ปริศนาโบราณคดี : โลซานน์ : สถานศึกษาขององค์ยุวกษัตริย์ (2)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

เมืองโลซานน์ เป็นเมืองที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสสื่อสารในชีวิตประจำวัน ดังนั้น ที่ Champ Solei (ชอง โซเลย หรือแปลได้ว่าโรงเรียนทุ่งแสงตะวัน) พระราชวงศ์ทุกพระองค์จึงทรงได้รับการฝึกสอนภาษาฝรั่งเศสวันละ 1-2 ชั่วโมง

ครั้นทรงศึกษาที่ Champ Solei ได้เป็นเวลา 2 เดือนเศษๆ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อครั้งยังดำรงอิสริยยศเป็น หม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา อยู่นั้น ก็สามารถหาที่อยู่ใหม่ได้ในลักษณะแฟลต มีพื้นที่มากพอให้พระธิดาพระโอรสทั้งสามพระองค์ที่ยังทรงพระเยาว์สามารถวิ่งเล่น

แฟลตตั้งอยู่เลขที่ 16 Avenue Tissot (ถนนติสโซ่) เมื่อหาที่พักถาวรได้แล้ว หม่อมสังวาลย์ ก็ทำการย้ายพระธิดาพระโอรสไปเรียนที่ Ecole Miremont (โรงเรียน “เมียร์มงต์”) เป็นโรงเรียนระดับประถมของเอกชนขนาดเล็กๆ มีห้องเรียนแค่ 3 ห้อง พระธิดาและพระโอรสทั้งสามพระองค์ทรงศึกษาองค์ละห้องพอดี

วันที่ 6 กันยายน 2476 คือวันที่เริ่มย้ายไปทรงศึกษาที่โรงเรียน “เมียร์มงต์” มี Monsieur Fellay (เมอสิเยอร์ เฟลเลย์) ตำรวจลับแห่งแคว้นโวด์ มาคอยดูแลรักษาความปลอดภัยให้เป็นครั้งคราว

การตามรอยหาโรงเรียน “เมียร์มงต์” นั้น ปัจจุบันไม่สามารถพบโรงเรียนดังกล่าวแล้ว เนื่องจากทายาทได้ยกเลิกกิจการนานราว 30 กว่าปีที่ผ่านมา เหลือแต่เพียงอาคารหลังเก่า ตั้งอยู่ที่ Chemin de Miremont คำว่า chemin อ่าน เชอแม็ง แปลว่าถนนในซอย จะมีขนาดเล็กแคบกว่าถนนที่ใช้คำว่า Rue, Route และ Avenue

Chemin de Miremont เป็นซอยแยกจากถนนใหญ่เชื่อมระหว่างถนนสองสายคือ Avenue Senal?che และ Avenue des Alpes ค่อยๆ ไต่ขึ้นไปจนบรรจบถนนใหญ่อีกสายหนึ่งคือ Avenue de l”Avenir

ในขณะที่ปัจจุบันเมืองเจนีวายังมี Ecole Miremont เปิดสอนคงอยู่อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนยังไม่ได้สืบค้นว่ามีความเกี่ยวข้องอันใดกับอดีตโรงเรียนเมียร์มงต์ของเมืองโลซานน์หรือไม่

dbdsbdnn


เมื่อรัชกาลที่ 7 สละราชสมบัติ

เจ้านายองค์น้อยกลายเป็น “ยุวกษัตริย์”

ผ่านไปได้แค่เพียง 7 เดือน มินานเลยหลังจากที่ย้ายไปอยู่แฟลตถนนติสโซ่และโรงเรียนแห่งใหม่เมียร์มงต์ จู่ๆ ก็บังเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดมาก่อน นั่นคือการทรงสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

รัฐบาลไทยได้อัญเชิญ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล หรือพระองค์นันท์ (ชาวต่างชาติเรียกท่านว่า Ananda) เสด็จขึ้นครองราชย์สืบราชสันตติวงศ์ กลายเป็น “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล” รัชกาลที่ 8

ต่อมาชาวสวิสจึงเรียกพระองค์ท่านว่า “Le Roi Ananda” หรือ “Le Roi Enfant” หมายถึง “ยุวกษัตริย์” หรือกษัตริย์ที่ยังทรงพระเยาว์

ส่งผลให้พระเชษฐภคินีและพระอนุชาธิราช ทั้งสองพระองค์ต้องทรงเปลี่ยนพระราชอิสริยยศจาก “พระองค์เจ้า” เป็น “เจ้าฟ้า” พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยาณิวัฒนา หรือที่เพื่อนต่างชาติเรียกว่า Bee ส่วนชาวไทยที่ใกล้ชิดเรียก พระองค์หญิงบี๋ (เหตุที่ไม่เรียก Princess เพราะชาวสวิสไม่คุ้นเคยและไม่รู้จักระบบเจ้า) เลื่อนชั้นเป็น พระพี่นาง เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา (ต่อมาจึงจะเป็น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ)

และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช หรือที่เพื่อนต่างชาติเรียก Petit (อ่าน เปอตี/เปอติ๊ หมายถึงเล็ก หรือพระองค์เจ้าเล็ก) เลื่อนชั้นเป็น สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช

ในขณะที่ หม่อมสังวาลย์ พระราชมารดา ได้รับการแต่งตั้งเป็น “พระราชชนนีศรีสังวาลย์”

เพื่อให้สมพระเกียรติ รัฐบาลไทยได้หาสถานที่ประทับใหม่ให้เป็นบ้านที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิม ดังที่เรียกกันว่า “คฤหาสน์” หรือ วิลล่า (Villa) ตั้งอยู่ที่ตำบล Pully (ปุยยี) ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองโลซานน์

พระตำหนักหลังที่ทรงประทับนี้มีชื่อว่า “Villa Vadhana”

คำว่า “วัฒนา” นั้น คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นการนำสร้อยมาจากพระนาม “กัลยาณิวัฒนา” โดยตรง แต่อันที่จริงแล้ว สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ทรงอธิบายไว้ในหนังสือหลายเล่มที่ทรงพระนิพนธ์ว่า เป็นสร้อยที่พระราชชนนีศรีสังวาลย์นำมาจากพระนามของ “สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา ในรัชกาลที่ 5”

หรือต่อมาคือ “สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า” ผู้เป็นพระราชชนนีของ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

ซึ่งสร้อย “วัฒนา” ดังกล่าว ได้สืบทอดมาสู่สร้อยของ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา นั่นเอง

พระตำหนัก Villa Vadhana แห่งนี้ พระราชชนนีศรีสังวาลย์พร้อมพระราชโอรสและพระราชธิดา ทรงประทับอยู่นานหลายปี กระทั่ง พ.ศ.2481 องค์ยุวกษัตริย์ได้เสด็จนิวัติกลับสู่พระนครเป็นครั้งแรก

และเมื่อได้เปลี่ยนสถานะจากเจ้านายองค์น้อยเป็น “องค์ยุวกษัตริย์” แล้ว ทำให้ต้องมีการอารักขาเป็นพิเศษ

ทรงย้ายสถานศึกษาสู่

Ecole Nouvelle de la Suisse Romande

เดือนกันยายนปี 2478 พระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และพระอนุชา ได้เสด็จเข้าศึกษา ณ โรงเรียนราษฎร์แห่งใหม่ ชื่อ Ecole Nouvelle de la Suisse Romande อ่านว่า เอกอล นูแวล เดอ ลา สวิส โรมองด์

คำว่า nouvelle หมายถึง new หรือใหม่ ในที่นี้ (ตามความเข้าใจของผู้เขียน) ไม่น่าจะหมายถึงโรงเรียนที่เพิ่งเปิดใหม่ แต่น่าจะหมายถึงว่า “เป็นหลักสูตรใหม่”, Suisse เป็นการสะกดด้วยภาษาฝรั่งเศส เป็นคำเดียวกับ Swiss ในภาษาอังกฤษนั่นเอง, Romande อ่าน โรมองด์ เป็นคำคุณศัพท์ใช้อธิบายถึงประชากรในภูมิภาคนั้นใช้ภาษาฝรั่งเศสพูดในชีวิตประจำวัน

ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แบ่งพื้นที่การใช้ภาษาออกเป็น 3 ภูมิภาคใหญ่ๆ ได้แก่

1. Suisse Allemande (สวิสซัลเลอมองด์) คือสวิสที่ใช้ภาษาเยอรมัน ประชากรส่วนส่วนใหญ่อยู่ทางเหนือและทิศตะวันออกมีพรมแดนติดกับประเทศเยอรมนีและออสเตรีย

2. Suisse Romande (สวิสโรมองด์) คือสวิสที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส อยู่ทางทิศตะวันตกและทิศใต้ มีพรมแดนติดกับประเทศฝรั่งเศส

และ 3. Suisse Italienne (สวิสอิตาเลียน) คือกลุ่มสวิสที่ใช้ภาษาอิตาเลียน อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีพรมแดนติดกับประเทศอิตาลี

ในขณะที่ พระพี่นาง เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ทรงแยกไปเรียนที่โรงเรียนมัธยมสตรีแห่งเมืองโลซานน์ซึ่งเป็นโรงเรียนของรัฐบาลชื่อ Ecole Superieure de Jeunes Filles de la Ville de Lausanne อ่าน เอกอล ซูเปรีเยอร์ เดอ เชิน ฟีย์ เดอ ลา วีล เดอ โลซานน์

คำว่า Superieure หมายถึงระดับสูง คือระดับมัธยม, de / de la ทั้งหลายนี้หมายถึง of แปลว่า ของ/แห่ง, Jeunes หมายถึง Youth เยาวชน, Filles หมายถึง Girls นักเรียนหญิง, Ville หมายถึง Town เมือง

โรงเรียนของพระพี่นาง เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา อยู่กลางเมือง แต่โรงเรียนขององค์ยุวกษัตริย์และพระอนุชา อยู่ทางเหนือของเมืองโลซานน์ ซึ่งในระหว่างนั้น รัฐบาลไทยได้มอบหมายให้ หลวงสิริราชไมตรี เดิมเป็นข้าราชการอยู่ที่สถานทูตไทยประจำกรุงลอนดอน มาทำหน้าที่เป็นราชเลขานุการในพระองค์