เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ : ดุริยศัพท์แห่งกาพย์กลอน

หนาวน้ำค้างกลางคืนสะอื้นอ้อน

จะกางกรกอดน้องประคองขวัญ

เอาดวงดาราระยับกับพระจันทร์

ต่างช่อชั้นชวาลาระย้าย้อย ฯ

จากนิราศอิเหนา ของสุนทรภู่

ถึงยามค่ำย่ำฆ้องจะร้องไห้

ร่ำพิไรรัญจวนหวนละห้อย

โอ้ยามดึกดาวเคลื่อนเดือนก็คล้อย

น้ำค้างย้อยเย็นฉ่ำชื่นอัมพร ฯ

จากพระอภัยมณี ของสุนทรภู่

ตัวอย่างกลอนสองบทของกวีเอกสุนทรภู่นี้ได้สำแดงลักษณะ “ดุริยศัพท์แห่งกาพย์กลอน” ครบถ้วนกระบวนความหมายดีที่สุด

ดุริยศัพท์คือสำเนียงเสียงดนตรีอันมีความเหลื่อมล้ำของสำเนียงเสียงกับจังหวะจะโคนประกอบเป็นลีลาทำนองไพเราะเพราะพริ้ง ดังทำนองลีลาของดนตรีกระนั้น

กลอนสองบทนี้มีทั้งเสียงและจังหวะสมบูรณ์พร้อม

ลองอ่านช้าๆ หรือจะอ่านออกเสียงก็จะยิ่งสัมผัสได้ถึงความไพเราะราวลีลาท่วงทำนองดนตรีดังกล่าว

กาพย์กลอนไทยแต่โบราณทุกประเภทล้วนสำแดงคุณลักษณะนี้ทั้งสิ้น คือลักษณะที่เป็นดุริยศัพท์ด้วยสำเนียงดนตรีที่มีทั้งเสียงและจังหวะพริ้งพรายไพเราะ

ลองฟังกาพย์ฉบังในสมุทรโฆษคำฉันท์ของสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรสสองบทนี้

๐ พิทยาธรทุกข์ลำเค็ญ ครวญคร่ำร่ำเข็ญ

บ่รู้กี่ส่ำแสนศัลย์

๐ ต้องศัสตราวุธฟอนฟัน กายายับยัน

แลเลือดก็หลั่งเล่ห์ธาร ฯ

กาพย์ฉบังสองบทนี้ แสดงจังหวะจะโคนชัดเจนเป็นสำคัญ เช่นเดียวกับกาพย์ยานีเรื่องความเปลี่ยนแปลงของนายผีสองบทนี้

เลือดตัวแต่ปลายลำ แม่กลองไหลแลเป็นนาย

เลือดตูที่ต้นสาย บ่สำหรับจะดูแคลน

ลุกถอยบ่ลาไท ก็กระเทือนทั้งดินแดน

ทหารที่เฝ้าแหน ก็บ่อาจจะอวดหาญ ฯ

นี่ได้ทั้งจังหวะทั้งเสียงครบ

ลองฟังกาพย์สุรางคนางค์จากเสือโคคำฉันท์ของพระมหาราชครูบทนี้ดู

๐ ส่วนโคครั้นเช้า

เลียโลมลูกเต้า ให้กินนมนาง

แล้วสั่งสอนบุตร รักษากันพลาง

ยามเย็นจักวาง มาสู่สองสมร ฯ

นี้เป็นตัวอย่างที่แสดงถึงจังหวะคำด้วยจำนวนคำสี่คำในแต่ละช่วงวรรค โดยมีสัมผัสรับ-ส่งเป็นช่วงๆ ไป

จังหวะคำนี้อาจดูได้ในคำฉันท์ต่างๆ ที่กำหนดจังหวะด้วยครุ-ลหุ คืออักษรหนักเบา ดังเช่นวสันตดิลก ซึ่งมีวรรคแรกแปดคำ วรรคสองหกคำ ตัวอย่างเช่น

ฝนตกวิตกอุทกภัย จะประลัยประลาญรอน

ไร่นาวินาศและพระนคร ก็ละลาย ณ สายชล ฯ

บทกวีที่แสดงเสียงคือความเหลื่อมล้ำของเสียงอักษรเป็นสำคัญ นั้นคือโคลงอันมีเสียงสูง-ต่ำกำหนด ดังโคลงกำศรวลศรีปราชญ์บทท้ายสุดคือ

๐ สารนี้นุชแนบไว้ ในหมอน

อย่าแม่อย่าควรเอา อ่านเหล้น

ยามนอนนาฏเอานอน เป็นเพื่อน

คืนค่ำฤๅได้เว้น ว่างใด ฯ

นี้เป็นลักษณะโคลงดั้น ซึ่งกำสรวลศรีปราชญ์เป็นลักษณะโคลงดั้นบาทกุญชร โคลงอ่านง่าย คือโคลงนิราศนรินทร์ เป็นโคลงสี่สุภาพ ให้เสียงไพเราะนัก เช่น

๐ อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤๅ

สิงหาสน์ปรางรัตน์บรร-เจิดหล้า

บุญเพรงพราะหากสรรค์ ศาสน์รุ่ง เรืองแฮ

บังอบายเบิกฟ้า ฝึกฟื้นใจเมือง ฯ

หรือโคลงกรมพระปรมานุชิตชิโนรสในลิลิตตะเลงพ่าย เช่น

๐ อุรารานร้าวแยก ยลสยบ

เอนพระองค์ลงทบ ท่าวดิ้น

เหนือคอคชซอนซบ สังเวช

วายชิวาตม์สุดสิ้น สู่ฟ้าเสวยสวรรค์ ฯ

บทโคลงแทบทั้งหมดกำหนดเสียงเป็นสำคัญจำเพาะที่บังคับเอกโท นั่นแหละเป็นหลักสำคัญ ผู้ชำนาญโคลงจะรู้วิธีเล่นเสียงพิเศษนอกบังคับได้อีกด้วย

ตรงนี้ถือเป็น “เคล็ดโคลง”

เสียงกับจังหวะนี้เป็นหัวใจของดนตรีที่กำหนดทำนองให้ไพเราะ ซึ่งจะว่าไปก็เป็นหัวใจของศิลปกรรมทั้งปวงด้วย นอกจากกาพย์กลอนแล้วยังมีอยู่ในนาฏลีลาหรือนาฏกรรม มีในจิตรกรรม สถาปัตยกรรมด้วย เพียงแต่เรียกชื่อต่างออกไปเท่านั้น

เช่น ในจิตรกรรม ความเหลื่อมล้ำของเสียงก็คือโทนหรือน้ำหนักของแสงสีเงา จังหวะก็คือคอมโพสิชั่นหรือการจัดองค์ประกอบภาพนั่นเอง

ในสถาปัตย์ เสียงคือมิติของการกินที่ในอากาศ จังหวะคือทรวดทรง ประติมากรรมก็เช่นเดียวกัน

นาฏกรรมนั้นชัดเจนด้วยมีดนตรีประกอบ จังหวะคือท่าทาง เสียงหรือความเหลื่อมล้ำคือการเคลื่อนไหว เป็นต้น จำเพาะกาพย์กลอนก็เป็นดังกล่าว คือเสียงอักษรกับจังหวะของช่วงคำอันกำหนดด้วยสัมผัสและวรรคตอนของช่วงคำ

ภาษาไทยมีทั้งสองลักษณะนี้อยู่ครบ คือมีเสียงกำหนดด้วยพยัญชนะและวรรณยุกต์ จำแนกเป็นห้าเสียงตายตัวคือ สามัญ เอก โท ตรี จัตวา ส่วนจังหวะก็มีกำหนดด้วยช่วงวรรคตอนกับสระกำกับ

ลองกลับไปอ่านกลอนสุนทรภู่สองบทข้างต้นดูเถิด จะสัมผัสได้ถึงความไพเราะของเสียงคำและจังหวะจะโคนของถ้อยคำโดยอัตโนมัติ ที่แม้ไม่รู้ฉันทลักษณ์เลยก็ยังรู้ได้ด้วยรสของดุริยศัพท์อันบรรสานอยู่ในบทกลอนนั้น

นี้คือรูปแบบอันเป็นอัจฉริยลักษณ์ของภาษาไทยโดยแท้ ฉะนั้น จึงสมแล้วที่ ม.จ.จันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี หรือ พ.ณ ประมวญมารค เปรียบไว้ว่า

กาพย์กลอนคือการร่ายรำของภาษา