จักรวรรดิในกำแพง : ใต้หล้ารวมกันแล้วแยกกัน “จิ้นตะวันตกมิอาจอยู่ยั้งยืนยง”

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

จิ้นตะวันตกกับการล่มสลาย (ต่อ)

การที่จิ้นฮุ่ยตี้ตรัสเช่นนั้นแสดงให้เห็นว่า พระองค์ไม่เพียงไม่เข้าใจชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์เท่านั้น หากยังแสดงให้เห็นอีกว่า ชีวิตในวังอันแสนสุขหาได้กล่อมเกลาสติปัญญาและความรู้ให้แก่จิ้นฮุ่ยตี้แม้แต่น้อย จนทำให้พระองค์ไม่สามารถแยกได้ว่า ราษฎรที่อดอยากตายเพราะภัยแล้งไม่ได้สัมพันธ์อันใดกับข้าวต้มเนื้อที่กำลังเสวยอยู่แม้แต่น้อย

ตัวอย่างดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงกลไกการได้มาซึ่งจักรพรรดิว่ายังคงมีข้อบกพร่องปรากฏอยู่

สาเหตุต่อมาเกี่ยวเนื่องกับสาเหตุแรก กล่าวคือ เมื่อจิ้นฮุ่ยตี้ทรงไร้ปรีชาชาญแล้วก็ง่ายต่อการเข้ามาแทรกแซงของบุคคลอื่น และบุคคลที่เข้ามาใช้อำนาจแทนจักรพรรดิในคราวนี้มีที่มาจากสองสกุลคือ สกุลเจี่ยกับสกุลหยัง

ข้างสกุลเจี่ยคือ เจี่ยหนันเฟิง (ค.ศ.257-300) มเหสีของจิ้นฮุ่ยตี้ ข้างสกุลหยังคือ ราชชนนีหยังจื่อ (ค.ศ.259-292) อดีตมเหสีอู่เต้าในจักรพรรดิจิ้นอู่ตี้

สาเหตุนี้เริ่มจากฝ่ายราชชนนีหยังมีเชษฐาคือ หยังจวิ้น (มรณะ ค.ศ.291) มหาอำมาตย์ในขณะนั้นเห็นความไร้ปรีชาชาญของจิ้นฮุ่ยตี้ก็คิดจะใช้อำนาจแทน ทั้งสองจึงให้เครือญาติของตนเข้าดำรงตำแหน่งสำคัญ เครือญาติเหล่านี้ล้วนไร้ความรู้ความสามารถทั้งสิ้น

ผลงานที่ปรากฏจึงมีแต่ความล้มเหลวจนเป็นปัญหาทั้งแก่ขุนนางกับราชสำนัก และสร้างความเดือดร้อนแก่ราษฎรอยู่เสมอ

จากเหตุดังกล่าว มเหสีเจี่ยหนันเฟิงจึงทรงวางแผนกำจัดสกุลหยังด้วยการให้ร้ายว่าคิดก่อการกบฏ แล้วแจ้งข่าวไปยังกษัตริย์เหว่ยแห่งรัฐฉู่ (ฉู่หวังเหว่ย) ให้มาปราบกบฏ

 

เมื่อรู้ข่าวแล้วกษัตริย์ฉู่ก็นำทัพบุกมายังเมืองหลวงลว่อหยังใน ค.ศ.291 จากนั้นมเหสีเจี่ยก็บีบบังคับให้จิ้นฮุ่ยตี้ออกราชโองการกำจัดบุคคลในสกุลหยัง ราชโองการนี้ส่งผลให้หยังจวิ้น เครือญาติ และสมัครพรรคพวกนับพันคนถูกประหารชีวิต ส่วนหยังจื่อก็ทรงให้ปลดออกจากตำแหน่งราชชนนี เมื่อยึดอำนาจได้แล้วมเหสีเจี่ยก็ให้เครือญาติและคนสนิทเข้ามามีตำแหน่งสำคัญ

การใช้อำนาจแทนจักรพรรดิของมเหสีเจี่ยเป็นไปยาวนาน 7-8 ปี ระหว่างนี้จิ้นฮุ่ยตี้ทรงตั้งให้โอรสที่เกิดแต่สนมคนโปรดเป็นรัชทายาท มเหสีเจี่ยซึ่งไม่มีโอรสจึงวิตกว่าตนจะสูญเสียซึ่งอำนาจ แต่จะรักษาอำนาจเอาไว้ได้ในเบื้องต้นจะต้องกำจัดกลุ่มอำนาจต่างๆ ให้ได้เสียก่อน

จากเหตุนี้ มเหสีเจี่ยจึงยืมมือกษัตริย์ของบางรัฐมาเป็นหมากการเมืองของพระนาง

จากที่กล่าวมานี้ในเบื้องต้นจะเห็นได้ว่า อำนาจที่มเหสีเจี่ยปรารถนาคงมิอาจมีขึ้นได้หากขาดบุคคลอื่นช่วยเหลือร่วมมือด้วย และบุคคลที่ว่าก็คือบุคคลในสกุลซือหม่าที่ล้วนมีอำนาจอยู่ในมือระดับหนึ่ง โดยต่อไปบุคคลในสกุลนี้จะมีมากกว่าหนึ่งคนที่ร่วมมือกับพระนาง

ครั้นพอร่วมมือกันได้ระยะหนึ่งแล้วก็จะถูกพระนางกำจัดออกไปให้พ้นทาง และด้วยเหตุนี้วิกฤตการณ์จึงเกิดตามมา เพราะแผนที่มเหสีเจี่ยทรงใช้นั้นได้สร้างความไม่พอใจให้แก่กษัตริย์ในสกุลซือหม่ากลุ่มอื่นๆ ไปด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้วิกฤตการณ์จึงเกิดตามมา

 

วิกฤตการณ์แปดกษัตริย์

จากเหตุที่มเหสีเจี่ยปรารถนาในอำนาจจนต้องกำจัดปฏิปักษ์ออกไปนั้น มิได้ทำให้พระนางสมปรารถนามากนัก เพราะเมื่อมาถึงจุดจุดหนึ่งแล้วก็พบว่ายังมีกลุ่มอำนาจอื่นที่เป็นอุปสรรคอยู่อีก เมื่อพบแล้วก็ผลักดันให้มเหสีเจี่ยต้องหาทางกำจัดต่อไป

ผลคือ ยิ่งทำไปสถานการณ์ก็ยิ่งเขม็งเกลียวจนยากจะผ่อนคลาย จนในที่สุดก็ทำให้เกิดวิกฤตในอีกรูปแบบหนึ่งที่อื้อฉาวอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์จีน

วิกฤตนี้รู้จักกันต่อมาว่า วิกฤตการณ์แปดกษัตริย์ อันหมายถึงวิกฤตที่เกิดจากการแย่งชิงอำนาจระหว่างกันของแปดกษัตริย์ที่ประกอบด้วย กษัตริย์เลี่ยงแห่งรัฐหญู่หนัน (หญู่หนันหวังเลี่ยง, มรณะ ค.ศ.291) กษัตริย์เหว่ยแห่งรัฐฉู่ (ฉู่หวังเหว่ย, ค.ศ.271-291) กษัตริย์หลุนแห่งรัฐเจ้า (เจ้าหวังหลุน, มรณะ ค.ศ.301) กษัตริย์จ่ย์งแห่งรัฐฉี (ฉีหวังจ่ย์ง, มรณะ ค.ศ.302) กษัตริย์อิ่งแห่งรัฐเฉิงตู (เฉิงตูหวังอิ่ง, ค.ศ.279-306) กษัตริย์หยงแห่งรัฐเหอเจียน (เหอเจียนหวังหยง, มรณะ ค.ศ.306) กษัตริย์อี้แห่งรัฐฉังซา (ฉังซาหวังอี้, ค.ศ.277-304) และกษัตริย์เย่ว์แห่งรัฐตงไห่ (ตงไห่หวังเย่ว์, มรณะ ค.ศ.311)

กษัตริย์ทั้งแปดนี้ล้วนอยู่ในสกุลซือหม่าทั้งสิ้น

 

ที่มาของวิกฤตเริ่มใน ค.ศ.299 เมื่อมเหสีเจี่ยทรงวางแผนร่วมกับกษัตริย์เหว่ยเพื่อกำจัดกษัตริย์เลี่ยง ด้วยถือเป็นกลุ่มที่ทรงอิทธิพลสูงในขณะนั้น ทั้งสองกล่าวหากษัตริย์เลี่ยงว่าคิดก่อการกบฏแล้วเข้าจับกุมและประหารชีวิต จากนั้นมเหสีเจี่ยก็กล่าวหากษัตริย์เหว่ยว่าปลอมแปลงราชโองการ แล้วทำการจับกุมและประหารชีวิตอีก

พอปีถัดมาใน ค.ศ.300 มเหสีเจี่ยก็ให้ร้ายรัชทายาทว่าจะยึดอำนาจจักรพรรดิแล้วให้ประหารชีวิตได้สำเร็จอีก ถึงตอนนี้กษัตริย์หลุนจึงจับกุมและฆ่ามเหสีเจี่ยโดยอ้างว่าพระนางก่อการกบฏ จากนั้นกษัตริย์หลุนก็ยึดอำนาจจากจิ้นฮุ่ยตี้ใน ค.ศ.301

วิกฤตในราชสำนักจิ้นที่จบลงเช่นนี้ แทนที่จะดับวิกฤตก็กลับสร้างวิกฤตใหม่ขึ้นมาอีกครั้ง เพราะผลสรุปที่ว่านี้ได้สร้างความไม่พอใจให้แก่กษัตริย์ที่ปกครองรัฐอื่นๆ วิกฤตใหม่นี้หนักหน่วงกว่าวิกฤตที่เพิ่งจบไป เพราะมันไม่เพียงทำให้ราชวงศ์จิ้นต้องอ่อนแอลงเท่านั้น หากยังสร้างความเดือดร้อนให้แก่ราษฎรอย่างแสนสาหัสอีกด้วย

วิกฤตเริ่มขึ้นอีกครั้งเมื่อกษัตริย์จ่ย์ง กษัตริย์อิ่ง และกษัตริย์หยงไม่พอใจที่กษัตริย์หลุนตั้งตนเป็นใหญ่ กษัตริย์ทั้งสามจึงพากันยกทัพเข้าตีกษัตริย์หลุน เมื่อไปถึงก็ปรากฏว่า กษัตริย์หลุนถูกทหารรักษาพระองค์ฆ่าตายเสียแล้ว

หลังจากนั้นจิ้นฮุ่ยตี้ก็กลับมาเป็นจักรพรรดิอีกครั้งหนึ่ง เหตุการณ์นี้ทำให้กษัตริย์จ่ย์งมีความดีความชอบมากกว่ากษัตริย์อีกสององค์ คือกษัตริย์จ่ย์งได้รับตำแหน่งมหาอำมาตย์เข้ามาปฏิบัติงานยังเมืองหลวง

ผลเช่นนี้ยังความไม่พอใจให้แก่กษัตริย์หยง พระองค์จึงร่วมกับกษัตริย์อี้ยกทัพเข้าตีกษัตริย์จ่ย์ง โดยกษัตริย์อี้ฆ่ากษัตริย์จ่ย์งได้สำเร็จใน ค.ศ.302 และทำให้อำนาจตกมาเป็นของกษัตริย์อี้

 

บทสรุปเช่นนี้นำความไม่พอใจให้แก่กษัตริย์อิ่งและกษัตริย์หยงอีกครั้ง กษัตริย์ทั้งสองจึงร่วมกันยกทัพเข้าตีกษัตริย์อี้ การศึกเกิดขึ้นหลายครั้งโดยที่กษัตริย์ทั้งสองมิอาจเอาชนะกษัตริย์อี้ได้ จนถึง ค.ศ.304 กษัตริย์เย่ว์จึงฆ่ากษัตริย์อี้ได้สำเร็จ

ส่วนกษัตริย์อิ่งก็ถือโอกาสในช่วงนี้เข้ายึดลว่อหยัง จากนั้นก็บังคับให้จิ้นฮุ่ยตี้ออกจากลว่อหยังไปอยู่เมืองอื่น

เหตุการณ์นี้ทำให้กษัตริย์หยงไม่พอใจและยกทัพเข้ายึดลว่อหยังเอาไว้ได้ ข้างกษัตริย์เย่ว์เมื่อเห็นเช่นนั้นก็ยกทัพเข้าตีกษัตริย์หยงจนแตกพ่ายใน ค.ศ.306 แล้วแสดงความจงรักภักดีด้วยการเชิญจิ้นฮุ่ยตี้ให้กลับมายังลว่อหยัง จากนั้นก็วางแผนฆ่ากษัตริย์หยงและกษัตริย์อิ่งได้สำเร็จ

จากเหตุนี้ กษัตริย์เย่ว์จึงเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายจากแปดพระองค์ที่ทำศึกด้วยกันมาหลายปี อำนาจจึงตกเป็นของกษัตริย์เย่ว์ หลังจากนั้นกษัตริย์เย่ว์ก็วางยาพิษปลงพระชนม์จิ้นฮุ่ยตี้ แล้วตั้งอนุชาของพระองค์ขึ้นเป็นจักรพรรดิจิ้นฮว๋ายตี้ (ครองราชย์ ค.ศ.307-311) ในที่สุด

วิกฤตการณ์แปดกษัตริย์จากที่กล่าวมานี้ ทำให้เห็นถึงความขัดแย้งที่สลับซับซ้อนอยู่ไม่น้อย กล่าวคือ กษัตริย์บางพระองค์บางครั้งก็ร่วมมือกัน บางครั้งก็ขัดแย้งกัน ที่จะหาความไว้วางใจหรือความจริงใจนั้นเป็นเรื่องเพ้อฝัน

และความขัดแย้งทั้งหมดนี้ต่างรวมศูนย์อยู่ที่เรื่องเดียวคือ ต่างก็ปรารถนาในอำนาจนำแต่เพียงผู้เดียว

อย่างไรก็ตาม แม้วิกฤตการณ์แปดกษัตริย์จะยุติไปแล้ว แต่ความสงบก็หาได้เกิดขึ้นไม่ เพราะในระหว่างที่แปดกษัตริย์ต่างทำศึกกันอยู่นั้น ชนชาติที่มิใช่ฮั่นที่เป็นปฏิปักษ์กับจีนได้ทีตั้งตนเป็นอิสระ และต่างพากันสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ตนเอง จากนั้นก็เปิดศึกกับจิ้น

ข้างฝ่ายจิ้นที่แม้วิกฤตจะยุติไปแล้วก็ตาม แต่เวลาห้าปีที่ผ่านมาของวิกฤตก็ทำให้จิ้นอ่อนแอลงอย่างมาก ครั้นมาเผชิญกับศึกที่มาจากชนชาติที่มิใช่ฮั่น จิ้นสมัยแรกหรือจิ้นตะวันตกก็ยากที่จะตั้งอยู่ต่อไปได้