สมุนไพรเพื่อสุขภาพ / โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง/’ป่าเฮ่วหมอง’ สมุนไพรให้คุณมาก หากใช้พลาดเกิดโทษได้

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ / โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org

‘ป่าเฮ่วหมอง’

สมุนไพรให้คุณมาก หากใช้พลาดเกิดโทษได้

ข้อความ สมุนไพรให้คุณมาก หากใช้พลาดเกิดโทษได้ คือคำขวัญของโครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง ที่ตั้งใจสื่อสารสาธารณะมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งองค์กรเมื่อ 38 ปีที่แล้ว
ยุคนั้นผู้คนยังไม่ตื่นตัวสนใจการใช้สมุนไพรเท่ากับยุคนี้
ในเวลานั้นอาจพูดได้ว่าเป็นยุคการฟื้นฟูสมุนไพรให้กลับมามีบทบาทในการดูแลสุขภาพคนไทย จึงจำเป็นต้องสะกิดเตือนการใช้สมุนไพรไว้
แต่ก็น่าแปลกใจมาก ที่คำขวัญเก่าเกือบสี่ทศวรรษ ยังคงร่วมสมัยและต้องหยิบมาใช้ในยุคไทยแลนด์ 4.0 นี้ด้วย
ทุกวันนี้คนนิยมสมุนไพรกันมากมาย จนคิดไปว่าสมุนไพรที่มาจากธรรมชาติจะปลอดภัยเสมอ
ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด และเมื่อบวกกับกลไกการตลาดในการขายผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรต่างๆ นานา ก็อาจทำให้ผู้บริโภคใช้สมุนไพรเกินความพอดี
และควรระมัดระวังอย่างยิ่งก็ตรงช่องทางสื่อสารผ่านโลกโซเชียลมีเดีย ยิ่งทำให้ความรู้ที่ไม่ชัวร์ แต่เข้าข่ายมั่วๆ มัวๆ เบลอๆ แชร์กันจัง
จึงขอนำความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการใช้สมุนไพรทั่วๆ ไปมาย้ำเตือนกันไว้ว่า

1.ถ้ายาใดไม่เคยกินมาก่อน ควรเริ่มกินในปริมาณน้อยๆ ก่อน เช่น กินเพียงครึ่งหนึ่งของที่กำหนด รอดูว่ามีสิ่งผิดปกติในร่างกายหรือไม่ ถ้าไม่มีค่อยกินต่อไป เช่น ตำราบอกไว้ให้กินครั้งละ 1 แก้ว ให้ลองกินสักครึ่งแก้วก่อน เป็นต้น
2. อย่าใช้ยาเข้มข้นเกินไป ข้อนี้สำคัญ เช่น ตำรับยาบอกว่ายาขนานนี้ให้ต้มกินธรรมดา ไม่ควรใช้ต้มเคี่ยวกิน เพราะตัวยาจะเข้มข้นเกินไปจนทำให้เกิดโทษได้
3. ควรรู้ผลข้างเคียงหรือพิษของยาก่อนใช้ เพราะไม่มียาอะไรไม่มีพิษ หรือควรรู้จักข้อห้ามใช้ เพราะยาบางชนิดมีข้อห้ามใช้กับคนบางคน การได้รู้จักข้อห้ามใช้ ทำให้มีความปลอดภัยในการใช้มากขึ้น เช่น ห้ามใช้กับเด็ก ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์ หรือในระดับให้ระมัดระวัง เช่น ยาบางชนิดมีผลต่อการรักษาโรคบางอย่าง แต่ก็มีฤทธิ์ลดความดันโลหิตด้วย การกินยาชนิดนั้นก็จะส่งผลต่อระดับความดันเลือดด้วยนั่นเอง
4. คนที่อ่อนเพลียมาก เด็กอ่อน และคนชรา ห้ามใช้ยามากเพราะคนเหล่านี้มีกำลังต้านทานยาน้อย จะทำให้เกิดพิษหรือผลข้างเคียงได้ง่าย ข้อนี้ก็คือ คนกลุ่มนี้ถ้าจะกินยาสมุนไพรให้กินตามที่กำหนด อย่ากินมากโดยคิดเองว่ายิ่งมากยิ่งดี ไม่ได้เลย
5. โดยทั่วๆ ไป เมื่อกินยาสมุนไพร 1 วันแล้ว อาการไม่ดีขึ้นต้องเปลี่ยนยา แต่ถ้าเป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคกระเพาะ หืด ท้องผูกเรื้อรัง เมื่อใช้ยาสมุนไพร 1 สัปดาห์แล้วอาการไม่ดีขึ้น ต้องเปลี่ยนยา
อธิบายขยายความได้ว่า เช่น หากมีอาการไอ เจ็บคอ คุณเลือกใช้สมุนไพรตำรับหนึ่งบรรเทาอาการ แต่เมื่อใช้ยาไปแล้ว 1 วัน อาการไม่ดีขึ้นเลย (ไม่ได้หมายถึงว่าวันเดียวหายนะ แค่อาการดีขึ้น) ถ้าอาการโรคทั่วๆ ไป กินแล้ว 1 วันไม่ดีขึ้น แสดงว่ายาไม่ถูกกับโรค ต้องเปลี่ยนยา
แต่ถ้ารู้สึกเริ่มดีขึ้นก็ใช้ยาต่อไป
สำหรับอาการโรคที่เรียกว่าเรื้อรังทั้งหลายตามตัวอย่างข้างต้นนั้น ให้รวมถึงโรคที่เป็นกันมากๆ เช่น เบาหวาน ความดันสูง โรคเหล่านี้กว่าจะรู้ผลก็ต้องกินนานสัก 1 สัปดาห์ ถ้าไม่ดีขึ้นก็แสดงว่าสมุนไพรนั้นไม่ถูกกับโรค
6. ไม่ควรพลิกแพลง คิดตั้งตำรับยาเอง หรือคิดปรุงยาเองโดยขาดความรู้ ห้ามใช้จินตนาการคิดเอาเองว่าผสมสมุนไพรชนิดนี้กับชนิดโน้น ดังนั้น ต้องเคร่งครัดกับตำรับยา วิธีการปรุง การใช้ เช่น ตำรับยามีส่วนประกอบ 5 ชนิด ใช้การต้มน้ำ กินครั้งละ 1 แก้ว 3 มื้อ (เช้ากลางวันเย็น)
ห้ามคิดเองว่า เพิ่มส่วนประกอบชนิดนี้ไปอีก 2 ชนิด ต้มน้ำให้เข้มข้นเพราะคิดว่ายาแรงดี แล้วกินต่างน้ำตลอดทั้งวัน โดยคิดว่ายาจะได้ออกฤทธิ์ช่วยบำบัดโรคได้ดียิ่งขึ้น
ทำเช่นนี้จะเกิดพิษหรืออันตรายต่อร่างกายได้

ดังกรณีที่ขณะนี้มีกระแสการใช้สมุนไพร “ป่าช้าเหงา” หรือ “ป่าเฮ่วหมอง” หรือ “หนานเฉาเหว่ย” ที่มีการบอกถึงสรรพคุณมากมายกลายเป็นพืชมหัศจรรย์ไปแล้วนั้น
ต้องบอกว่าเริ่มมีผู้ได้รับอันตรายจากการใช้ยาผิดๆ ของพืชสมุนไพรต้นนี้กันหลายรายแล้ว เพราะไม่ได้ยึดหลักการ 6 ข้อข้างต้น
เช่น กรณีผู้สูงอายุท่านหนึ่งกิน “ป่าเฮ่วหมอง” เพื่อแก้เบาหวานหรือหวังผลในการลดน้ำตาลในเลือด ผู้ชายท่านนี้ใช้วิธีเด็ดใบสด 10 นำไปต้มกับน้ำ 1 ลิตร และใช้วิธีแบบต้มเคี่ยวเข้มข้นนาน 1 ชั่วโมง กินครั้งละ 1 แก้ว เช้าเย็น ต่อเนื่อง 7 วัน
วิธีข้างต้นผิดจากประสบการณ์ผู้ใช้และตามภูมิปัญญาพื้นบ้านดั้งเดิมอย่างมาก
และในวันที่ชายผู้นี้ต้องเข้าโรงพยาบาลเพราะอาการน้ำตาลตกอย่างรุนแรงนั้น เขากินยาแผนปัจจุบันที่ใช้แก้เบาหวาน แล้วกินน้ำต้มป่าเฮ่วหมองเข้าไปอีก 3 แก้วกาแฟ
ฤทธิ์ทั้งยาแผนปัจจุบันและสมุนไพรที่ลดน้ำตาลในเลือดก็ยิ่งทำให้น้ำตาลในเลือดตกอย่างมากนั่นเอง
วิธีที่ถูกต้องคือ ถ้าต้องการกินเป็นยาแก้เบาหวานหรือคุมน้ำตาลในเลือด
รวมถึงมีสรรพคุณช่วยควบคุมความดันโลหิตและควบคุมไขมันในเลือดที่สูงนั้น ให้กินวันละ 1-2 ใบ ย้ำวันละ 1-2 ใบ ไม่ใช่มื้อละ 1-2 ใบ


และถ้าใช้หลักการ 6 ข้อข้างต้น ควรกินแค่วันละ 1 ใบพอ เพื่อดูสภาพร่างกายของเรา และไม่ต้องกินทุกวัน ให้เว้นไป 2-3 วันจึงกินครั้งหนึ่ง บางรายอาจกินวันเว้นวันเพราะเขากินปริมาณน้อย ซึ่งไม่ควรกินทุกวัน และไม่กินต่อเนื่องนานๆ ควรหยุดพักบ้าง
ป่าเฮ่วหมอง เป็นสมุนไพรที่มีรสขมจัด มีคุณสมบัติเป็นยาเย็นมากๆ ความรู้ดั้งเดิมไม่แนะนำให้กินจำนวนมากและต่อเนื่องนานๆ จะทำให้ร่างกายเย็น มือ-เท้าเย็น ระบบย่อยอาหารไม่ดีท้องอืดง่าย อ่อนเพลีย ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์และในผู้ป่วยที่มีปัญหาตับและไต
ในโลกโซเชียลมีการเผยแพร่กว้างขวางทำนองกินสมุนไพรแล้วเบาหวานหายขาด ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง
เพราะการดูแลผู้ป่วยเบาหวานไม่ใช่กินแต่ยา แต่ต้องฝึกการกินอาหารที่เหมาะสม และหมั่นออกกำลังกาย
ยามีส่วนสำคัญในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
แต่ยาวิเศษแค่ไหนก็เอาไม่อยู่ ถ้าไม่ปรับเปลี่ยนพฤติการณ์การบริโภคและใช้ชีวิต
และการกินแต่ยาปริมาณมากๆ นานๆ ยังจะมีผลเสียต่อร่างกาย เช่น ทำให้ตับและไตทำงานหนัก การรู้จักกินและออกกำลังกายจะช่วยให้การบริโภคยาน้อยลง ส่งผลดีต่อสุขภาพแน่นอน ย้ำเตือนไว้กับการใช้สมุนไพรทุกชนิด ทั้งสมุนไพรเดี่ยวและตำรับว่า
สมุนไพรให้คุณมาก หากใช้พลาดเกิดโทษได้