วิช่วลคัลเจอร์ / ประชา สุวีรานนท์ / สงครามเวียดนาม : เราสู้ (จบ)

วิช่วลคัลเจอร์ / ประชา สุวีรานนท์

 

สงครามเวียดนาม : เราสู้ (จบ)

 

สงครามเวียดนามแยกไม่ออกจากวาระที่สำคัญที่สุดคือสงครามเย็น หรือการต่อต้านคอมมิวนิสต์ทั่วโลกที่นำโดยสหรัฐ ผู้นำอเมริกันทุกคนทุกพรรคและทุกสมัย เห็นว่าเวียดนามถูกนำโดยโซเวียตและจีน

ดังนั้น นี่จึงเป็นสงครามตัวแทน หรือไม่ใช่การรบที่เป็นเอกเทศ และต้องใช้กำลังทหารในการปกป้องเวียดนามใต้จากการคุกคามของคอมมิวนิสต์

นอกจากนั้น ยังเชื่อในทฤษฎีโดมิโน ซึ่งบอกว่าถ้าเวียดนามใต้ตกเป็นของฝ่ายเหนือ ประเทศในภูมิภาคใกล้เคียงจะกลายเป็นคอมมิวนิสต์ด้วย

แม้ในช่วงปลายสงครามเย็น เมื่อผู้นำอเมริกันกลับขั้วความคิดอย่างกะทันหัน ทำให้ทฤษฎีนั้นกลายเป็นสิ่งสูญเปล่าครั้งมหาศาล ประเทศเพื่อนบ้านของเวียดนาม เช่น ไทย ลาว เขมร ก็จะร่วมขบวนการ “เราสู้” ด้วยความเชื่อคล้ายๆ กัน

 

หนังถูกวิจารณ์โดยหลายฝ่าย เช่น ไม่ได้ยกย่องทหารผ่านศึกชาวอเมริกันเท่าที่ควร ภาพที่เห็นจึงแสดงถึงความไม่รักชาติ

มีการทุ่มเทของอเมริกัน ทั้งคนและอาวุธจำนวนมาก แต่สิ่งที่เห็นจากหนังคือผลที่ทำให้ชาวบ้านหมดความเชื่อถือในตัวผู้นำและสถาบันต่างๆ เช่น รัฐบาล ทหาร ศาล ฯลฯ มากขึ้น นอกจากนั้น ยังเน้นความเชื่อที่ว่าอเมริกาเป็นฝ่ายจักรวรรดินิยมหรือเจ้าอาณานิคม ที่พยายามทำลายขบวนการรักชาติ ซึ่งเป็นแบบฝ่ายซ้ายมากเกินไป

ในขณะเดียวกัน บางคนก็มองว่านี่เป็นสงครามกลางเมือง ซึ่งอเมริกันเป็นฝ่ายที่แทรกแซง อีกทั้งการรวมชาติเวียดนามจนสำเร็จในปัจจุบัน ฟ้องว่านโยบายของอเมริกันสมัยนั้นผิดมาก

บางคนที่มองว่าเป็นส่วนหนึ่งของสงครามเย็น ก็วิจารณ์ว่าพูดถึงบทบาทของสหรัฐอเมริกากับเวียดนามเหนือมากเกินไป

แต่ไม่สนใจบทบาทของเวียดนามใต้ รวมทั้งชาติอื่นๆ ที่ร่วมรบกับอเมริกันและมีบทบาทไม่น้อย เช่น ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และไทย

 

ในบทความเรื่อง “Why Thailand Takes Pride in the Vietnam War” ของริชาร์ด เอ. รัธ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ โรงเรียนนายเรือสหรัฐ ที่ตีพิมพ์ลงในนิวยอร์กไทม์สเมื่อปีที่แล้ว

รัธได้ตั้งคำถามว่า ทำไมไทยจึงดูภาคภูมิใจกับปฏิบัติการในสงครามเวียดนาม ในขณะที่สหรัฐและเวียดนามมองว่าเป็นเรื่องน่าเศร้า เขาบอกว่าได้เก็บข้อมูลจากทหารผ่านศึกไทยที่ไปร่วมรบในครั้งนั้นมากกว่า 60 คน

ในขณะนั้นรัฐบาลไทยและอเมริกันระดมทุกสถาบันของชาติ ไม่ว่าจะเป็นทหาร ระบบราชการ สื่อมวลชน ศาสนา และผู้นำทางจิตใจมาช่วยในการรบ

หนังสือพิมพ์ไทยรายงานจำนวนทหารผู้เสียชีวิตในแต่ละสัปดาห์ราวกับเป็นคะแนนแข่งขันกีฬา พวกทหารผ่านศึกที่รัธได้สัมภาษณ์จึงภาคภูมิใจที่ไปสร้างชื่อประเทศไทยให้นานาชาติได้รับรู้ และเรียกตนเองว่า “ผู้ปกป้องพุทธศาสนา”

แม้จะต้องจ่ายค่าเสียหายไปไม่น้อยจากการเสียชีวิตและบาดเจ็บหลายร้อยคน แต่ทุกวันจะมีเครื่องบินจากสนามบินกองทัพอากาศในไทยที่ให้สหรัฐเข้าใช้ 7 แห่งบินไปทิ้งระเบิดในลาว เวียดนามใต้และเหนือ ทำให้ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก

เขาสรุปว่า ในช่วงที่เวียดนามและลาวกำลังยากลำบาก ประเทศไทยได้เห็นเม็ดเงินลงทุนโดยตรงเพิ่มขึ้น การทุ่มเทของสหรัฐทั้งกำลังคน เงิน และอุปกรณ์ เพื่อสร้างทางและพัฒนาประเทศ

สิ่งเหล่านี้ทำให้ประเทศไทยพัฒนาก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วทางด้านเศรษฐกิจ

หลัง พ.ศ.2518 เมื่ออเมริกันถอนทัพออกไปและเวียดนามใต้ประสบภาวะ “สิ้นชาติ”

ไทยซึ่งเคยเข้าข้างมหามิตรก็แสดงอาการลงแดง หรือ Withdrawal Symtom ด้วยวิธีต่างๆ

นอกจากนั้น การทะเลาะเบาะแว้งกันในภูมิภาค ระหว่างจีน เวียดนาม ลาว เขมร และไทย ยังกินเวลาอีกกว่าสิบปี จึงค่อยตั้งสติกันได้

 

เราสู้เพื่ออะไร? เบิร์นส์ผู้สร้างหนังสารคดีชุดนี้บอกว่า “เมื่อพูดถึงสงครามเวียดนาม เรามักพูดกับตัวเอง” เขาหมายความว่าเพื่อให้ตนเองก้าวต่อไปได้ เรามักจะกดดันประสบการณ์เหล่านั้นให้เข้าไปอยู่ข้างใน

เขาเน้นว่าสงครามเวียดนามมีความสำคัญในแง่อัตลักษณ์ของชาติ

และเกี่ยวกับความทรงจำของคนทั้งสองฝ่าย

แต่ก็รู้ดีว่า ถ้าเราอยากจะเข้าใจหรือตอบคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง? ต้องเข้าใจประวัติศาสตร์ ในแง่ที่ไม่ใช่เพียงความรู้สึกของคนที่ผ่านเหตุการณ์นั้นๆ มา

ดังที่กล่าวมาแล้ว ตอนนั้นเป็นยุคทองของโทรทัศน์หรือครั้งแรกที่สื่อขยายตัวไปทั่วโลก การถ่ายทอดสงครามนี้ จึงมีทั้งที่เป็นภาพถ่ายและคลิปที่ติดตาฝังใจคน เช่น พระสงฆ์เผาตัว การยิงหัวชาวเวียดนาม การรบในป่าเขา การทิ้งระเบิดเพลิงในระยะใกล้ ศพทหารที่ถูกลำเลียง การสังหารโหดที่มายไล และเด็กวิ่งหนีระเบิดนาปาล์ม ทำให้หลายคนเชื่อว่าสหรัฐไม่ได้แพ้ในการรบ แต่แพ้ในสงครามสื่อ

หนังไม่ได้เพียงถ่ายทอดภาพดังกล่าว แต่เจาะลึกไปถึง “เบื้องหลัง” เราจึงได้เห็นคลิปของเหตุการณ์และเพ่งมองภาพเหล่านั้นอย่างใกล้ชิดมากกว่า

ซึ่งผลก็คือ เราจะมองสงครามเวียดนามในฐานะที่เป็นมากกว่านรกหรือความน่าสะพรึงกลัว

 

ในปัจจุบัน แม้ผู้ที่ผ่านสงครามนี้จะกลายเป็นประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตยแบบเก๊ๆ หรือคอมมิวนิสต์แบบเพี้ยนๆ แต่สงครามเวียดนามกลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง เมื่อสหรัฐเริ่มกลับมาทำสงครามนอกบ้าน ด้วยความคิดที่ว่าตนเองนั้นเป็นชาติที่พิเศษไม่เหมือนใคร

โดยเฉพาะเมื่อหลายฝ่ายกำลังโจมตีสื่อทั้งที่เป็นสถาบันและสื่อสังคมว่ามีแต่ fake news หรือข่าวที่หลอกลวง เสียงของเบิร์นส์ยังได้รับความเชื่อถือ

“ตอนนี้คนอาจจะไม่เชื่อข้อมูลกันง่ายๆ แต่สำหรับผม ข้อมูลและความจริงมีความสำคัญมากขึ้น และเราใช้เวลากว่าสิบปีเพื่อทำให้มันถูกต้อง” เขาคิดว่าประธานาธิบดีทรัมป์เป็นตัวอย่างของผู้นำสหรัฐในอดีต ไม่ว่าจะเป็นทรูแมน ไอเซนฮาวร์ เคนเนดี้ จอห์นสัน หรือนิกสัน

“แม้อาจจะฟังดูแปลก แต่สงครามเวียดนามเป็นสิ่งที่ให้ความหวังแก่ผม”

เขาถือว่าสงครามนี้เป็นบททดสอบสถาบันต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทหาร ศาลยุติธรรม หรือรัฐสภา

“และเป็นสิ่งที่ให้แรงบันดาลใจและจะช่วยเราได้ในอนาคต”