หนุ่มเมืองจันท์ : เพราะ “ถาม” จึง “เปลี่ยน”

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

วันก่อนผมอ่านเรื่องของ “หนุ่ม” นพดล วีรกิตติ ในเว็บไซต์ The Momentum

เขาเคยเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิก TCDC “Thailand Creative and Design Center” หรือ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ

ผมเจอ “หนุ่ม” เมื่อไม่นานมานี้ที่ศูนย์การค้าแห่งหนึ่ง

เพิ่งรู้ว่าตอนนี้เขาลาออกจาก TCDC แล้ว

เพื่อ “ใช้ชีวิต”

ให้เวลากับลูกมากขึ้น

และทำในสิ่งที่เขาชอบ

“หนุ่ม” เปิดโรงคั่วกาแฟขนาดเล็ก ใช้ชื่อว่า Seize the Day

“ไขว่คว้าวันเวลา”

เป็นประโยคที่ครูคิตติ้งสอนลูกศิษย์ในหนังเรื่อง Dead Poet Society

หนังในดวงใจของคนหลายคน

โรงคั่วกาแฟแห่งนี้สำหรับสมาชิกที่ต้องการกาแฟที่ตัวเองชอบ

เท่ไหมครับ

นอกจากนั้น เขายังสนใจเรื่องโครงการเกี่ยวกับการศึกษาด้วย

วันนั้น เราคุยกันเรื่อง “ความรู้” จากสื่อออนไลน์

ผมบอก “หนุ่ม” ว่าต่อไปเด็กอาจไม่สนใจการศึกษาในมหาวิทยาลัยแล้วก็ได้

เพราะ “โซเชียลมีเดีย” ทำให้ทุกคนเป็น “อาจารย์” ได้

ตอนนี้มีคนเก่งๆ ในเรื่องต่างๆ ทำคลิปสอนเรื่องที่ตัวเองรู้ดีออกมามากมาย

องค์กรที่ทันสมัยอย่างไมโครซอฟต์ กูเกิล แอปเปิล ฯลฯ ต่อไปอาจทำตัวเป็นมหาวิทยาลัย

สอน “ความรู้” ใหม่ๆ ให้กับคนทั้งโลก

“หนุ่ม” เห็นด้วยมาก

เพราะเขาก็เริ่มศึกษาความรู้ใหม่ๆ จากโลกออนไลน์

ยกตัวอย่างให้ผมฟัง 2-3 เรื่อง

“หนุ่ม” เอาจริงเอาจังมากกับเรื่องนี้

วันนี้ได้อ่านเรื่องราวของ “หนุ่ม” ใน The Momentum

เป็นบทสัมภาษณ์เมื่อประมาณเกือบ 2 เดือนที่แล้ว

เพิ่งรู้ว่า “หนุ่ม” เป็นหนึ่งในทีมขายระบบควบคุมอาคารด้วยระบบคอมพิวเตอร์ให้ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

เป็นคนออกแบบระบบการจัดเก็บข้อมูลและภาพให้กับ “ผู้จัดการ”

ผมชอบตอนที่เขาไปฝึกงานที่บริษัทที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างระหว่างประเทศที่เวียนนา ประเทศออสเตรีย

“หนุ่ม” จบวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ตอนไปฝึกงาน เขาได้รับมอบหมายให้ดราฟต์แบบบนโต๊ะเขียนแบบ

นั่งทำได้พักหนึ่ง “หนุ่ม” ก็เดินไปคุยกับหัวหน้างาน

เขาถามว่ามีงานอื่นให้ทำไหม เพราะการเดินทางกว่าพันไมล์จากเมืองไทยเพื่อมาดราฟต์แบบ

“มันไม่น่าจะมีประโยชน์กับเขามากนัก”

ใครจะนึกว่าคำถามนี้คำถามเดียวจะกลายเป็นคำถามเปลี่ยนชีวิตของ “หนุ่ม”

เพราะหัวหน้างานเห็นด้วย และมอบหมายงานใหม่ให้เขาศึกษาโปรแกรมการออกแบบ Autocad ที่กำลังนำมาใช้งาน

เป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่มีใครรู้เรื่อง

“หนุ่ม” กระโดดใส่ทันที เพราะดีกว่าต้องไปนั่งที่โต๊ะเขียนแบบ

เขาลุยอ่านคู่มือและศึกษามันอย่างจริงจัง

ในที่สุด เขาก็กลายเป็นคนที่รู้เรื่องโปรแกรมเป็นอย่างดี

และเมื่อทุกคนในบริษัทต้องเปลี่ยนมาใช้โปรแกรมใหม่

“เด็กฝึกงาน” จึงรับหน้าที่เป็น “ครู”

สอนวิศวกรทั้งหมดเรื่องโปรแกรม Autocad

ที่สำคัญ การเรียนรู้โปรแกรมใหม่ครั้งนี้ทำให้เขาเปลี่ยนความสนใจไปศึกษาเรื่องคอมพิวเตอร์อย่างจริงจัง

เส้นทางชีวิตของเขาเปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่วันนั้น

ทั้งหมดเกิดจาก “คำถาม” เดียว

“หนุ่ม” เคยอยู่ “ผู้จัดการ”

ผมก็เกือบไปทำงานที่ “ผู้จัดการ”

ตอนนั้นผมเพิ่งทำงานนักข่าวอยู่ที่ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้ประมาณ 2 ปี

ตามประสาเด็กหนุ่มไฟแรง

แม้จะสนุกกับงานข่าว แต่ก็รู้สึกขัดอกขัดใจกับปัญหาต่างๆ ในองค์กร

ทำไมไม่ทำนั่นทำนี่

ทำไมระบบเป็นอย่างนี้

พอนิตยสารผู้จัดการรายเดือนเปิดรับสมัคร ผมก็โดดใส่ทันที

สัมภาษณ์เรียบร้อย

เหลืออย่างเดียวว่าจะไปทำงานเมื่อไร

ช่วงเวลานั้นเอง ผมเริ่มตั้งคำถามกับตัวเอง

“เราพยายามเต็มที่แล้วหรือยัง”

เพราะการลาออกจาก “ปัญหา”

เราจะมอง “ที่เก่า” ด้วย “แว่นดำ”

เห็นอะไรก็เป็นปัญหา

มองไม่เห็น “ข้อดี” ของงานเดิม

ในขณะที่มอง “ที่ใหม่” ด้วยแว่นตา “สีชมพู”

อะไรก็สวยงามไปหมด

ทั้งที่ทุกแห่งก็มีปัญหา

ไม่มีที่ไหนไม่มีปัญหา

ผมไม่อยากมีปัญหาที่ใหม่ แล้วเมื่อมองกลับมาที่เก่าแล้วรู้สึกเสียดาย

เราน่าจะพยายามมากกว่านี้

แต่ถ้าเราพยายามแก้ปัญหาตอนทำงานที่เดิมเต็มที่แล้ว

วันที่มีปัญหาในที่ใหม่

เราจะไม่รู้สึกเสียดาย

เพราะเราเต็มที่แล้ว

ครับ หลังจากตั้งคำถามกับตัวเองว่า “เราพยายามเต็มที่แล้วหรือยัง”

คำตอบคือ “ยัง”

และทำให้ผมตัดสินใจทำงานต่อที่ “ประชาชาติธุรกิจ”

และอยู่ที่ “มติชน” มายาวนานกว่า 20 ปี

เพราะคำถามเพียงคำถามเดียว

วันก่อน ผมเพิ่งอ่านหนังสือ “คำถามฉุกคิด เปลี่ยนชีวิตทั้งคนถามและคนตอบ”

เป็นหนังสือแปลที่ซื้อมานานแล้ว

เขาแบ่งคำถามเป็น 3 กลุ่ม

เช่น 12 คำถามเปลี่ยนชีวิตให้มีความสุข

20 คำถามสร้างความสัมพันธ์ที่ยอดเยี่ยม

5 คำถามปลุกพลังตัวตนคุณ

เป็นรูปแบบคล้ายหนังสือ How To ทั่วไป

เช่น ตั้งคำถามว่าวันไหนเป็นวันที่คุณมีความสุขที่สุดในชีวิต

อะไรที่เข้ามาเติมเต็มชีวิตคุณได้มากที่สุด

ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในชีวตของคุณคืออะไร

ความฝันของคุณคืออะไร

ถ้ามีเวลาเหลืออีก 3 ปี คุณหวังว่าจะทำอะไรให้สำเร็จบ้างทั้งเรื่องส่วนตัวและเรื่องงาน ฯลฯ

ทุกคำถามมีเหตุผลรองรับว่าถามเพราะอะไร

อยากให้คุณคิดอะไร

แต่คำถามที่ผมชอบที่สุดคือคำถามนี้ครับ

“ถ้าต้องเขียนคำไว้อาลัยให้กับงานศพของตัวเอง คุณอยากเขียนถึงตัวคุณและชีวิตคุณอย่างไร”

อ่านแล้วอึ้งเลยครับ

เพราะการที่เราเขียนหนังสือไว้อาลัยให้ตัวเองในงานศพ

เราโกหกไม่ได้

เพราะเรารู้ว่าตัวเราเป็นอย่างไร

คำถามนี้ทำให้ได้ไตร่ตรองว่าสิ่งที่เราทำมาทั้งชีวิต กับสิ่งที่เราอยากให้คนจดจำนั้นเป็นเรื่องเดียวกันหรือไม่

ถ้า “ไม่”

ก็แสดงว่าเส้นทางที่เดินมานั้นบิดเบี้ยวไปจาก “ความฝัน” ของเรา

เราต้องหมุนพวงมาลัยแห่งชีวิตใหม่

เพื่อให้ชีวิตเดินไปตามเส้นทางที่เราอยากให้เป็น

แค่คำถามเดียว

“ชีวิต” ก็เปลี่ยนแล้ว