จรัญ มะลูลีม : ฮัจญ์กษัตริย์ “การแสวงบุญยุคจักรวรรดิออตโตมาน”

จรัญ มะลูลีม

การประกอบพิธีฮัจญ์ ในสมัยการปกครองของอาณาจักรออตโตมาน (ค.ศ.1281-1922)

ในสมัยที่ดินแดนส่วนใหญ่ของตะวันออกกลางตกอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรออตโตมานนั้น เราจะเห็นความเจริญเติบโตของการค้าทางโลกภายในชุมชนอิสลามที่กว้างใหญ่ไพศาล และการไปประกอบพิธีฮัจญ์ประจำปียังนครมักกะฮ์ ทำให้มีความต้องการอูฐและสัตว์อื่นๆ สำหรับการขนส่ง

ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ส่วนมากจะไปกันเป็นกลุ่มใหญ่ โดยมารวมตัวกันอยู่ในเมืองใหญ่ๆ เมืองหนึ่งของโลกมุสลิม ในสมัยของราชวงศ์มัมลู้กผู้ประกอบพิธีฮัจญ์จากกรุงไคโรและกรุงดามัสกัสเป็นผู้ที่มีความสำคัญมากที่สุด

ผู้ที่มาจากแถบมักริบหรือแอฟริกาเหนือมักจะเดินทางทางทะเลหรือทางบกไปยังกรุงไคโรไปพบผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ชาวอียิปต์ที่นั่นหรือเดินทางโดยทางบกข้ามไปยังแหลมซนาย (Sinai) และผ่านลงไปทางอาระเบียตะวันตกไปสู่นครมักกะฮ์

โดยกองคาราวานที่ได้รับการจัดตั้งจะได้รับการปกป้องและถูกพาไปในนามของผู้ปกครองของอียิปต์

การเดินทางจากกรุงไคโรไปยังนครมักกะฮ์จะใช้เวลาระหว่าง 30 ถึง 40 วัน และบางทีในตอนปลายของคริสต์ศตวรรษที่สิบห้ามีผู้ไปประกอบพิธีฮัจญ์จำนวน 30-40,000 คนในทุกๆ ปี

ผู้ที่มาจากอนาโตเลีย อิหร่าน อิรัก และซีเรียจะพบกันในกรุงดามัสกัส การเดินทางก็มาโดยกองคาราวานที่ได้รับการจัดตั้งโดยผู้ปกครองแห่งกรุงดามัสกัส โดยใช้เวลาระหว่าง 30-40 วันเช่นกัน

กล่าวกันว่าในแต่ละปีจะมีผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ 20-30,000 คน

กลุ่มเล็กๆ เดินทางไปจากแอฟริกาตะวันตกข้ามซูดานและทะเลแดงมา

และจากภาคใต้ของอิรักและท่าเรือต่างๆ ในอ่าวเปอร์เซียก็ข้ามเอเชียกลางมา

 

ทุกๆ ปีผู้ประกอบพิธีฮัจญ์นับพันนับหมื่นคนได้เดินทางมายังเมืองต่างๆ ซึ่งมีความสำคัญทางศาสนาจากทั่วโลกของอิสลาม

ผู้เดินทางชาวยุโรปผู้หนึ่งซึ่งอยู่ในนครมักกะฮ์ระหว่างการประกอบพิธีฮัจญ์ของปี 1814 ได้ประมาณการว่ามีผู้ประกอบพิธีฮัจญ์อยู่ที่นั่นราว 70,000 คน

กลุ่มต่างๆ ของผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ได้เดินทางไปยังเมืองศาสนาหลายแห่งจากเยเมน จากแอฟริกากลางโดยผ่านเมืองท่าต่างๆ ของซูดาน และจากอิรักโดยผ่านอาระเบียกลาง

แต่คาราวานใหญ่ของผู้ประกอบพิธีฮัจญ์จะมาจากกรุงไคโรของอียิปต์และดามัสกัสของซีเรีย

ในสองเมืองนี้ กลุ่มที่มาจากกรุงดามัสกัสมีความสำคัญมากกว่าในสมัยออตโตมาน เพราะกรุงดามัสกัสเชื่อมต่อกับกรุงอิสตันบูลโดยเส้นทางบกสายหลัก ทุกๆ ปีตัวแทนพิเศษที่ผู้ปกครอง (สุลฏอน) แต่งตั้งจะออกจากกรุงอิสตันบูลไปยังกรุงดามัสกัส และร่วมเดินทางไปกับข้าราชการชั้นสูงหรือสมาชิกของครอบครัวชาวออตโตมาน

ณ กรุงดามัสกัส ผู้ตั้งใจที่จะประกอบพิธีฮัจญ์และนำเอาเงินและเสบียงอาหาร (Surra) ที่ตั้งใจจะนำไปให้พลเมืองของตนเองในเมืองศาสนาก็จะไปพร้อมกับตัวแทนของผู้ปกครองด้วย

รวมทั้งสิ่งของส่วนหนึ่งที่จะอุทิศให้เพื่อความมุ่งหมายนั้น

จนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่สิบแปด เงินและสิ่งของเหล่านี้ได้ถูกส่งไปทางทะเลสู่อียิปต์ แล้วถูกนำไปพร้อมกับผู้ประกอบพิธีฮัจญ์จากกรุงไคโร

พวกเขาจะเข้าร่วมกับกองคาราวานผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ ซึ่งจัดโดยเจ้าเมืองของเมืองนั้นนำโดยเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับการแต่งตั้งในฐานะผู้นำของผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ (อะมีรุลฮัจญ์ – amir al-hajj)

จากตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่สิบแปดตำแหน่งนี้เป็นของเจ้าเมืองดามัสกัสเอง

 

ศตวรรษต่อๆ มาคือในตอนปลายสมัยออตโตมาน และก่อนที่วิถีทางใหม่ของการสื่อสารจะเปลี่ยนแปลงวิถีทางของการประกอบพิธีฮัจญ์ได้ไม่นาน นักเดินทางชาวอังกฤษ ซี.เอ็ม.โดตี (C.M. Doughty) ได้บรรยายถึงการเดินทางจากกรุงดามัสกัสไว้ว่า

ยามรุ่งอรุณเริ่มปรากฏขึ้น พวกเรายังไม่ทันได้ขยับตัวเลย เมื่อดวงอาทิตย์โผล่ขึ้น กระโจมก็ถูกจัดเก็บอย่างเรียบร้อย เจ้าอูฐก็ถูกนำไปรวมไว้กับฝูง ปล่อยให้มันยืนใกล้สัมภาระ พวกเรารอฟังเสียงปืนเพื่อทำพิธีเปิดปีแห่งการประกอบพิธีฮัจญ์

เราได้ยินเสียงปืนดังขึ้นเมื่อเกือบสิบนาฬิกาแล้ว ต่อมากูบก็ถูกโยนขึ้นไปผูกมัดไว้บนหลังอูฐที่กำลังคุกเข่าเตรียมบรรทุกสัมภาระ ผู้คนที่พร้อมจะขี่อูฐนับพันๆ คน ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นผู้ที่เกิดในเมืองคาราวานอยู่ในความเงียบสงบ

ในเมื่อทุกอย่างเรียบร้อยผู้จูงอูฐทั้งหลายก็ถูกปล่อยให้ยืนหรือนั่งยองๆ พักผ่อนชั่วครู่ พวกเขาพร้อมคนในค่ายอื่นและคนใช้จำเป็นต้องเดินเท้าเปล่าในระยะทางถึง 300 ลี้ ในสภาพอิดโรย แม้ว่าพวกเขาจะรู้สึกอ่อนเพลีย เขาก็จำเป็นต้องออกเดินทางด้วยเท้าเปล่าจากสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์อย่างเมื่อยล้า

สักครู่หนึ่งเสียงปืนครั้งที่สองก็ดังขึ้น แคร่ของปาชาฮ์ก็เคลื่อนตัวออกไป ติดตามด้วยหัวหน้ากองคาราวาน อีกประมาณ 15 หรือ 20 นาที เราซึ่งมีที่นั่งด้านหลังต้องหยุดรอจนกว่าขบวนสัมภาระอันยาวเหยียดจะจัดการเรียบร้อย จึงได้กระตุกอูฐของเราให้อยู่ในท่าเตรียมพร้อม และแล้วขบวนของการประกอบพิธีฮัจญ์อันยิ่งใหญ่ก็เคลื่อนตัวไป

(ดู C.M. Doughty, Travels in Arabia Desert, new edn London 1921, pp.6-8)

 

ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์จะเคลื่อนออกมาจากเมืองด้วยขบวนแถวที่เงียบขรึมที่นำเอามะห์มัล (mahmal) คือโครงไม้ที่ปกคลุมโดยผ้าปักดอกและธงของท่านศาสดาซึ่งถูกเก็บเอาไว้ในป้อมปราการของกรุงดามัสกัส พวกเขาจะเคลื่อนลงไปตามเส้นทางของสถานที่พักต่างๆ ที่มีป้อม ที่ตั้งกองทหารและเสบียงอาหารจนกว่าจะมาถึงนครมักกะฮ์ เมื่อไปถึงที่นั่นแล้วท่านเจ้าเมืองของกรุงดามัสกัสก็จะถูกถือว่าเป็นผู้ควบคุมดูแลผู้ไปประกอบพิธีฮัจญ์ทั้งหมด

การจัดการและนำคาราวานของผู้ประกอบพิธีไปนั้น อันที่จริงเป็นภารกิจที่สำคัญของเขาอย่างหนึ่ง และการจ่ายเงินเพื่อการประกอบพิธีฮัจญ์นี้เป็นข้อเรียกร้องสำคัญซึ่งจะหารายได้ให้แก่กรุงดามัสกัสและจังหวัดอื่นๆ ของซีเรีย กองคาราวานซึ่งเริ่มต้นจากกรุงไคโรก็มิได้มีความสำคัญน้อยไปกว่า เพราะกองคาราวานนี้ได้รวมเอาผูประกอบพิธีฮัจญ์จากแถบมักริบหรือแอฟริกาเหนือมาด้วย

ผู้มาถึงอียิปต์โดยทางบกหรือทางทะเล รวมทั้งชาวอียิปต์ด้วยจะมีอะมีรุลฮัจญ์หรือผู้แทนฮัจญ์ทางการพามาเช่นกัน และนำเอามะห์มัลและกอสวา (kiswa) คือม่านที่คลุมภายนอกกะอ์บะฮ์มาด้วย กองคาราวานจะผ่านภูเขาซีนายและอาระเบียตะวันตกมุ่งสู่นครมักกะฮ์ มีการนำเอาเงินบำรุงสำหรับชนเผ่าต่างๆ ที่อยู่บนเส้นทางติดตัวมาด้วย

หน้าที่พื้นฐานที่สุดของผู้ปกครองมุสลิมและหน้าที่ซึ่งได้แสดงออกมาที่ทำให้ความเป็นพันธมิตรของเขากับประชาชนมุสลิมเป็นไปอย่างเข้มแข็งก็คือการรักษากฎหมายอิสลามหรือชะรีอะฮ์เอาไว้

บรรดาผู้ที่อยู่บนเส้นทางการประกอบพิธีฮัจญ์ไปถึงนครมักกะฮ์ จะได้รับการยอมรับเป็นทางการ

 

อียิปต์ก็เหมือนกับซีเรีย มีความสำคัญในเรื่องยุทธศาสตร์ การเงินและเหตุผลทางศาสนา ทั้งสองประเทศเป็นหนึ่งในปราการแห่งการควบคุมของอาณาจักรออตโตมานทางทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก เป็นประเทศซึ่งมีรายได้จากภาษีเป็นจำนวนมาก เป็นศูนย์กลางอันเก่าแก่ของการศึกษาอิสลามและเป็นจุดที่มีการจัดการในเรื่องการประกอบพิธีฮัจญ์

ในทศวรรษ 1780 พิธีฮัจญ์ที่จัดโดยเจ้าเมืองของกรุงดามัสกัส ซึ่งนำเอาของขวัญจากกรุงอิสตันบูลไปยังพลเมืองของเมืองศาสนาต่างๆ จะได้รับการปกป้องโดยกองกำลังของอาณาจักรออตโตมานเพื่อเป็นการยืนยันประจำปีถึงอำนาจสูงสุดของอาณาจักรออตโตมานไปตลอดทางจากกรุงอิสตันบูลผ่านซีเรียและอาระเบียตะวันตกจนถึงใจกลางของโลกมุสลิม

สำหรับชาวมุสลิม อาคารต่างๆ ซึ่งมีส่วนสำคัญเป็นพิเศษในการผูกพันชุมชนมุสลิมเข้าด้วยกัน ซึ่งอยู่โพ้นไปจากขอบเขตของเมืองหนึ่งหรืออาณาบริเวณหนึ่ง นั่นก็คือสักการสถาน

สักการสถานบางแห่งที่เป็นเครื่องหมายของการประกอบพิธีฮัจญ์และการละหมาด ซึ่งนำมาจากจารีตประเพณีของศาสนาสมัยแรกเริ่มและมีความหมายแบบอิสลามคือกะอ์บะฮ์ในนครมักกะฮ์ โดมออฟเดอะร็อก (Dome of the Rock) ในนครเยรูซาเลม และที่ฝังศพของบรรดาผู้ที่เกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์อิสลามสมัยแรกที่เมืองเฮบรอน