สภาวะ แห่ง “ว่าง” อาการ แห่ง การไหลเรื่อย ความวุ่น ความว่าง

ไม่ว่าในเรื่อง “ความว่าง” ไม่ว่าในเรื่อง “ความวุ่น” สามารถประสบพบเจอได้ในชีวิตประจำวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

เพียงแต่จะ “มอง” อย่างไร

มองอย่างที่ตาเห็น มองอย่างที่ใจคิด มองตามความเป็นจริงเบื้องหน้า หรือมองทะลุทั้งความว่างและความวุ่น

เลยออกไป

สิ่งที่ท่านพุทธทาสภิกขุบรรยายมาอย่างต่อเนื่องเป็นเรื่องของ “โลกุตตระ” อย่างเด่นชัด แต่ก็มิได้แยกห่างไปจากเรื่องของ “โลกียะ”

เราผ่านรายละเอียดในเรื่อง “สาม ก.” มาแล้ว กิน กาม เกียรติ

ขณะเดียวกัน เรายังได้สัมผัสเข้ากับอุปมาแห่ง “สาม ส.” อันเป็นความยอดเยี่ยมอย่างยิ่ง นั่นก็คือ สะอาด สงบ สว่าง

เรารู้ว่า 2 ส่วนนี้ “สัมพันธ์” กัน

คำถามอยู่ที่ว่า เราจะทำความเข้าใจกับ กิน กาม เกียรติ อย่างไร คำถามอยู่ที่ว่า เราจะนำเอาความล้ำเลิศแห่ง สะอาด สงบ สว่าง มาทำความเข้าใจอย่างไร

นี่เป็นเรื่องอย่าง “เหนือโลก” และแนบแน่นอยู่กับ “โลก”

ไม่ว่าเรื่องว่าง ไม่ว่าเรื่องวุ่น เกิดขึ้นและดำรงอยู่อย่างเป็นส่วนหนึ่งของโลก แต่เมื่อศึกษามากขึ้นๆ ก็มองเห็นความจำเป็นที่จะต้องทะยานขึ้นไปมองจากข้างบนลงมา

ต้องอ่าน

 

ถ้าพูดว่า “ว่าง” แล้วหมายว่าไม่มีอะไรนั้นเป็นความว่างของเด็กๆ เป็นความรู้สึกนึกคิดอย่างเด็กๆ แต่การมองให้เห็นว่าเป็นของว่างก็ยังดีกว่าเห็นว่ามีอะไรมากๆ

เพราะความว่าง ความไม่มีอะไรนี้มันก็เป็นความจริงอยู่ส่วนหนึ่งเหมือนกัน

แต่คนไม่กล้าคิดไปในทำนองว่าว่างเพราะเขาเคยชินมาตั้งแต่เล็ก ยึดถือแต่เรื่องจะมีนั่น มีนี่ รักนั่น รักนี่ เกลียดนั่น เกลียดนี่ พอพูดว่าว่างก็กลัว สะดุ้งกลัว มีจิตใจกลัวเหมือนกลัวตาย

กลัวคำว่าว่างเหมือนกับกลัวความตาย

ก็เข้าใจคำว่า “ว่าง” นี้ไม่ได้ แล้วก็เลยไม่สนใจคำนี้อีกต่อไป เลิกกัน เขาจึงไม่ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้

คือ ไม่รู้เรื่อง “ความว่าง” ขึ้นไปตามลำดับๆ จนถึงว่างที่สุด คือ “นิพพาน”

พุทธภาษิตว่า “นิพพานัง ปะระมัง สุญญัง-ว่างอย่างยิ่งนั่นแหละ คือนิพพาน” ก็ได้ยินได้ฟังกันอยู่ทุกคน

แต่ไม่เข้าใจ

 

ว่างเด็ดขาดก็เป็นพระอรหันต์ ว่างไม่เด็ดขาดก็อย่างที่พระอริยเจ้ารองๆ ลงมา แม้แต่เราปุถุชนธรรมดาชั้นดีหน่อยก็ยังมีว่างอยู่บ้าง

ถ้าว่างเด็ดขาดก็ไม่มีทุกข์เลย ก็เป็น “นิพพาน”

ถ้าว่างยังไม่เด็ดขาด ยังกลับไปกลับมาอีก ก็เป็น “พระอริยเจ้า” รองๆ ลงมา กระทั่งเป็น “ปุถุชน” ชั้นดี

นี่ก็ยังดีกว่าไม่ว่างเสียเลย

ฉะนั้น ถ้าเห็นโทษของความวุ่นอยู่ก็รักความว่างมากขึ้น คือ พอใจในความว่างมากขึ้น ก็คือพอใจใน “นิพพาน”

ดังนั้น ในมุมกลับเราดูที่ความวุ่นก็ได้ ดูที่ความทุกข์ทรมานก็ได้ แล้วจิตจะน้อมไปหา “ความว่าง” เอง

การทำ “วิปัสสนา” นั้นดูที่ความทุกข์ก็ได้ หรือจะดู “นิพพาน” คือ ความว่างเป็นอารมณ์ก็ได้ สลับสับเปลี่ยนกันไปตามเรื่อง ตามความเหมาะสม นี่เรียกว่าเป็นผู้รู้ “พระนิพพาน” คือสิ่งที่ว่างที่สุด เป็นการชิมลางไปก่อนแล้วจึงค่อยๆ แน่นแฟ้นมากขึ้น

เรานั่งหรือนอนอยู่ในที่ที่มีอะไรมากลุ้มรุมให้เราเกิดความยึดถือ เช่น ไปที่ชายทะเล ไปที่ภูเขา ไปในป่า ในดง ฯลฯ มันไม่มีอะไรยั่วให้เกิดความรู้สึกที่เป็นความวุ่นเราก็รู้สึกสบายอย่างบอกไม่ถูก

นี่มันก็เป็นตัวอย่างหรือเป็นพยานที่เพียงพอแล้วว่าเรื่องว่างนั้นถูกแน่

มันว่างได้เพราะไม่มีอะไรมาเป็นเหตุให้เรายึดถือ คือ ไม่มีอะไรมาทำให้จิตกระเพื่อมเป็น ราคะ โทสะ โมหะ เราจึงว่างอยู่ เราจึงสบาย

ฉะนั้น การเสพคบกับที่สงัด เช่น ป่า ภูเขา หรือทะเล ฯลฯ ได้บ้างนี้ก็ดี ช่วยให้ได้ชิมลองความว่าง ถ้าเกิดติดใจก็จะขวนขวายต่อไปเรื่อยๆ ก็จะเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า “ความว่าง” ขึ้นมาได้โดยไม่รู้สึกตัว ฉะนั้น การไปเที่ยวป่า ทะเล ภูเขา ฯลฯ บ่อยๆ อย่างนี้ดี

นอกจากพักผ่อนทางร่างกายแล้วมันยังสอนเรื่องความว่างนี้ไปในตัว

 

จากนี้จึงเห็นได้ว่า ไม่ว่าเรื่องสุข ไม่ว่าเรื่องทุกข์ ล้วนวนเวียนอยู่โดยรอบกับความว่าง ล้วนวนเวียนอยู่โดยรอบกับความวุ่น

เป็นเรื่องของ “โลก” เป็นเรื่องของ “เหนือโลก”

เจตนาของท่านพุทธทาสภิกขุที่เน้นย้ำในเรื่องของ “ความว่าง” อย่างเปรียบเทียบกับ “ความวุ่น” จึงเพื่อความเข้าใจ

เข้าใจในเรื่อง “โลก” เข้าใจในเรื่อง “เหนือโลก”