ทำไมชาวล้านนาเชื่อว่า ‘แมลงภู่’ เป็นสัตว์นำโชค?

อ่านว่า “แมงปู้” ตรงกับภาษาไทยว่า “แมลงภู่”

 

แมลงพู่ เป็นแมลงรูปร่างคล้ายผึ้ง ต่างกันที่ตัวใหญ่กว่า สีดำ มีขนปกคลุมลำตัว แต่ไม่มีถุงเก็บเกสรดอกไม้เหมือนผึ้ง อาศัยอยู่โดดเดี่ยว ไม่สร้างรวงรังแบบผึ้ง ที่พบบ่อยอยู่ในสกุล Xylocopa วงศ์ Xylocopidae

แมลงพู่ที่พบโดยทั่วไปที่หากินน้ำหวานดอกไม้ โดยเฉพาะดอกสร้อยอินทนิลนั้นเป็นแมลงพู่ขนาดใหญ่ ยังมีแมลงพู่ขนาดเล็กกว่าอีกพันธุ์หนึ่ง คนล้านนาเรียกว่า “แมลงพู่น้อย” ภาษาอังกฤษเรียกว่า “carpenter bee” เป็นแมลงพู่ที่ชอบเจาะไม้สร้างรัง มันชอบไม้ไผ่แห้งโดยเฉพาะ ใช้ฟันคมกริบกัดไม้เป็นรูกลมๆ แล้วเข้าไปทำรังอยู่ในปล้องไม้ไผ่ แบบปล้องใครปล้องมัน รังใครรังมัน แต่มันก็มักจะอยู่รวมๆ เป็นเพื่อนบ้านกัน ส่วนที่ลำต้นไม้แห้งอื่นก็พบได้บ้าง

แมลงพู่เป็นสัตว์หวงถิ่น หากใครเข้าไปใกล้รังของมัน แมลงพู่โดยเฉพาะตัวผู้จะบินออกมาขับไล่ศัตรู ถ้าคุกคามมันหนักเข้า มันก็อาจจะต่อยหรือกัดเอาได้

คนล้านนาถือเอาแมลงพู่น้อยเป็นสัตว์นำโชค เนื่องด้วยได้รับอิทธิพลความเชื่อมาจากพม่าและไทยใหญ่

มีเรื่องอิงประวัติศาสตร์เล่าต่อกันมาว่า เสลี่ยงประจำตัวของบุเรงนองมีแมลงพู่ชนิดนี้เจาะรูเข้าไปอาศัยอยู่ บุเรงนองไปไหน แมลงพู่ไปด้วย ในเมื่อบุเรงนองคือ “ผู้ชนะสิบทิศ” รบที่ไหนชนะที่นั่น บารมีเกริกไกรแผ่ลงลงไปถึงอโยธยา

คนพม่าจึงนับเอาว่าแมลงพู่น้อยคือเครื่องรางของขลังที่หากใครได้เป็นเจ้าของ จะทำอะไรก็สำเร็จ มีชื่อเสียง มีบารมี เช่นเดียวกับบุเรงนอง

แต่คนธรรมดาไม่มีเสลี่ยง จะพกพาแมลงพู่คำติดตัวไปไหนแบบบุเรงนองคงไม่สะดวก จึงมีจอมขมังเวทย์ทั้งหลายคิดแกะสลักตัวแมลงพู่น้อยขนาดเท่าตัวจริงจากไม้เนื้อแข็ง เช่น แกะจากไม้ดุมล้อเกวียนเก่า เป็นต้น จากนั้นก็ลงอาคมให้เข้มขลังยิ่งขึ้น คนล้านนาเรียกเครื่องรางนี้ว่า “แมลงพู่คำ”

สำหรับถิ่นล้านนา คนเดินทาง คนค้าขายระหว่างเมือง โดยเฉพาะคนไทยใหญ่ทางภาคเหนือ จะไปไหนก็พกแมลงพู่คำติดตัวไป นัยว่าให้คุณทางเมตตามหานิยม ทุกอย่างจะสะดวกราบรื่น ไปไหนก็จะได้รับการปกป้องคุ้มภัย เช่นเดียวกับที่แมลงพู่น้อยที่คุ้มครองเขตของมัน จะเกิดความเจริญรุ่งเรือง หากค้าขายก็จะร่ำรวยกลับมา

นั่นคือความเชื่อของคนโบราณ

แต่ก็น่าศรัทธาอยู่ เนื่องจากมีที่มาทางประวัติศาสตร์ให้อ้างอิง