“มัลลิกา” ผ่าโซเชียล!(นักการเมือง)คุมได้จริงหรือ ? พร้อมคุยเรื่องร้อนๆใน ปชป. ขออย่าเหมาว่าเราคือพวกเดียวกับทหาร!

จากกรณีที่มีการควบคุมการใช้โซเชียลมีเดียในการหาเสียงเลือกตั้งในมุมมองของมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข รองโฆษกสาวพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ซึ่งเจนจัดในการใช้โซเชียลมีเดียในแวดวงการเมือง มองอย่างไร

นี่คือทัศนะของเธอ

ดิฉันมองว่า กกต. คสช.ก็ไม่ได้ใช้โซเชียลมีเดียเต็มที่ หรือรู้เท่าทันมันจริงๆ และเราก็ไม่รู้ด้วยว่าจะมีเจ้าหน้าที่รู้เท่าทันโซเชียลหรือไม่ โลกมันไปไกลเกินกว่าที่จะกลับมาสู่สิ่งที่ล้าหลังไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด ปัจจุบันคนไทยมีบัญชีในโซเชียลมีเดียมากกว่า 47 ล้านบัญชี มันแปลว่ามีจำนวนมากกว่าผู้มีสิทธิ์ลงคะแนน

ฉะนั้น ในการเลือกตั้งครั้งหน้า คุณจะหนีการสื่อสารช่องทางนี้ไม่พ้น จะคุมได้แค่ไหนขึ้นอยู่กับว่า กกต.รู้เท่าทันขนาดไหน พร้อมมองว่าพรรคการเมืองต่างๆ ที่ใช้โซเชียลมีเดียอยู่ในขณะนี้ ก็ไม่มีใครน้อยไปกว่าใคร ประชาธิปัตย์-เพื่อไทย-อนาคตใหม่ก็ไม่เบา

ส่วนตัวอยากให้โฟกัสกับข้อมูลที่แชร์ออกไปมันถูกต้องหรือไม่ มีการให้ร้ายหรือไม่ ผิดกฎหมายหรือไม่ บิดเบือนหรือไม่ อย่างพรรคประชาธิปัตย์ใช้อย่างมีมาตรฐาน ไม่ผิดกฎหมาย เราศึกษาข้อมูลพวกนี้พอสมควรก่อนจะโพสต์จะแชร์เราก็ศึกษาข้อเท็จจริงตรวจสอบ เราไม่อยากเอ่ยว่าพรรคอะไรนะ แต่ว่าพอตัวเองทำผิดคำสั่ง คสช. ก็ไปโทษเขา ทำผิดเข้าข่ายกฎหมายหมิ่นประมาทก็ไปโทษเขา ทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ก็โทษคนอื่นทั้งที่ตัวเองบิดเบือน

การสื่อสารบนโซเชียลมีเดียก็ไม่ได้ต่างกับการสื่อสารระหว่างตัวบุคคล เจอหน้ากันหากมีใครสักคนมาด่าพ่อกันบนโซเชียลมีเดีย ก็ไม่ต่างจากด่าซึ่งหน้า คุณแค่เปลี่ยนเครื่องมือในการสื่อสาร แต่คุณยังกระทำผิด จึงจำเป็นต้องศึกษาให้รอบคอบ ไม่ว่าจะเป็นใครไม่ควรใช้โดยอ้างว่าไม่รู้

ที่สำคัญ ผู้คนในสมัยนี้ชอบคิดกันเองว่า ต้องนำข้อมูลแรงๆ มาแชร์ ผิดก็ได้ ถูกก็ได้ เป็นความคิดที่ผิดตั้งแต่แรก เพราะถ้าคุณใช้โดยบิดเบือนข้อเท็จจริง อย่างกรณีมีคนอยากจะด่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แล้วไปโพสต์ข้อมูลเท็จ เรื่องของการไล่ให้ไปเติมน้ำเปล่าแทนน้ำมัน (แพง) นี่เข้าข่ายบิดเบือนข้อมูลชัดเจนก็ต้องถูกดำเนินคดี

เวลาที่พรรคหรือส่วนตัวจะแชร์เราจะใช้วิจารณญาณ ไม่แห่ไปแชร์ตามเพียงเพราะว่าคนแชร์กันเยอะหรือแค่เพียงถูกจริตเรา

เราต้องดูถึง Banner ต้นทาง ดูคลิปและแหล่งที่มามาจากไหน เว็บไซต์ถูกต้องหรือไม่อย่างละเอียด เป็นสำนักข่าวที่น่าเชื่อถือหรือเปล่า เพจข่าวสด เพจมติชนของจริงหรือไม่

บางที บาง Content ที่มีคนแชร์ 5,000 กว่าแชร์ ถูกแชร์อย่างกระหน่ำแต่ไม่มีใครเข้าไปตรวจสอบที่มาว่าจริงๆ แล้วเป็นเพจเปิดใหม่ มีคนติดตามเพียงแค่หลักสิบ ไม่มีสกุลรุนชาติ ไม่มีที่มาที่ไป ไม่มีสำนักงานรองรับ เขาจะอัพโหลดข้อมูลจากที่ไหนของโลกก็ได้ ซึ่งแบบนี้ถามว่าใครผิด? เราผิดแน่นอน! พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ก็เขียนไว้ชัดเจน การแชร์มันไม่ใช่การแสดงความคิดเห็น แต่เป็นการโพสต์ที่คุณนำเสนอ แสดงออก

ซึ่งการเลือกตั้งรอบนี้จะเป็นรอบที่ดุเดือดเข้มข้นมากกว่าเดิม แล้วจะเต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสาร มีทั้งข้อเท็จจริงและขยะ จะเป็นการเลือกตั้งที่จะมีคนฉาบฉวย บิดเบือนข้อมูลเยอะ จนทหารแก่หรือ กกต. ก็จะไม่มีทางตามทัน

มันจะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกที่การสื่อสารครบสมบูรณ์มากกว่าครั้งไหน ครั้งที่แล้วยังไม่ค่อยเท่าไหร่

ฉะนั้น ใครที่ตั้งพรรคการเมืองมาแล้วไม่ขยับไปไหนเลย นอนหลับเล่นโซเชียลไม่เคยเดินออกหาประชาชน หรือไปพยายามโพสต์ในสิ่งที่ตัวเองทำไม่ได้ (แล้วดันเข้าสภาได้ด้วย) รอบนี้ก็จะมีคนแบบนี้เข้าสภาได้อีก ต้องดูว่าจะมีพรรคการเมืองใดทำตัวเซเลบดังๆ คิดว่าจะพูดอะไรก็ได้ไม่ต้องรับผิดชอบ จะมีคนแบบนี้เยอะเพื่อจะอาศัยคะแนน

ประชาชนและสังคมเองต้องรู้เท่าทัน จึงอยากให้ กกต.เท่าทันจุดนี้และเข้าใจเทคโนโลยี ตัวอย่างที่ประชาธิปัตย์เราทำคือ เราไม่เคยเว่อร์วัง สมมุติเราจะเป็นรัฐบาล เราจะต้องพูดในสิ่งที่เราสามารถทำได้และกฎหมายให้ทำ พูดแล้วต้องทำได้บนพื้นฐานข้อมูลที่มี งบประมาณที่มีถ้าคิดว่าพูดอะไรก็ได้เข้าสภาจะไปโหวตอะไรก็ได้มันไม่ใช่ อย่าให้มีการโฆษณาเกินจริง

ยกตัวอย่างง่ายๆ กฎหมายปกติ เช่น อย.ควบคุมโฆษณาขายครีมทาหน้าขาว ว่าใช้แล้วดีอย่างนั้นอย่างนี้ ฉันใดฉันนั้น โฆษณาหาเสียงเกินจริงทำไมจะมีกฎหมายมาควบคุมไม่ได้ มิเช่นนั้นประชาชนก็หลงเชื่อเหมือนครีมทาหน้าขาว ปรากฏว่าซื้อแล้วทาหน้าพังก็ไม่มีใครต้องรับผิดชอบหรือ?

มันก็เหมือนกัน นักการเมืองที่โฆษณาเกินจริงโดยไม่ผ่านการกลั่นกรองก็มี

ประสบการณ์ใช้โซเชียลมีเดียของมัลลิกา ปัจจุบันจะมีแอดมินในการสกัดกั้นบล๊อก ผู้คนที่มาแสดงความคิดเห็นหมิ่นเหม่ ต้องบอกว่ามีคนจำนวนมากไม่รู้เลยว่าตัวเองกำลังคอมเมนต์แบบผิดกฎหมาย เช่น ใช้คำว่า “อี…นั่น อี…นี่” เราก็พยายามให้การศึกษาเขาไปในตัว เพราะว่าข้อความแบบนี้มันผิดกฎหมาย ถ้าคุณไม่ลบหรือไม่ขออภัยเราอาจจะต้องส่งให้แอดมินปรึกษาทางทนายความ เพื่อเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายต่อไปเพราะว่ามันผิด คุณจะได้ไม่ไปทำที่อื่นอีก ถ้าคนอ่านร้อยก็มีความรู้ร้อย หรือบางความคิดเห็นเราก็ปล่อยๆ ไปบ้าง

แต่เวลาเราเจอคอมเมนต์แรงๆ ทำให้คนอื่นเข้าใจผิด ยังไงก็ต้องอธิบายให้เขาฟัง

เว้นแต่พวกเจตนาที่จะเกรียนไม่ต้องเสียเวลาอธิบายก็บล๊อกเลย หรือถ้ามีเพจอื่นที่มีคนเขาไปด่าเรา เราก็จะให้แอดมินประสานแอดมินเพจนั้นๆ

สำหรับการดำเนินคดี บางทีเราก็มองว่าดี เพราะได้เรียกคนเข้ามาเจรจาพูดคุยกัน ทำให้สังคมดีขึ้น คนจะได้รู้ว่าอะไรทำได้อะไรทำไม่ได้ ผิดถูกขอโทษขออภัยกันไป

ถ้าปล่อยไว้จะกลายเป็นสังคมขยะ สังคมที่ไม่มีใครเชื่ออะไรอีกแล้ว

เมื่อชวนสนทนาอุณหภูมิร้อนใน ปชป.-ต่อปมเลือกหัวหน้าพรรค

มัลลิกากล่าวว่า พรรคเราจะเป็นพรรคตัวอย่าง เราเป็นพรรคการเมืองที่เก่าแก่ เป็นสถาบันการเมืองเดียวต้องการเป็นเยี่ยงอย่างของสังคม เราต้องเป็นเสรีประชาธิปไตยภายใต้กฎหมาย พรรคของเราไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่มีเจ้าพ่อเจ้าแม่ ไม่มีนายทุนที่จะมาครอบงำ คำว่าเสรีประชาธิปไตยมันต้องเริ่มต้นตรงจุดนี้

เราเรียกร้องเสมอว่าเรามีสมาชิกแล้วให้สมาชิกเป็นเจ้าของ เขาย่อมมีสิทธิ์ที่จะได้เลือกหัวหน้า นี่คือความคิดของคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ไม่มีใครเหมือน แล้วมันไม่ใช่เรื่องที่น่าตกใจอะไร การเปิดให้มีการแข่งขันโดยการแก้ไขข้อบังคับพรรค นี่คือเวทีประชาธิปไตย เราคิดว่าพรรคเราทำได้ดีในการเป็นตัวอย่างจุดนี้และเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม

ส่วนถ้าเปลี่ยนหัวหน้าพรรค และทิศทางของพรรคจะเปลี่ยนหรือไม่ มัลลิกามองว่าไม่ เพราะว่าพรรคไม่มีใครเป็นเจ้าของ เรามีความเสรีภายใต้กติกา เราต้องรอให้สมาชิกได้มีการแสดงความคิดเห็น การเลือกหัวหน้าหรือเลือกคณะกรรมการใหม่หากมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เราจะต้องมีคณะทำงานอย่างเป็นระบบ และมันก็เป็นไปตามพลวัต

ส่วนจุดยืนที่ผ่านมา ประชาธิปัตย์พูดชัดแล้วว่าให้ขึ้นอยู่กับประชาชนที่ผ่านมาเราก็ไม่รับรัฐธรรมนูญ คนก็ชอบลืม ในที่สุดเราก็เห็นแล้วว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหาหลายเรื่อง การที่จะมาบอกว่าประชาธิปัตย์เป็นพวกเดียวกับทหารเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรมกับเราและไม่เป็นธรรมกับทหารด้วย เราไม่รับรัฐธรรมนูญแล้วยังจะแยกพวกให้เราอีก

ประการต่อมา พรรคประชาธิปัตย์ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลทหารโดยไม่เกรงกลัวใคร เราตรวจสอบรัฐบาลยิ่งกว่ารัฐบาลใดๆ ด้วยซ้ำ แต่ก็ยังมีความพยายามจับพวกให้เรา