เทศมองไทย : “บางกอก แบงก์ซีย์” เมื่อกำแพงมีลมหายใจ

ผมไม่รู้ว่าในเมืองไทยมีคนรู้จัก “แบงก์ซีย์” กี่มากน้อย แต่ในอังกฤษและในอีกหลายประเทศ “แบงก์ซีย์” ไม่เพียงเป็นที่รู้จัก แต่ยังรักและชื่นชอบผลงานที่เปี่ยมอารมณ์ขันขั้นสูงผสมผสานกับอาการประชดประเทียดละเมียดละไม ที่ปรากฏอยู่ตามผนัง ตามกำแพง หลายที่หลายแห่ง ซึ่งกลายเป็น “หอศิลป์” ของ “สตรีต อาร์ติสต์” รายนี้

แบงก์ซีย์ไม่เพียงเปลี่ยนภาพกราฟิตี้ให้กลายเป็นงานศิลปะ ยังทำให้แม้แต่รอยแตกร้าว ปูนกะเทาะร่วงตามกำแพงมีชีวิตขึ้นมาทันตาเห็น

แบงก์ซีย์มีชื่อเสียง มีผู้ตามเก็บสะสมผลงาน กลายเป็น “หวานใจ” ของนักประมูลงานศิลปะระดับมหาเศรษฐี ทั้งๆ ที่ไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการด้วยซ้ำไปว่าชื่อเรียงเสียงไร

 

เล่าเรื่องแบงก์ซีย์มาหลายบรรทัด เพราะเมื่อ 24 กันยายนที่ผ่านมา รายงานของเอเอฟพีบอกว่า เมืองไทยก็มี “แบงก์ซีย์” ของตัวเอง

“เฮดเอค สเตนซิล” ใช้กำแพงเป็นผืนผ้าใบเช่นเดียวกับเก็บตัวเงียบ ปกปิดชื่อเสียงตัวเองมิดชิดเช่นเดียวกับ “แบงก์ซีย์” แต่ด้วยเหตุผลความเป็นมาเป็นไปที่แตกต่างกันสุดกู่

“แบงก์ซีย์” ปกปิดเพราะ “อยาก” ปกปิด แต่ “เฮดเอค สเตนซิล” กลับ “จำเป็น” ต้องปกปิดตัวเอง

เอเอฟพีพูดถึงเขาเอาไว้ว่า เป็น “ผู้บุกเบิก” ที่เป็น “คลื่นลูกใหม่” ของ “ศิลปินข้างถนน” ซึ่ง “ใช้สีกระป๋องเสียดสีถากถางผู้ทรงอิทธิพลในประเทศ ซึ่งการแสดงออกโดยเสรีถูกปิดกั้นมาตั้งแต่รัฐประหารเมื่อปี 2014”

เอเอฟพีบอกว่า “บางกอก แบงก์ซีย์” สร้างชื่อครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคม ด้วยผลงานถูกอกถูกใจหลายต่อหลายคนว่าด้วย “คอลเล็กชั่น” นาฬิกาหรู ซึ่งอธิบายที่มาที่ไปได้ลำบากยากเย็นเหลือเกินของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ถูก “แย็บ” แบบยั่วเย้า โดยการนำใบหน้าไปเป็นหน้าปัดนาฬิกาปลุก เพื่อถามหา “ความโปร่งใสทางการเงินของนายพลที่ยึดอำนาจด้วยข้อกล่าวอ้างที่ว่า มีแต่พวกตนเท่านั้นซึ่งสามารถรักษาประเทศนี้ให้อยู่รอดได้จากการฉ้อโกงที่ไม่มีใครเหนี่ยวรั้ง”

ซึ่งเอเอฟพีบอกว่า ถ้าเทียบกับการที่แม้แต่การอ่านหนังสือ “1984” ของจอร์จ ออร์เวลล์ ในที่สาธารณะยังถูกมองว่าเป็นการต่อต้านแล้วละก็ ผลงานชิ้นนี้ของ “เฮดเอค สเตนซิล” ต้องถือว่า “หาญกล้า” อย่างยิ่ง

 

เมื่อถามเจ้าตัวซึ่งต้องอยู่ในสภาพปกปิดใบหน้ามิดชิด เพื่อปกป้องตัวเองจากเจ้าหน้าที่ ในสตูดิโอที่กรุงเทพฯ ก็ได้รับคำอธิบายถึงที่มาไว้อย่างน่าสนใจ

“งานศิลปะข้างถนนมีที่รากมาจากการที่ผู้คนไม่มีสิทธิ์ ไม่มีเสียง” และ “เป้าหมายก็เพื่อแพร่ถ้อยคำที่เราอยากพูด แต่พูดไม่ได้ออกไป เราถึงได้วาดมันออกมาสำหรับให้ใครก็ตามที่เดินผ่านไปมา…ทั้งเจ้าหน้าที่หรือสาธารณชนทั่วไปได้เข้าใจ”

เอเอฟพีบอกว่า หลังจากผลงานเรื่องนาฬิกา เฮดเอคกลับมาสร้างงานที่เรียกความสนใจได้สูงสุดอีกครั้งในเดือนมีนาคม ด้วยภาพกราฟิตี้เสือดำสนิทที่กำลังร่ำไห้ออกมาเป็นหยดน้ำตาสีเลือด

เป็นงานที่พาดพิงถึงเจ้าพ่อในแวดวงรับเหมาก่อสร้างของไทย ซึ่งในเวลาต่อมาถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดกฎหมายหลายกระทงในการเข้าไปล่าสัตว์สงวนในพื้นที่ป่าของอุทยานแห่งชาติแห่งหนึ่ง

กลายเป็นผลงาน “ฮิต” ไปทั่วสังคมออนไลน์อีกครั้ง ด้วยนัยเยาะเย้ยถากถางเศรษฐีมีสตางค์อย่างตรงไปตรงมา

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ เอเอฟพีบอกว่า การที่เฮดเอคพยายามปกปักรักษาความ “ลึกลับ” ของตัวเองเอาไว้อย่าง “ระมัดระวัง” ยิ่งทำให้งานของเจ้าตัวมีแรงดึงดูดมากขึ้น ในทำนองเดียวกับ “แบงก์ซีย์”

และ “สอดคล้องกับจินตนาการในประเทศซึ่งยิ่งนับวันยิ่งมีคนใช้ช่องทางศิลปะเป็นเครื่องมือในการแสดงออกถึงการต่อต้านที่กระเพื่อมอยู่ใต้พื้นผิวเบื้องนอกมากขึ้นเรื่อยๆ”

 

“เฮดเอค สเตนซิล” เองทุกวันนี้เดินทางไปเปิด “เวิร์กช็อป” ทั่วประเทศ รวมทั้งในพื้นที่จังหวัดทางภาคอีสาน หัวใจสำคัญทางการเมืองของรัฐบาลพลเรือนในอดีต ในขณะที่มีสตูดิโอและหอศิลปะอีกมากเปิดการแสดงงานศิลปะและนาฏกรรม ที่สะท้อนวัฒนธรรมการเมืองซึ่ง “เป็นพิษ” และประเด็นปัญหาสังคมที่ซับซ้อนออกมามากขึ้น ละเมียดขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการ “เซ็นเซอร์”

ในส่วนของศิลปะบนกำแพงนั้น อภินันท์ โปษยานนท์ ผู้อำนวยการจัดงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ที่จะประเดิมเริ่มต้นในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ที่จะรวมถึงผลงานของศิลปินสตรีตอาร์ตอยู่ด้วย บอกว่างานสตรีตอาร์ตนั้นมีชีวิตในแบบฉบับของมันเอง อาจสั้น ฉับไวอยู่บ้าง แต่ก็มีชีวิต

“คุณอาจทาสีทับมันได้ แต่ในทันทีที่มันปรากฏขึ้นในสื่อสังคมออนไลน์ มันจะคงอยู่เช่นนั้นเรื่อยไป”