายครั้งหนึ่ง) และอาจารย์อุเชนทร์ เชียงเสน แห่งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (ในวิทยานิพนธ์ปริญญาโทของท่านชื่อ “ประวัติศาสตร์การเมืองภาคประชาชน : ความคิดและการปฏิบัติการของ “นักกิจกรรมทางการเมือง”” ในปัจจุบัน” พ.ศ.2556) ไม่ได้เอ่ยถึงว่าบทความชิ้นนี้มีอิทธิพลมากในการกำหนดกระบวนทัศน์การเคลื่อนไหวทางการเมืองของขบวนการนักศึกษาและเอ็นจีโอ ช่วงก่อนและทศวรรษหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ.2535

ล่าสุด ในคำให้สัมภาษณ์ของคุณไผ่ นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ อดีตนักกิจกรรมนักศึกษา และนักเคลื่อนไหวเอ็นจีโอ (https://www.the101.world/nitirat-sapsomboon-interview/) ก็ได้เอ่ยถึงแนวคิดในบทความของผมชิ้นนั้นไว้ตอนหนึ่งว่า

“ผมคิดว่าพื้นฐานการทำกิจกรรม นักศึกษาที่แทบจะท่องได้ตลอดมาคือ ประชาธิปไตยประชาชนที่เป็นอิสระจากรัฐและทุน อันนี้เป็นแนวคิดที่ผมได้จากอาจารย์เกษียร เตชะพีระ”

ในวาระครบรอบ 45 ปีเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ปีนี้และใกล้จะถึงการเลือกตั้งใหม่ต้นปีหน้า ผมซึ่งเผอิญมีหนังสือ อำนาจชาวบ้าน ที่เก็บไว้ตั้งแต่ 30 ปีก่อนอยู่ คิดว่าเป็นโอกาสอันควรที่จะลองนำบทความ “ประชาธิปไตยของประชาชนต้องเป็นอิสระจากรัฐและทุน” ฉบับเต็มของผมมานำเสนออีกครั้ง

เพื่อผู้สนใจได้ลองพิจารณาแนวคิดและข้อเสนอเกี่ยวกับการเมืองประชาธิปไตยในสมัยนั้นมาเป็นข้อมูลวิเคราะห์วิจารณ์เปรียบเทียบกับเหตุการณ์ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันต่อไป โดยผมได้จัดแบ่งย่อหน้าใหม่เพื่อความเหมาะสมกับเนื้อหา

นอกเหนือจากนี้ได้คงไว้ตามต้นฉบับเดิมทุกประการ…

“เราจะมองปัญหาระบอบประชาธิปไตยในเมืองไทยกันอย่างไร?

การมองปัญหาระบอบประชาธิปไตยในเมืองไทยที่ผ่านมา พอจะแบ่งแยกออกกว้างๆ ได้เป็น 2 แนว ได้แก่ แนวที่ถืออุดมคติประชาธิปไตยตามแบบตะวันตก และแนวที่ถือว่าระบอบประชาธิปไตยในเมืองไทยต้องเป็นแบบไทยๆ

แนวแรกหรือแนวอุดมคติตะวันตกจะถือแม่แบบหลักการและสถาบันประชาธิปไตยตามที่พัฒนามาจนประพฤติปฏิบัติกันอยู่ในประเทศอุตสาหกรรมตะวันตกทุกวันนี้เป็นเกณฑ์ ตามแนวคิดแบบนี้ ระบอบประชาธิปไตยของอังกฤษ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ฯลฯ หรือการผสมผเสหลักการและสถาบันของระบอบประชาธิปไตยเหล่านั้นรูปการณ์ใดรูปการณ์หนึ่งจึงเป็นเป้าหมายหรือบรรทัดฐานที่การเมืองไทยควรจะมุ่งมั่นพัฒนาไปสู่หรือควรจะทำให้ได้ ดังนั้น การวัดระดับความเป็นประชาธิปไตยของการเมืองไทยก็จะถือวัดตามความละม้ายใกล้เคียงระหว่างสถาบันและหลักการของการเมืองไทยกับสถาบันและหลักการการเมืองในประเทศเหล่านั้น

ในขณะที่แนวคิดแบบนี้ให้ความสำคัญและซื่อสัตย์ต่ออุดมคติประชาธิปไตยตะวันตกอย่างค่อนข้างคงเส้นคงวา จุดอ่อนของแนวคิดแบบนี้ที่มักจะถูกโจมตีจากอีกแนวคิดหนึ่งก็คือ ละเลยแง่มุมทางประวัติศาสตร์ มองข้ามความแตกต่างทางบริบทการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมระหว่างประเทศไทยกับโลกตะวันตกไปเสีย

อย่างเบาก็คือเป็นแนวคิดเพ้อฝันที่ต่อให้ทำเท่าไร เมืองไทยก็จะไม่เป็นประชาธิปไตยแบบตะวันตกได้สักที อย่างหนักก็คือเป็นลัทธิเอาอย่างฝรั่งอย่างไม่ลืมหูลืมตา

แนวคิดที่สองซึ่งเน้นความเป็นเอกลักษณ์ของไทยจะเข้าสู่ปัญหาระบอบประชาธิปไตยในเมืองไทยแบบตรงกันข้ามกับแนวคิดแรก

กล่าวคือ แทนที่จะเริ่มต้นจากแม่แบบประชาธิปไตยดังที่ประพฤติปฏิบัติกันในโลกตะวันตก กลับเริ่มต้นจากความคิดที่นิยามและเสกสรรปั้นแต่งกันอย่างพลการตามใจตนเองว่า “ความเป็นไทย” โดยอาศัยการเลือกใช้หลักฐานข้อมูลประวัติศาสตร์บางอย่างบวกกับค่านิยมศักดินาและอำนาจนิยมที่ปลูกฝังกันมานมนานเป็นฐานอ้างอิง เนรมิต “ความเป็นไทย” ขึ้น อ้างว่ามีรากเหง้าอยู่ในสังคมไทยมาเป็นพันๆ ปี

โดยแต่งนิยายประวัติศาสตร์ประกอบให้ดูหนักแน่นสมจริง

แล้วจากนั้นก็ “ปรับปรุง” หรือ “ดัดแปลง” ตัวแม่แบบสถาบันและหลักการประชาธิปไตยของตะวันตกให้เข้ากับ “ความเป็นไทย” หรือ “เอกลักษณ์ไทย” ที่ตนจินตนาการขึ้นเองนั้นตามแต่ผลประโยชน์หรืออคติทางการเมืองของตนจะนำพาไป

ผลลัพธ์ทางการเมืองของแนวคิดเอกลัษณ์ไทยนี้ก็คือสถาบัน หลักการและอุดมคติของระบอบประชาธิปไตยถูกปู้ยี่ปู้ยำตามใจชอบ โดยปราศจากหิริโอตตัปปะ

จนกลายเป็นว่าระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ก็คือระบอบการเมืองใดๆ ก็ได้ที่อาตมาชอบและได้ประโยชน์

แม้กระทั่งระบอบเผด็จการทหารภายใต้คณะปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ยังเรียกได้อย่างหน้าตาเฉยว่า “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ”

แนวคิด 2 ขั้วนี้ ไม่ว่าจะเป็นแนวอุดมคติตะวันตกหรือแนวเอกลักษณ์ไทย ล้วนมีข้ออับตันในการใช้มามองปัญหาระบอบประชาธิปไตยในบ้านเรา การถกเถียงเรื่องระบอบประชาธิปไตยในเมืองไทยภายในกรอบที่ตีเส้นโดยแนวคิด 2 ขั้วนี้รังแต่จะพาให้เราวนเวียนอยู่ในวงกตปริศนาเช่นนี้ไม่รู้จบ ออกไปไหนไม่ได้ นิยามประชาธิปไตยไม่สำเร็จ และใช้ประชาธิปไตยเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนเราเองไม่ได้

ดังนั้น แทนที่แนวคิดอับตันทั้ง 2 ผู้เขียนใคร่ขอเสนอให้มองปัญหาระบอบประชาธิปไตยในเมืองไทยในแนวใหม่ กล่าวคือ ถือว่าประชาธิปไตยในเมืองไทยเรานั้นมีฐานะเสมือนหนึ่งเครื่องมือทางการเมืองที่กลุ่มชนต่างๆ ในสังคมไทยยึดกุมดัดแปลงเอามาใช้ดำเนินการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง

(ยังมีต่อ)