นงนุช สิงหเดชะ/’วนลูป’ อยู่กับวาทกรรม เอาประชาธิปไตย-ไม่เอาเผด็จการ

บทความพิเศษ / นงนุช สิงหเดชะ

 

‘วนลูป’ อยู่กับวาทกรรม

เอาประชาธิปไตย-ไม่เอาเผด็จการ

 

เปิดตัวกันคึกคักสำหรับพรรคการเมืองต่างๆ ภายหลังจาก คสช.ปลดล็อกการเมือง ให้ทำกิจกรรมการเมืองได้

ซึ่งฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลปัจจุบันอย่างเช่นพรรคเพื่อไทย ก็ถือโอกาสใช้สโลแกน “มุ่งสร้างประชาธิปไตย ไม่จำนนต่อเผด็จการ” ในการเปิดตัวทีมงานพรรคเมื่อเร็วๆ นี้

ก่อนหน้านั้นสมาชิกเพื่อไทยหลายคน รวมทั้งพรรคแนวร่วม ก็ออกมาพูดเป็นระยะว่า การเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้ จะเป็นการพิสูจน์ชัดว่าประชาชนจะเลือกเผด็จการหรือเลือกประชาธิปไตย

ความหมายก็คือ ประชาชนจะเลือกพรรคพลังประชารัฐและพรรคแนวร่วมที่มีเป้าหมายจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย (หาก พล.อ.ประยุทธ์ลงเล่นการเมือง) หรือว่าจะเลือกพรรคเพื่อไทยและแนวร่วมของพรรคเพื่อไทยที่ “อ้าง” ว่าเป็นฝ่ายรักประชาธิปไตย

เจ้านายตัวจริงของฝ่ายที่อวดอ้างประชาธิปไตย ยกระดับความมั่นใจว่าจะชนะเลือกตั้ง จากแค่ระดับ “แลนด์สไลด์” หรือดินถล่ม มาเป็น “อะวาลานช์” หรือหิมะถล่ม ซึ่งดูตื่นตาตื่นใจและน่าตื่นเต้นกว่าดินถล่ม

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อหันมาดูโพล ไม่ว่ากี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ก็ยังมีผลที่น่าประหลาดใจและย้อนแย้งกันอยู่ในตัว เพราะทุกครั้งที่มีการสำรวจว่าอยากได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งหน้า กลายเป็นว่าชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ยังมาเป็นที่หนึ่ง และทิ้งห่างอันดับสองค่อนข้างมาก

การสำรวจล่าสุดเมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 29.66 ตอบว่าอยากได้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ รองลงมาคือคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จากพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 17.51 ซึ่งถึงแม้รอบนี้คะแนนของ พล.อ.ประยุทธ์จะลดลงมาต่ำกว่า 30 เล็กน้อย แต่ถือว่าไม่ลดลงมาก แต่การทิ้งห่างอันดับสอง ยังรักษาระยะได้กว้างเช่นเดิม

แต่เมื่อถามว่าอยากให้พรรคใดได้รับคะแนนสูงที่สุด กลายเป็นว่าอันดับหนึ่งร้อยละ 28.78 ตอบว่าพรรคเพื่อไทย รองลงมาคือพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ร้อยละ 20.62  ส่วนพรรคประชาธิปัตย์อันดับสาม ร้อยละ 19.58

หากอ่านจากโพลนี้เท่ากับว่าประชาชน (กลุ่มตัวอย่าง) อยากให้พรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่อยากได้คนอื่นนอกพรรคเพื่อไทยคือ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ซึ่งในทางปฏิบัติไม่มีทางเป็นไปได้ที่พรรคเพื่อไทยจะเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ

ระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่ 2560 ซึ่งเรียกว่าระบบจัดสรรปันส่วนผสม (ส.ส.เขต 350 คน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 150 คน) ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ประชาชนกาเลือก ส.ส.คนไหน ก็เท่ากับเลือกพรรคนั้นไปด้วย

แต่ระบบนี้ หากพรรคใดได้รับเลือก ส.ส.เขตมาก ก็จะยิ่งไม่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งหากคิดตามตัวเลขการชนะเลือกตั้งในอดีต ระบบเลือกตั้งใหม่จะทำให้พรรคเพื่อไทยมีโอกาสได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์น้อยที่สุด การได้ ส.ส.เขตมากอาจกลายเป็น “จูบมรณะ”

หากตีความจากโพลนี้ที่ระบุว่าประชาชน (กลุ่มตัวอย่าง) อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ซึ่งค่อนข้างชัดเจนว่าประชาชนเลือก “เผด็จการ” ตามนิยามของพรรคเพื่อไทยและแนวร่วม

แต่ในเมื่อประชาชนกลุ่มตัวอย่างในโพลนี้ อยากให้พรรคเพื่อไทยได้คะแนนสูงสุด ก็น่าจะอนุมานได้ว่าประชาชนอยากได้อะไรสักอย่างที่เป็นลูกผสม ประเภทหัวมังกุท้ายมังกร คืออยากได้ประชาธิปไตย ที่มีเผด็จการเป็นนายกฯ

หรือหากจะตีความในอีกแง่หนึ่ง การที่ประชาชนอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อไป ก็เป็นไปได้ว่า ณ ขณะนี้ประชาชนไม่ได้มองว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นเผด็จการเต็มตัว กระทั่งประชาชนไม่มีเสรีภาพเพียงพอที่จะทำอะไร และอาจชอบความเด็ดขาดที่ทำให้ไม่มีการประท้วงวุ่นวาย หลังจากเกิดการประท้วงต่อเนื่องมาหลายปี

นอกจากนี้ ในการเลือกตั้งครั้งหน้า หาก พล.อ.ประยุทธ์เข้าตามตรอกออกตามประตู ลงเล่นการเมืองตามกติกา สถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ก็จะไม่ใช่เผด็จการอีกต่อไป

 

หากการส่งเสียงของพรรคเพื่อไทยและแนวร่วมที่ออกมาย้ำตลอดเวลาในทำนองตีตราว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นเผด็จการ มีน้ำหนักมากพอ เชื่อว่าผลโพลดังกล่าวข้างต้นจะไม่ออกมาลักษณะนี้ แต่ควรจะออกมาในลักษณะปฏิเสธหรือรังเกียจ พล.อ.ประยุทธ์อย่างมืดฟ้ามัวดิน

ดังนั้น ก็น่าจะตีความได้ว่า การโจมตี พล.อ.ประยุทธ์ด้วยคำว่าเผด็จการ ไม่ทรงพลังมากพอที่จะโน้มน้าวประชาชนส่วนใหญ่ให้คล้อยตาม

กล่าวให้ชัดเข้าไปอีกก็คือประชาชนไม่ได้มองว่าฝ่ายที่อ้างเรื่องประชาธิปไตยดูน่าชื่นชมหรือน่าเชื่อถือ พึ่งได้หรือเป็นความหวังมากไปกว่า พล.อ.ประยุทธ์ ดังที่เห็นได้จากโพลเช่นกันว่า คนส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจว่านายกฯ จะมาจากการเลือกตั้งหรือไม่

หลายคนเห็นมาแล้วว่านักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ก็ใช่ว่าจะเป็นพวกที่มีจิตใจหรือจิตสำนึกเป็นประชาธิปไตย ยังเป็นนักการเมืองประเภทภาคนิยมแบ่งเขา แบ่งเรา ปฏิบัติต่อประชาชนไม่เท่าเทียม เช่น “จังหวัดไหนไม่เลือกพรรคเรา ก็อย่าหวังว่าจะได้งบประมาณ” หรือ “ศูนย์ประชุมภูเก็ตตอนนี้ยังไม่มีอารมณ์จะสร้างให้ รอไปก่อน” (อดีตรองนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งในรัฐบาลยิ่งลักษณ์พูดเยาะเย้ยคนภูเก็ตให้เจ็บใจในโอกาสไปเปิดศูนย์ประชุมนานาชาติเชียงใหม่)

ใครเลือกพรรคเพื่อไทยแล้วยังชื่นชมหรือสนับสนุนให้นักการเมืองหรือรัฐมนตรีของพรรคนี้มีทัศนคติอย่างที่กล่าวข้างต้น ก็ไม่น่าจะภูมิใจกล้าเรียกว่าตัวเองเป็นนักประชาธิปไตยเต็มปากเต็มคำ เพราะนั่นคือการข่มเหงเพื่อนร่วมชาติด้วยกัน คิดถึงเฉพาะภาคหรือกลุ่มของตัวเอง

ถ้ายังมั่นใจว่าการเลือกตั้งจะได้ประชาธิปไตย หรือได้ผู้นำประชาธิปไตย ขอให้มองกรณีของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเป็นตัวอย่าง

 

ทรัมป์นั้น แม้แต่คนใกล้ชิดของเขาเองยังออกปากและส่ายหัวว่า เป็นคนไร้ศีลธรรม ต่อต้านประชาธิปไตย ต่อต้านการค้าเสรี ปัญญาอ่อน

ยังไม่นับที่ทำให้สังคมอเมริกันแตกแยกกันอย่างหนักที่สุดในประวัติศาสตร์ ด้วยการใช้วาจาปลุกเร้าสร้างความเกลียดชัง เพื่อสร้างคะแนนนิยมในฐานเสียงของเขา โดยไม่ได้คำนึงถึงประชาชนโดยรวมทั้งประเทศ

พฤติกรรมของทรัมป์และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น เคยเกิดขึ้นในเมืองไทยมาแล้วภายใต้ผู้นำประเทศที่นำเอาสไตล์ซีอีโอของบริษัทเอกชนมาบริหารประเทศ

ดูเหมือนการเมืองไทยและชีวิตคนไทยจะ “วนลูป” (loop) หรือวนซ้ำไปมาอยู่ระหว่างวาทกรรม เอาประชาธิปไตย ไม่เอาเผด็จการ

ฝ่ายที่อ้างประชาธิปไตย ก็ขอให้เป็นประชาธิปไตยจริงๆ ด้วยจิตสำนึกและวิญญาณ ด้วยการกระทำที่ครบตามครรลอง ไม่ใช่แค่วาทกรรมที่เคลือบตัวเองให้ดูดี พอเลือกตั้งเสร็จประชาธิปไตยก็หายไป ที่เรียกกันว่าประชาธิปไตย 4 วินาที ที่เหลือต่อจากนั้นก็กลายร่างเป็นเผด็จการรัฐสภา (แปลว่าแม้จะมีกลไกตรวจสอบอย่างที่มักอ้างกัน แต่พวกมากลากไปทำให้กลไกรัฐสภาเป็นง่อย ฝ่ายตรงข้ามตรวจสอบรัฐบาลลำบาก)

เผด็จการไม่ได้มีโฉมหน้าเดียว ไม่ได้หมายถึงเฉพาะคนที่ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้ง