“สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” เปิดใจ ขอแก้โจทย์หิน…ก่อนอำลาการเมือง กระตุ้นเศรษฐกิจ-ปฏิรูปประเทศ

ประเด็นเศรษฐกิจไทยยังทรุดหรือฟื้นตัวดีขึ้น กลับมาเป็นวิวาทะโต้เถียงกันเผ็ดร้อนอีกครั้ง ระหว่างอดีตนักการเมืองด้านเศรษฐกิจในรัฐบาลก่อน กับทีมเศรษฐกิจภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่างงัดเอกสารหลักฐานและปัจจัยแวดล้อมต่างๆ เพื่อมายืนยันเศรษฐกิจดีจริง หรือไม่จริง!

ผู้ที่รับแรงกดดันมากที่สุด คงหนีไม่พ้น “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กุมบังเหียนดูแลด้านเศรษฐกิจ

ถึงวันนี้ นายสมคิด ยังยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยดีขึ้น ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว สิ่งที่รัฐบาลทำมาถูกทาง

โดยชี้ให้ดูตัวเลขย้อนหลังการขยายตัวของเศรษฐกิจเมื่อ 2 ปีก่อนหน้านี้ ที่ขยายแค่ 0.8% ขยับมาเป็น 3.5% ในปีนี้

บนปัจจัยรุมเร้ามากมายทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศ

 

ปัจจัยรุมเร้าแรก คือภาวะเศรษฐกิจโลกซบเซาที่กระทบไปทั่วโลก สำหรับไทยได้รับผลหนักคือภาคส่งออก ตัวเลขติดลบต่อเนื่อง ทั้งที่ฐานการส่งออกต่ำติดลบต่อเนื่องมาแล้ว 2 ปี และเพิ่งกลับมาเป็นบวกเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา

จึงแน่นอนว่าการส่งออกปีนี้พลาดเป้าที่ตั้งไว้เติบโต 5% เพราะแนวโน้มความน่าจะเป็นคือ บวก 1% เท่านั้น

อีกปัจจัยหนักที่ไม่แพ้กัน คือราคาสินค้าเกษตรในพืชสำคัญ ทั้งข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด ข้าวสาลี ราคาตกหนักอย่างกับนัดหมายกันไว้

บางเดือนจะเห็นตัวเลขราคาพืชผลลด 30-40% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลกระทบต่อการบริโภคภายในชะลอตัว และการลงทุนภาคเอกชนเกิดความลังเล

ทำให้ทีมเศรษฐกิจนำเสนอให้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นใช้จ่าย และกระทุ้งการลงทุน

โดยใช้การลงทุนภาครัฐเป็นแม่ทัพหน้า หวังให้ทุนเอกชนที่ยังลังเลกลับเข้ามาในสนามลงทุนอีกครั้ง

แรกๆ ดูว่าจะคึกคัก แต่ละหน่วยงานรัฐประกาศใช้เงินตามโครงการต่างๆ มากมาย

ซึ่งถึงวันนี้บางโครงการก็ยังอยู่บนกระดาษ

บ้างก็อ้างการเบิกจ่ายล่าช้า

บ้างก็อ้างไม่บรรลุข้อตกลงกับผู้ร่วมลงทุนต่างชาติ

ตอนนี้จึงเริ่มเห็นหน่วยงานรัฐออกมาระบุว่าจำเป็นต้องเลื่อนการลงทุนก่อสร้างออกไปเป็นปี 2560 แทนแล้ว

ฉะนั้น เม็ดเงินที่คาดหวังจะสู่ระบบเศรษฐกิจโค้งสุดท้ายปีนี้เป็นแสนล้านบาทกลับไม่มีตัวตน

 

หันไปดูภาคลงทุนภาคเอกชนและทุนนอกก็ยังไม่ได้ดั่งใจ แม้ยอดการยื่นขอใช้สิทธิประโยชน์ผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่เกิดหลังจากนายสมคิดสั่งให้หาวิธีเพิ่มแรงจูงใจ สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

แต่พบว่าเงินลงทุนแท้จริงยังห่างจากยอดการขอบีโอไอ

ยังไม่รวมสารพันปัญหา อาทิ ความผันผวนของอากาศกระทบต่อผลผลิตข้าวและพืชเศรษฐกิจ เกิดปั่นป่วนด้านปริมาณและราคา การปราบทัวร์ศูนย์เหรียญชาวจีน

หรือความวิตกลึกๆ ต่อปัญหาการเมืองในอนาคต ทั้งภายในประเทศ และการเมืองโลก ที่เกิดขึ้นครั้งใดจะกระทบทันทีต่อค่าเงินและตลาดหุ้น

จึงทำให้คนไทยรู้สึกว่ามีเงินใช้จ่ายไม่เพียงพอ สินค้าราคาแพงขึ้น และเศรษฐกิจไม่ดี

ดูได้จากเส้นกราฟสถิติการใช้จ่ายเข้าลักษณะสะวิงขึ้นเร็ว-ลงเร็ว

ตามคำบอกเล่าของนายสมคิด ระบุว่า ตามโรดแม็ปรัฐบาลชุดนี้เหลือเวลาทำงานอีกปีเศษ

“ภารกิจของผมของรัฐบาลชุดนี้ในช่วงเวลาที่เหลือ จะมี 2 อย่าง คือ อย่าให้เศรษฐกิจในประเทศทรุด พร้อมกับเร่งปฏิรูปประเทศ ปฏิรูปโครงสร้างการผลิต ซึ่งตอนนี้คนมองว่าเศรษฐกิจไทยไม่ค่อยดี ผมอยากเปรียบเทียบสถานการณ์เศรษฐกิจที่เผชิญขณะนี้กับช่วงต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ขณะนั้นกลุ่มบนพังแต่กลุ่มล่างยังดี ทั้งราคาเกษตรและการส่งออก แต่ครั้งนี้ตรงกันข้าม กลุ่มล่างเจอปัญหาสะสมมา 2 ปี ทั้งเจอภัยแล้ง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ตอกย้ำด้วยส่งออกและการลงทุนชะลอยาวตามเศรษฐกิจโลก ที่ผ่านมารัฐใช้เงินกระตุ้นเป็นแสนๆ ล้าน มุ่งเน้นไปที่กลุ่มฐานล่าง เมื่อเขาใช้เงินก็เกิดหมุนเวียน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็จะดี จนสามารถผลักดันเศรษฐกิจจากอัตราเติบโต 0.8% ขึ้นมาเป็น 3.5% นั่นแปลว่ากลุ่มล่างดีขึ้น” นายสมคิดกล่าว และว่า แต่ก็ยังไม่น่าเพียงพอ

นายสมคิดบอกว่า ต่อจากนี้จะเห็นข่าวใหม่ข่าวดี การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง โดยให้น้ำหนักและสร้างสมดุลระหว่างการบริโภคในประเทศ ที่ยังเป็นสัดส่วน 30% ของจีดีพี และการส่งออกที่เป็นฐานใหญ่ 70% ของการขับเคลื่อนจีดีพีไทย

ซึ่งนายสมคิดเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยยังเข้มแข็งเพียงพอ การขยายตัวหรือจีดีพีจะโตปีละ 3-4% นับจากนี้ เฉพาะปีนี้มั่นใจว่าโต 3.5%

 

เมื่อถามถึงเวลาที่เหลืออีก 1 ปีเศษ จะทำอย่างไรไม่ให้เศรษฐกิจทรุด!

นายสมคิดชี้ให้มองการวางรากฐานและมุ่งในการปฏิรูปความคิดเป็นเรื่องแรก ในกลุ่มรายได้น้อยและภาคเกษตร สั่งให้ทุกหน่วยงานแข่งขันสร้างผลงานที่จะทำอย่างไรให้เกิดชุมชนร่วมมือกัน เน้นพัฒนาหมู่บ้านหรือชุมชน ผ่านการพัฒนาหรือวิจัยใช้วัตถุดิบหรือบริการในท้องถิ่น ต่อยอดเป็นรูปธรรมต่อการสร้างรายได้ และสร้างการรับรู้ต่อชุมชน

ขั้นต่อไปที่จะเน้นมากขึ้นคือการให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นแม่งานในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการคิดประดิษฐ์สร้างชิ้นงาน เพิ่มมูลค่า และลดต้นทุน

นอกจากนี้ ให้ทุกหน่วยงานเน้นการเชื่อมโยงแหล่งชุมชนกับการท่องเที่ยว และการค้าชายแดน ซึ่งมองว่าจะเป็นการทดแทนรายได้ที่ขาดหายไปจากราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำหรือรองรับความไม่แน่นอนของภาวะอากาศ ทั้งหมดนี้คือการกระตุ้นเศรษฐกิจรายภูมิภาค

อีกกลุ่มคือระดับกลาง คือกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและอุตสาหกรรมรายย่อย ต้องเริ่มจากการปรับความคิดเห็น ให้กลุ่มนี้มุ่งสร้างความกล้าทางจิตใจ ทั้งกล้าเปลี่ยนแปลง กล้าไปต่างประเทศ

โดยเฉพาะการผลักดันไปเกิดในกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี คือ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม แว่วๆ ว่าปีหน้าจะเป็นปีทองของกลุ่มนี้

ซึ่งจะทำคู่ไปกับกระทุ้งกลุ่มอุตสาหกรรมระดับบน ที่มีความพร้อมเงินทุนและการหาตลาดนอกประเทศ โดยการจัดระเบียบเป็นคลัสเตอร์และปฏิรูปการผลิตที่จะวางว่าคลัสเตอร์อุตสาหกรรมใดจะไปกับประเทศใดจึงจะเหมาะสม

เช่น ด้านบันเทิงกับเกาหลีใต้หรือสหรัฐ ที่น่าจับตามองคือการดึงทุนใหม่ๆ อย่างไต้หวันและกลุ่มประเทศในยุโรป ถือเป็นกลยุทธ์ดึงเงินทุนนอกแทนรายได้ที่หายจากการส่งออกชะลอลง

ขณะที่อีกเครื่องจักรขับเคลื่อนสำคัญคือ การปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานภายในและเชื่อมโยงในอาเซียนกับยักษ์ใหญ่เอเชีย ทั้งจีนหรือญี่ปุ่น โดยใช้ประโยชน์จากความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ระหว่างกัมพูชา ลาว พม่า ไทย และเวียดนาม (ACMECS : แอคเมคส์) และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ที่ไทยจะเป็นแกนกลางผลักดันเชื่อมโยงระบบขนส่งทุกด้าน

เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งท้าทายประเทศไทย เพราะตามแผน เร็วสุดแต่ละแผนงานต้องใช้เวลา 5 ปีเป็นอย่างน้อย ขณะที่อายุการทำงานของรัฐบาลชุดนี้เหลือเพียงปีเศษตามโรดแม็ป

ซึ่งนายสมคิดกล่าวทิ้งท้ายว่า คงไม่กลับมาเวทีนี้เป็นรอบที่ 3