ทิศทาง แนวทาง วรรณกรรม อัตถนิยมใหม่ ต่อโลก และชีวิต

ระหว่างการทำงานศิลปะและวรรณคดี กับการประเมินความสำเร็จของงานศิลปะและวรรณคดีนั้น ปมเงื่อนที่แตกต่างกันอยู่ตรงที่เอกภาพระหว่าง “รูปแบบ” กับ “เนื้อหา”

รายละเอียดมิใช่สิ่งที่แยกขาดออกจากกันระหว่าง “เนื้อหา” กับ “รูปแบบ”

ตรงกันข้าม รูปแบบและเนื้อหาดำรงอยู่อย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพียงแต่ในแต่ละขั้นตอนจักต้องจัดการความสัมพันธ์ 2 ส่วนนี้ให้เหมาะสม

สำหรับผู้ทำงานศิลปะและวรรณคดี การคำนึงถึง “เนื้อหาที่ดี” เป็นสิ่งสำคัญ

แต่ “เนื้อหาที่ดี” นั้นจักต้องดำรงอยู่ในรูปการณ์ทางศิลปะ “อันเหมาะสมและสอดคล้องกันจนกระทั่งมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันด้วย” เนื้อหาที่ดีนั้นจึงจะถือว่าประสบความสำเร็จในการสำแดงออก

ความโน้มเอียงไปยึดด้านใดด้านหนึ่งเพียงด้านเดียวล้วนไม่เป็นผลดี

กล่าวคือ ถ้าโน้มเอียงไปข้างรูปแบบแต่ละเลยเนื้อหาก็จะเข้าข่ายอย่างที่ บรรจง บรรเจิดศิลป์ สรุปว่าเป็นเช่นเดียวกับศิลปินของชนชั้นปฏิกิริยาที่ความคิดหยุดนิ่งแล้วโดยสิ้นเชิง แต่ถ้าโน้มเอียงไปข้างเนื้อหาแต่ละเลยรูปแบบงานที่ออกมาก็แห้งแล้ง ไร้ชีวิต ขาดความตรึงตรา

โดยที่ วัฒน์ วรรลยางกูร เคยเปรียบเทียบว่า เนื้อหากับรูปแบบมีความสัมพันธ์กันแนบแน่นเสมือนโครงกระดูกกับเนื้อ นั้นคมคายยิ่งนัก

 

เนื่องจากนักเขียนที่อยู่ในสกุล “อัตถนิยมใหม่” ถือว่าวรรณกรรมเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการต่อสู้ทางชนชั้นเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองอันแน่นอนหนึ่ง

ดังนั้น นักเขียนในแนวทางนี้จึงไม่เพียงแต่จะต้องเป็นผู้มีความสามารถในทางการประพันธ์เท่านั้น หากแต่ยังจะต้องมีความเข้าใจถึงวิถีดำเนินแห่งสังคมอย่างเป็นวิทยาศาสตร์

เท่านั้นยังไม่พอ

หากแต่เขายังจะต้องเข้ามีส่วนร่วมในการผลักดันวิถีดำเนินนั้นให้ก้าวไปในทิศทางที่ถูกต้องและมีชัยด้วย

ใน “ความรักของวัลยา” จึงนำเสนอกรณี “การเคลื่อนไหวสันติภาพ”

โดยศึกษาจากพัฒนาการของเรอเน ศิลปินในสกุล “เหนือจริง” ที่เกิดความตื่นตาตื่นใจกับการแสดงออกของเด็กๆ แห่งมหานครปารีส ยังนำเอา “ปฏิมา” แห่ง ยง อยู่บางยาง มาให้ได้สัมผัส

คล้ายกับเป็นการเจาะเข้าไปในเส้นทางอันสลับซับซ้อนของชนกรรมาชีพในทางสากล แต่ที่เด่นยิ่งกว่านั้นยังเป็นการนำเสนอ “ความงาม” อย่างมีลักษณะชนชั้น

เป็น “ความงาม” จาก “มือ” ของสตรีแห่งชนชั้นแรงงาน

 

เมื่อ พ.เมืองชมพู เขียนถึงนวนิยายเรื่อง “จนกว่าเราจะพบกันอีก” ก็ได้ชี้ถึงข้ออ่อนของนวนิยายเรื่องนี้ และเหตุอันทำให้โกเมศอยู่ในฐานะเป็นเพียง “นักสังเกตการณ์” ว่า

เราย่อมไม่ปฏิเสธว่าโกเมศ นักศึกษามักเป็นผู้ที่เต็มไปด้วยความใฝ่ฝันที่จะแก้ไขสังคมตามทฤษฎีที่เขาศึกษามา มักจะมองตัวเองสำคัญกว่าประชาชน

จะโดยสำนึกหรือไม่สำนึกก็ตามเราจะพบเห็นเสมอว่า ผู้เป็น “โกเมศ” นักศึกษาทั้งหลายมักจะสร้างม่านแพรกั้นระหว่างเขาไว้กับประชาชนไว้ชั้นหนึ่งเสมอ

พ.เมืองชมพู จึงเสนอ “การรับรู้ชีวิตเป็นเพียงแต่บันไดขั้นแรกที่จะก้าวไปสู่ชีวิตที่แท้จริง”

ดังที่ “อินทรายุธ” กล่าว “เพียงแต่การก้าวไปสู่มรรคาแห่งชีวิตยังไม่เป็นหลักประกันเพียงพอในความสำเร็จของกวีและนักกลอน ในท่ามกลางมรรคาแห่งชีวิตนั้นกวีและนักกลอนยังจะต้องผ่านเตาหลอมแห่งชีวิต ยังต้องผ่านกองเพลิงแห่งชีวิตอันพลุ่งพล่าน”

โดย บรรจง บรรเจิดศิลป์ เห็นว่า “นักประพันธ์จะเป็นผู้สร้างวิญญาณให้แก่ประชาชนได้ก่อนอื่นเขาจะต้องรับวิญญาณของประชาชนมาขัดเกลาวิญญาณเก่าของเขา เมื่อใดที่วิญญาณของเขาสามารถเชื่อมประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับวิญญาณของประชาชน เมื่อนั้นเขาจึงจะสามารถสร้างวิญญาณของประชาชนให้ดีงามยิ่งขึ้นได้

“โดยสอดคล้องต้องกันกับผลประโยชน์และความปรารถนาของประชาชน”

 

ความหมายและเป้าหมายของแนวทางแห่งวรรณกรรม “อัตถนิยมใหม่” จึงดำเนินไปบนอุดมการณ์ 2 อย่างที่สัมพันธ์กัน

1 เป็นแนวทางในการทำความเข้าใจต่อโลกและชีวิต

ขณะเดียวกัน 1 ซึ่งสำคัญ เป็นแนวทางในการทุ่มโถมเข้าไปดัดแปลงและนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่โลกและชีวิต