โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ/เครื่องราง ‘น้ำเต้ากันไฟ’ พระสังวรานุวงศ์เถร (ชุ่ม) วัดราชสิทธาราม กทม.

พระสังวรานุวงศ์เถร (ชุ่ม)

โฟกัสพระเครื่อง/ โคมคำ [email protected]

 

เครื่องราง ‘น้ำเต้ากันไฟ’

พระสังวรานุวงศ์เถร (ชุ่ม)

วัดราชสิทธาราม กทม.

 

วัดราชสิทธาราม หรือวัดพลับ เขตบางกอกใหญ่ เป็นพระอารามหลวงเก่าแก่แห่งหนึ่ง มีพระกรุพระเก่ายอดนิยมที่น่าสนใจ

ที่มีชื่อเสียงคือ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ไก่เถื่อน) เจ้าอาวาสรูปแรก รวมทั้งพระสังวรานุวงศ์เถร (ชุ่ม) เจ้าอาวาสรูปที่ 16 (พ.ศ.2458-2470) เป็นพระเถระที่เชี่ยวชาญทางวิปัสสนากรรมฐาน และสร้างพระเครื่องที่มีความศักดิ์สิทธิ์เข้มขลังอย่างยิ่ง

วัตถุมงคล “เจ้าคุณสังวรา (ชุ่ม)” สร้างไว้มีด้วยกันหลายอย่าง เช่น ตะกรุดสามกษัตริย์, พระพิมพ์เล็บมือ หรือพิมพ์ซุ้มกอ เนื้อชินตะกั่วถ้ำชา, พระพิมพ์ห้าเหลี่ยม เนื้อชินตะกั่วถ้ำชา และเนื้อสำริด, พระพิมพ์สองหน้า เนื้อชินตะกั่วถ้ำชา, พระพิมพ์เนื้อเงิน และเนื้อทองฝาบาตร, พระปิดตา เนื้อตะกั่วอาบปรอท เป็นต้น

แต่ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง คือ เครื่องราง “น้ำเต้ากันไฟ”

 

นํ้าเต้า หรือภาษาจีนเรียก “หูหลู” นับเป็นหนึ่งในของวิเศษของบรรดาเซียนใหญ่ของชาวจีน เชื่อกันว่าข้างในบรรจุน้ำทิพย์แห่งความเป็นอมตะไว้ ชาวจีนจึงถือเป็นสัญลักษณ์มงคล ดังนั้น การแขวนน้ำเต้า จึงมีความหมายถึงการเก็บกักความเคราะห์ร้ายไม่ให้มาเยือน ภายหลังนิยมทำเป็นเครื่องรางมงคล แขวนไว้ตามบ้านเรือน ร้านค้า เพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้ายและสิ่งอัปมงคลต่างๆ ทั้งยังดูดโชคลาภและความสิริมงคลเข้ามาได้ด้วย

นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าถ้าแขวนน้ำเต้าไว้ในตำแหน่งสุขภาพ จะช่วยให้สุขภาพแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บอีกด้วย

น้ำเต้ากันไฟ เจ้าคุณสังวรา (ชุ่ม) ท่านได้วิชามาขณะที่ออกธุดงค์ โดยได้ไปพบศาลาพักร้อนกลางป่าหลังหนึ่ง ซึ่งโดยรอบศาลาถูกไฟไหม้เสียหายไปทั้งหมด แต่ตัวศาลากลับไม่ได้รับความเสียหาย เมื่อเดินดูรอบๆ พบบริเวณอกไก่ มีน้ำเต้าแขวนไว้ลูกหนึ่ง เมื่อเทออกดูพบคาถากันไฟบทหนึ่งบรรจุอยู่ภายใน จึงได้นำติดตัวกลับมาด้วย ภายหลังวกกลับไปพบว่าศาลาดังกล่าวถูกไฟป่าไหม้เสียหายหมด เป็นที่อัศจรรย์ เมื่อประจักษ์ในอภินิหารเช่นนั้น ท่านจึงได้สร้างน้ำเต้า บรรจุคาถาแจกจ่ายแก่ศิษยานุศิษย์จนเป็นที่เลื่องลือ

น้ำเต้าที่เลือก จะเลือกเอาแต่ผลที่มีลักษณะตรงตามตำราบ่งบอกไว้ และต้องแก่จัดมากๆ เอามาควักเนื้อในและเมล็ดออกให้หมด แล้วจึงลงอักขระเลขยันต์และปลุกเสกตามสูตรโบราณ

การสร้างน้ำเต้ากันไฟให้ถูกต้องตามแบบโบราณนั้นสร้างยากมาก นับตั้งแต่หาวัสดุจนถึงขั้นตอนการปลุกเสก นอกจากนี้ บางลูกก็มีการถักเชือกและลงรักปิดทองไว้ บางลูกก็ไม่มี ไม่เป็นที่แน่นอนเสมอไป แต่วงการพระเครื่อง มักนิยมและเล่นหาแบบถักเชือกและลงรักมากกว่า

เป็นผลให้น้ำเต้าของท่านเจ้าคุณสังวรา (ชุ่ม) นี้มีจำนวนน้อยมาก และได้รับความนิยมสูง

น้ำเต้ากันไฟ เจ้าคุณสังวรา (ชุ่ม)

 

ท่านเกิดที่บ้าน ต.เกาะท่าพระ อ.บางกอกใหญ่ จ.ธนบุรี เมื่อวันพุธที่ 16 พฤศจิกายน 2396 ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 12 ตรงกับปีฉลู จ.ศ.1215 ซึ่งเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงประสูติ เป็นบุตรของนายอ่อนและนางขลิบ

ช่วงเยาว์วัยได้เรียนอักขระสมัยในสำนักพระอาจารย์ทอง วัดราชสิทธาราม ตั้งแต่อายุ 10 ขวบ จนอายุ 13 ปี จึงบรรพชาเป็นสามเณรในสำนักพระสังวรานุวงษ์เถร (เมฆ) และศึกษาเล่าเรียนในสำนักนี้ตลอดมา

อายุ 21 ปี เข้าอุปสมบท มีพระสังวรานุวงศ์เถร (เมฆ) เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านปลัดโต และพระสมุห์กลัด เป็นคู่กรรมวาจาจารย์ ศึกษาพระปริยัติธรรมอยู่หลายปี แต่ไม่เคยสมัครเข้าสอบไล่หรือบาลีในสนามหลวง

เมื่อแตกฉานแล้วจึงหันมาเรียนและขึ้นกรรมฐานกับพระอุปัชฌาย์ เริ่มจากวิชาธรรมกายจนถึงถอดรูปได้ เรียนอยู่นานจนพระอุปัชฌาย์เชื่อมือ และได้ชื่อว่าเชี่ยวชาญที่สุดในบรรดาศิษย์ทั้งหมด จนกระทั่งปี พ.ศ.2422 ได้เป็นพระใบฎีกาฐานานุกรมของพระสังวรานุวงษ์เถร (เมฆ)

 

หลังพระอุปัชฌาย์มรณภาพ ท่านก็รับหน้าที่เป็นพระอาจารย์สอนและบอกกรรมฐานพระเณรและคฤหัสถ์ทั่วไป และมีโอกาสได้ออกไปรุกขมูลและถือธุดงค์บ่อยครั้ง สถานที่ที่ท่านชอบไปคือแถบพระพุทธบาทห้ารอย จ.เชียงราย ไปจนถึงเมืองหงสาวดีและย่างกุ้ง ในประเทศพม่า

ถึงปี พ.ศ.2431 เลื่อนเป็นพระสมุห์ฐานานุกรมในพระสังวราฯ (เอี่ยม)

ต่อมาในปี พ.ศ.2451 ได้รับพระราชทานเลื่อนเป็นพระราชาคณะที่ พระสังวรานุวงษ์เถร ได้เป็นเจ้าอาวาสต่อจากพระมงคลเทพมุนี (เอี่ยม) รับพระราชทานนิตยภัตเพิ่มอีกเดือนละสามตำลึง เสมอด้วยชั้นราช รุ่งขึ้นอีกปีได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เพิ่มนิตยภัตขึ้นอีกเดือนละสองบาท รวมเป็นสามตำลึงครึ่ง

เป็นพระเถระรูปสุดท้ายที่ได้รับพระราชทานพัดหน้านางงาสานต่อจากเจ้าคุณเฒ่า หรือหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง ซึ่งหลังจากท่านแล้ว ก็ไม่มีพระเถระรูปใดได้รับพระราชทานอีกเลย อาจจะเป็นเพราะไม่มีพระราชาคณะรูปใดเหมาะสม หรือเพราะวัสดุและชิ้นส่วนงาสานนี้มีราคาแพงและหาได้โดยยาก จึงไม่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นอีก

นอกจากนี้ ท่านเป็นพระอาจารย์ของพระเกจิอาจารย์รูปสำคัญทางฝั่งธนบุรีหลายรูป เช่น หลวงปู่นาค วัดระฆัง, หลวงพ่อพริ้ง วัดบางปะกอก, หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี เป็นต้น

ครองวัดราชสิทธารามอยู่นาน 12 ปี มรณภาพเมื่อปี พ.ศ.2470 รวมอายุได้ 74 ปี