อภิญญา ตะวันออก : คำสารภาพจากนักโทษ “คุกไร้ฝา” ตอนที่ 2

เสียงจากนักเขียนคนหนึ่ง

ผมชื่อฆุน สรุน เกิด พ.ศ.2488 หมู่บ้านรอแวง อำเภอสำโรง จังหวัดตาแก้ว บิดา-นายฆุน คิม เฉิง มารดา-นางจี อิง อาชีพค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ในหมู่บ้าน การศึกษาเบื้องต้นโรงเรียนวัดปราสาทเนียงเขมาในปี พ.ศ.2496 ปีเดียวที่คุณพ่อเสียชีวิต นับจากนั้นมาผมก็ทุ่มเทให้กับการศึกษา และประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง

พ.ศ.2502 : ประกาศนียบัตรรับรองการศึกษา ลำดับที่ 6 ของจังหวัดตาแก้ว

พ.ศ. 2506 : ประกาศนียบัตรมัธยมปลาย และสถาบันแข่งขันด้านการสอนของฝรั่งเศส (BEPC)

พ.ศ.2507 : อนุปริญญาบัตรวิชาชีพครู สาขาคณิตศาสตร์ (ยอดเยี่ยม)

พ.ศ.2508 : ปริญญาตรีครุศาสตรบัณฑิต สาขาคณิตศาสตร์ (ยอดเยี่ยม)

พ.ศ.2509 : ประกาศนียบัตรวิชาชีพครูมัธยมศึกษา (อันดับที่ 1) เกียรติบัตรสาขาวรรณกรรมทั่วไป (ยอดเยี่ยม) และจากสถาบันการศึกษาสูงสุด (อันดับที่ 2)

พ.ศ.2512 : เกียรติบัตรทักษะทางอักษรศาสตร์

พ.ศ.2514 : ถูกคุมขังที่เรือนจำสถานีตำรวจภูธร (1 กุมภาพันธ์ – 6 กันยายน) รวมเวลา 7 เดือน 5 วัน

พ.ศ.2515 : ประกาศนียบัตรสาขาจิตวิทยาชั้นสูง (ยอดเยี่ยม)

 

ครับ ผมเป็นนักเรียนดีเด่นเท่าที่จำได้ ผลการเรียนสูงสุดลำดับที่ 2 ของชั้นปีที่ 5 จากนั้น ต่อมาในชั้นปีที่ 4 และปีที่ 3 ผมสอบได้คะแนนเป็นลำดับที่ 1 กระทั่งสำเร็จการศึกษาครูวิชาชีพ (1)

เหตุนี้ ผมจึงได้เป็นสมาชิกคณะกรรมการการศึกษา หลังผ่านการสอนที่โรงเรียนมัธยมตวลสวายไพร โรงเรียนตวลกก และโรงเรียนองไพร (เป็นเวลาสี่เดือน) ในเดือนมกราคม พ.ศ.2513 นั่นเอง ผมได้รับคำสั่งให้เดินทางไปกรุงพนมเปญโดยกระทรวงศึกษาแห่งชาติออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด โดยบรรจุให้ผมเป็นครูสายสามัญวิชาคณิตศาสตร์ระดับประถมศึกษาปีที่ 4 และปีที่ 3 นับเป็นกรณีพิเศษ ในความอนุเคราะห์ที่ได้รับจากท่านฌุก เมง เมา

ทั้งหมดนี้ ผมขอขอบคุณผู้ให้ความช่วยเหลือต่องานที่ยุ่งยากของผม ทั้งนายเขียว โกมา และนายอุย วันทน โดยเฉพาะความสำเร็จด้านการสอน แต่ล้มเหลวด้านชีวิตส่วนตัว

ครับ ชีวิตผมพังทลาย ไม่เหลือความหมายให้อธิบายไปกว่านี้

ขอให้ท่านผู้อ่านสังเกตดูเถิดว่า หลังจากปี ค.ศ.1971, 1972 ก็เข้าสู่ปี 1973

นั่นละ 7-3, 7+3 = 10 เลขนำโชคชีวิตผม!

ไม่เท่านั้น ยังมี 1-1-8 เลขประจำตัวในทะเบียนประวัติที่กระทรวงศึกษาธิการแห่งชาติ (2)

จะกล่าวว่าปีนี้? ไม่อยากจะหวังว่า ผมคงอยู่รอดภายใต้คุ้มครองที่ดี

ก็ชีวิตผมพังไม่เป็นท่า ทั้งๆ ที่ไม่เคยคิดร้ายทำลายใคร สารภาพ ผมต่างหากที่เป็นฝ่ายถูกกระทำ

ผมจึงเชื่อมั่นว่า คุณแม่ ครูบาอาจารย์ พี่น้องและผองเพื่อนทั้งหลายจะไม่ตำหนิผมในเรื่องนี้ พวกท่านทราบดีว่าผมปรารถนาดีต่อบ้านเมืองนี้ไม่ต่างจากคนทั่วไป แต่ผมกลับถูกกล่าวหา และตกเป็นจำเลยสังคม

มันทำให้ผมถูกกีดกันออกจากผู้คนและกัลยาณมิตร ผมจึงต้องปกป้องตัวเอง โดยขอให้ผู้ทรงคุณวุฒิบางท่านช่วยเหลือเป็นพยาน เพื่อช่วยค้ำประกันศักดิ์ศรี เจตจำนงอันดีงามที่ผมพอจะมีอยู่ ทั้งนี้ ผู้ที่สนับสนุน ให้คำแนะนำ และการแสดงออกถึงความปรารถนาดีอย่างเสมอมา ผู้ที่เต็มไปด้วยความคิดและถ้อยคำอันกระตุ้นเร้า ให้เราเกิดความมุ่งมั่นและแรงบันดาลใจขณะลงมือเขียนหนังสือ ซึ่งก็คือท่านฌุก เมง เมา

ผู้กล่าวว่า

“ผมรู้สึกชมชอบต่อความจริงจังดังที่ฆุน สรุน แสดงออกต่องานที่เขารับผิดชอบ แม้จะเป็นคนหนุ่ม แต่ก็มีความแตกฉานอย่างสากล ทั้งแง่มุมวรรณกรรมและปัญญาชนที่ปรากฏอยู่ในงานเขียน ตลอดจนความกล้าในการปกป้องสิทธิในการแสดงความเห็นของตนในทุกรูปแบบ

“ส่วนใหญ่งานเขียนที่มีสัมพันธภาพทางข้อเท็จเหล่านี้ ล้วนมาจากประสบการณ์ของเขา ในความเป็นผู้รู้สึกอ่อนไหวต่อทุกสิ่งที่เขาสัมผัส สภาวะอันโชคร้ายของมนุษย์ และเพื่อนร่วมโลกที่เขาห่วงใย ความรู้สึกต่อสังคมที่สูงมากแบบนั้นเองคืออุปนิสัย

“เขามักเปิดกว้างและเผยความคิดอันกว้างไกลกับผมอย่างบ่อยครั้ง แต่ในยามยุ่งยากและประสบพบภัย เขาก็สามารถที่จะรับมือกับมันด้วยตัวเอง มากกว่าจะอาศัยให้ผมช่วยเหลือ

“ต่อการแลกเปลี่ยนทางความคิดเห็นของเรานั้น ส่วนใหญ่เกี่ยวกับอนาคตความเป็นไปในสังคม การปรับปรุงองค์กรการศึกษาแห่งชาติของเรา ตลอดจนอนาคตของโลก ทั้งหมดนี้ คือจิตใจที่มุ่งมั่นที่พร้อมจะรับใช้มวลชน ด้วยความกระตือรือร้นของเขาเอง”

ลงชื่อ : ฌุก เมง เมา : กรรมาธิการอำนวยการใหญ่ในแผนกเยาวชน

พนมเปญ, 22 กุมภาพันธ์ 2515

 

ในฐานะนักประพันธ์ ผมมีความรู้สึกละเอียดอ่อนต่อเรื่องลิขสิทธิ์

โดยเมื่อกล่าวคำว่าลิขสิทธิ์นั้น ผมคิดว่า น้อยกว่าร้อยละ 10 หรือร้อยละ 20 ที่นักเขียนและผู้รับผลประโยชน์ควรได้รับ แต่มากกว่า “สิทธิ” ทั้งหมดดังกล่าวคือ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ที่ได้รับการรับรองแล้วตามรัฐธรรมนูญและกฎบัตรประชาชาติ

ต่อความเห็นที่ไร้ประโยชน์นี้ มาจากผมผู้พบว่า มีเนื้อหาบางส่วนถูกดัดแปลงบิดเบือน ถ้านี่คือการลงทัณฑ์ ท่านผู้อ่านที่รักยิ่ง ท่านคงทราบดีว่า ผมพร้อมที่จะสร้างสรรค์ผลงานออกมา จนกว่าความจริงจะปรากฏ

เป็นตรรกะความคิดที่แข็งกล้า แต่ทว่า ไม่สามานย์

เพราะนี่ไม่ใช่กระสุนปืน อาวุธ หรือเครื่องมือทำลายล้าง

แต่เป็นศิลปะ-วรรณกรรมที่ผมหลงรัก

และผมเชื่อว่า การโจมตีศิลปะเพื่อชีวิตและวรรณกรรมเพื่อประชาชน เป็นการโจมตีต่อจิตวิญญาณของตัวเขาเอง

โดยทั้งหมดนี้ ผมหาได้มองโลกในแง่ดีแบบเดียวกับที่ Soljenitsyne ประกาศไว้ใน “ร่ำไห้” งานเขียนระดับรางวัลโนเบลเล่มนั้น โดยว่า :

“หากต้นกล้าต้นแห่งความจริง, ความดี และความงาม ที่มาบรรจบกัน แต่หากอหังการ์และแข็งกร้าวมากเกินแล้ว ความจริง, ความดีก็คงถูกตัดทอน บดขยี้ จนบางทีความมหัศจรรย์ที่ไม่อาจคาดหมายแห่งต้นกล้า “ความงาม” จะพังทลาย ในทางที่จะบรรลุเป้าหมายต่อองค์กรต้นกล้าทั้งสาม”(3)

อา..แล้วศิลปะล่ะ ศิลปะจะมีอำนาจอันสูงค่าจริงหรือไม่?

ผมจึงได้แต่หวัง (กุมมือตัวเอง แล้วอธิษฐานแต่ลำพัง) ว่า ยังมีความคิดแบบนั้นในกวีนิพนธ์ของกุย สารุน ที่ชื่อ “นี่แหละมนุษย์” ที่ทำให้เราตระหนักว่า อา..นอกจากเกียรติยศ ความร่ำรวยประดามีที่ประชันขันแข่งกันอยู่นี้ อาจจะยังพอมีที่ว่างสำหรับให้ความสำคัญต่อจิตวิญญาณอยู่บ้าง

นั่นคือ ท่ามกลางเสียงอึกทึกโครมครามที่ไม่มีใครรับฟังจากกวี (หรือนักเขียนตัวเล็กๆ) ที่แสนจะหวิวและเบาโหวงไม่ต่างจาก “เปา” (น้อย) ที่เก่ง วรรณศักดิ์ให้คำนิยาม

ต่อเสียงแห่งวิทยาการ และปัจเจกวิทยา

เสียงแห่งปรัชญา และกวีนิพนธ์?

ฤๅเสียงแผ่วเบานี้ จะยังคงอยู่ ไม่มีวันตาย

“คุกไร้ฝา”

“คุกไร้ฝา” วลีอันขันขื่นต่อความเป็นพลเมืองสมัยเขมรแดงและระบอบ “บองทม” องค์กรตำรวจลับที่ถูกจัดตั้งมาตั้งแต่สมัยสีหนุและต่อมายุคสาธารณรัฐเขมร (ลอน นอล) ที่คุกคามปัญญาชนฝ่ายซ้าย ฆุน สรุน เป็นส่วนหนึ่ง

(1) ระบบศึกษาเก่าสมัยฝรั่งเศส ถูกยกเลิกบางส่วนหลังปี พ.ศ.2540 ระบบนี้จะนับลำดับชั้นจากบนลงล่างในทุกระดับการศึกษา ดังที่ฆุน สรุน อธิบายว่าเขาศึกษาในปีที่ 5 (หมายถึงปีแรก) และต่อมาในปีที่ 4 และปีที่ 3 ตามลำดับจนปีสุดท้าย คือปีที่ 1 (หมายถึงปีที่สำเร็จการศึกษา)

(2) ทักษะทางคณิตและอักษรศาสตร์ดูจะเป็นสิ่งที่ฆุน สรุน นำมาเล่นแร่แปรธาตุในงานเขียนของตน ในที่นี้ เขาตั้งค่าให้เลข 10 คือสัญลักษณ์แห่งความโชคร้ายและการถูกกระทำจากการถูกจับกุม และในปี 1973 เมื่อสอบได้ทุนศึกษาต่อระดับปริญญาโทสาขาวรรณกรรมในฝรั่งเศส แต่ถูกคำสั่งห้ามเดินทางออกนอกประเทศ ดูเหมือนรัฐบาลลอน นอล ขณะนั้นที่เริ่มกวาดล้างปัญญาชนฝ่ายซ้าย

ฆุน สรุน ติดร่างแหจากแนวคิดแบบสัจจะสังคมนิยมที่เขารับอิทธิพลมาจากนักเขียนตะวันตก

(3) Alexandre Soljenitsyne นักเขียนวรรณกรรมโนเบล 1970;

ต่อ “องค์กรต้นกล้าทั้งสาม” ในความหมายที่นี้ ผู้เขียนตีความว่า ฆุน สรุน อาจจะหมายถึงเขมร 3 กลุ่มที่มีความสำคัญต่อบ้านเมืองขณะนั้น คือเขมรแดง (DeKhmer), สีหนุ และสาธารณรัฐเขมร ซึ่งปกครองประเทศเวลานั้น