คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : “นาลิวัน” คือใคร?

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ในการพระราชพิธีพระบรมศพต้องมี “พราหมณ์นาลิวัน” สยายผมเข้าริ้วกระบวนตามหลังพระประยูรญาติ

คราวพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตน์นั้น ตำแหน่ง “นาลิวัน” ที่เข้าริ้วกระบวนคือบรรดาพราหมณ์ของพระเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ทั้งหมด

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน 2554 ท่านว่า “นาลิวัน น. พราหมณ์พวกหนึ่งทำหน้าที่โล้ชิงช้าและรำเขนงในพระราชพิธีตรียัมปวาย เพื่อถวายเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์; พราหมณ์ที่สยายผมเดินตามกระบวนแห่เชิญพระบรมศพ”

ย้อนไปค้นภาพเก่าๆ สมัยที่ยังมีการโล้ชิงช้าในพระราชพิธีตรีปวาย-ตรียัมปวาย (ครั้งรัชกาลที่ 7) นาลิวันซึ่งขึ้นกระดานครูไปโล้ชิงช้าและลงมารำ “เสนง”นั้น เป็นคนละพวกกับพราหมณ์พิธี (ซึ่งเข้ากระบวนพระบรมศพ)

แสดงว่า พราหมณ์พิธีทั้งหลายที่เข้ากระบวนพระบรมศพในทุกวันนี้ ทำหน้าที่แทน “นาลิวัน” ซึ่งไม่มีเสียแล้ว

ไมเคิล ไรท์ ผู้ล่วงลับเคยกล่าวสั้นๆ ว่า นาลิวันคือ “พราหมณ์มะพร้าว” หรือน่าจะเป็นคนสวนมะพร้าวของพราหมณ์ (ทางใต้ของอินเดีย)

ข้อสันนิษฐานนี้น่าสนใจ เพราะคำว่า มะพร้าวในภาษาสันสกฤต เรียก “นาลิยัล” ภาษาถิ่นอินเดียหลายๆ ภาษาก็ออกเสียงคล้ายๆ กัน เช่น มาลายาลัม (ของเกระละ) เรียก นาลิเกลัม (ปักษ์ใต้บ้านผมมีเพลงกล่อมเด็กเรียก มะพร้าวนาฬิเกร์), คุชราตี เรียก นาลิยัล, พังคลีเรียก นารโคเล, มาราฐี เรียก นารัล ฯลฯ

แต่ครั้นพอจะค้น “นาลิวัน” ว่าจะเป็นพราหมณ์พวกไหนอย่างไร หาแทบตายก็ไม่เจอสักที

 

ผมเคยได้ยินพราหมณ์หรือท่านผู้อาวุโสสักท่าน (ขออภัย เลือนเสียแล้ว) บอกว่า นาลิวันคือ “เลกพราหมณ์”

เลกคือชายฉกรรจ์ ไพร่พลมีหน้าที่รับใช้ ถ้ามีผู้ถวายแก่วัดก็เรียกเลกวัด มีหน้าที่คอยรับใช้ เป็นแรงงาน เลกพราหมณ์ก็คือผู้รับใช้พราหมณ์

คำอธิบายนี้ ทำให้เลิกค้นพราหมณ์ โดยเฉพาะพราหมณ์ทมิฬ แต่ลองไปค้นวรรณะ และ “ชาติ” (ชา-ติ คือ ระบบการแบ่งบุคคลโดยการเกิดซึ่งซ้อนอยู่ในระบบวรรณะอีกที) อื่นๆ ก็ยังไม่เจอคำ “นาลิวัน”

บังเอิญไงมิทราบลองค้นเรื่องวรรณะในลังกา ค้นไปค้นมา เจอ “นาละวัร” (nalavar) หรือ นาละวา (nalava) เสียงใกล้เคียงที่สุด และความหมายคือ พวก “ชาติ” ปาดตาล ปาดมะพร้าว ทำสวนมะพร้าว

ผมว่า อันนี้แหละครับที่มา “นาลิวัน” ของเรา

 

ศรีลังกาตั้งแต่สมัยอาณาจักรยาฟนา (Jaffna Kingdom) หรือ “อารยจักรวตี” (ค.ศ.1215-1624) สถาปนารัฐศาสนาฮินดูในตอนเหนือของศรีลังกา พวกนี้มาจากอินเดียใต้ (ทมิฬ) นำเอาระบบวรรณะ และชาติมาใช้ด้วย

พวกพราหมณ์ จิตตี (พ่อค้าหรือไวศยะ) และ เวลลัลลาร์ (กษัตริย์หรือเจ้าของที่ดิน) ถือเป็นวรรณะสูง นอกจากนี้เป็นวรรณะต่ำ ได้แก่ อาชีพหัตถกรรม เช่น ช่างทอง (ตัตตาร์) ชาวประมง (กไลยาร์), นาลวัร (ปาดตาล ปาดมะพร้าว ทำน้ำตาลเมา) ฯลฯ

นาลวัร เป็นวรรณะต่ำในกลุ่มที่เรียกว่า “อทิไม” (adimai) หมายความว่า เป็น “ทาส” หรือข้ารับใช้ของวรรณะสูง เช่น พราหมณ์และกษัตริย์

ที่ท่านว่า “เลกพราหมณ์” ก็ใช่ล่ะครับ

แต่ที่น่าสนใจคือ นาลวัร เป็นวรรณะที่มีใน “ลังกา” นะครับ แม้ว่าบางคนจะถือว่าเป็นพวกเดียวหรือมีที่มาเดียวกับ นาทัร์ (nadar) ซึ่งเป็นวรรณะต่ำในอินเดียใต้และมีอาชีพใกล้กัน

เมื่อเราโฟกัสไปที่ลังกา เรามักนึกถึงที่มาของพุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกาวงศ์ แต่ลืมไปว่าลังกาก็มีอารยธรรมฮินดูที่เก่าแก่ไม่น้อย

อาณาจักรยาฟนา สถาปนาในช่วงเวลาร่วมสมัยกับสุโขทัยและยืนยาวมาอีกกว่าสี่ร้อยปี

จะเป็นไปได้หรือไม่ว่า ทั้งสุโขทัยและอยุธยามิเพียงนำพุทธศาสนาจากลังกา แต่ยังเอาพราหมณ์และประเพณีพราหมณ์จากลังกามาด้วยบางส่วนแม้จะไม่มากเท่าอินเดียใต้ก็ตาม

คุณไมค์ เคยพูดถึงพิธีโกโหมฺกํกริยะ หรืองานต้นสะเดาของลังกา ซึ่งคล้ายไหว้ครูละคร แต่ท่านไปเทียบกับไหว้ครูโขนละครพิธีหลวงของเราในปัจจุบัน จึงแตกต่างมาก

แต่หากไปเทียบกับไหว้ครูโนรา หรือ ไหว้ครูละครก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 จะพบว่ามีอะไรที่คล้ายกันอยู่มาก

ผมจึงคิดว่า จะค้นหารากเหง้าที่มาประเพณีของเรานั้น ค้นแค่พราหมณ์อินเดียใต้คงไม่พอเสียแล้ว คงต้องเปิดประตูสู่ ประเพณีพิธีพราหมณ์ลังกาด้วย

 

นาลิวัน ของพราหมณ์สยามจึงทำหน้าที่ในพระราชพิธีแบบ “ชาวพนักงาน” มากกว่าทำพิธีแบบพราหมณ์ เช่น ขึ้นโล้ชิงช้า ซึ่งมีเสากลมสูงเหมาะกับทักษะปีนต้นมะพร้าวต้นตาลของนาลิวันอยู่แล้ว หรือเข้าริ้วกระบวนพิธีพระบรมศพ ซึ่งต้องการคนจำนวนมากเข้าในกระบวน ทั้งพราหมณ์และนาลิวันก็ต้องเข้าในพิธีทั้งหมด

การที่เรียกนาลิวันว่า “พราหมณ์” ทั้งๆ ที่เป็นแค่เลกพราหมณ์ และเป็นวรรณะต่ำนั้น ผมว่าไม่แปลกอะไรครับ

เพราะผมว่า การใช้คำ “พราหมณ์” ในประเทศแถบนี้มักใช้เรียก “คนอินเดีย” ที่นับถือฮินดูรวมๆ กันไปหมด

ตัวอย่างเช่น พราหมณ์พม่านั้นแบ่งออกเป็นสี่พวก ผมลองพิเคราะห์ดูคำเรียกแต่ละพวก ก็พบว่าเป็นชื่อวรรณะทั้งสี่ พราหมณ์พวก “สุททะ” (ศูทร) ซึ่งเป็นพวกที่สี่นั้น ไม่ใส่สังวาลพราหมณ์และทำหน้าที่รับใช้ แต่ก็ยังถูกเรียกว่าพราหมณ์ (ในภาษาพม่า) อยู่ดี

ดังนั้น นาลิวัน หรือ เลกพราหมณ์จึงถูกเรียกว่าพราหมณ์ไปด้วย เพราะมาจากลังกา หรืออินเดียเหมือนกัน

แต่ข้อสันนิษฐานทั้งหมดในข้างต้นนี้ เป็นของมือสมัครเล่นอย่างผมนะครับ ไม่ควรถือเป็นที่ยุติ

ใครสนใจจะค้นคว้าเรื่องนี้ต่อ ผมขอแนะนำหนังสือ Aspects of Caste in South India, Ceylon and North-West Pakistan โดย E. R. Leach ซึ่งผมได้ใช้ข้อมูลบางส่วนมาเขียนบทความนี้

และขอชวนผู้อ่านไปพิเคราะห์ลังกา ที่มีอะไรมากกว่าพุทธศาสนาเถรวาทลังกาวงศ์นะครับ

ขนาดกัตรคามเทวิโย หรือพระขันทกุมารของฮินดูในลังกา ยังเสด็จมาเฝ้าพระบรมธาตุนครฯ และกลายมาเป็นจตุคามรามเทพได้เลย

ทำไมอะไรอื่นจะมาจากลังกาบ้างไม่ได้