ทำความเข้าใจ “พระเวท” สุดยอดคัมภีร์ของพราหมณ์-ฮินดู ตอนที่ 3 “พินิจอุปนิษัท”

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ที่จริงในพระเวทมีคำนิพนธ์หลักปรัชญาลึกซึ้งกระจายไปทั่ว ปะปนกับเทวตำนานและกวีนิพนธ์สรรเสริญเทพเจ้า แม้แต่เทวตำนานและบทสรรเสริญเหล่านั้นก็มีเบื้องหลังเป็นแนวคิดและหลักคำสอนที่นำมาตีความได้หลายชั้น

ในสัมหิตาหรือส่วนร้อยกรองสรรเสริญเทพของพระเวท มีบทสวดที่มีชื่อเสียงมากอยู่สองบท (สูกตะ) บทแรกมีชื่อว่า “ปุรุษะสูกตะ”

ปุรุษะ มิได้แปลว่าบุรุษหรือคนเพศชายอย่างเดียวนะครับ อาจหมายถึง บุคคล (person) ได้ด้วย

บทสวดนี้กล่าวว่า ในปฐมกาลมี “ปุรุษะ” หรือบุคคล ซึ่งหมายถึงพระเจ้าดำรงอยู่ และพระองค์ได้ถูกนำมาสังเวยบูชายัญ จากนั้นจึงเกิดมีสิ่งต่างๆ จากการบูชายัญนั้น

เป็นต้นว่าพระเนตรได้กลายเป็นพระอาทิตย์และพระจันทร์

ส่วนต่างๆ ของร่างกายได้กลายเป็นวรรณะทั้งสี่ ปากเป็นพราหมณ์ แขนเป็นราชันยะ (กษัตริย์) ต้นขาเป็นไวศยะ และเท้าเป็นศูทร เป็นต้น

ตามที่มักอ้างคติฮินดูว่าพระพรหมสร้างวรรณะต่างๆ หลักฐานเก่าสุดคือบทสวดนี้ที่พูดเรื่องการสร้างวรรณะสี่ แต่ไม่ใช่ “พระพรหม” สร้างตามคัมภีร์ยุคหลังหรือตามคัมภีร์ฝ่ายพุทธ แต่ทั้งนี้ นักวิชาการคิดว่าบทนี้เป็นการเติมแต่งเข้าไป เพราะสูกตะนี้อยู่ในเล่มสุดท้ายของฤคเวท ไม่น่าใช่แนวคิดเดิมของพวกอารยัน

กระนั้นพราหมณ์อินเดียก็นิยมสวดบทนี้มาก มักใช้ในพิธีกรรมการบูชาพระเป็นเจ้าบุรุษ โดยเฉพาะพระวิษณุ

 

อีกบทหนึ่งซึ่งมีชื่อเสียงคือ “นาสาทียะสูกตะ”

เป็นบทสวดว่าด้วยการสร้างจักรวาลเช่นเดียวกัน แต่รำพึงถึงความลึกลับของการสรรค์สร้างนั้น

เช่น รำพึงว่า ในความมืดมิดแห่งปฐมกาล กามะหรือความปรารถนาได้เกิดขึ้น แล้วเกิดความร้อน แล้วจึงเกิดน้ำ

แต่ความลึกลับดังกล่าวของการสร้างจักรวาล แม้แต่พระเจ้าเองจะทรงเข้าใจไหม อะไรทำนองนี้ครับ

ดร.ราธกฤษณัน (S.Radhakishnan) ประธานาธิบดีคนที่สองของอินเดียและศาสตราจารย์ด้านปรัชญาจึงได้เรียกยุคพระเวทว่า “ยุคแห่งการคลำทาง”

เพราะความคิดต่างๆ กระจัดกระจายไม่เป็นระบบ

และยังปะปนกับคติความเชื่อทางไสยศาสตร์ต่างๆ ด้วย

 

ช่วงพุทธกาลหรือก่อนนั้นเล็กน้อย เกิดมีการประพันธ์ส่วนสุดท้ายของพระเวทที่มีลักษณะเฉพาะขึ้นคือ “อุปนิษัท”

อุปนิษัทเป็นส่วนสุดท้ายของพระเวท บางครั้งจึงเรียกว่า “เวทานตะ” (เวท – พระเวท, อันตะ – ท้าย) ซึ่งจะกลายมาเป็นชื่อสำนักปรัชญาสำคัญในภายหลัง เพราะเน้นแนวคิดจากอุปนิษัทเป็นหลัก

คำว่า “อุปนิษัท” แปลว่า “นั่งลงใกล้ๆ” เพราะสอนกันระหว่างศิษย์ที่ “นั่งใกล้” คือใกล้ชิดคุรุเท่านั้น ไม่สอนกันโดยทั่วไป ถือเป็นคำสอนสุดยอดในทางโลกุตระจึงไม่มอบให้ผู้ที่ไม่เหมาะสม

อุปนิษัทมีเป็นจำนวนนับร้อยๆ ว่ากันว่าแม้แต่ในสมัยพระเจ้าอัคบาร์แห่งราชวงศ์โมกุล ยังมีดำริจะให้นักปราชญ์แต่งเพิ่มกันอยู่เลยครับ แสดงว่าแต่งกันมาทุกยุคสมัย เช่นเดียวกับวรรณกรรมทางศาสนาอื่นๆ แต่ถือว่ามีอุปนิษัทที่สำคัญจริงๆเพียงสิบสามอุปนิษัท เรียกว่า “มุกขยอุปนิษัท” หรืออุปนิษัทหลัก

เช่น อีศะ มาณฑูกยะ มุณฑกะ เกนะ ปรัศนา กฐะ พฤหัสทารัณยกะ ฉานโทคยะ ฯลฯ

 

อุปนิษัทเหล่านี้มีเนื้อความลึกซึ้ง ในยุคต่อมาจึงมีการเขียน “ภาษยะ” หรืออรรถกถา (commentary) สำหรับอุปนิษัทเหล่านี้ โดยถือเป็นงานหลักของนักปรัชญาอินเดียครับ ใครจะขึ้นชื่อว่าเป็นนักปรัชญา ตามขนบแต่โบราณของอินเดียต้องแต่งอรรถกถาอุปนิษัทหลัก พรหมสูตร และภควัทคีตาให้ได้

เนื้อหาในอุปนิษัทคือการเปลี่ยนแปลงมโนทัศน์จากพระเวทในยุคก่อนหน้า จากเน้นความสุขทางโลก ไปสู่การเน้นความหลุดพ้น จากเน้นโลกนี้ก็เน้นโลกหน้า จากเน้นการบูชายัญก็เน้นการบำเพ็ญทางจิต จากเน้นความสำคัญของพราหมณ์ก็เน้นนักบวชหรือสมณะ จากเน้นกายจิตก็เน้นเรื่อง “อาตมัน” จากเน้นเรื่องชุมชนก็เน้นเรื่องปัจเจก

อุปนิษัทสะท้อนการแพร่ขยายของแนวคิด “พรตนิยม” หรือแนวคิดที่เน้นการออกบวชสละโลก เพราะมองเห็นว่า ชีวิตทางโลกเป็นปัญหาและความทุกข์

แนวคิดนี้คล้ายคลึงพุทธศาสนามากจนนักประวัติศาสตร์ศาสนายังเถียงกันไม่จบว่า ตกลงพุทธศาสนาให้อิทธิพลแก่อุปนิษัทาจารย์ หรืออุปนิษัทให้อิทธิพลต่อพุทธศาสนากันแน่

 

ประเด็นหลักในอุปนิษัทแทบทุกฉบับ ข้อแรก ความจริงสูงสุดคืออะไร

อุปนิษัทตอบออกเป็นสองลักษณะคืออาตมัน (self) เป็นเนื้อแท้ของสิ่งต่างๆ หรือ “พรหมัน” (Brahman – The Self or The Absolute) คือความจริงสูงสุดแบบนามธรรม เป็นความจริงแท้

สังเกตนะครับว่ายังไม่ค่อยเน้น “ปรมาตมัน” หรือพระเจ้าแบบบุคคล (personal God) ซึ่งถูกเน้นในภควัทคีตา และคัมภีร์อื่นๆ ในยุคหลัง

ข้อที่สอง อุปนิษัทสนใจว่า สภาพของโลกเป็นอย่างไร มันมีอยู่หรือไม่มีอยู่ ซึ่งส่วนมากตอบในทำนองว่า โลกนี้เป็นโลกแห่งความทุกข์ หรือเป็นมายา เต็มไปด้วยความเสื่อมสลาย ความตาย ไม่น่ายินดี

ข้อที่สาม เราจะไปสู่ความจริงสูงสุดได้อย่างไร

คำตอบคือ ก็ต้องสละโลก บำเพ็ญเพียรด้วยประการต่างๆ

 

ในบรรดาอุปนิษัททั้งหลาย ผมชอบใจ “กฐะอุปนิษัท” เป็นพิเศษ เพราะอุปนิษัทนี้มีประเด็นสำคัญเรื่องความตาย ที่ถูกเล่าด้วยเทคนิคการเล่าเรื่องน่าอัศจรรย์ มีนิทานชวนติดตาม

กฐะอุปนิษัท เล่าเรื่องเด็กชายคนหนึ่งชื่อ “นจิเกตัส” เธอถูกพ่อ คือฤษีวาชศรวสะสั่งให้ไปอยู่ในบ้านพระยม (คือให้ไปตายนั่นแหละ)

หลังเซ้าซี้พ่อที่ทำบุญด้วยความงก แล้วเธอต้องการเป็นของไทยทานเสียเอง พ่อเลยประชดโดยยกให้เป็นไทยทานของพระยม นจิเกตัสจึงไปนั่งรออยู่ในบ้านพระยมสามวันสามคืน ไม่ได้กินข้าวปลาอาหาร

พระยมกลับมาก็ตกใจที่เห็นเด็กพราหมณ์มานั่งหิวข้าวหิวน้ำอยู่สามวัน ตามธรรมเนียมที่ดีถือว่าแขกผู้มาเยือนคือเทพ (อติถิ เทโว ภวะ) พระยมคิดว่าตนเองเป็นเจ้าบ้านที่บกพร่อง จึงกล่าวต้อนรับเด็กชายด้วยความนอบน้อม และให้เด็กชายขอพรเป็นการชดเชยสามข้อ

ข้อแรก เด็กชายขอให้พ่อหายโกรธเมื่อตนได้กลับไปบ้าน ข้อสอง ขอให้ทราบพิธีบูชาไฟที่ทำให้ไปสวรรค์

และข้อสุดท้าย ขอให้รู้ว่า “ความตาย” คืออะไร

 

พระยมไม่อยากตอบข้อสุดท้าย เพราะเห็นว่ายากและเป็นข้อธรรมลี้ลับ จึงเอาพรอื่นมาล่อ

เช่น ทรัพย์สินที่กินใช้ไม่มีวันหมด อายุยืนนับร้อยๆ ปี ข้าทาสบริวาร ฯลฯ

แต่เด็กชายนจิเกตัสยืนยันว่า “ก็ใครจะตอบเรื่องความตายได้ดีเท่าพระยม (คือตัวความตายเอง)” จึงไม่เอาพรข้ออื่นเลย แถมจะมีประโยชน์อันใดในพรเหล่านั้น เพราะวันหนึ่งก็ต้องเจอพระยมอยู่ดี

ดูดู๋ เด็กคนนี้ มานั่งถามความตายว่าความตายคืออะไร

สุดท้ายพระยมยอมแพ้ จึงมอบพรข้อนั้นแก่นจิเกตัส

ส่วนคำตอบของพระยมจะเป็นอย่างไร ไปหาอ่านจากอุปนิษัทเอาเองนะโยม