วงค์ ตาวัน : กรณียกฟ้องธาริต-อิทธิฤทธิ์ 99 ศพ

วงค์ ตาวัน

เมื่อเดือนมีนาคมหรือต้นปีที่ผ่านมา ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วยหนังสือพิมพ์มติชนและข่าวสด ที่ถูกนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยื่นฟ้อง กล่าวหาว่าร่วมกันหมิ่นประมาทในคดี 396 โรงพัก

โดยศาลเห็นว่านายธาริตทำคดีและแถลงข่าวตามอำนาจหน้าที่อยู่บนข้อเท็จจริง และหนังสือพิมพ์ก็นำเสนอไปตามความจริง โดยสุจริต

“มาล่าสุด เมื่อ 25 กันยายนที่ผ่านมา ศาลอาญามีคำพิพากษายกฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ และ ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล ซึ่งเป็นทีมพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ในคดีสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 หรือที่เรียกว่าคดี 99 ศพ”

โจทก์ที่ยื่นฟ้องก็คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต ผอ.ศอฉ. ซึ่งรับผิดชอบการสั่งการสลายม็อบดังกล่าว

โดยโจทก์ทั้งสองกล่าวหาว่า นายธาริตพร้อมพนักงานสอบสวนดีเอสไอทั้ง 4 จำเลย ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ เจตนากลั่นแกล้งให้โจทก์ได้รับโทษทางอาญา เนื่องจากมีการตั้งข้อหาต่อนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ฐานก่อให้ผู้อื่นร่วมกันฆ่าและพยายามฆ่า โดยเจตนาเล็งเห็นผล จากการสั่งสลายม็อบ

ลงเอยศาลเห็นว่านายธาริตและพวกไม่ได้กระทำผิดตามคำฟ้อง ไม่มีเจตนากลั่นแกล้งต่อนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ กรณีการตั้งข้อหาทางอาญา

“จึงให้ยกฟ้อง!”

ยังมีอีกหลายคดีที่นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ มีเรื่องฟ้องร้องนายธาริต อันเนื่องจากในช่วงที่ทั้งสองเป็นผู้นำรัฐบาล และช่วงที่นายธาริตเป็นอธิบดีดีเอสไอ

แต่สำหรับคดีหมิ่นประมาทเรื่อง 396 โรงพัก หลังจากศาลยกฟ้องนายธาริต และมติชน ข่าวสด ด้วยเห็นว่าไม่ได้หมิ่นประมาทนายสุเทพแต่อย่างใด

ผลจากคำพิพากษายกฟ้องดังกล่าว มีเนื้อหาบางส่วนที่ ป.ป.ช.ได้คัดไปประกอบการพิจารณาสำนวนไต่สวนคดี 396 โรงพักที่ยังคาราคาซังอยู่

ก่อนจะสรุปชี้มูลให้ตั้งข้อกล่าวหานายสุเทพและพวก ขณะนี้อยู่ระหว่างการให้การแก้ข้อกล่าวหา

“นั่นคือ ผลของคดี 396 โรงพักอันอื้อฉาว”

ส่วนคดี 99 ศพ ซึ่งล่าสุดศาลยกฟ้องนายธาริตและพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ว่าไม่ได้มีเจตนากลั่นแกล้งในการตั้งข้อหาทางอาญาต่อนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ

กล่าวกันว่า สาระของคำพิพากษาที่ยกฟ้องนายธาริตดังกล่าว มีรายละเอียดการต่อสู้คดีของทั้งสองฝ่ายที่น่าสนใจศึกษา

น่าจะนำมาใช้ประกอบการตรวจสอบคดีที่มีคนถูกฆ่าตาย 99 ศพ ระหว่างการชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ยุบสภาเมื่อปี 2553

เพราะจนป่านนี้ทั้ง 99 ศพยังไม่ได้รับความเป็นธรรม

การค้นหาความจริงของเหตุการณ์นี้ยังไม่กระจ่างชัด เพราะยังไม่ปรากฏเป็นคดีในสารบบของกระบวนการยุติธรรมไทยเลย!

มูลเหตุของคดีที่นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ยื่นฟ้องนายธาริตและทีมดีเอสไอนั้น เนื่องจากมีการสรุปสำนวนการตายของนายพัน คำกอง หนึ่งใน 99 ศพ แล้วแจ้งข้อหาทางอาญาต่ออดีตนายกฯ และอดีต ผอ.ศอฉ. ที่มีอำนาจสั่งการในเหตุการณ์ดังกล่าว

ทั้งนี้ ในการเบิกความบางส่วน ฝ่ายโจทก์ได้ชี้ว่า ทั้งคู่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หากมีการฟ้องร้องกล่าวหา ต้องเป็นอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.ในการไต่สวน หากเห็นว่ามีมูลความผิดจึงส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

แต่นายธาริตกับพวกกลับมาแจ้งข้อหาคดีอาญา ซึ่งเข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เจตนากลั่นแกล้งให้ได้รับโทษทางอาญา

“นอกจากนี้ ฝ่ายโจทก์ยังต่อสู้ด้วยว่า การชุมนุมของ นปช. ไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบ มีผู้ก่อการร้าย ชายชุดดำปะปนอยู่กับผู้ชุมนุม จึงอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ใช้กระสุนจริง ใช้พลซุ่มยิง เพื่อป้องกันตัวจากการโจมตี เพื่อระงับความเสียหายต่อบ้านเมือง”

ฝ่ายนายธาริตและพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ได้เบิกความต่อสู้ว่า การสรุปรวบรวมพยานหลักฐานในเหตุการณ์ 99 ศพ ทำเป็นรูปคณะกรรมการ มีอัยการ ตำรวจเข้าร่วมด้วย

นายธาริตและดีเอสไอ เป็นคณะกรรมการร่วม มิได้ใช้ดุลพินิจตามลำพัง

“แล้วที่มาของสำนวนดังกล่าว มาจากคำสั่งศาล ที่ชี้ผลการไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายพัน คำกอง หนึ่งในผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ว่า ตายด้วยกระสุนจากเจ้าหน้าที่ทหาร ที่ยิงใส่รถตู้”

ดังนั้น จึงมีการรวบรวมสำนวนคดีแล้วนำเสนอต่ออัยการสูงสุดซึ่งเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาสั่งฟ้อง เป็นข้อหาอาญา

ทั้งเห็นว่า โจทก์ทั้งสอง ในฐานะผู้สั่งการกดดันการชุมนุม อนุญาตให้ใช้กระสุนจริง ซึ่งไม่มีบทบัญญัติทางกฎหมายใดอนุญาตให้ใช้กระสุนจริงต่อผู้ชุมนุม การออกคำสั่งของโจทก์ถือว่าเกินเลยจากอำนาจหน้าที่ ย่อมคาดหมายว่าเกิดการสูญเสียได้ ถือเป็นความผิดส่วนบุคคล ไม่ใช่โดยฐานะทางการเมือง

มีการต่อสู้กันหลายประเด็น โดยลงเอยศาลเห็นว่าจำเลยไม่ได้กระทำผิดตามฟ้องร้อง จึงให้ยกฟ้อง

อย่างไรก็ตาม ในสาระสำคัญของคำพิพากษา มีประเด็นการใช้อำนาจของผู้มีอำนาจที่เกินเลย การรักษาความสงบของบ้านเมืองต้องเป็นไปตามข้อกฎหมายด้วย อะไรเหล่านี้

น่าสนใจพิจารณา เพื่อเทียบเคียงกับคดีคนตาย 99 ศพ ซึ่งยังไม่มีการนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมใดๆ เลย

ยังไม่มีการค้นหาความจริงอย่างชัดแจ้งผ่านกระบวนการยุติธรรม ตามพยานหลักฐาน สำหรับเหตุการณ์สลายม็อบเสื้อแดงจนมีผู้ตาย 99 ศพ ซึ่งรัฐบาลอภิสิทธิ์-สุเทพอ้างเหตุมีผู้ก่อการร้ายและชายชุดดำแฝงตัวอยู่กับม็อบ จึงให้เจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติการตามคำสั่ง ศอฉ. สามารถใช้อาวุธสงครามพร้อมกระสุนจริงเพื่อป้องกันตัวได้

โดยไม่ใช้หลักการควบคุมการชุมนุมประท้วงตามหลักสากล นั่นคือ ใช้เฉพาะตำรวจปราบจลาจล กระสุนยาง แก๊สน้ำตาเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ด้วยการอ้างสถานการณ์รุนแรง จึงมีคำสั่งให้ใช้เจ้าหน้าที่ทหารพร้อมกระสุนจริง และลงเอยมีคนถูกกระสุนจริงตายไปถึง 99 ชีวิต แล้วที่ตายทั้งหมดกลับไม่มีผู้ก่อการร้ายหรือชายชุดดำแม้แต่ศพเดียว ตามข้ออ้างที่ให้ใช้กระสุนจริงได้

“นี่จึงกลายเป็นคำถาม และเสียงเรียกร้องให้มีการพิสูจน์ความผิดจริงด้วยกระบวนการยุติธรรม ที่ต้องใช้พยานหลักฐานเป็นเครื่องมือสำคัญ”

ต่อมานายธาริตพร้อมพนักงานสอบสวนดีเอสไอทำหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานร่วมกับทีมงานตำรวจและอัยการ

เมื่อได้รายละเอียดการตายของแต่ละศพชัดเจนพอ จึงทำสำนวนไต่สวน นำขึ้นศาลเพื่อพิจารณา

จนกระทั่งศาลได้ชี้ผลไต่สวนชันสูตรศพจำนวน 17 ราย ว่าตายด้วยปืนที่ยิงจากฝั่งทหาร หรือยิงจากทหาร

“โดยเฉพาะ 6 ศพวัดปทุมวนาราม มีพยานหลักฐานชัดเจน มีการสอบปากคำเจ้าหน้าที่ทหารในสำนวน จนศาลได้ชี้ผล 6 ศพนี้ว่าตายด้วยปืนของเจ้าหน้าที่บนรางรถไฟฟ้าหน้าวัด และอีกชุดที่ประจำอยู่หน้าวัด ยิงจากพื้นราบ!”

ศาลชี้ด้วยว่า เหตุการณ์ 6 ศพวัดปทุมฯ

“ไม่มีชายชุดดำยิงต่อสู้ อาวุธที่มีการค้นพบในวัดภายหลังก็ไม่มีความชัดเจนน่าเชื่อถือ”

จากคำสั่งชี้ผลไต่สวนชันสูตรศพดังกล่าว จึงมีการรวบรวมเป็นสำนวนอาญาและส่งฟ้องศาล โดยสำนวนแรกคือการตายของนายพัน คำกอง เมื่อเข้าสู่ชั้นศาล ปรากฏว่าฝ่ายนายอภิสิทธิ์-สุเทพ ได้ต่อสู้ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง จนศาลมีคำสั่งว่าให้เป็นอำนาจของ ป.ป.ช.ในการไต่สวน คดีแรกจึงตกไปจากศาลอาญา

แต่ไม่ได้หมายความสำนวนการไต่สวนชันสูตรศพจะสูญสลาย หากยังคาอยู่ในระบบยุติธรรมไทย

และเป็นเครื่องยืนยันอย่างเป็นหลักเป็นฐานว่า มีผู้ชุมนุมและประชาชนจำนวนไม่น้อยกว่า 17 ราย ที่ประจักษ์ชัดว่า

ตายด้วยกระสุนจากฝ่ายไหน ภายใต้คำสั่งของใคร!?!