ไขปริศนามาตรการอุ้มชาวนา ดับชนวนการเมือง “ข้าว” กับดราม่า “ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง”

ชาวนาไทยหายใจทั่วท้อง เหมือนได้ต่อลมหายใจได้อีกเฮือก เมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (ครม.) นั่งเป็นประธาน เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในโครงการสินเชื่อเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือกหอมมะลิ หรือที่เรียกว่า “จำนำยุ้งฉาง” ตันละ 13,000 บาท วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 22,000 ล้านบาท เริ่มดำเนินการทันทีจนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560

หนึ่งเฮือกหายใจนี้ นอกจากชาวนาไทยแล้ว ยังหมายรวมถึงรัฐบาล เพราะกว่าจะตกผลึกเป็นตัวเลขกลมๆ ตันละ 13,000 บาท ได้ผ่านกระบวนการถกเถียงกันไปมาหลายตลบ จนเป็นที่น่าพอใจและมั่นใจ ว่านี่เป็นตัวเลขที่ถูกต้องเหมาะสมที่สุดแล้ว

เพราะจากปัญหาความเดือดร้อนของชาวนา ราคาข้าวตกต่ำสุดในรอบ 10 ปี ชาวนาในภาคอีสานขายข้าวได้กิโลกรัมละ 5-6 บาท ตกตันละ 5,000-6,000 บาท ถือว่าเดือดร้อนขนาดหนัก

และปัญหาได้รับการสะท้อนมาอย่างต่อเนื่องจากปากต่อปากและสื่อใหม่ที่ไร้ขอบเขตอย่างโซเชียลมีเดีย

 

ด้วยเหตุนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จึงเรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวแห่งชาติ (นบข.) ที่มี “บิ๊กฉัตร” พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือเพื่อกำหนดมาตรการช่วยเหลือชาวนา ซึ่งที่ประชุม นบข. เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม เคาะตัวเลขช่วยเหลือชาวนาอยู่ที่ตันละ 11,525 บาท เสนอเข้า ครม. ในวันที่ 1 พฤศจิกายน

ตัวเลขตันละ 11,525 บาท เป็นจำนวนที่ถูกเสนอ โดยนางอภิรดี เพราะเห็นว่ารัฐบาลมิอาจแบกรับภาระต้นทุนได้มากกว่านี้แล้ว หากพยุงราคามากกว่านี้ ความลำบากก็จะตกแก่รัฐบาลเอง จากนั้นตัวเลขดังกล่าวก็ผ่านความเห็นชอบโดยที่ พล.อ.ฉัตรชัย ยังไม่ค่อยเห็นด้วยสักเท่าไหร่

จึงทำให้ภายหลังการประชุม ทั้ง “บิ๊กตู่” และ “บิ๊กฉัตร” ต้องรีบเดินทางออกจากทำเนียบเพื่อตรวจเยี่ยมประชาชนบริเวณท้องสนามหลวง ไม่แถลงข่าวด้วยตัวเอง แต่ให้นางอภิรดี ชี้แจงแถลงไขตัวเลขนี้

พร้อมทิ้งท้ายว่า ถึงอย่างไรก็ต้องรอมติ ครม. อีกครั้ง

 

แต่เช้าวันประชุม ครม. วันที่ 1 พฤศจิกายน ปรากฏว่า พล.อ.ฉัตรชัย ที่นั่งเป็นรองประธาน นบข. ตัดสินใจเรียกประชุมลับ เป็นการด่วนในวาระพิเศษ มีนางอภิรดี ร่วมด้วย ปรับเปลี่ยนตัวเลขใหม่จากเดิมที่จะให้ตันละ 11,525 บาท

เปลี่ยนเป็นตันละ 13,000 บาท ด้วยวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 22,000 ล้านบาท

นั่นเป็นเพราะ พล.อ.ฉัตรชัย ไม่พอใจในตัวเลขก่อนหน้านี้ ทั้งยังได้ประเมินแล้วว่าตันละ 11,525 บาทนั้น ไม่สามารถสร้างความพึงพอใจแก่ชาวนาได้ ดังนั้น ที่ประชุมลับเป็นการด่วนในวาระพิเศษ จึงเห็นควรให้เพิ่มวงเงินขึ้นอีกเป็น 13,000 บาทต่อตัน ก่อนเข้าที่ประชุม ครม. และได้รับไฟเขียวผ่านความเห็นชอบในตัวเลขดังกล่าว

เหตุผลเพราะ พล.อ.ฉัตรชัย ซึ่งที่ผ่านมามีความสนิทสนมชิดเชื้อกับเครือข่ายเกษตรกรเป็นอย่างดี มีการประสานงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ มาหลายครั้ง หลายหน รับปากว่าจะช่วยเหลือชาวนาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

ขณะเดียวกัน รัฐบาลทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ฉัตรชัย ซึ่งมีสัญชาตญาณทหารก็เกรงว่า หากชาวนาโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและอีสาน ไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างเป็นที่น่าพอใจ อาจเป็นชนวนให้มีการประท้วงกดดันรัฐบาลได้

อีกทั้งต้องไม่ลืมว่าในช่วงนี้เป็นช่วงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ประชาชนใช้จ่ายไม่คล่องตัว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หากชาวนาซึ่งได้รับความเดือดร้อนหนักจะออกมาประท้วง

หากจะมองในทางการเมือง ต้องอย่าลืมผลการออกเสียงประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา

แม้ประชาชนส่วนใหญ่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง แต่มีอยู่ 20 จังหวัดในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไม่รวม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องให้ความสำคัญกับภาคเหนือและภาคอีสาน เพราะยังถือเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคเพื่อไทย (พท.) อยู่

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่อยู่ๆ พล.อ.ประยุทธ์ จะออกมาส่งสัญญาณว่า ปัญหาราคาข้าวตกต่ำเกิดขึ้นมาจาก 2 ประเด็น

1. การปรับโครงสร้างการเกษตรที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ครบวงจร มีปัญหาอยู่ ยังทำไม่ได้ 100%

2. การเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยนักการเมืองในพื้นที่กับบางโรงสี ร่วมกันกำหนดราคาข้าวให้ต่ำลง หวังให้เกิดประเด็นขึ้น ส่งผลให้ประชาชนออกมาต่อต้านหรือขัดแย้งกับรัฐบาล

“บิ๊กตู่” จึงเลือกซื้อใจชาวนาด้วยการบอกว่า “แม้รัฐบาลจะต้องขาดทุนหรือไม่ก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องดูแลอยู่แล้ว รัฐบาลจะมีมาตรการออกมาอย่างเร่งด่วน มิเช่นนั้นจะถูกบิดเบือนไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นปัญหาทำให้การบริหารงานด้านอื่นๆ มีปัญหาตามมาด้วย”

 

การที่ พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่ามีนักมีการเมืองร่วมมือกับโรงสี กดราคาข้าวต่ำลงนั้นยังไม่มีมูลเหตุ แต่เป็นการประเมินแล้วว่า หากยังไม่มีแนวทางการช่วยเหลือชาวนาที่ชัดเจน หรือการช่วยเหลือนั้นไม่ตอบโจทย์ต่อความต้องการ กลุ่มการเมืองซึ่งมีฐานมวลชนอยู่ในภาคเหนือและอีสานจะหยิบประเด็นเหล่านี้มาโจมตีเล่นงานรัฐบาล

เพราะนั่นเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ฝ่ายตรงข้ามมักหยิบยกจุดอ่อนขึ้นมาโจมตีผู้กุมอำนาจรัฐ

เมื่อจับโมเมนตัมทางการเมืองได้ พล.อ.ประยุทธ์ จึงเดินเกมรุก ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ และ คสช. สำรวจทุกโรงสี ว่าสิ่งที่ทำมาทั้งหมดก่อนหน้านี้มีเบื้องหลังเชื่อมโยงกับฝ่ายการเมืองหรือไม่ หากพบความผิดปกติก็ให้จัดการได้ทันที

แต่เอาเข้าจริงเหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นกังวล หาใช่เรื่องอื่น นอกจากความเป็นไปของโลกออนไลน์ โซเชียลมีเดีย ที่สามารถวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงๆ และไม่มีขอบเขต รัฐบาลกังวลว่าจะมีคนให้ข่าวและสร้างความเข้าใจผิดๆ แก่ประชาชนโดยเฉพาะชาวนา จึงต้องออกมาปรามกันไว้แต่เนิ่นๆ

 

ขณะเดียวกัน ปฏิกิริยาจากพรรคเพื่อไทย (พท.) ก็เรียงหน้าออกมาโต้กลับทันควัน อย่าง “ภูมิธรรม เวชยชัย” รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) ออกมาดักคอว่า ขณะนี้ชาวนากำลังเดือดร้อนแสนสาหัส ควรรีบเร่งแก้ไขปัญหาโดยด่วน ไม่ควรใช้วาทกรรมมาเที่ยวโยนความผิดไปให้ผู้อื่น และขอแนะนำว่าอย่ามองทุกอย่างเป็นเรื่องการเมือง ทุกข์ของชาวนา ไม่มีใครปั้นหรือตบแต่งเรื่องได้ การมองปัญหาแบบนี้ ไม่ได้เกิดประโยชน์ ไม่เอื้อต่อการแก้ปัญหา

พร้อมตั้งข้อสังเกตต่อมาตรการของรัฐบาลด้วยว่า การจำนำยุ้งฉางไม่ใช่เรื่องใหม่ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศเดินหน้าตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557 แต่มีการสรุปผลการดำเนินการหรือไม่ ดังนั้น ควรแถลงต่อสังคมด้วยว่าได้ผลการดำเนินการเป็นอย่างไร จะได้ไม่ถูกมองว่าเป็นเรื่องขายผ้าเอาหน้ารอด

ท้ายที่สุดมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหนเข้ามากุมอำนาจเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ คงหนีไม่พ้นมาตรการแทรกแซงกลไกในด้านราคา และไม่ว่าจะใช้คำหรือรูปแบบที่สวยหรูขนาดไหน ย่อมหนีไม่พ้นดราม่าทางการเมืองกับสุภาษิตที่ว่า

“ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง”