วิเคราะห์ : ถอดรหัส ชิงหัวหน้า ปชป.คนใหม่ คสช.เดินเกมรุกครอบ “พรรคสีฟ้า”

บรรยากาศคึกคักอย่างต่อเนื่องกับสถานการณ์ทางการเมืองที่วันนี้ทุกฝ่ายต่างเคลื่อนไหวเกือบจะเต็มรูปแบบ หลังจากที่เงียบเหงามานานภายใต้การกุมอำนาจเบ็ดเสร็จจากการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตลอดกว่า 4 ปี

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาทั้งพรรคเพื่อไทย (พท.) และพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) สองพรรคการเมืองใหญ่มีข่าวเรื่องการชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคกันมาอย่างไม่ขาดสาย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพรรค ปชป.ที่มีข่าวอย่างต่อเนื่อง

ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่าแคนดิเดตอย่าง “เดอะจ้อน” อลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรค สุ้มเสียงสนับสนุนเริ่มแผ่วเบา แรงผลักดันจากเจ้าตัวเองก็เริ่มไม่ค่อยมีพลังสักเท่าใดในตอนนี้

เหลือเพียง 2 แคนดิเดตที่กำลังร้อนแรง

คนแรกแน่นอนว่า “เจ้าเก่า” อย่าง “เดอะมาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ที่ยังคงดำรงตำแหน่งอยู่ แต่ยังไม่มีการประกาศเจตนารมณ์แถลงจุดยืนหลักการในการเป็นหัวหน้าพรรคครั้งนี้

ต่างจากผู้ท้าชิงอย่าง “หมอวรงค์” นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรค ปชป. ที่เดินเครื่องเต็มสูบ

ล่าสุดแถลงข่าวประกาศเจตนารมณ์เพื่อลงชิงหัวหน้าพรรค ปชป. ที่ลานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช มหาวิทยาลัยนเรศวร

ท่ามกลางกระแสข่าวว่าผู้ที่สนับสนุนส่ง “หมอวรงค์” มาโค่นบัลลังก์หัวหน้าพรรคสีฟ้าคือ “ถาวร เสนเนียม” อดีตรองหัวหน้าพรรค แต่เบื้องลึกลงไปนั้นเป็นฝีมือของ “กำนันสุเทพ” ที่ต้องการจะส่งคนของฝ่ายตนเองเข้ามาคุมกำลังพลพรรค ปชป.

เพื่อให้เป็นงานง่ายแก่ฝ่ายทหารและ คสช.

ถามว่าทำไมถึงต้องเป็นงานง่ายของทหาร ถ้า “หมอวรงค์” ได้เป็นหัวหน้าพรรค ปชป.แทนนายอภิสิทธิ์

เนื่องจากจะเห็นได้ว่า “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ตั้งแต่ออกมาจาก ปชป. ก็มีท่าทีที่ชัดเจนมาโดยตลอดว่าสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย

ถึงแม้จะไม่ได้บอกว่าสนับสนุน คสช.ทั้งคณะ แต่ด้วยการประกาศสนับสนุน “บิ๊กตู่” แล้วนั้น ก็เป็นนัยยะที่ชัดเจนว่า “ลุงกำนัน” หนุน “ฝ่ายทหาร” อย่างเต็มสูบ

และถ้าส่ง “หมอวรงค์” ลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคแข่งกับ “อภิสิทธิ์” ภาพลักษณ์ที่ได้จาก “หมอวรงค์” คือความจริงจังในการปราบโกงโดยเฉพาะคดีทุจริตจำนำข้าว ที่เป็นผลงานชิ้นโบแดงและถูกตาต้องใจมวลชนนกหวีดเป็นอย่างมาก

ถึงขั้นทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องหนีคดีออกนอกประเทศตามพี่ชายอย่าง “ทักษิณ ชินวัตร” ไปอีกคน

รูปแบบการเมืองในลักษณะนี้ แน่นอนว่ามันเป็นแรงกระตุ้น แรงสะใจสำหรับคอการเมืองฝ่ายตรงข้ามอย่างกลุ่มนกหวีดเป็นแน่แท้ แรงผลักดันภายนอกกำลังดี กระแสมวลชนที่เบื่อกับผู้นำหน้าเก่ากำลังประจวบเหมาะกันพอดี

ส่วนกระแสภายในนั้น ทั้งสมาชิกและอดีต ส.ส.ก็มีการเปิดหน้าสนับสนุนถึงกับมีการตั้ง “กลุ่มเพื่อนหมอวรงค์” เกิดขึ้น

โดยกลุ่มเพื่อนหมอวรงค์เป็นการสร้างเครือข่าย และทำความเข้าใจเรื่องการปฏิรูปพรรคในรูปแบบเดินสายทำความเข้าใจด้วยการไปหาสมาชิกพรรค อดีต ส.ส.พรรค และผู้ใหญ่ในพรรคทุกคน

เรียกว่าเป็นการหาเสียงโดยปกติที่จะมีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค ที่จะต้องเดินสายทำความเข้าใจกับผู้คนต่างๆ

โดยมีอดีต ส.ส.พรรคอีกไม่น้อยที่พร้อมจะเปิดตัวและไม่เปิดตัว ที่เห็นได้ชัดเจนคือ นายศุภชัย ศรีหล้า อดีต ส.ส.อุบลราชธานี, นายสมบัติ ยะสินธุ์ อดีต ส.ส.แม่ฮ่องสอน, นายวิรัตน์ กัลยาศิริ, นายเจือ ราชสีห์, นายชัยวุฒิ ผ่องแผ้ว, พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ เรียกได้ว่าอดีต ส.ส.สงขลายกจังหวัด

ยกเว้น “วอลล์เปเปอร์มาร์ค” หรือนายศิริโชค โสภา เพียงคนเดียว

ส่วนสมาชิก “กลุ่มเพื่อนหมอวรงค์” ที่ไม่พร้อมเปิดตัวออกสื่อ ส่วนใหญ่ก็มีสาเหตุที่สนับสนุนหมอวรงค์ตรงกัน เพราะว่าที่ผ่านมานายอภิสิทธิ์ทำงานไม่ค่อยเข้าตาอดีต ส.ส.กลุ่มนี้ จนสร้างความอึดอัดในใจมานาน

รวมทั้งเรื่องผลแพ้-ชนะเลือกตั้ง แต่ทุกคนต่างไม่พูด ไม่แสดงเจตนาด้วยเหตุผลเดียวกันคือ คนในพรรคต่างเกรงใจในตัวนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค เพราะนายอภิสิทธิ์เป็นคนของนายชวน

นอกจากนี้ อดีต ส.ส.กลุ่มนี้ยังมองว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาคณะกรรมการบริหารพรรคชุดนี้ทำงานไม่ค่อยเวิร์กเท่าที่ควร โดยเฉพาะคณะทำงานทางภาคใต้หรือคนที่เป็นคนของนายชวน แต่ไม่มีใครกล้าออกมาพูดเพราะเกรงใจนายชวน

ดังนั้น เมื่อ “ลุงกำนัน” แลเห็นช่องทางตรงนี้แล้วก็ได้เวลาระดมกำลังพลในการเดินเครื่องชนเต็มสูบเพื่อโค่นล้ม “เดอะมาร์ค” ให้ลงจากบัลลังก์หัวหน้าพรรคให้ได้

เพราะหาก “หมอวรงค์” ได้เป็นหัวหน้าพรรคตามใจต้องการของกำนันสุเทพ พรรค ปชป.ก็แทบจะมีตัวหัวหน้าพรรคใหม่ที่ “ดีล” กันง่ายขึ้นเพื่อเข้าเป็นพรรคร่วมรัฐบาลร่วมกับพรรคการเมืองของ รปช.และพรรคการเมืองของทหารอย่าง “พรรคพลังประชารัฐ” อีกด้วย

ขณะที่แนวร่วมสนับสนุนหัวหน้าพรรคคนปัจจุบันอย่าง “เดอะมาร์ค” มีท่าทีที่ค่อนข้างชัดเจนว่าไม่ค่อยเห็นด้วยกับการทำงานของรัฐบาลทหารเท่าไหร่ จะเห็นได้ว่าตั้งแต่การประกาศลงประชามติไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ประเด็นที่นายอภิสิทธิ์และชาว ปชป.บางส่วนไม่เอาด้วยก็คือ ประเด็นของการให้สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. มีสิทธิ์ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่ง ส.ว.จำนวน 250 คน ล้วนมาจากการแต่งตั้งของ คสช.ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ดี “อภิสิทธิ์” ยังมีท่าทีที่ชัดเจนตลอดว่าจะไม่ร่วมเป็นรัฐบาลกับใครทั้งสิ้นถ้านโยบายของพรรค ปชป.ไม่ได้รับการขานรับให้ถูกขับเคลื่อนให้เป็นนโยบายตามที่หาเสียงไว้กับประชาชน มิเช่นนั้นก็ขออยู่เป็นฝ่ายค้านเสียดีกว่า

หนึ่งในประเด็นที่ “เดอะมาร์ค” กังวลมาตลอดก็คือเรื่องของ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ประเด็นนี้เจ้าตัวไม่เห็นด้วยตามที่ คสช.เป็นผู้เสนอมา แน่นอนว่าวันใด ปชป.ได้เป็นรัฐบาลขึ้นมาอาจจะต้องมีการหยิบยกขึ้นมารื้อฟื้นกันใหม่

เรื่องนี้จึงเป็นปัญหาอุปสรรคที่ คสช.มองว่าเป็นขวากหนามชิ้นใหญ่ เรื่องจึงได้มาถึงมือของ “ลุงกำนันคอนเน็กชั่น” ให้ปฏิบัติการลงมือเสียก่อน ตั้งแต่มีการหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรค

เพราะถ้าปล่อยเรื่องนี้ให้เลยเถิดไปจนถึงมีการเลือกตั้ง แน่นอนว่าเป็นงานยากขึ้นไปอีกขั้นสำหรับ คสช.ที่จะดีลกับ ปชป.ให้มาร่วมรัฐบาลได้ ตอนนี้เลยได้แต่หวังว่า “หมอวรงค์” จะต้องเดินหน้าภารกิจโค่นบัลลังก์ “เดอะมาร์ค” ให้สำเร็จ

เพราะถ้าสำเร็จได้ หลังการเลือกตั้งครั้งหน้า นอกจากจะได้เห็น “หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่” แล้ว อาจจะได้เห็นความฝันของ “หมอวรงค์” เป็นจริงเสียที กับความฝันที่อยากจะนั่งเก้าอี้ “รัฐมนตรี” ครั้งแรกในชีวิต

แต่ถ้าทำภารกิจนี้ไม่สำเร็จ ทุกอย่างก็ยังไม่จบอยู่แค่นี้ เพราะเกมนี้บอกได้เลยว่า แม้ “ปชป.” จะพลาดท่าแพ้ในศึกเลือกตั้งในปี 2562

แต่ “คสช.” มีอยู่เป้าหมายเดียวคือ “แพ้ไม่ได้”