สุจิตต์ วงษ์เทศ : ทอดกฐิน แข่งเรือ ลอยโคม ไม่มีเห่เรือ สมัยพระนารายณ์

ทัศนียภาพกรุงศรีอยุธยา ภาพพิมพ์โดยอองรี อาบราฮัม ชาเตอแลง นักเขียนแผนที่ชาวฮอลันดา รวมอยู่ในหนังสือซึ่งพิมพ์ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในปี พ.ศ. 2262 (ตรงกับกลางรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ) ภาพนี้อาศัยต้นแบบจากภาพริ้วกระบวนพยุหยาตราชลมารค ซึ่งบาทหลวงชาวฝรั่งเศสเขียนไว้ในหนังสือจดหมายเหตุตาชาร์ด พิมพ์ครั้งแรกที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. 2229 (ตรงกับปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์) (ภาพจากห้องสมุดส่วนบุคคล ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช)

ไม่มีเห่เรือในพระราชพิธีเสด็จทางชลมารคไปทอดกฐิน, แข่งเรือ, ลอยโคม สมัยพระนารายณ์

จดหมายเหตุการเดินทางสู่ประเทศสยาม ของ บาทหลวงตาชาร์ด (นายสันต์ ท. โกมลบุตร แปล กรมศิลปากรพิมพ์ พ.ศ.2517 หน้า 67-71, 92-93) พรรณนาอย่างละเอียด พระนารายณ์เสด็จทางชลมารคทอดกฐิน แล้วมีแข่งเรือ จนถึงลอยโคม แต่ไม่มีเห่เรือ จะคัดมาดังนี้

ทอดกฐินทางเรือ ไม่มีเห่เรือ

“วันที่ 28 ตุลาคมซึ่งเป็นวันอาทิตย์ เราได้ทราบมาว่าพระเจ้าแผ่นดินจะต้องเสด็จออกนอกพระบรมมหาราชวังตามประเพณีนิยม เพื่อเสด็จพระราชดำเนินไปบำเพ็ญพระราชกุศลยังพระอารามแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำห่างจากตัวกรุงสามลิเออ—–”

“มีขุนนางชั้นผู้น้อยแห่งสำนักพระราชวังยี่สิบสามนาย ปรากฏตัวขึ้นมาก่อนในเรือบัลลังก์คนละลำ แท่นที่นั่งกลางลำนั้นทาสีแดง

เรือบัลลังก์เหล่านี้แล่นตามกันไปเป็นสองแถว เลียบฝั่งแม่น้ำ ติดตามไปด้วยเรือบัลลังก์ของบรรดาขุนนางในพระองค์อีกห้าสิบสี่ลำ นั่งไปบนแท่นกลางลำ ซึ่งบ้างก็ปิดทองทั้งตัว บ้างก็ปิดทองเฉพาะที่ขอบ เรือแต่ละลำมีฝีพายตั้งแต่สามสิบถึงหกสิบคน ทอดระยะห่างกันมาก

เกี่ยวกับหมวดหมู่ในขบวนยาตรา ต่อจากนี้มีเรือบัลลังก์อีกยี่สิบลำ ขนาดใหญ่เท่าชุดแรก ซึ่งตรงกลางลำมีอาสนะสูงปิดทองทั้งตัว มีเรือนยอดทรงมณฑป เป็นเรือประเภทที่เขาเรียกว่าเรือดั้งรักษาพระองค์ ซึ่งมีอยู่สิบหกลำที่มีฝีพายลำละแปดสิบคนและใช้พายปิดทอง ส่วนอีกสี่ลำนั้นใช้พายปิดทองเป็นบั้งๆ

หลังท้ายของขบวนอันยาวเหยียดนี้แล้วจึงถึงเรือพระที่นั่ง พระเจ้าแผ่นดินประทับบนพระโธรนมีเรือนยอดทรงมณฑปปิดทองระยับ สวมฉลองพระองค์ผ้าตาดประดับอัญมณี สวมพระชฎาสีขาวมียอดแหลม มีเกี้ยวทองคำลวดลายดอกไม้ประดับอัญมณี เรือพระที่นั่งนั้นปิดทองกระทั่งจรดผิวน้ำ มีฝีพายร้อยยี่สิบคน สวมหมวกทรงระฆังคว่ำประดับเกล็ดเลื่อมทองคำ สวมเกราะอ่อนกันอกประดับเลื่อมทองคำเช่นเดียวกัน

และโดยที่วันนั้นอากาศดีมีแดดแจ่มจ้า ทำให้เครื่องแต่งต้วของพวกฝีพายเป็นประกายระยิบระยับ นายธงซึ่งแต่งกายชุดแพรวพราวไปด้วยทองคำเหมือนกันยืนอยู่ท้ายเรือพระที่นั่ง เชิญธงมหาราชอันเป็นผ้าตาดทองพื้นแดง มีขุนนางหมอบประจำอยู่สี่มุมพระโธรน เรือพระที่นั่งนั้นมีเรือบัลลังก์คุ้มกัน ติดตามไปด้วยอีกสามลำ มีความงดงามไม่แตกต่างกว่ากันเลย ยกเว้นแต่หมวกกับเสื้อเกราะอ่อนของฝีพายเท่านั้นที่ไม่หรูหราเท่า

พระเจ้าแผ่นดินทรงปรารถนาให้ท่านราชทูตได้เห็นโดยชัดเจน จึงโปรดให้เรือพระที่นั่งเลียบเข้ามาใกล้และเคลื่อนที่ไปอย่างช้าๆ เพื่อให้ท่านชมได้เต็มตา ท่านเชอวาลิเอร์ เดอ โชมองต์ ลุกขึ้นจากเก้าอี้ที่นั่งแล้วถวายคำนับถึงสามครั้งสามครา ส่วนคนอื่นๆ นั้นที่นั่งอยู่บนพรมก็น้อมศีรษะถวายคำนับตามไปด้วย คนสยามที่เรียงรายอยู่ตามตลิ่งทั้งสองฟากซึ่งหมอบนิ่งกับพื้นดินนั้น ครั้นเห็นองค์พระเจ้าแผ่นดินเสด็จมาแต่ไกล ก็ขยับตัวขึ้นคุกเข่า พนมมือขึ้นเหนือศีรษะแล้วกราบถวายบังคมลงจนหน้าผากจรดพื้นดิน และไม่หยุดถวายบังคมเลยจนกว่าจะเสด็จลับสายตาไป

เรือบัลลังก์มีแท่นกลางลำและพายลายทองเป็นบั้งๆ จำนวนยี่สิบลำตามหลังเรือพระที่นั่งและอีกสิบหกลำพายทาสีครึ่งหนึ่งปิดทองครึ่งหนึ่งปิดท้ายขบวนยาตราทางชลมารค เรานับเรือในขบวนนั้นทั้งหมดได้ถึงร้อยห้าสิบเก้าลำ ซึ่งลำใหญ่ที่สุดนั้นมีความยาวถึงร้อยยี่สิบฟุต และมีส่วนกว้างที่สุดไม่ถึงหกฟุต ข้าพเจ้าได้นำภาพลำที่แปลกที่สุดไว้ให้ดู ณ ที่นี้ด้วยแล้ว กราบเรือนั้นปริ่มน้ำอยู่ และหัวเรือกับท้ายเรือนั้นงอนขึ้นไปสูงมาก เรือบัลลังก์เหล่านี้ส่วนใหญ่หัวเรือทำเป็นรูปม้าน้ำ——-นาคราชและสัตว์ต่างๆ มีแต่ตอนหัวเรือกับท้ายเรือเท่านั้นที่ทาสีและปิดทอง ส่วนที่เหลือนั้นแทบจะไม่ได้โผล่พ้นผิวน้ำขึ้นมาเลย บางลำประดับเป็นภาพต่างๆ ด้วยวิธีฝังเกล็ดมุก บนเรือเหล่านี้มีผู้คนอยู่ราวหมื่นสี่พันคน

เมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปถึงพระอารามและถวายไทยทานแล้ว ก็เสด็จไปประทับ ณ พระตำหนักแห่งหนึ่งที่อยู่ใกล้ๆ กันนั้น และเสด็จกลับเข้ากรุงในตอนเย็นตามประเพณี”

ฟันน้ำ บงการให้น้ำลด

มีคำบอกเล่าเก่าแก่ว่าถ้าทำพิธีวิงวอนร้องขอแล้วน้ำไม่ลด พระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนจะทำพิธีฟันน้ำเพื่อบงการบังคับให้น้ำลดลงเร็วๆ มีพิธีกรรมที่ตาชาร์ดจดไว้จากคำบอกเล่า ดังนี้

“แต่ก่อนนี้มีประเพณีอยู่ว่าในโอกาสเดียวกันนี้ จะได้ทรงประกอบพระราชพิธีฟันน้ำด้วย กล่าวคือ ใช้พระแสดงดาบฟันน้ำในยามที่ท่วมใหญ่ บังคับให้น้ำถอยถดลดลงไป

แต่พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ทรงตระหนักมาเป็นเวลาตั้งหลายปีแล้ว ว่าบางทีน้ำก็กลับท่วมขึ้นมาอีกแทนที่จะลดลงไปตามพระราชบัญชา จึงได้ทรงล้มเลิกประเพณีอันไร้สาระนั้นเสีย

และทรงพอพระทัยเพียงเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนแห่แหน ไปยังพระอารามที่ว่านี้เท่านั้นเพื่อแสดงความผูกพันของพระองค์ที่ทรงมีอยู่ต่อพระศาสนา”

แข่งเรือ

“ตอนขากลับนั้นทรงพระสำราญให้ฝีพายได้ประกวดฝีมือกัน โดยจะพระราชทานบำเหน็จรางวัลแก่หมู่ฝีพายที่นำเรือของตนไปถึงท่าหน้าพระบรมมหาราชวัง ตรงที่ออกเรือมาเมื่อตอนเช้าได้ก่อนลำอื่นๆ

ตลอดเวลาบ่ายวันนั้นผ่านไปด้วยการจัดเรือบัลลังก์ให้เป็นหมวดหมู่และเปรียบคู่แข่งขันให้อยู่ ในขณะที่กำลังเตรียมการกันอยู่นี้ ท่านราชทูตก็ไปชมการแข่งเรือกับเขาด้วย โดย ม. ก็องสตังซ์ เป็นผู้นำไปและชักชวนให้พวกเราไปด้วยกันโดยส่งเรือลำหนึ่งมารับ

พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงเข้าแข่งขันกับเขาด้วย แต่โดยที่เรือพระที่นั่งนั้นมีฝีพายจำนวนมากกว่าลำอื่นๆ และเป็นบุคคลที่ได้รับการเลือกสรรมาเป็นอย่างดีแล้วด้วย จึงได้เปรียบกว่าลำอื่นๆ และไปถึงท่าหน้ากรุงด้วยชัยชนะอย่างงดงามก่อนลำอื่นๆ ตั้งเป็นนาน

เราเทียบเรือของเราเข้าชิดลำท่านราชทูตเพื่อดูพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อเรือพระที่นั่งผ่านเรือของเราไปนั้น เราได้เห็นพระองค์อย่างใกล้ชิดและทรงทอดพระเนตรมาทางเราด้วยพระอาการที่ทำให้เราเข้าใจว่า ม. ก็องสตังซ์ คงจะได้กราบทูลให้ทรงทราบล่วงหน้าไว้แล้ว

เป็นความน่ายินดีที่ได้เห็นเรือบัลลังก์เหล่านั้นแข่งความเร็วกันโดยการพายทวนน้ำขึ้นไป ในระยะทางสามลิเออโดนที่ฝีพายแต่ละลำมิได้พักพายสักอึดใจเดียว พวกเขาเปล่งเสียงแสดงความยินดีหรือเสียใจแล้วแต่ว่ากำลังขึ้นหน้า หรือว่าเสียเปรียบเขาอยู่

ราษฎรในกรุงกับในบริเวณใกล้เคียงกันนั้นพากันมาชมแน่นขนัด โดยลอยเรืออยู่ริมฝั่งแม่น้ำทั้งสองฟากเรียงรายไปเป็นระยะทางสามลิเออ จนกระทั่งถึงกรุง หลังจากที่ได้เห็นผู้คนเดินขึ้นเดินลงอยู่ตามตลิ่ง เราก็ประมาณเอาว่าน่าจะมีเรือไม่ต่ำกว่าสองหมื่นลำ และมีผู้คนกว่าสองแสนคน พวกชาวฝรั่งเศสคนอื่นๆ ยังนับได้มากกว่านี้ไปเสียอีก บางคนถึงแก่ยืนยันว่ามีตั้งหกแสนคนไปทีเดียว”


ลอยโคม

“วันรุ่งขึ้นตอนเย็น เราไปที่พระราชวังพร้อมกับท่านราชทูต เราได้เห็นการตามประทีปโคมไฟซึ่งกระทำกันเป็นปกติทุกวันเริ่มปีใหม่ มีอยู่ด้วยกันราวพันแปดร้อยหรือสองพันดวง

บ้างก็เรียงรายอยู่ในช่องแกลเล็กๆ ซึ่งเขาเจาะไว้โดยเฉพาะตามกำแพงที่ล้อมพระราชวัง บ้างก็เป็นโคมติดตั้งอย่างเป็นระเบียบและแปลกตาดีพอสมควร

ที่เราเห็นว่างามที่สุดก็คือโคมหิ้วขนาดใหญ่ทำด้วยเขาสัตว์ชิ้นเดียวไสเสียบางเป็นกระจก กับอีกชนิดหนึ่งเป็นโคมกระจกทำจากประเทศจีนด้วยข้าวเหนียว

งานตามประทีปนี้มีกลอง ปี่ และแตรประโคม

ตลอดเวลาที่พระเจ้าแผ่นดินประทับเป็นประธานอยู่ทางนี้ สมเด็จพระราชธิดาก็จัดงานตามประทีปสำหรับภริยาขุนนางและสรรกำนัลในขึ้นอีกทางด้านหนึ่งของราชวัง”