ดวงใจของ “ชาวนา” “รัชกาลที่ 9” พระบิดาแห่งการวิจัย และพัฒนาข้าวไทย

เป็นที่น่ายินดีและปลาบปลื้ม สำหรับชาวนาและพสกนิกรไทย

เมื่อราชกิจจานุเบกษา ได้ตีพิมพ์ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี

ความว่า

“โดยที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการปฏิรูปและพัฒนาแนวทางการผลิตข้าว และการวิจัยและพัฒนาข้าวไทยในห้วงแห่งรัชกาลตามลําดับ ทําให้ข้าวไทยได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การคัดเลือกพันธุ์ การวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ การจัดระบบชลประทานที่เหมาะสม การขนส่งและการพัฒนาระบบการผลิตโดยรวม ประเทศไทยจึงมีความมั่นคงทางด้านอาหาร และส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

รัฐบาลสํานึกในพระมหากรุณาธิคุณและน้อมรําลึกในพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพของสองพระองค์ รวมทั้งเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติทั้งสองพระองค์ในโอกาสครบรอบ 100 ปี งานวิจัยข้าวไทย ในปี 2559

คณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงได้ลงมติเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2559 เห็นชอบ

1. ให้เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็น “พระบิดาแห่งการปฏิรูปข้าวไทย”

2. ให้เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เป็น “พระบิดาแห่งการวิจัยและพัฒนาข้าวไทย””

 

เว็บไซต์ กองพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (http://brpd.ricethailand.go.th/index.php/standard-rice/80-king-words) ได้รวบรวมกระแสพระราชดำรัส เกี่ยวกับข้าว และชาวนา เอาไว้อย่างน่าสนใจ

จึงไม่ใช่สิ่งที่เหนือความคาดหมาย กับการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ให้เป็น “พระบิดาแห่งการวิจัยและพัฒนาข้าวไทย”

อาทิ

กระแสพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (2536) :

“…ข้าวต้องปลูก เพราะอีก 20 ปี ประชากรอาจจะ 80 ล้านคน ข้าวจะไม่พอ ถ้าลดการปลูกข้าวไปเรื่อยๆ ข้าวจะไม่พอ เราจะต้องซื้อข้าวจากต่างประเทศ เรื่องอะไร ประชาชนคนไทยไม่ยอม คนไทยนี้ต้องมีข้าว แม้ข้าวที่ปลูกในเมืองไทยจะสู้ข้าวที่ปลูกในต่างประเทศไม่ได้ เราก็ต้องปลูก…”

กระแสพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (2541) :

“…ข้าวที่ออกเป็นสีลักษณะนี้เป็นข้าวที่มีประโยชน์ อย่างข้าวกล้องคนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยกินกันเพราะเห็นว่าเป็นข้าวของคนจน ข้าวกล้องมีประโยชน์ทำให้ร่างกายแข็งแรง ข้าวขาวเม็ดสวยแต่เขาเอาของดีออกไปหมดแล้ว มีคนบอกว่าคนจนกินข้าวกล้อง เรากินข้าวกล้องทุกวัน เรานี่ก็คนจน”

กระแสพระราชดำรัส พระราชทานแก่ผู้นำกลุ่มชาวนา เมื่อ พฤษภาคม 2504 :

“ข้าพเจ้ามีโอกาสได้ศึกษาการทดลองและทำนามาบ้าง และทราบดีว่าการทำนานั้นมีความยากลำบากอยู่มิใช่น้อย จำเป็นจะต้องอาศัยพันธุ์ข้าวที่ดี และต้องใช้วิชาการต่างๆ ด้วยจึงจะได้ผลเป็นล่ำเป็นสัน อีกประการหนึ่ง ที่นานั้น เมื่อสิ้นฤดูทำนาแล้วควรปลูกพืชอื่นๆ บ้างเพราะจะเพิ่มรายได้ให้อีกไม่ใช่น้อย ทั้งจะช่วยให้ดินร่วน ช่วยเพิ่มปุ๋ยกากพืช ทำให้ลักษณะเนื้อดินดีขึ้น

เหมาะสำหรับจะทำนาในฤดูต่อไป”

 

พระราชดำรัส ในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินไปทรงดนตรี ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันเสาร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ.2514

จากหนังสือ : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการพัฒนาข้าวไทย : หน้า 6-7

“เวลานึกถึงทำไมมีข้าวมาก ราคาข้าวก็ตก ก็น่าจะเป็นการดีที่มีข้าวมาก พวกเราที่บริโภคข้าวก็จะได้ซื้อข้าวในราคาถูก

แต่หารู้ไม่ว่าข้าวที่บริโภคทุกวันนี้ ราคาก็ยังแพงเป็นที่เดือดร้อนแก่ประชาชนทั่วไป ก็ต้องหาเหตุผล ทำไมแพง ข้าวที่บริโภคแพง และข้าวที่ชาวนาขายถูก…

เข้าไปหากลุ่มชาวนา ถามเขาว่าเป็นอย่างไร เขาบอกว่าแย่ ข้าวราคาถูก

ก็ถามเขาว่า ยุ้งฉางมีหรือเปล่าที่จะเก็บข้าว

เขาบอกว่ามี ก็เลยเห็นว่าควรที่จะเก็บข้าวเอาไว้ก่อน หลังจากที่ข้าวล้นตลาด

แต่ว่าไม่ทันนึกดูว่า ทำไมเขาเก็บข้าวไม่ได้ แม้จะมียุ้งฉาง ก็เพราะเขาติดหนี้ เหตุที่ติดหนี้ก็คือ เสื้อผ้าเหล่านั้นหรือกะปิ น้ำปลา หรือแม้กระทั่งข้าวสารก็ต้องบริโภค ถ้าไม่ได้ไปซื้อที่ตลาด หรือร่วมกันซื้อ ก็คงเป็นพ่อค้า หรือผู้ที่ซื้อข้าวเป็นผู้นำมา อันนี้ก็เป็นจุดที่ทำให้ข้าวถูก … ข้าวเปลือกถูก แล้วก็ทำให้ข้าวสารแพง คือว่าชาวนาทำนาไปตลอดปี ก็ต้องบริโภค เมื่อต้องบริโภคก็ต้องเอาสิ่งของ ต้องไปติดหนี้เขามาสำหรับหาสิ่งของบริโภค แล้วก็เอาเครื่องบริโภคก็ได้รับบริการอย่างดีที่สุดจากผู้ที่มาซื้อข้าว บอกว่าไม่ต้องเอาข้าวมาเดี๋ยวนี้ เวลาได้ผลแล้วก็จะเอา แต่ว่าเอาสิ่งของมาให้แล้วก็เชื่อ ของนั้นก็มีราคาแพง เพราะว่านำมาถึงที่ ข้าวที่เวลาได้แล้วจะขายก็ต้องขายในราคาถูก เพราะว่าเขามารับถึงที่

อันนี้เป็นปัญหาสำคัญ ถ้าจะแก้ปัญหานี้ ก็จะต้องแก้จุดนี้ ต้องแก้ด้วยการรวมกลุ่มเป็นกลุ่มผู้บริโภคเหมือนกัน แล้วก็ไปติดต่อกับกลุ่มผู้ผลิต โดยที่ไปตกลงกันและอาจจะต้องตั้ง หรือไปตกลงกับโรงสีให้แน่ จะได้ไม่ต้องผ่านหลายมือ

ถ้าทุกคนที่บริโภคข้าวตั้งตัวเป็นกลุ่ม แล้วก็ไปซื้อข้าวเปลือก แล้วไปพยายามสีเองหรือให้ผู้แทนของตัวสี ก็ผ่านมือเพียงผู้ที่ผลิต ผู้ที่สี และผู้ที่บริโภค ก็ตัดปัญหาอันนี้ (คนกลาง) ลงไป”

 

พระราชทานแนวทางดำเนินงานธนาคารข้าวแก่ราษฎรชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ.2519

จากหนังสือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการพัฒนาข้าวไทย : หน้า 8

“ธนาคารข้าว… ให้มีคณะกรรมการควบคุม ที่คัดเลือกจากราษฎรในหมู่บ้าน เป็นผู้เก็บรักษา พิจารณาจำนวนข้าวที่จะให้ยืมและรับข้าวคืน ตลอดจนจัดทำบัญชีทำการของธนาคารข้าว ราษฎรที่ต้องการข้าวไปใช้บริโภคยามจำเป็นให้คงบัญชียืมข้าวไปใช้จำนวนหนึ่ง เมื่อสามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้แล้วก็นำมาคืนธนาคาร พร้อมด้วยดอกเบี้ย (ข้าว) จำนวนเล็กน้อยตามแต่ตกลงกัน ซึ่งข้าวซึ่งเป็นดอกเบี้ยดังกล่าวก็จะเก็บรวบรวมไว้ในธนาคาร และถือเป็นสมบัติของส่วนรวม…ราษฎรต้องร่วมมือกันสร้างยุ้งที่แข็งแรง ทั้งนี้ หากปฏิบัติตามหลักการที่วางไว้ จำนวนข้าวที่หมุนเวียนในธนาคารจะไม่มีวันหมด แต่จะค่อยๆ เพิ่มจำนวนขึ้น และจะมีข้าวสำหรับบริโภคตลอดไปจนถึงลูกหลาน ในที่สุดธนาคารข้าวจะเป็นแหล่งที่รักษาผลประโยชน์ของราษฎรในหมู่บ้าน และเป็นแหล่งอาหารสำรองของหมู่บ้านด้วย”

แม้พระราชดำรัส และแนวพระราชดำริ เกี่ยวกับชาวนาและข้าว จะมีมานานแล้ว

แต่ก็ยังทันสมัย และสามารถปรับใช้ได้แม้กระทั่งวันนี้