มาดามหลูหลี / Eriko Pretended : เอริโกะ…ขอร้อง

มาดามหลูหลี[email protected]

ที่ญี่ปุ่นมีอาชีพต่างๆ แปลกๆ หลายอาชีพ เช่น อาชีพสัปเหร่อในเรื่อง Departure ทำให้เห็นว่าการแต่งศพราวกับงานศิลปะ

อาชีพขายบริการทางเพศแบบไม่สัมผัสตัวใน Shoplifters ซึ่งนึกดูแล้วคล้ายการจับมือนักร้องวง AKB 48

และในภาพยนตร์เรื่อง Eriko Pretended หรือ “Mie wo Haru” ภาพยนตร์ญี่ปุ่นเล่าเรื่องอาชีพร้องไห้ในงานศพ ที่อาจเคยได้ยินว่าเป็นอาชีพโบราณ เช่นในเมืองจีน และคิดว่าไม่มีแล้ว แต่กลับยังหลงเหลืออยู่

ฉากเปิดของหนัง “เอริโกะ โยชิโอกะ (ฮารุกะ กูโบ) กำลังออดิชั่นเพื่อคัดตัวร่วมแสดง ในบทที่ต้องร้องไห้และเธอทำไม่ได้ เธอไม่สามารถคั้นน้ำตาให้ออกมาได้ จึงไม่ผ่านการคัดลือก

เอริโกะมาอยู่โตเกียวเข้าปีที่ 10 แล้ว แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จในอาชีพนักแสดง เธอได้เพียงถ่ายหนังโฆษณาเบียร์ยี่ห้อแรบบิต ซึ่งต้องแต่งตัวเต้นเป็นกระต่าย

ทั้งยังต้องทำงานพิเศษในร้านสะดวกซื้อ และเช่าห้องอยู่ร่วมกับแฟนหนุ่มกับเพื่อนแฟน สามคนในห้องแคบๆ ซึ่งเธอเป็นผู้ออกค่าเช่า

ยูกิโกะ (มายูมิ) พี่สาวเอริโกะ โทร.มาพูดคุยด้วยความห่วงใย และได้ส่งส้มรสหวานซึ่งปลูกเองมาให้น้องสาวกิน

และบอกกับเอริโกะว่าถ้าอยู่โตเกียวอยู่ยากอยู่ลำบาก ก็กลับบ้านเถอะ

 

เอริโกะรู้สึกหงุดหงิดไม่พอใจ ตัดสายพี่สาวทิ้งทั้งๆ ที่พี่ยังพูดไม่จบ โดยไม่รู้ว่านั่นคือโทรศัพท์ครั้งสุดท้ายที่ได้พูดคุยกับพี่สาว ด้วยในเช้าวันต่อมามีเพื่อนของพี่สาวได้โทร.มาแจ้งข่าวร้าย ว่ายูกิโกะถูกรถชนเสียชีวิต

ใบหน้าที่นิ่งเฉยของเอริโกะ จนไม่มีใครรู้ว่าเธอเสียใจหรือร้องไห้ในใจบ้างหรือไม่เมื่อเอริโกะกลับมาบ้านเพื่อร่วมงานศพของพี่สาว เพราะเธอร้องไห้ไม่ออก

มีญาติช่วยจัดงานศพให้พี่สาว และเอริโกะพบว่า 10 ปีที่ไม่ได้กลับมาบ้าน พี่สาวมีลูกชายอายุเกือบ 10 ขวบ ซึ่งญาติกำลังปรึกษากันว่าจะให้ใครดูแลเด็กชายคาซุมะ (อาทซึยะ โอคาดะ)

ระหว่างนี้เอริโกะจึงอยู่ที่บ้านนี้และดูแลหลานชายไปด้วย คาซุมะได้หยิบแผ่นซีดีที่ยูกิโกะบันทึกหนังโฆษณาเบียร์ที่เอริโกะร่วมแสดงเก็บไว้ และสิ่งต่างๆ ที่พี่สาวคนนี้ทำให้เธอและคนรอบตัว รวมทั้งการเลี้ยงลูกชายคนเดียวอย่างดี

เอริโกะเริ่มสัมผัสถึงความห่วงใยของพี่สาวอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นเพียงคำพูดลอยๆ หากมีรายละเอียดอันอ่อนโยนอย่างจริงใจซึ่งสัมผัสได้

แล้วเอริโกะก็ค่อยๆ รับรู้เรื่องราวชีวิตของยูกิโกะพี่สาวที่เธอไม่เคยรู้มาก่อน ไม่รู้ว่าพี่สาวทำอาชีพอะไร และหลานชายเป็นลูกของใคร

 

ในงานศพของพี่สาว เอริโกะได้พบกับมิกิ โอคาดะ (ฮานาเอะ ซากุระ) นายจ้างและเพื่อนร่วมงานของยูกิโกะ ผู้ซึ่งรู้เรื่องราวชีวิตของเอริโกะ เพราะยูกิโกะเล่าให้ฟังทุกอย่าง

เอริโกะจึงรู้ว่าพี่สาวมีอาชีพรับจ้างร้องไห้ในงานศพ ซึ่งมิกิเป็นเจ้าของบริษัท มิกิเล่าว่าเดิมมีธุรกิจรับจ้างร้องไห้ในงานศพมากมาย แต่ภายหลังปิดตัวลงเกือบหมด ที่มีอยู่ก็เป็นพวกหลอกลวงหลอกเอาเงิน

หากมิกิทำอย่างมืออาชีพ เธอร้องไห้อย่างสวยงามต่อหน้าผู้ตายในงานศพ ร้องอย่างจริงใจเสมือนหนึ่งเป็นการบอกตัวตนของผู้ตาย และการร้องไห้ให้ผู้ตายเป็นการสร้างสะพานเชื่อมโยงโลกนี้กับโลกหน้า ให้ผู้ตายมีทางเดิน

นึกถึงพิธีกงเต็กของชาวจีน ที่มีพระสวดช่วงข้ามสะพาน ให้ลูกๆ หลานๆ เดินตาม เหมือนไปส่งผู้ตายในอีกภพหนึ่ง และการเผากระดาษเงินกระดาษทองแทนการส่งเงินให้ผู้ตายไปใช้ในภพหน้า รวมทั้งเผาบ้าน รถ เครื่องเรือนเครื่องใช้ ซึ่งทำจากกระดาษอย่างสวยงามเหมือนจริง

มิกิบอกว่ายูกิโกะพี่สาวของเอริโกะร้องไห้ได้สวยงามกว่าเธอเสียอีก มีคนมาจ้างยูกิโกะให้ร้องไห้ในงานศพ เพราะเธอร้องไห้ได้งดงาม

 

ในระหว่างนี้ เอริโกะขอมิกิทดลองทำงานนี้ แต่เอริโกะผู้ไร้น้ำตา ที่ไม่ผ่านการทดสอบงานแสดง จึงไม่อาจร้องไห้ให้มีน้ำตาได้ แม้จะพยายามแค่ไหน การเสแสร้งทำเป็นสะอึกสะอื้นไห้ มิกิว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ยอมรับได้

วันหนึ่งมีคุณยายแก่ๆ มาว่าจ้างยูกิโกะ โดยไม่รู้ว่าเธอตายไปแล้ว เอริโกะรับงานนี้ด้วยตัวเอง จึงรู้ว่าผู้จ้างเตรียมไว้สำหรับงานศพตัวเอง

ในงานของคุณยายท่านนี้ เอริโกะร้องมีน้ำตาออกมาเองโดยไม่ต้องบีบคั้นอารมณ์ อาจเป็นเพราะเธอได้รู้จักคุณยายตอนตัวเป็นๆ

Eriko Pretended ดำเนินเรื่องง่ายๆ เนิบๆ ฉายภาพครอบครัวที่ดูเหมือนต่างคนต่างอยู่ หากยังห่วงใยใส่ใจกันอยู่ลึกๆ จากฝีมือกำกับฯ ของอากิโยะ ฟูจิมูระ ที่หลังจากกำกับฯ เรื่องนี้เป็นเรื่องแรกแล้ว ทันทีที่หนังเข้าฉาย ฝีมือยังไปเข้าตาผู้กำกับฯ ระดับปรมาจารย์อย่างฮิโรสุ โคริเอดะ จนทำให้ฟูจิมูระได้กำกับฯ ร่วมตอนหนึ่งในโปรเจ็กต์พิเศษของโคริเอะอย่าง “10 Years Japan” อีกด้วย

สังคมที่มากไปด้วยผู้สูงอายุ และมีปฏิสัมพันธ์น้อยลง ความเชื่อมโยงทางจิตใจลดลง การร้องไห้ในงานศพโดยคนที่ไม่ใช่ญาติ อาจเป็นอาชีพที่น่าสนใจ

แต่ที่น่าเสียใจมากกว่าคือ ถ้าตายโดยไม่มีใครร้องไห้เสียใจ!!!