ฉัตรสุมาลย์ : พระพุทธเจ้าทรงสอนซื่อๆ

เมื่อพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ใหม่ๆ นั้น มารมาทูลนิมนต์ว่าเมื่อได้ตรัสรู้ธรรมแล้ว สมควรที่จะปรินิพพพานได้แล้ว

พระพุทธเจ้าทรงตอบมารว่ายังก่อน ท่านยังต้องสั่งสอนพุทธบริษัทให้เข้าใจในคำสอนของพระพุทธองค์ ได้น้อมนำไปปฏิบัติ และสามารถแก้ต่างได้ หากมีคนนอกมาจ้วงจาบ

พุทธบริษัทที่ว่านี้คือพุทธบริษัท 4 ได้แก่ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา

หลักฐานตรงนี้เป็นเครื่องยืนยันชัดเจนว่า การมีภิกษุณีสงฆ์นั้น พระพุทธองค์ทรงคิดไว้ตั้งแต่แรกแล้ว ก่อนที่จะมีผู้หญิงขอบวชด้วยซ้ำไป

หลังจากที่ทรงตรัสรู้แล้ว ทรงใช้เวลา 49 วันพิจารณาธรรมที่ใต้ต้นไม้แห่งละ 7 วัน ผู้เขียนเข้าใจว่าเป็นช่วงที่ทรงใคร่ครวญในธรรมที่ได้ตรัสรู้นั้น และพิจารณาว่าจะนำมาสอนมวลมนุษย์อย่างไรให้เข้าใจได้ดีที่สุด

เป็นที่มีมาของการลำดับองค์ความรู้ที่นำมาสอนแก่ปัญจวัคคีย์เรื่องอริยสัจ 4 ที่สวนกวาง สารนาถ เป็นปฐมเทศนา

 

นัยยะของการลำดับองค์ความรู้ที่จะมาสอนนั้นมีความหมายที่สำคัญ เพราะหากเลือกที่จะเริ่มต้นสอน พระนิพพานอันเป็นเป้าหมายสูงสุด พระพุทธเจ้าทรงเป็นพระองค์เดียวที่เข้าถึงบรมธรรมนั้น

การสอนในสิ่งที่คนอื่นไม่มีประสบการณ์ร่วมมาก่อน ย่อมเป็นสิ่งที่ยากยิ่งเช่นนี้ จึงทรงเลือกที่จะเริ่มต้นด้วยประสบการณ์ร่วม เช่นเดียวกับตัวของพระองค์เอง

พระองค์เสด็จออกสู่ราวป่าแสวงหาโมกขธรรม ด้วยคำถามหนักอกคือ ทำอย่างไรที่จะเป็นอิสระจากทุกข์แห่งการแก่ เจ็บ และตาย

เช่นเดียวกัน คนทั่วไปล้วนบ่มเพาะอยู่ในความทุกข์ดุจเดียวกับเจ้าชายสิทธัตถะนั้นเอง พระองค์จึงทรงเริ่มต้นการแสดงธรรมที่เป็นปฐมเทศนาด้วยการเริ่มที่ทุกข์

ทุกข์ มีทั้งทุกข์ทางกาย และทุกข์ทางใจ

ทุกข์ทางกายที่มนุษย์มีนั้น เป็นเพราะมีสังขาร หากปรารถนาที่จะพ้นทุกข์อันเนื่องมาจากกาย ก็ต้องไม่มีกาย คือไม่เกิดนั่นเอง

เมื่อเราเกิดมาแล้ว มีกายแล้ว ต้องยอมรับว่า เราไม่สามารถพ้นจากทุกข์ทางกายได้ แม้ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ เราก็ยังมีทุกข์อันเนื่องจากสังขาร คือร่างกายที่ประกอบขึ้นนี้ คิดง่ายๆ เวลาปวดท้องจะถ่ายหนัก ถ่ายเบานั้น เป็นทุกข์ไหม ทุกคนจะตอบได้จากประสบการณ์ตรงว่า ทุกข์อย่างยิ่ง

จากนั้น มีใครสักคนไหมที่ไม่เคยมีทุกข์อันเนื่องจากกาย ไม่มีเลย มีใครสักคนไหมที่ไม่เคยเจ็บป่วย ทั้งหมดนั้น จัดอยู่ในทุกข์ทางกายทั้งสิ้น

เราไม่สามารถเอาชนะทุกข์ทางกายในลักษณะนี้ได้

 

แต่ทุกข์ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบ และเป็นที่มาของคำสอนในพุทธศาสนาทั้งหมด คือทุกข์ทางใจอันเนื่องจากการยึดมั่นถือมั่นในตน ซึ่งในความจริงไม่มีตัวตนที่เที่ยงแท้

ทุกข์ตัวนี้แหละที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ และทรงยืนยันว่าเราสามารถเอาชนะได้ เราสามารถก้าวล่วงทุกข์นี้ได้

คำสอนสำคัญในพุทธศาสนาประการแรก คือ รู้ทุกข์

ทุกข์ที่เป็นสภาวะ คือ มันตั้งอยู่ไม่ได้ มันไม่ทน มันเปลี่ยนแปลง และท้ายที่สุดคือ มันไม่มีตัวตนที่เที่ยงแท้

เมื่อเราไม่เข้าใจธรรมะ (หลักธรรมชาติ) เราทำสวนทางกัน คือ ไปยึดเอาว่ามันต้องทน มันต้องไม่เปลี่ยนแปลง เราจึงจมอยู่ในความทุกข์

พอเราเข้าใจเรื่องทุกข์แล้ว เราเริ่มหน่ายทางโลกย์ หมายความถึงโลกียสุขต่างๆ เสพอาหารอร่อย เสพกามารมณ์ เสพวัตถุธรรมตามความอยากต่างๆ

 

เล่าเรื่องนกน้อยในกรงทองประกอบจะเห็นภาพมากขึ้น

นกน้อยตัวนี้มีเสียงร้องไพเราะนัก ท่านเศรษฐีผู้เป็นเจ้าของสั่งทำกรงทองให้อยู่ ทองคำนะคะ ไม่ใช่ชุบทอง มีเวลาให้อาหารสม่ำเสมอ เวลาท่านเศรษฐีกินอาหาร ก็มีนักร้องมาขับกล่อมประกอบวงดนตรี นกน้อยมีความสุขนัก

เปรียบได้กับมนุษย์ที่หลงมัวเมาอยู่ในกามสุข

เมื่อมีความพอใจอยู่กับสิ่งที่เป็น สิ่งที่มี ก็ไม่แสวงหาทางออก

เหมือนหนอนจมอยู่ในกองขี้อย่างมีความสุข

วันหนึ่ง โดยบังเอิญ นกน้อยในกรงทองมองเห็นนกที่โผผินบินอยู่ในท้องฟ้ากว้างอย่างมีอิสระและมีความสุข นกน้อยจึงคิดขึ้นได้ว่า กรงทองที่ตัวเองเคยภาคภูมิใจว่า ตนมีบ้านราคาแพงอยู่นั้น แท้จริงเป็นกรงที่กักขังตัวเอง ทำให้ไม่สามารถจะโบยบินไปในอากาศได้ตามธรรมชาติของนก

นับแต่นั้น นกน้อยได้ตระหนักว่า กรงทองนั้น แท้จริงเป็นกรงที่กักขังตัวเอง นกน้อยจึงแสวงหาทางออกจากกรงทองนั้น

มนุษย์เรา หากจะพอใจในความสุขทางกาย พึงพอใจที่จะเสพกาม ทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น และกาย อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ก็จะไม่แสวงหาทางออกจากโลกียสุข

ต่อเมื่อมนุษย์เกิดความตระหนักรู้ว่า ทั้งหมดนั้นคือการสร้างเหตุปัจจัยให้เรากลับมาเกิดอีก เสพอีก ตายอีก เวียนกันเป็นวัฏจักรไม่จบสิ้น

เมื่อเกิดความตระหนักรู้ใหม่ว่า พอแล้ว พอกันที

เราก็จะก้าวไปสู่การแสวงหาที่จะเข้าใจในทุกข์และออกจากทุกข์

ศาสนาพุทธสอน ซื่อ และตรง คือ สอนเรื่องทุกข์ และการออกจากทุกข์นั่นเอง

พระไตรปิฎกภาษาไทย 45 เล่ม ลงรายละเอียดในเรื่องต่างๆ แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็เพื่อให้เรารู้ทุกข์ และออกจากทุกข์เท่านั้น

เวลาพระทิเบตนุ่งสบง ท่านมีวิธีจับจีบสองข้าง ข้างแรก 2 จีบแรกปัดออกจากตัว คือ ทุกข์และสมุทัย อีกข้างหนึ่ง สองจีบเอาเข้าตัว เตือนให้ระลึกถึงอริยสัจตัวที่ 3 และ 4 คือ นิโรธและมรรค ที่เราต้องรักษาไว้

ชาวพุทธในประเทศไทยจับหลักไม่ได้ ก็มักส่งจิตออก วิ่งไปวัดโน้นวัดนี้ ไปแก้กรรม สแกนกรรม ทำพิธีเสริมดวง ปัดรังควาน แก้ของขลัง หาของขลังต่างๆ

เป็นลิงแก้แห เมื่อแก้ไม่ถูกจุด ก็อีนุงตุงนังหนักเข้าไปอีก

 

พระพุทธเจ้าทรงฝากฝังพระศาสนาไว้กับเราคือพุทธบริษัทนี้แหละ ไม่ได้ฝากไว้กับคนใดคนหนึ่ง เราต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน

ในประวัติศาสตร์เราได้เรียนรู้ว่า การที่พระศาสนาไปอยู่กับพระเท่านั้น ประวัติศาสตร์ก็แสดงให้ปรากฏแล้วว่า ในท้ายที่สุดพระศาสนาล่ม

ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 11-12 เมื่อเติร์กมุสลิมเข้ามารุกรานประเทศอินเดีย พระภิกษุ ภิกษุณี ในพุทธศาสนาเป็นเป้าหมายที่เด่นชัด เพราะครองจีวรสีแสด และโกนผม ทั้งพระภิกษุและภิกษุณีหนีตาย

สิ่งแรกที่ต้องทิ้งคือจีวร ที่เป็นหมายของความเป็นพระในพุทธศาสนา เมื่อพระสงฆ์ ทั้งภิกษุและภิกษุณีหมดไป อุบาสก อุบาสิกา เอาพระศาสนาในความหมายถึงพระธรรมคำสอนไปฝากให้พระภิกษุ ภิกษุณีศึกษาเล่าเรียน แต่ตนเองไม่มีความรู้ในพระธรรมคำสอน

ในท้ายที่สุดก็ถูกกลืนไปกับศาสนาฮินดู ซึ่งพยายามกลืนพุทธศาสนา สอนว่า พระพุทธเจ้าก็คืออวตารปางที่ 9 ของพระนารายณ์ การบูชาพระนารายณ์ก็เท่ากับการไหว้กราบพระพุทธเจ้า

ศาสนาพุทธจึงหมดไปจากประเทศอินเดียตั้งแต่ศตวรรษที่ 12

หากเรา ทั้งพระ ทั้งฆราวาส มาทำความเข้าใจเสียใหม่ว่า คำสอนในพระพุทธศาสนานั้นซื่อ คือตรงมากๆ ไม่มีอะไรซับซ้อน เราทำความเข้าใจเองได้

ใครพยายามมาพูดเรื่องใด เราจะตัดสินใจเองได้เลยว่า นี้ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะไม่ได้สอนให้เราคลายทุกข์ แต่สอนให้เราเข้าไปสร้างเหตุปัจจัยกลับมาสู่การเกิดใหม่ทั้งสิ้น

เราจะแยกแยะได้