เปิดวิธีคิดและการวางตัว “เลือดข้น คนจาง” เมื่อดาราเบอร์ใหญ่ เบอร์เล็ก ปะทะกันสนั่น!

เปิดวิธีคิดและการวางตัว “เลือดข้น คนจาง” เมื่อดาราเบอร์ใหญ่ เบอร์เล็ก ปะทะกันสนั่น

“ตอนเขียนก็วางภาพในใจนะว่า “อากง” ผมอยากชวนอาตู่ (นพพล โกมารชุน) “อาม่า” อยากชวนครูเล็ก (ภัทราวดี มีชูธน)” ย้ง-ทรงยศ สุขมากอนันต์ ผู้เขียนบทและกำกับการแสดงละคร “เลือดข้นคนจาง” เล่าถึงการทำงานให้มติชนสุดสัปดาห์ฟัง

ทั้งยังว่า เป็นความคิดที่ตั้งบนความอยากที่จะ “ไปเบอร์สุดให้หมด”

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เขาทาบทามนักแสดงในดวงใจอย่างนพพล ที่ชื่นชมมาแต่ครั้งเล่น “ลอดลายมังกร” ที่เขาเห็นตอนยังเด็ก รวมไปถึง “พี่ๆ นักแสดง” คนอื่นๆ

“ยุคที่ผมเป็นวัยรุ่น เข้ามหาวิทยาลัยเริ่มต้นเรียนหนัง พวกเขาเป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น เหมือนเราโตมาในยุคพี่กบ (ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี) พี่แท่ง (ศักดิ์สิทธิ์ แท่งทอง) พี่แหม่ม คัทลียา (กระจ่างเนตร์) ดูหนัง “กุมภาพันธ์” เห็นเจี๊ยบ โสภิตนภา (ชุ่มภาณี) ดู “กำแพง” เห็นปิ่น เก็จมณี (วรรธนะสิน) ซื้อเทปลิฟท์ (สุพจน์ จันทร์เจริญ) ทุกชุด”

เขียนบทไป ในหัวจึงคิดถึงคนเหล่านี้ไป แล้วก็โชคดีมากที่ได้มา

“จริงๆ พี่ๆ พวกนี้รวมตัวกันจะยากเรื่องคิวมาก ผมเลยใช้วิธีให้น้องๆ นักแสดงเด็กวัยรุ่นทุกคนสแตนด์บายไว้เลย 7 วัน”

รุ่นใหญ่ว่างวันไหนวันนั้นก็เป็นการถ่ายทำ

ทั้งนี้ นอกจากเรื่องคิวที่เด็กๆ ต้องปรับตัวแล้ว “การเทก” ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ย้งบอกว่า นอกจากจะส่งผลต่อตัวเด็กๆ นักแสดงแล้ว ยังสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้การกำกับของเขาด้วย

การได้นักแสดงเบอร์ใหญ่ทั้งที่เป็นรุ่นโต และเบอร์ใหญ่ในรุ่นเล็กๆ ซึ่งรวมๆ แล้วมี 25 ตัวนั้น ย้งบอกว่า ทุกคนและทุกตัวละครสำคัญหมด

“แอร์ไทม์ของแต่ละคนจะไม่เท่ากัน เพราะมันเท่ากันไม่ได้ แต่ทุกตัวมีสตอรี่ มีฟังก์ชั่นของเขาในละคร การมีเขาในเรื่องนี้มีเหตุผล ไม่ใช่มีเขา เพื่อเป็นตัวประกอบให้ใคร”

“ตอนเขียนบทผมจะถามตัวเองตลอดเวลา ว่ามีตัวละครนี้ไปทำไม มีไปทำไม จนผมมั่นใจแล้วว่ามีทำไม ซึ่งแปลว่าผมอยากให้มี แปลว่าผมจะไม่ปล่อยให้ตัวละครตัวไหนไม่มีความรู้สึกนึกคิด ซึ่งเมื่อไหร่ที่ตัวละครตัวนั้นมีความรู้สึกนึกคิด แปลว่าเขามีตัวตน และกล้องต้องไปรับหน้าเขา”

อย่างบท “อากง” ของนพพล ซึ่งกึ่งๆ จะเป็นบทรับเชิญ ย้งบอก “เหมือนอาจจะไม่ได้ใช้ฝีมือของอาตู่เต็มที่ แต่มันต้องการบารมี บารมีแบบอาตู่”

เรื่องการจะได้ออกจอมากหรือน้อย หรือบทบาทที่ได้รับสำคัญมากหรือน้อย ย้งบอกว่า “พี่ๆ นักแสดงผู้ใหญ่เขาก็ไม่ได้ติดอะไรหรอก เพราะเขารู้ว่าโปรเจ็กต์มันเริ่มจากอะไร แล้วเขาเป็นมืออาชีพกันหมด”

“แต่ถ้าผมจะชวนเขา ผมไม่ได้เอาเขามาเป็นนักแสดงสมทบให้นักแสดงวัยรุ่นนะ”

“ดังนั้น จึงไม่มีใครเป็นตัวประกอบให้ใคร แม้กระทั่งพวกรุ่นเด็กก็ตาม เด็กๆ 9 คนยังไงก็ไม่มีทางเท่ากัน เพียงแต่ทุกคนมีฟังก์ชั่น มีหน้าที่ต่อเรื่องราวนี้ ไม่มีใครที่ตัดทิ้งได้”

เขายังเล่าด้วยว่า จากการทำงานร่วมกัน นักแสดงทุกคนสร้างความประทับใจให้เขามาก

“บทอากงมาไม่นานก็เสียชีวิต แต่เราต้องการบารมี อาตู่ให้สิ่งนั้นได้นะฮะ ไม่ใช่ใครก็ให้ได้”

ขณะบท “เมธ” ก็เรียบนิ่ง แต่แท่งก็เล่นออกมาได้ดียิ่ง เช่นเดียวกับแหม่ม ที่สร้างความโดดเด่นให้ “ภัสสร” มากเหลือเกิน

“เฮียประเสริฐ” โดยกบ ทรงสิทธิ์ ก็เป๊ะ

“เขาอ่านบท แล้วทำการบ้าน ทำความเข้าใจตัวละคร พอปุ๊บ เทกแรกก็ใช่เลย”

“สิ่งเหล่านี้ถ้าไม่ได้นักแสดงมืออาชีพที่เก่ง หรือเป็นนักแสดงที่เข้าใจชีวิต ผ่านชีวิตมา คงไม่เป็นแบบนี้”

“ตัวละครผู้ใหญ่จึงไปไกลกว่าตอนที่ผมทำบท”

เขายังบอกด้วยว่าการ ทำละครเรื่องนี้ เขาได้เรียนรู้อะไรมากมาย

“ที่ผ่านมาทำงานกับนักแสดงวัยรุ่น ซึ่งมีไม่ต่ำกว่า 5 6 7 8 เทก 10 เทกก็เยอะมาก 30 เทกก็ยังมี พอมาเจอนักแสดงผู้ใหญ่ เขาถ่ายกันเทกสองเทกผ่าน”

 

ส่วนถ้าจะยึดหลักเทกสองเทก มากับรุ่นเด็ก “ในแง่หนึ่งก็ไม่ค่อยได้ปั้น อาจจะไม่ค่อยดีนัก”

“แต่นักแสดงที่เล่นแล้วอยู่รอดมาจนทุกวันนี้ แปลว่าเขาเอาตัวรอดจากการเทกสองเทกผ่าน คืออะไร ก็คือเขาทำเทกแรกดีเลยใช่ไหม ซึ่งถ้าผมไม่ได้ทำงานกับเขา ผมก็ไม่รู้นะ”

“เพราะกับน้องนี่ปั้นแล้วปั้นอีก กว่าจะมาดีในเทกที่ 7 ที่ 8”

“งั้นทำไมเราไม่สอนน้องแบบนี้”

“ผมก็เรียกทุกคนมาบอกว่า เด็กๆ พี่ทำไม่ได้นะ ถ้านักแสดงผู้ใหญ่เขาเล่นผ่าน แล้วน้องยังไม่ผ่าน แล้วจะให้เขาเล่นเทปที่ 4 5 6 7 เพราะพี่แก้น้อง ให้นักแสดงผู้ใหญ่มารอไม่ได้ ต้องเกรงใจและให้เกียรติเขา”

ขณะเดียวกันที่ทุกคนต้องยอมรับคือ เทกแรกๆ 1 2 3 นั้นมักจะได้ความสด ความไม่ช้ำ กับงานชิ้นนี้เขาจึงมีกฎใหม่ให้เด็กๆ ทุกคนว่า “ขอไม่เกิน 5 เทก” ยกเว้นซีนที่ยากจริงๆ ที่จะอนุโลมให้ไม่เกิน 7

“ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ชีวิตผม”

แต่คนดูไม่ต้องกังวลว่าจะเห็นการแสดงที่แย่ๆ เพราะนอกจากเขาจะใช้เทคนิคการตัดต่อเข้าช่วยแล้ว เด็กๆ ทุกคนก็พยายามยิ่ง

“มีวันหนึ่งถ่ายไอซ์ (พาริส อินทรโกมาลย์สุต) บอกวันนี้คือซีน 5 ดาว น้องต้องทำคะแนนให้ได้ ปรากฏว่าน้องทำไม่ได้ ผมก็บอกว่าผมผิดหวัง พูดแค่นั้นเลย หลังจากนั้นน้องไปทำอะไรมาไม่รู้ มาอีกทีเข้าฉากต่อไปทำได้เลย”

“ผมเลยรู้สึกว่า บางทีการใช้ระบบโหดๆ เป๊ะๆ พวกเขาก็เข้าใจ และพยายามพัฒนาตัวเพื่อให้ทันพี่ๆ”

เรื่องจริงจากครอบครัว

“ละครเรื่องนี้เป็นโปรเจ็กต์ที่ผมอินในลำดับต้นๆ เป็นสตอรี่ที่ตัวผมอินกับทุกตัวละคร กับเรื่องราว เป็นเรื่องครอบครัวที่ครอบคลุมทุกมุมทุกด้านในชีวิตผมที่สุด”

แต่ “ครอบครัวผมไม่มีกงสี ไม่เคยเกิดเหตุฆาตกรรม” เขารีบออกตัว กันความเข้าใจผิด

ก่อนอธิบายเสริมว่า ถ้าภาพยนตร์เรื่อง “เด็กหอ” จะเกิดมาจากประสบการณ์ชีวิตตอนถูกส่งตัวไปอยู่โรงเรียนประจำ จากคำถามที่เขาสงสัยว่า “อะไรนะที่ทำให้เราเริ่มต้นไปอยู่โรงเรียนนี้ โดยที่เราโกรธพ่อ เกลียดโรงเรียน ไม่เข้าสังคม แล้ว 2 ปีผ่านไปมันเปลี่ยนให้เราเข้าใจพ่อ รักโรงเรียน รักเพื่อน อันนั้นคือเด็กหอซึ่งก็คือจุดหนึ่งในชีวิต แล้วก็อาจจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ของเรากับพ่อ-แม่แค่ช่วงเวลาหนึ่ง”

“แฟนฉันก็อาจเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ-แม่ ช่วงเวลากับรักครั้งแรก ความรู้สึกต่อเพื่อนต่างเพศในครั้งแรก”

“ส่วนเรื่องนี้ส่วนตัวของผมที่ผมอินกับเรื่องครอบครัว เช่น ผมกับแม่ ผมกับพ่อ กับญาติคนอื่นๆ กับลูกพี่ลูกน้อง มันแทรกอยู่ในเรื่องนี้เต็มไปหมด”

“ยกตัวอย่าง จะมีซีนหนึ่งที่ภัสสรพูดกับอาม่าว่า ม้าจำได้ไหมตอนเด็กๆ ที่เรากินข้าวกัน สมมุติเรามีปู ปูมี 2 ก้าม ม้าคีบก้ามหนึ่งให้เฮียประเสริฐ อีกก้ามให้เฮียเมธ หนูไม่เคยได้ก้ามปู นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในครอบครัวผม”

ครอบครัวที่เขาในฐานะลูกชายคนโตได้ก้ามหนึ่ง ขณะที่อีกก้ามก็ถูกคีบให้น้องชายคนเล็ก

“ผมไม่รู้หรอกว่าน้องสาวผมรู้สึกอะไรไหม แต่ผมน่ะรู้สึก คือไม่รู้หรอกว่ามันดี ไม่ดี หรือมีความหมายอะไร แต่เป็นดีเทลที่เราจำได้ แปลว่ามันมีอะไรบางอย่างที่ฝังใจ”

“ลูกพี่ลูกน้องที่เคยสนิทมากๆ ตอนเด็กๆ พอวันหนึ่งเราเริ่มเรียนคนละโรงเรียน เริ่มมีเพื่อน เริ่มเป็นวัยรุ่น มีสังคมของเราเอง ก็เริ่มห่างหายกันไปตามกาลเวลา เรื่องอะไรแบบนี้จะถูกแทรกไปเรื่อยๆ”

ผ่าน “เลือดข้น คนจาง”