ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 28 กันยายน - 4 ตุลาคม 2561 |
---|---|
เผยแพร่ |
กรองกระแส
อำมหิต เหี้ยมโหด
ยุทธศาสตร์ สืบทอดอำนาจ
อนาคต ประชาธิปัตย์
หากคำนึงถึงบทบาทของพรรคประชาธิปัตย์นับแต่ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 และก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 สภาพที่พรรคประชาธิปัตย์กำลังประสบในห้วงแห่งการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคถือได้ว่าเป็นเรื่องเหลือเชื่อ
เหลือเชื่อว่าเหตุใดต้องรุนแรงต่อกันและกันเพียงนี้
ไม่ว่าหลังรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 สภาพที่พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน ตลอดจนพรรคเพื่อไทย ประสบเป็นสภาพที่สามารถเข้าใจได้อย่างถ่องถ้วน
เพราะว่าพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย คือเป้าหมายที่ต้องโค่นล้มและทำลาย
แต่กับพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็น “มิตร” มาตลอด เหตุใดจึงต้องทำลาย บดขยี้
การปรากฏชื่อ นายอลงกรณ์ พลบุตร ซึ่งเคยเป็น 1 ในแม่น้ำ 5 สายเข้าไปก็เจ็บปวดรวดร้าวทรมานอย่างยิ่งแล้ว การปรากฏชื่อ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม โดยการผลักรุนอย่างเต็มเรี่ยวแรงของแกนนำ กปปส. ภายในพรรคยิ่งเจ็บปวดรวดร้าวทรมาน
ทุกอย่างดำเนินไปอย่างที่ “ซุนวู” ได้เคยสรุปเอาไว้ว่า “การศึกมิหน่ายเล่ห์” ไม่ว่าจะมองผ่านการทหาร ไม่ว่าจะมองผ่านการเมือง
2 ยุทธวิธีบดขยี้
ทำลายประชาธิปัตย์
สภาพที่พรรคประชาธิปัตย์ประสบ 1 คือการแผ่พลานุภาพแห่ง “พลังดูด” เข้าไปยังบางส่วนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ บางส่วนในภาคตะวันออก บางส่วนในภาคเหนือ
ทั้งนี้ แทบไม่ต้องกล่าวถึง 2 กรณีก่อนหน้านี้
นั่นก็คือ กรณีดูดนายสกลธี ภัททิยกุล พร้อมกับตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม. กรณีดูดนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ พร้อมกับตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง
เหล่านี้ย่อมสร้างภาวะระส่ำระสายให้กับพรรคประชาธิปัตย์อย่างแน่นอน
ขณะเดียวกัน 1 เพิ่มขีดความรุนแรงมากยิ่งขึ้นด้วยการส่งเครือข่ายและคนของตนเข้าไปแย่งยึดการนำภายในพรรคประชาธิปัตย์
นั่นก็คือ การชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
กรณีของนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่เคยเป็น สปช. และเคยเป็นรองประธาน สปท. อันถือได้ว่าเป็น 1 ในแม่น้ำ 5 สายนั้นแจ่มชัด กรณีของ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม แม้จะมิได้เป็นแกนนำ กปปส. แต่เมื่อมีคนของ กปปส.ภายในพรรคประชาธิปัตย์เป็นกำลังสำคัญ
เท่ากับสะท้อนความอำมหิตเหี้ยมโหดในการบ่อนเซาะ สร้างความเปราะบางให้กับพรรคประชาธิปัตย์อย่างไม่ปิดบังอำพราง
ชะตากรรมการเมือง
ของประชาธิปัตย์
ปมเงื่อนอยู่ตรงที่พรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องการชูธง 2 ผืนในการต่อสู้ทางการเมือง
1 ต่อต้านนายกรัฐมนตรีคนนอก 1 ต่อต้านระบอบทักษิณ
ขณะที่ความต้องการอย่างแท้จริงก็คือ ต้องการให้ชูธงต่อต้านระบอบทักษิณเพียงผืนเดียว และลดผืนว่าด้วยต่อต้านนายกรัฐมนตรีคนนอกลง
เมื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ยินยอมหรือยินยอมอย่างมีเงื่อนไขก็ต้องทำลาย
เป้าหมายก็คือ ต้องการให้พรรคประชาธิปัตย์เดินแนวทางเดียวกันกับพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย
นั่นก็คือ มายืนอยู่กับยุทธศาสตร์สืบทอดอำนาจ
แต่การกระหน่ำเข้าไปภายในพรรคประชาธิปัตย์โดยถือเอานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผลข้างเคียงรุนแรงล้ำลึกเป็นอย่างมาก
นั่นก็คือ สถานะของพรรคประชาธิปัตย์ย่อมไม่เหมือนเดิม
ไม่ว่าในที่สุด นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะยังรักษาตำแหน่งเอาไว้ได้ ไม่ว่าในที่สุด นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม จะประสบชัยชนะโค่นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกไปจากเส้นทาง
แต่ความเสียหายก็จะเกิดกับพรรคประชาธิปัตย์อย่างเป็นด้านหลัก
อำมหิตเหี้ยมโหด
การศึกมิหน่ายเล่ห์
อาจเพราะพื้นฐานของอีกฝ่ายคือ ความเป็นทหาร การเปิดยุทธการจึงถือเอาเป้าหมายทางทหารเป็นหลัก นั่นก็คือ ทำลายศัตรู สร้างความแข็งแกร่งให้กับตน
เนื่องจาก “ยุทธศาสตร์” ในทางการเมือง เรื่องสืบทอดอำนาจ
หัวรถจักรย่อมเป็นพรรคพลังประชารัฐ หน่วยสนับสนุนที่ว่าได้คือพรรครวมพลังประชาชาติไทย การดึงพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาย่อมสร้างความแข็งแกร่ง เพิ่มความมั่นใจ
ภารกิจในการดึงพรรคประชาธิปัตย์ย่อมเป็นงานของพรรครวมพลังประชาชาติไทย
หากคำนึงจากพื้นฐานที่พรรคประชาธิปัตย์เคยเป็นมิตร เคยมีบทบาทร่วมในการปูทางและสร้างเงื่อนไขการรัฐประหาร ยุทธวิธีอันนำไปสู่การบรรลุยุทธศาสตร์ครั้งนี้จึงแฝงความเหี้ยมเกรียม อำมหิตในทางการเมืองอย่างเต็มเปี่ยม
นี่คือชะตากรรมที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องประสบเหมือนที่พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทยเคยประสบมาแล้ว