ความคิดทางการเมืองไทยผ่านตำราของ ‘ชัยอนันต์-สมบัติ’ และปฏิกิริยาจาก ‘นิธิ’

จากที่ผมไม่ได้เรียนวิชาทฤษฎีการเมือง (ชื่อจริงๆ ของวิชานี้คือ “ทฤษฎีรัฐศาสตร์ 1”) เพราะอาจารย์ชัยอนันต์หายตัวไป และเชิญอาจารย์พิเศษมาสอนแทน (ดร.วิชัย ตันศิริ)

ทำให้ผมต้องดิ้นรนหาวิชาอื่นๆ ที่อาจารย์สอน เพื่อหวังจะได้เรียนกับท่านอย่างจริงๆ จังๆ เพราะในตอนที่อยู่ชั้นปีที่หนึ่งนั้น เรียนวิชาหลักรัฐศาสตร์ส่วนหนึ่งกับท่านพร้อมๆ กับเพื่อนๆ ทั้งชั้นปี รู้สึกว่ายังไม่ได้สัมผัสความรู้ท่านอย่างแท้จริง

แต่ขนาดไม่ได้สัมผัสท่านอย่างแท้จริง เมื่อเจอข้อสอบของท่านไป ก็เหมือนกับถูกฆ้อนความรู้ฟาดเข้ากลางหัวอย่างแรง ทำให้งงงวยปวดหัวมาจนถึงทุกวันนี้

ผู้อ่านที่ติดตามคอลัมน์นี้คงจำได้ว่า ข้อสอบที่เป็นฆ้อนความรู้นั้นถามว่า “มีคน 2 คนอยู่บนเกาะ มีการเมืองไหม?”

ตอนปีหนึ่งผมก็พยายามตอบไปเท่าที่นิสิตรัฐศาสตร์ชั้นปีที่หนึ่งที่ได้เกรดไม่ค่อยดีจะทำได้

แต่เมื่อถึงเวลานี้ ผมก็พยายามตอบข้อสอบนั้นใหม่ตามความรู้ที่มีอยู่ ถ้าสนใจก็คงต้องย้อนไปดูตอนก่อนๆ กันเอง

ที่จริง การจะตอบคำถามดังกล่าวนั้น น่าจะไปหานิยามการเมืองของอาจารย์ชัยอนันต์มาเป็นฐานในการตอบ

แต่ตอนนั้น ผมก็จำไม่ได้ว่า ตอนที่ท่านสอน ท่านได้ให้นิยามการเมืองไว้หรือเปล่า?

รู้แต่ว่า ต่อมาอีกปีสองปี ท่านได้แจกหนังสือเล่มเล็กๆ เล่มหนึ่ง ขนาดพกใส่กระเป๋าเสื้อได้

จำได้ว่าท่านแจกเนื่องในโอกาสปีใหม่ และหนังสือเล่มนี้หน้าปกเขียนไว้ว่า “การเมืองคืออะไร?”

ผมเก็บหนังสือเล่มนี้ไว้จนบัดนี้ และเอาไปที่ทำงานให้นิสิตผู้ช่วยถ่ายเอกสารไว้ แต่ในที่สุด ด้วยความรกของห้อง ทำให้ต้นฉบับและที่ถ่ายเอกสารอันตรธานไป

ตอนนี้จึงต้องไปหาที่หอสมุดกลางของมหาวิทยาลัย ถ้าได้มาเมื่อไร ก็จะนำมาใช้ในการวิเคราะห์และตอบคำถามหัวฆ้อนนั้น

 

จากการดิ้นรนหาวิชาที่จะได้เรียนกับอาจารย์ชัยอนันต์อย่างเต็มอิ่ม เพื่อหวังว่าจะได้ชื่อว่าได้เคยเรียนและเป็นศิษย์อาจารย์ชัยอนันต์อย่างแท้จริง ผมพบว่ามีวิชาหนึ่งที่ไม่ได้เป็นวิชาบังคับเหมือนอย่างวิชาทฤษฎีการเมือง แต่เป็นวิชาเลือกที่ได้ชื่อว่ามหาหินและไม่ค่อยจะมีนิสิตกล้าไปลงเรียนมากนัก

วิชาที่ว่านี้คือ วิชา “ความคิดทางการเมืองไทย”

พี่ตู่ (ศ.ธเนศ วงศ์ยานนาวา แห่งคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์) เป็นรุ่นพี่สองปี เป็นสิงห์ดำรุ่น 28 (ของผมรุ่น 30) ได้ลงวิชาความคิดทางการเมืองไทยนี้มาก่อนแล้ว และมาเล่าให้ผมฟังว่าวิชานี้น่าสนุกตื่นเต้นแค่ไหน

แต่ตอนที่แกเรียนนั้น แกบอกว่าแกเรียนวิชานี้กับอาจารย์สมบัติ (ศ.ดร.สมบัติ จันทรวงศ์ แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ท่านเป็นสิงห์ดำรุ่น 16 แต่ได้ทุนไปเรียนอเมริกาตอนปี 3) ผมเข้าใจว่า ที่พี่ตู่เรียนกับอาจารย์สมบัติ ก็น่าจะหมายความว่า ตอนนั้นอาจารย์ชัยอนันต์ไม่อยู่สอนวิชานี้ ซึ่งน่าจะเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ผมไม่ได้เรียนวิชาทฤษฎีการเมืองกับอาจารย์นั่นเอง

พี่ตู่เล่าว่า เขาได้ไปเอาวรรณคดีโบราณของอีสานมาวิเคราะห์ตีความส่งอาจารย์สมบัติ และสามารถมองเห็นความคิดเรื่องจักรวาลทัศน์ในวรรณคดีอีสานนั้น

วรรณคดีที่ว่านี้ชื่อ “นิทานเสียวสวาด” ตอนผมได้ฟังชื่อครั้งแรก อดนึกไปถึงเรื่องใต้สะดือไม่ได้!

ส่วนเนื้อเรื่องจะเป็นยังไงนั้น อดใจไปก่อนนะครับ เพราะถ้าเอามานำเสนอตอนนี้ ก็คงจะไม่ได้รู้เรื่องอาจารย์ชัยอนันต์กัน

 

หลังจากรับทราบถึงกิตติศัพท์วิชาความคิดทางการเมืองไทย เมื่อขึ้นชั้นปีที่สาม และสืบทราบแน่ๆ แล้วว่า อาจารย์ชัยอนันต์กลับมาแล้ว และวิชานี้เปิดให้นิสิตลงทะเบียนได้ ผมจึงตัดสินใจลงทะเบียนเสี่ยงตายเรียนวิชาความคิดทางการเมืองไทย

และตอนที่เรียนนั้น ก็มีโอกาสได้เห็นตำราชื่อ “ความคิดทางการเมืองไทย” ที่เขียนโดย “สมบัติ จันทรวงศ์ และชัยอนันต์ สมุทวณิช”

เท่าที่ทราบ อาจารย์ชัยอนันต์และอาจารย์สมบัติเป็นผู้บุกเบิกในการค้นคว้าศึกษาความคิดทางการเมืองไทย และในที่สุดก็เปิดสอนวิชานี้ และมีตำราสำหรับวิชานี้ด้วย ซึ่งน่าจะเป็นพฤติกรรมทางวิชาการที่เป็นตัวอย่างสำหรับอาจารย์ที่ต้องการจะเปิดวิชาอะไรขึ้นมา นั่นคือ ควรจะต้องมีการศึกษาค้นคว้าวิจัยมากพอสมควร และจะต้องตระเตรียมเอกสารสำหรับให้นิสิตได้อ่านศึกษา ไม่ใช่ว่าจะฟังการบรรยายแต่อย่างเดียว

พูดง่ายๆ คือ “ไม่ใช่ใครใคร่อะไรก็สอน ใคร่เปิดวิชาอะไรก็เปิด โดยตัวเองแค่ไปเปิดๆ อ่านหนังสืออะไรมานิดหน่อยๆ”

ถ้าทำแบบนี้ ก็เท่ากับเอานิสิตเป็นหนูตะเภา เอาทดลองเล่นอย่างไร้ความรับผิดชอบ!

ลองผิดลองถูกกับวัตถุยังพอรับได้นะครับ!

 

ผมจำได้ว่า มีครั้งหนึ่ง ตอนผมเป็นอาจารย์แล้ว มีวิชาระดับปริญญาเอกวิชาหนึ่งขาดผู้สอน และมีอาจารย์ท่านหนึ่งอาสาจะสอนวิชานี้

ท่านไม่ได้จบปริญญาเอก และก็ไม่ได้ชื่อว่าเชี่ยวชาญในวิชานี้มาก่อนเลย

อีกทั้งตำแหน่งวิชาการก็อยู่ในระดับพื้นฐาน แต่ท่านก็ยืนยันว่าสอนได้

เมื่อถามเหตุผล ท่านก็บอกว่า สมัยท่านเรียนปริญญาโท ท่านเคยทำรายงานหัวข้อที่เกี่ยวกับวิชานี้มา

ตอนนั้น ผมมีภาระต้องดูแลโครงการปริญญาเอกอยู่ ก็นั่งคิดอยู่นานว่าจะทำอย่างไรดี? เพราะถ้าจะให้สอนเพียงเพราะเคยทำรายงานมาในระดับปริญญาโทมา ก็ดูจะไม่แฟร์กับนิสิตปริญญาเอกเท่าไรนัก

แต่มองอีกมุมหนึ่ง ถ้าอาจารย์ท่านนั้นได้มีโอกาสสอน แม้ว่าท่านจะยังไม่ได้เชี่ยวชาญในวิชานี้มากนัก ท่านก็จะได้มีโอกาสในการพัฒนาการสอนให้เชี่ยวชาญได้ในที่สุด

แต่มุมมองอันหลังนี้ จะมีความชอบธรรมก็ต่อเมื่อไม่มีอาจารย์คนไหนเชี่ยวชาญในวิชานี้เหลืออยู่ในประเทศไทยแล้ว

และผู้ที่ดีที่สุดในสถานการณ์ขณะนั้นก็คือ ผู้ที่เคยทำรายงานเรื่องนี้มาในระดับปริญญาโท โดยไม่มีอาจารย์ท่านไหนเคยทำรายงานนี้มาก่อน

ซึ่งหมายความว่า อาจารย์ท่านนี้คือผู้ที่มีคุณสมบัติดีที่สุดเท่าที่มีอยู่แล้ว

ถ้าเป็นเช่นนี้ ก็ควรจะให้อาจารย์ท่านนั้นสอน

 

กลับมาที่ตำราวิชาความคิดทางการเมืองไทยของอาจารย์สมบัติและอาจารย์ชัยอนันต์ ตำราเล่มนั้นทำให้ผมตื่นเต้นมาก เพราะผมอยากรู้ว่า บ้านเรามี “ความคิดทางการเมือง” ด้วยหรือ?

และถ้ามีจะเหมือนหรือแตกต่างจากของฝรั่งยังไง?

คนส่วนใหญ่มักจะรู้ว่า จีนมีความคิดทางการเมือง นั่นคือ ขงจื่อ ซึ่งก็โด่งดังไปทั่วโลก แล้วของไทย ถ้ามี จะโด่งดังแบบนั้นได้ไหม?

เมื่อผมได้เปิดตำราความคิดทางการเมืองไทยที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2523 ผมก็ตื่นตะลึงกับสารบัญที่แจงว่า ความคิดทางการเมืองไทยของเราเป็นยังไง?

อันแรกเลยที่ดูแล้วน่าอ่านมากคือ “อัคคัญสูตร” การอธิบายกำเนิดโลก กำเนิดสังคม กำเนิดรัฐและรัฐบาล”

ฟังหัวข้อแล้วก็ให้นึกเทียบเคียงกับบทปฐมกาล (Genesis) ในคัมภีร์ไบเบิลที่เล่าเรื่องพระผู้เป็นเจ้าสร้างโลกและมนุษย์ขึ้น

ส่วนหัวข้อกำเนิดสังคม ทำให้ต้องนึกถึงคำกล่าวของฝรั่งที่ว่า “มนุษย์เป็นสัตว์สังคม” เป็นต้น

นอกจากเรื่อง “อัคคัญสูตร” แล้ว ตำราความคิดทางการเมืองไทยของอาจารย์สมบัติและอาจารย์ชัยอนันต์ยังมีหัวข้อ “ประเพณีธรรม ธรรมราชา และทศพิธราชธรรม” “พระญาจักรพรรดิราชในไตรภูมิพระร่วง” “มหาชาติคำหลวง : ความหมายทางการเมือง” “ราชนีติ : บทวิเคราะห์” “พระพิไชยเสนา (ตำราสำหรับข้าราชการควรประพฤติ)” “คำสอนทางการเมืองของวันวลิต” “ศรีทะนนไชย : ความคิดเรื่องอำนาจ ปัญญา และความหมายทางการเมือง” “ธรรมชาติและประเพณี : พื้นฐานความคิดทางสังคมของศรีปราชญ์” “โลกทัศน์ทางการเมืองของสุนทรภู่” “เทียนวรรณ” “แนวความคิดทางสังคมและการเมืองของ ก.ศ.ร. กุหลาบ”

จากหัวข้อต่างๆ เหล่านี้ ผมมึนงงไปพอสมควร เพราะจะว่าไปแล้ว ผมรู้จักแต่เพียง “ศรีทะนนไชย สุนทรภู่และศรีปราชญ์” เท่านั้น

นอกนั้นผมไม่เคยได้ยินมาก่อนเลย…

แต่หัวข้อท้ายสุดในสารบรรณคือ “ปฏิกิริยาต่อหนังสือความคิดทางการเมืองไทย โดย ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์” ซึ่ง ณ พ.ศ.นั้น ผมก็ไม่รู้จักว่า “ดร.นิธิ” คือใคร? มีความสำคัญอย่างไรเชียวถึงขนาดอาจารย์สมบัติและอาจารย์ชัยอนันต์อยากรู้ว่า “ดร.นิธิ” จะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อตำราของท่านทั้งสอง!!!