สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ระบบครูอาเซียนในอินโดนีเซีย

สมหมาย ปาริจฉัตต์

SEA Teacher พัฒนาครูอาเซียน

ระหว่างพิธีต้อนรับของโรงเรียนมากาวากี้ กรรมการสมาคมครู (Argoguru) มาจาเลงกาที่เดินทางมาด้วยกัน หยิบคำกล่าวที่เตรียมไว้ยื่นให้ผมและเอียงหน้าถาม “ฟรีดอมออฟเดอะเพรสในไทยเป็นอย่างไรบ้าง” คงเป็นผลจากบทความคัดค้านการเป็นประธานกลุ่มอาเซียนของไทยในปีหน้าของคอลัมนิสต์ดัง หนังสือพิมพ์จาการ์ตาโพสต์ที่กำลังฮือฮาเป็นแน่

“ก็อย่างที่คุณพอทราบนั่นแหละ” ผมตอบ

“คุณอยู่หนังสือพิมพ์อะไร เนื้อหาเกี่ยวกับด้านไหน” เขาถามต่อ ผมนึกในใจ ครูอินโดนีเซียส่วนใหญ่จะสนใจการเมืองเหมือนตัวแทนสมาคมครูคนนี้หรือไม่นะ ก่อนตอบไปว่า เนื้อหามีทุกด้านแหละครับ การศึกษา สังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง

“แล้วการเมืองอินโดนีเซียตอนนี้เป็นอย่างไรบ้างครับ” ผมถามกลับบ้าง ตัวแทนสมาคมครูทำท่าไม่อยากวิจารณ์

“สื่อทุกแขนง ทุกประเภทไม่ว่าที่ไหน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ไทย สิงคโปร์ เชื่อมโยงถึงการเมืองด้วยกันทั้งนั้นแหละ ในอินโดนีเซียก็เหมือนกัน” ผมเน้น “การเมืองมีบทบาทต่อสื่อ ข้าราชการ รวมทั้งครูด้วย” เขาทำท่าไม่ยอมรับ

แม้ว่าความเป็นรัฐราชการที่เข้มข้นของอินโดนีเซียจะลดลง แต่ก่อนสื่อส่วนใหญ่เป็นคนของรัฐ ผลจากพัฒนาการทางการเมือง การเติบโตทางเศรษฐกิจ ช่วยผ่อนคลายทำให้สถานการณ์ดีขึ้น

 

ก่อนจบภารกิจ ปิดจ๊อบ บอกลาครู ครูใหญ่ นักเรียน ผู้ปกครอง ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษามาจาเลงกานำคณะกรรมการมูลนิธิเดินทางกลับ เวลาบ่ายคล้อยแวะเติมท้องที่ร้านอาหารมีชื่อประจำอำเภอ เจ้าภาพบอกให้คณะเรากินล่วงหน้าไปก่อน หลังจากพวกเขาทำพิธีละหมาดเสร็จจะเข้ามาร่วมวง ท่านประธานกฤษณพงศ์ขอให้รอเจ้าภาพสักประเดี๋ยว ใช้เวลาไม่นาน จะได้กินด้วยกัน

ครับ การรอมิใช่แค่มารยาทอันควรปฏิบัติเท่านั้น ทำให้คิดถึงพิธีละหมาด คุณค่าของการสวดมนต์ท่องบ่นภาวนา ทบทวนตัวเองไม่ว่าศาสนาใดมีความหมายทั้งสิ้น คิดต่อไปถึงคุณของข้าวปลาอาหารที่ล้วนเกิดจากน้ำพักน้ำแรงของผู้อื่น คนปลูก คนหา คนทำ ให้เรามีชีวิตรอดต่อไปอีก

เวลาผ่านไปไม่นาน คณะเจ้าภาพกับผู้มาเยือนเอร็ดอร่อยกับไก่ย่าง ปลาทอดราดเปรี้ยวหวาน ต้มยำปลา ผักจิ้มน้ำพริก สะเต๊ะเนื้อ ปิดท้ายด้วยแตงโมกับมะม่วงจานใหญ่ เรียบร้อย

เดินทางต่อกลับเข้าเมืองหลวงจาการ์ตา ระหว่างทางก่อสร้างถนนซูเปอร์ไฮเวย์ยาวตลอดทำให้รถติดเป็นระยะจนถึงแยกไปจังหวัดบันดุงและหนักยิ่งขึ้นเมื่อใกล้เข้าเขตเมืองหลวงห้าโมงเย็น ค่อยๆ คืบคลานจนมาถึงโรงแรมที่พัก Century park สองทุ่มครึ่ง

ขาไปใช้เวลาเดินทางราวสามชั่วโมงครึ่งถึงมาจาเลงกา ขากลับเกือบ 7 ชั่วโมง

จนบางคนแซวว่า บินกรุงเทพฯ ไปจาการ์ตา ไป 3 ชั่วโมง กลับ 3 ชั่วโมงยังถึงเร็วกว่า จราจรติดขัดแสนสาหัส ทรหดจริงๆ

มิน่าเล่า มอเตอร์ไซค์บริการแกร็บไบก์กับโกเจ๊ก ถึงขับเคี่ยวกันทางธุรกิจอย่างดุเดือด แข่งวิ่งรับ-ส่งผู้โดยสารทั่วทุกถนนเขียวครืดเต็มไปหมด

 

รอรถเคลื่อนตัวไปทีละน้อยๆ มีโอกาสสนทนากับ ดร.ทินสิริ ศิริโพธิ์ รองเลขาธิการคุรุสภา กรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เคยเป็นรองผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Ministers of Education Organization Secretariat – SEAMEO) หรือซีมีโอ เล่าถึงโครงการพัฒนาวิชาชีพครูที่เคยทำเมื่อครั้งอยู่ซีมีโอ นำมาขยายผลต่อเมื่อมาอยู่คุรุสภา

ซีมีโอเป็นตัวกลางให้เกิดการแลกเปลี่ยนนักศึกษาครูระหว่างมหาวิทยาลัยที่ผลิตบัณฑิตครูในกลุ่มประเทศอาเซียน ให้เดินทางมาฝึกสอน หรือที่ภาษาทางการสวยหรูบอกว่า ฝึกประสบการณ์วิชาชีพยังอีกประเทศหนึ่ง เวลา 1 เดือน

โดยนักศึกษาเสียค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าเดินทางเท่านั้น ส่วนค่าที่พัก ค่าอาหาร และอื่นๆ ประเทศเจ้าภาพรับรองหมด

ปัจจุบันซีมีโอมี Dr.Gatot Hari Priowirjanto ชาวอินโดนีเซียเป็นผู้อำนวยการ บอกว่า ที่กำหนดหลักสูตรการแลกเปลี่ยนเพียง 30 วัน เหตุเพราะกฎระเบียบการเข้าเมืองให้อยู่ได้ในประเทศอาเซียนด้วยกันแค่นั้นโดยไม่ต้องขอวีซ่า กำลังจะขอขยายเป็น 3 เดือน ไม่แน่ใจว่าทางการแต่ละประเทศจะยอมหรือไม่

โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาครูฝึกสอน เป็นนักศึกษาปี 4 เริ่มปี 2016 มีนักศึกษาได้รับคัดเลือก 343 คน จาก 57 มหาวิทยาลัย ทั้งไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ทำมา 3 ปีติดต่อกันถึงปี 2018 ขยายเป็น 79 มหาวิทยาลัย นักศึกษาเพิ่มเป็น 700 คน

การแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพของครูในกลุ่มสู่อาเซียนให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยนักศึกษาที่มาฝึกสอนจะได้นับชั่วโมงเทียบโอนหน่วยกิตให้ด้วย 2 เครดิต

หลักสูตรการฝึกสอน สัปดาห์แรกสังเกตการณ์สอน สัปดาห์ที่สองช่วยสอน สัปดาห์ที่สามลงมือสอน สัปดาห์ที่สี่ประเมินผลการสอน มหาวิทยาลัยจะคัดเลือกเด็กที่สมัครใจและมีคุณสมบัติ มีอาจารย์มาติดตาม กับมีบัดดี้คอยปรึกษาหารือช่วยเหลือกัน เช่น การเตรียมแผนการสอน ออนไลน์

“โครงการนี้เริ่มตอนที่ ดร.สมบัติ คชสิทธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ ประธานที่ประชุมอธิการบดี ทำข้อตกลงแลกเปลี่ยนกับอินโดนีเซีย 7 มหาวิทยาลัย เมื่อเดือนตุลาคม 2015 อาจารย์เดินทางมาติดตามเด็กด้วยตัวเองเลย” ดร.ทินสิริเล่า

ขณะที่ Dr.Gatot บอกว่า ขณะนี้มีมหาวิทยาลัยไทยอีกหลายแห่งเข้าร่วม เช่น ขอนแก่น ราชภัฏบุรีรัมย์ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง นครศรีธรรมราช เพชรบุรี พระนคร พิบูลสงคราม สวนสุนันทา สุราษฎร์ธานี ฯลฯ

 

เธอนำเอาแนวคิดการพัฒนาครู โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาฝึกสอนมาทำเป็นโครงการแลกเปลี่ยนครูที่คุรุสภา ให้ครูจริงๆ ผู้ที่เป็นครูแล้วไปสอนในแต่ละประเทศ ทำไปแล้ว 1 รุ่น 20 คน โดยครูออกค่าเครื่องบินเอง ประเทศเจ้าภาพจัดการรับรองที่พัก อาหาร หาโรงเรียนที่สอน ร่วมจัดโปรแกรมการสอน เวลา 1 เดือนเช่นกัน เรียกว่าโครงการ Sea Teacher ครูคณะไทยชุดล่าสุดมาถึงอินโดนีเซียวันที่ 7 สิงหาคม 2018 ที่ผ่านมา

“นอกจากสองโครงการที่ว่าแล้ว อีกโครงการหนึ่งที่คุรุสภาดำเนินการร่วมกับประเทศอาเซียน คือทำกรอบมาตรฐานครูอาซียน เพื่อให้ครูแต่ละประเทศได้พัฒนา จากมาตรฐานของแต่ละชาติแล้วไปสู่มาตรฐานร่วม มาตรฐานอาเซียนและมาตรฐานสากล ครูควรมีคุณลักษณะ คุณสมบัติ ทักษะ สมรรถนะแต่ละด้านอย่างไร ขณะนี้หลายประเทศในอาเซียนนำไปใช้เป็นมาตรฐานในประเทศแล้ว”

ได้ฟังเรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับการพัฒนาครู ระดับชาติ ระดับอาเซียน จนถึงระดับสากลอย่างนี้แล้ว น่าดีใจ มีความหวัง ถ้าโครงการทำนองนี้ได้รับความสนใจจากครูและผู้เกี่ยวข้องส่งเสริมสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจริงจัง ทำให้ครูไทยก้าวข้ามปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะภาษาไม่ใช่อุปสรรคอีกต่อไปอย่างแน่นอน

ผมเลยอดเก็บสาระมาเล่าต่อไม่ได้ ก่อนจะไปฟังผู้บริหารการศึกษาระดับประเทศอินโดนีเซียพูดคุย ตามนัดหมายที่กระทรวงศึกษาและวัฒนธรรมอินโดนีเซียวันรุ่งขึ้น