ฉัตรสุมาลย์ : สมมติสีมารักษาพระศาสนา

กําลังอ่านจารึกกัลยาณีอยู่ค่ะ ที่ต้องอ่านจารึกนี้เพราะท่านธัมมนันทาต้องไปช่วยภิกษุณีสงฆ์ที่บังกลาเทศรับกฐิน

เราออกพรรษากันวันที่ 16 ตุลาคม 2559 เวลาเขียนบทความต้องใส่ พ.ศ. กำกับ และต้องทำให้เป็นนิสัย หลายปีผ่านไป เอามาอ่านอีกที ไม่รู้ว่าปีไหน ก็เรากำลังบันทึกประวัติศาสตร์ การลงวันที่กำกับช่วยความจำของเราได้มากนะคะ

พอออกพรรษาแล้วก็นับไปโดยประมาณ 4 อาทิตย์ เป็นช่วงที่เราไปทอดกฐินกัน ในช่วง 4 อาทิตย์นั้น ทอดได้ทุกวันนั่นแหละ แต่ทอดวันธรรมดา คนมาน้อย เขาไปทำงานกันไง

ตกลงความนิยมก็มาลงที่ทอดกฐินวันเสาร์อาทิตย์ เราได้เพียง 4 อาทิตย์ดังที่ว่า วันสุดท้าย จำได้ง่ายๆ คือวันลอยกระทงค่ะ

พอถึงวันลอยกระทง คือเพ็ญเดือน 12 หมดฤดูกฐิน

 

เนื่องจากที่บังกลาเทศนั้น มีภิกษุณีสงฆ์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เพิ่งได้ 1 พรรษาที่ผ่านมานี้เอง บ้านเมืองเขาประชากรส่วนใหญ่ 156 ล้านคน เป็นมุสลิมเสียเกือบหมด มีชาวพุทธเพียง .7 เปอร์เซ็นต์ ค่ะ ไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำไป

เมืองที่มีชาวพุทธกระจุกตัวกันมาก คือเมืองจิตตากอง เราก็จะไปทอดกฐินที่จิตตากองนี่แหละ เมื่อกลับมาแล้วน่าจะได้มีเรื่องเล่าต่อนะคะ เนื่องจากที่นั่นเป็นประเทศมุสลิม เขาหยุดวันศุกร์ ชาวพุทธที่นั่นก็เลยทอดกฐินวันศุกร์ ศุกร์ที่ 28 ตุลาคมค่ะ

ทอดกฐินก็ควรจะได้ทอดในสีมา สีมาก็ยังไม่ได้สมมติ เราก็เลยต้องสมมติสีมาให้เขาด้วย

 

ที่อ่านจารึกกัลยาณี เป็นเรื่องราวสมมติสีมาโดยตรงเลยค่ะ กัลยาณีเป็นชื่อวัดอยู่ในพม่า อยู่ในเมืองพะโค ซึ่งเคยเป็นเมืองหลวงของชาวมอญ พวกมอญนี้ต้องถือว่าเป็นต้นกำเนิดของพุทธเถรวาทในแถบนี้เลยทีเดียว

ที่วัดกัลยาณี มีจารึกเป็นแผ่นหินสูง 7 ฟุต กว้าง 4 ฟุต ทั้งหมดมี 10 แผ่น จารึกข้อความที่ว่าด้วยวิธีการสมมติสีมาโดยตรง

พระเจ้าธัมมเจตี ถ้าเขียนแบบที่จะให้คนไทยคุ้น น่าจะเป็นธัมมเจดีย์ ในบทความนี้ ขอเขียนตามแบบเดิมของเขานะคะ ท่านเคยเป็นพระภิกษุมาก่อน ก่อนที่จะมาครองราชย์ เมื่อขึ้นครองราชย์ ท่านถือว่า ท่านเป็นผู้คุ้มครองพระศาสนา ท่านจึงให้ความสนใจเรื่องการสืบพระศาสนาอย่างมาก

ท่านครองราชย์ในช่วง ค.ศ.1462 ถึง 1492 (พ.ศ.2005-2035) ในศตวรรษที่ 15 นั้น ถือว่าเป็นช่วงของการรักษาพระศาสนาในรามัญญประเทศให้บริสุทธิ์ จารึกกัลยาณีที่ว่านี้ ทำขึ้นใน พ.ศ.2019

ที่น่าสนใจคือพระเจ้าธัมมเจตีท่านเห็นว่าการรักษาพระศาสนาที่เรียกว่าศาสนาสุทธินั้น เชื่อมโยงกับการสมมติสีมาโดยตรง เพราะหากสมมติสีมาทำไม่ถูกต้องแล้ว การอุปสมบทที่กระทำในพระอุโบสถนั้นก็ไม่ถูกต้องไปด้วย

แล้วการสืบพระศาสนาต้องกระทำโดยคณะสงฆ์ หากพระสงฆ์ในแผ่นดินไม่ได้บวชมาอย่างถูกต้อง พระศาสนาก็ดำเนินต่อไปไม่ได้ เพราะการอุปสมบทนั้นเสียมาตั้งแต่สถานที่ใช้ในการอุปสมบท

 

เราก็เลยมาทบทวนให้ท่านผู้อ่านที่ไม่เคยบวชเข้าใจพร้อมๆ กัน สมบัติ หรือคุณสมบัติในการอุปสมบทมี 4 อย่าง คือ

วัตถุสมบัติ หมายถึงคนที่จะบวชนั้น ไม่บ้าใบ้บอดหนวก ไม่เป็นโรคภัยที่จะเป็นอุปสรรคต่อการบวช ไม่มีหนี้สิน ไม่หนีทหารมาบวช และอายุครบ 20 ถ้าเป็นผู้หญิงก็จะมีเงื่อนไขละเอียดขึ้น ถ้าสมบัติไม่ครบ เรียกว่า วิบัติ

ปริสสมบัติ คือ คณะสงฆ์ที่บวชให้ ครบองค์สงฆ์ ผู้เป็นอุปัชฌาย์มีคุณสมบัติครบถ้วน พระสงฆ์ที่เข้าร่วมในพิธีอุปสมบท เป็นพระสงฆ์ที่รักษาพระธรรมวินัย

เคยมีเรื่องของพระอาจารย์สังฆรักษิต ชาวอังกฤษที่บวชเป็นพระภิกษุในประเทศอินเดีย ต่อมาท่านทราบว่า พระภิกษุที่อยู่ในคณะที่บวชให้ท่านนั้น มีครอบครัวมีลูกมีเมีย ถือว่าการอุปสมบทของท่านปริสวิบัติ ท่านแน่มากเลย ลาสิกขา เพราะถือว่าการอุปสมบทของท่านเป็นโมฆะ แล้วเขียนหนังสือเปิดเผยว่าทำไมท่านต้องลาสิกขา

สีมาสมบัติ ตรงนี้แหละที่เป็นที่มาของความสนใจของเราในบทความเรื่องนี้ การอุปสมบทต้องกระทำในสีมา คือเขตที่ได้ผูกพัทธสีมาแล้ว เรียกว่าทำสังฆกรรมอย่างถูกต้อง

ในจารึกที่อ่านนี้ นับว่าเป็นคู่มือการผูกสีมาได้อย่างดี และในความเป็นจริง พระเจ้าธัมมเจตีก็ต้องการให้เป็นเช่นนั้น

เรื่องการสมมติสีมา เป็นสังฆกรรมที่นานๆ จะได้ทำสักครั้ง จึงต้องอาศัยพระผู้ใหญ่ชี้แนะ พระบางรูปในบ้านเรา อาจจะไม่เคยมีประสบการณ์ในการเข้าร่วมในสังฆกรรมเช่นนี้ก็เป็นได้ ความรู้ที่มีก็จะพร่ามัว เพราะไม่ต้องลงมือทำเอง ไม่เหมือนกับออกบิณฑบาต ที่ต้องทำทุกวัน ถ้าการสมมติสีมาไม่ถูกต้อง มันก็จะโยงไปหมด การอุปสมบทก็ไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ จะขอวกกลับมาพูดในรายละเอียดเรื่องการสมมติสีมาอีกครั้ง

สมบัติสุดท้ายของการอุปสมบท คือ กรรมวาจาสมบัติ ทั้งหมดเป็นภาษาบาลี ผู้ขอบวชต้องออกเสียงให้ชัดเจนถูกต้อง

ถ้าออกอักขระเพี้ยนก็จะทำให้สังฆกรรมนั้น วิบัติไปด้วย

 

ท่านผู้อ่านจะเห็นความสำคัญชัดเจนมากขึ้นแล้วนะคะว่า การสมมติสีมา พระเจ้าธัมมเจตีเห็นว่าเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย พระศาสนาจะบริสุทธิ์ได้ ก็เพราะทำสมมติสีมาถูกต้องมาเป็นพื้นฐาน

พระเจ้าธัมมเจตีท่านให้ศึกษาอย่างละเอียดเพราะทรงตั้งใจให้เป็นมาตรฐานการสมมติสีมา ในจารึกระบุว่า เริ่มต้นจากพระวินัย ในมหาวรรค (เล่มที่ 4 ค่ะ) ศึกษาจากวินัยบาลี วินัยอรรถกถา วินัยฎีกาที่เขียนโดยพระอาจารย์วชิระพุทธิเถระ ที่เป็นพระอาจารย์ที่เคารพกันในสมัยนั้น จากนั้น ศึกษาจากกังขาวิตรณี ซึ่งเป็นมาติกาอัฏฐกถา วินัยวินิจฉัยปกรณ์ วินัยสังคหปกรณ์ สีมาลังการปกรณ์ และสีมาลังการสังคหะ เรียกว่าเป็นการศึกษาโดยละเอียด

ที่ดินที่จะจัดให้เป็นสีมานั้น ต้องเคลียร์พื้นที่ให้เรียบร้อย ไม่ใช่ว่ามีต้นไม้ใหญ่แล้วกิ่งของต้นไม้ใหญ่เข้ามาในพื้นที่ หรือพื้นที่เกยกันอยู่กับบ้านเรือนของชาวบ้าน

ปรับพื้นที่ให้เรียบร้อย พระสงฆ์ที่อยู่ด้วยกัน ต้องมาทำพิธีสมมติสีมาด้วยกันทั้งหมด สิ่งที่จำเป็น คือนิมิต

นิมิต แปลว่า หมาย นิมิตธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ภูเขา เป็นต้น แต่ในจารึกก็ยังลงรายละเอียดมากขึ้น ว่า น้ำชนิดไหนที่จะถือเป็นเขตได้ ภูเขาชนิดไหนที่ถือเป็นเขตได้ ที่เรามักคุ้น คือ ลูกนิมิต เคยได้ยินไกด์แปลให้ฝรั่งฟังว่า dream ball ชะอุ๋ย

ตามปกติแล้ว การวางลูกนิมิต จะวางด้านละสามลูก ลูกตรงกลางนั้น วางอยู่ตรงจุดที่สายพระเนตรของพระประธานตกต้องพอดี เวลาสร้างพระอุโบสถก็ต้องวัดระยะและองศาที่ลูกนิมิตลูกกลางอยู่ด้วย

ศรีลังกา ไม่มีลูกนิมิต แต่จะใช้หินทั้งแท่ง ฝังลงไปในดินครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งโผล่เหนือดิน มักนิยมสลักวันเดือนปีที่ทำพิธีบนส่วนบนของเสาสีมา

แต่ของไทยมาฝังลูกนิมิตลงไปในดิน เหนือดินเป็นแผ่นสีมา ซึ่งเป็นหมายบอกตำแหน่งของลูกนิมิตที่อยู่ในดิน

 

เพื่อให้แน่ใจว่า ที่ดินนั้นไม่มีเจ้าของมาก่อน ไม่มีการทับซ้อนเขตสีมาเดิม จึงนิยมสวดถอน

ก่อนที่จะทำสังฆกรรมสวดถอน หรือสวดสมมติ พระอาจารย์ท่านสอนว่า ให้ทักนิมิต คือให้กำหนดเขตเสียก่อน ว่าเราจะทำพิธีที่ว่านี้ ในเขตนี้ที่กำหนด การสวดทักนิมิต เริ่มจากทิศตะวันออก เวียนขวา จนกลับมาที่จุดเดิม หากไม่กลับมาที่จุดเดิม ถือว่าขาดนิมิต

การทักนิมิต ที่ทำในศรีลังกา ให้โยมคนหนึ่งยืนอยู่นอกเขตสีมา เป็นคนคอยตอบ โดยพระที่อยู่ในเขตสีมาจะถามว่าทิศนี้ ระบุทิศ มีอะไรเป็นหมาย หากมีก้อนหินเป็นหมาย ก็จะตอบว่า มีหินเป็นหมาย “ปาสาโณ ภันเต” พระผู้สวดก็จะรับโดยพูดซ้ำว่า ทิศนี้มีก้อนหินเป็นหมาย ที่ศรีลังกาจะทักนิมิตแต่ละทิศเพียงครั้งเดียว แต่ในจารึกกัลยาณีให้ทักสามครั้ง

จะเวียนไปทั้ง 4 ทิศและอนุทิศ ตามก้อนหินที่วางไว้ทั้งหมด 8 ลูก ต้องสวดซ้ำที่ลูกที่ 1 ด้วยจึงนับว่าครบวงจร

สำหรับการทักนิมิตนี้ พระให้ครบองค์สงฆ์ก็พอ นั่นคือ 4 รูปก็สามารถทำได้

เรื่องอย่างนี้ จึงต้องมีครูบาอาจารย์สั่งสอน บอกกล่าว

 

เมื่อทักนิมิตแล้ว เป็นหมายว่า พระทุกรูปที่มาทำพิธีอยู่ในเขตสีมา รู้ชัดเจนว่าจะทำพิธีในเขตที่กำหนดนี้ จึงสวดถอน การถอนนั้น ให้ถอนการอนุญาตให้อยู่โดยปราศจากจีวรสามผืน ภาษาบาลีเรียกว่า ติจีวราวิปปวาส จากนั้น จึงสวดถอนสมมติสีมาของเดิม

ที่ศรีลังกาจะตีตารางบนพื้นดินที่จะสร้างอุโบสถ ตีเป็นสี่เหลี่ยม เริ่มจากทิศตะวันออก พระที่มาร่วมในพิธีเข้าไปยืนในสี่เหลี่ยมที่ตีตารางไว้ แต่ละรูปอยู่ในหัตถบาส คือไม่ห่างกันจนเกิน แต่ไม่ชิดจนเกยกัน แล้วสวดถอนต่อด้วยสวดสมมติ เมื่อเสร็จจึงขยับไปสี่เหลี่ยมถัดไป เหมือนจูงนางเข้าห้อง จนถึงสี่เหลี่ยมในสุด

ตามแบบศรีลังกานั้น ใช้เวลายาวนานมากตั้งแต่สี่ทุ่มไปเสร็จเอาตอนตีสี่

ส่วนการสวดสมมติ คือประกาศว่าเขตนี้เป็นเขตของสงฆ์ที่สงฆ์จะใช้ทำสังฆกรรม ให้สวดสมมติสีมาก่อน แล้วจึงสวดสมมติติจีวราวิปปวาส ในจารึกกัลยาณีให้สวด 7 ครั้งค่ะ

ที่อินโดนีเซีย อุโบสถของภิกษุณีเล็กมาก เข้าไปนั่ง 5 รูปก็เต็มแล้ว

ท่านธัมมนันทาเคยรับนิมนต์ไปสวดถอน แล้วสมมติใหม่ ขนาดที่เล็กที่สุดนั้น กำหนดว่า ควรจะให้พระเข้าไปนั่งในหัตถบาสได้อย่างต่ำ 21 รูป

อันนี้ก็มีที่มา สังฆกรรมเดียวที่ต้องการจำนวนพระสงฆ์มากเท่านั้น คือ พิธีอัพภาน อธิบายโดยย่อว่า เวลาพระทำผิดขั้นหนัก เช่น ละเมิดสังฆาทิเสส ต้องถูกขับไล่ออกไปอยู่นอกคณะสงฆ์ ที่เรียกว่าไปอยู่ปริวาส เมื่อเห็นว่า พระรูปนั้น สำนึกในความผิดแล้ว คณะสงฆ์จะรับกลับเข้ามาร่วมในคณะสงฆ์เดิม ต้องมีการสวดรับ เรียกว่าอัพภาน สังฆกรรมนี้ต้องใช้พระสงฆ์ถึง 20 รูป รวมทั้งเจ้าตัวอีก 1 จึงเป็น 21 รูป

และต้องทำพิธีอันเป็นสังฆกรรมนี้ในเขตสีมา

 

การสร้างพระอุโบสถ แม้ขนาดเล็กที่สุด ก็พึงพิจารณาว่า พระ 21 รูปเข้ามานั่งในระยะที่เอื้อมกันถึง ที่เรียกว่า หัตถบาส นั่นเอง

บางแห่งนิยมนิมนต์พระเข้าแถวเรียงเป็นหน้ากระดานเวลาทำพิธีสวดสมมติสีมา เพื่อให้แน่ใจว่าทำถูกต้อง แต่หากมีการทักนิมิต คือประกาศหมายบอกเขตตั้งแต่แรกแล้วว่าพิธีสมมติสีมาจะกระทำในเขตนี้ ก็อาจจะไม่มีความจำเป็นที่ต้องเดินเป็นหน้ากระดาน

หากเราทำตามประเพณีแบบเถรส่องบาตรบางครั้งก็จะกลายเป็นเรื่องชวนหัว เดี๋ยวกลับมาจากบังกลาเทศจะเล่าให้ฟังอีกทีค่ะ