สุรชาติ บำรุงสุข : เลื่อนยศ-ปลด-ย้าย! ปัญหาโลกแตกของกองทัพไทย

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ชั้นยศไม่ได้บ่งบอกถึงการมีอภิสิทธิ์หรืออำนาจ แต่บอกถึงการมีความรับผิดชอบต่างหาก”

Peter Drucker

ก่อนสิ้นปีงบประมาณของทุกปีมีนัยโดยตรงถึงการ “เลื่อนยศ ปลด ย้าย” ของตำแหน่งต่างๆ ในกองทัพ อันส่งผลให้เกิดเป็นประเด็นของการบริหารจัดการกำลังพลที่เป็นดัง “ปัญหาโลกแตก” ที่กองทัพไทยต้องเผชิญ

จนในบางปีอาจเป็นเสมือน “วิกฤตภายใน” ของสถาบันทหาร

และน่าสนใจว่าปัญหาชุดนี้เป็นปัญหาของนายทหารระดับสูงและระดับกลางบางส่วนโดยตรง

ดังนั้น ในการเมืองไทย “โผทหาร” จึงเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจอย่างมากในวงกว้างของสังคม อันเป็นผลโดยตรงจากสถานะทางการเมืองของกองทัพนั่นเอง ที่เป็นเช่นนี้เพราะการขึ้นสู่ตำแหน่งระดับสูงในกองทัพไทยมีผลกระทบอย่างหนึ่งอย่างใดต่อบทบาททางการเมืองของทหารอย่างปฏิเสธไม่ได้

ต้องยอมรับว่าปรากฏการณ์ในลักษณะเช่นนี้ไม่มีในประเทศอื่น

หรืออาจกล่าวเปรียบเทียบได้ว่า บัญชีการโยกย้ายทหารไม่ใช่ข่าวใหญ่ในสังคมที่มีความเป็น “ประเทศพัฒนาแล้ว”

เพราะกองทัพจะไม่เข้ามามีบทบาทโดยตรงในเวทีการเมืองของประเทศ

ในขณะที่คุณสมบัติประการหนึ่งที่เห็นชัดของประเทศด้อยพัฒนาหรือประเทศกำลังพัฒนาก็คือ การมีบทบาทของทหารในการเมือง

ดังจะเห็นได้ว่าตำราสาขาการเมืองเปรียบเทียบที่ศึกษาประเทศโลกที่สามในอดีต จะต้องมีหัวข้อหนึ่งที่เป็นประเด็นของประเทศเหล่านี้ก็คือ เรื่อง “ทหารกับการเมือง”

โผทหาร : หัวข้อข่าวการเมืองไทย

ในประเทศที่พัฒนาแล้ว กองทัพถูกสร้างให้เป็น “ทหารอาชีพ” และมีบทบาทหลักอยู่กับกิจการทหารและการป้องกันประเทศนั้น

กองทัพในประเทศเช่นนี้ไม่มีบทบาทแทรกแซงทางการเมือง หรือไม่มีบทเป็นตัวแสดงที่สำคัญทางการเมือง อันส่งผลให้การเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำระดับสูงทางทหารไม่มีผลกระทบทางการเมือง ดังที่เกิดในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย

ซึ่งลักษณะเช่นนี้เห็นได้ชัดจากกรณีของประเทศไทย ที่บัญชีการโยกย้ายทหารเป็นหัวข่าวสำคัญของประเทศเสมอมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อันเป็นผลจากบทบาททางการเมืองของกองทัพนั่นเอง

และแม้กระทั่งผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่ทำเรื่องการเมืองไทย ก็ยังจะต้องติดตามข่าวในเรื่องนี้ด้วย

เพราะผลที่เกิดขึ้นจากการโยกย้ายตำแหน่งหลักในกองทัพมีนัยโดยตรงต่อบทบาทของกองทัพกับการเมือง

ถ้าเราสังเกตจากข่าวต่างประเทศ เราแทบไม่เคยเห็นเลยว่าการเมืองในประเทศอื่นๆ ในปัจจุบัน ที่แม้จะไม่มีสถานะเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซียหรือฟิลิปปินส์ ก็ไม่มีเรื่องเช่นนี้เป็นข่าวสำคัญ

และแน่นอนจากตัวอย่างของการเมืองอเมริกัน ยุโรป หรือแม้กระทั่งจีน อินเดีย และรัสเซียไม่ได้มีประเด็นเช่นนี้ จนต้องยอมรับว่า “โผทหาร” เป็นปรากฏการณ์เฉพาะของสังคมการเมืองไทย

ถ้าเช่นนั้นโผทหารสะท้อนถึงปัญหาอะไร ทั้งทางการเมืองและการทหารของไทย

Career Path : ไม่มีเส้นทางชีวิตในกองทัพไทย

กองทัพที่มีมาตรฐานทั่วโลกในทางทหารจะมี “แนวทางการรับราชการ” (career path) ของนายทหารทุกนายเป็นเครื่องมือในการตัดสินเส้นทางชีวิตภายในสถาบันกองทัพ

จนกล่าวกันว่าเมื่อนายทหารได้รับการบรรจุและเริ่มรับราชการหลังจากจบโรงเรียนนายร้อยหรือจบจากมหาวิทยาลัย ก็พอจะมองเห็นเส้นทางในอนาคต

เช่น เมื่อมีการเลือกเหล่าแล้ว นายทหารพอจะคาดเดาได้ว่า พวกเขาจะจบชีวิตราชการในกองทัพอย่างไร เป็นต้น

หรือกล่าวในการรับราชการก็คือ เมื่อนายทหารเดินไปสู่ชั้นยศและตำแหน่งต่างๆ ในกองทัพตั้งแต่เริ่มต้นรับราชการนั้น สิ่งเหล่านี้จะเป็นปัจจัยในการกำหนดเส้นทางชีวิตของแต่ละคน

เส้นทางชีวิตเช่นนี้จะทำให้เกิดความชัดเจนแก่ผู้บังคับบัญชาที่จะใช้ในการเลื่อนยศและ/หรือการมีตำแหน่งรับผิดชอบที่มากขึ้น

แต่หากสังเกตจากปัญหาการบริหารจัดการกำลังพลของกองทัพไทย ปัจจัยแนวทางการรับราชการดูจะไม่ได้รับการความสำคัญอย่างจริงจัง

เช่น สมมติว่าเรามีนายทหารจบจากโรงเรียนนายร้อยจากประเทศ ก. จบโรงเรียนเสนาธิการจากประเทศ ก. และจบจากวิทยาลัยการทัพจากประเทศ ก.

แต่นายทหารท่านนี้กลับไม่ถูกส่งไปเป็นทูตทหารประจำประเทศ ก. เสมือนว่าแนวทางที่เกิดขึ้นจากการเข้ารับการศึกษาของนายทหารผู้นี้ไม่เป็นปัจจัยส่งเสริมให้เขาถูกแต่งตั้งเป็นทูตทหารประจำประเทศที่เขาเคยศึกษามาก่อนแต่อย่างใด

แม้ตัวอย่างเช่นนี้อาจจะมีลักษณะเฉพาะ แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงการที่แนวทางการรับราชการไม่ใช่ปัจจัยที่จะตัดสินการเลือกตัวบุคคลในการรับตำแหน่งในอนาคต

การเลือกผู้บังคับบัญชาระดับต่างๆ ก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือกนายทหารระดับผู้บังคับกองพัน ผู้บังคับการกรม ผู้บัญชาการกองพล หรือตำแหน่งในระดับสูงในกองทัพ

กองทัพจะมีแนวทางอย่างไรที่จะบรรจุนายทหารลงสู่ตำแหน่งเหล่านี้

เช่น ถ้าเป็นหน่วยกำลังรบ ก็ควรจะบรรจุนายทหารที่มาจากหน่วยกำลังตามเส้นทางของนายทหารแต่ละท่าน

แม้นายทหารบางคนอาจจะรู้สึกว่า ชีวิตหลังจากการจบโรงเรียนเสนาธิการแล้วเป็นดังช่วงเวลาของการเริ่มต้นชีวิตใหม่ในกองทัพ เพราะนายทหารสามารถเปลี่ยนเหล่าหรือสายงานที่ตนได้เติบโตมาตั้งแต่ได้รับการบรรจุหลังจากจบโรงเรียนหลัก ถ้าทำเช่นนี้ได้ก็จะทำให้เกิดคำถามว่า แนวทางการรับราชการที่เริ่มมานั้นมีผลเพียงใด เพราะในชีวิตทางทหารนั้น ถ้าไม่ใช่เป็นนายทหารที่มีประวัติดีเด่นอย่างมากแล้ว การย้ายเหล่าที่เป็นเสมือนการเปลี่ยนชีวิตแทบจะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย

อย่างไรก็ตาม ถ้าแนวทางการรับราชการเป็นเครื่องกำหนดจริงแล้ว การบรรจุนายทหารเข้าสู่ตำแหน่งเหล่านี้อาจจะช่วยลดความไม่แน่นอนในชีวิตในกองทัพลงได้ แต่เมื่อแนวทางการรับราชการไม่ได้ถูกนำมาใช้จริง

คำตอบที่เหมาะสมในการโยกย้ายทหารจึงมีแต่เพียงประการเดียวคือ “เพื่อความเหมาะสม” และการคัดเลือกของผู้บังคับบัญชาระดับสูงกลายเป็นปัจจัยชี้ขาด

แม้นายทหารท่านนั้นจะมีความประพฤติหรือมีเกียรติประวัติอย่างไร ก็เป็นเพียงสิ่งที่ดำรงอยู่ในสมุดประวัติของนายทหารแต่ละคน มากกว่าจะเป็นดัชนีที่ชี้ถึงชีวิตในกองทัพในวันข้างหน้า

Politicization : มีแต่เส้นชีวิตทางการเมืองในกองทัพไทย

แต่หากมองด้วยความเป็นจริงแล้วคงต้องยอมรับว่า แนวทางการรับราชการที่กล่าวในข้างต้นไม่สามารถใช้ได้กับกองทัพที่มีบทบาททางการเมืองอย่างมาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทัพในยามที่ต้องรับหน้าที่เป็นผู้ค้ำประกันการอยู่รอดของรัฐบาลทหารที่เกิดขึ้นจากการรัฐประหาร

การโยกย้ายทหารในสถานการณ์เช่นนี้จึงเป็นเรื่องทางการเมือง เพราะรัฐประหารในตัวเองก็คือกระบวนการของ “การทำให้เป็นการเมือง” (politicization) ในระดับสูงสุด การโยกย้ายทหารจึงเป็นสิ่งที่แยกไม่ออกจากบทบาททางการเมืองของทหาร เพราะอย่างไรเสียคณะรัฐประหารไม่ว่าจะในความหมายของการเป็นรัฐบาลทหาร หรือเป็นกองทัพที่ต้องมีบทบาททางการเมือง ก็จะต้องเลือกนายทหารในกลุ่มของตน

ฉะนั้น หากจะปฏิรูปกองทัพเพื่อให้เกิดมาตรฐานของการโยกย้ายทหารแล้ว ปัจจัยในเบื้องต้นที่จะต้องทำให้ได้จริงก็คือ กองทัพจะต้องลดบทบาททางการเมืองลง

เพื่อที่การเมืองจะไม่ใช่ปัจจัยหลักของการทำบัญชีโยกย้าย

หลักการพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและกองทัพก็คือ กองทัพเป็นเครื่องมือในนโยบายของรัฐ และกองทัพไม่ได้มีสถานะเป็นรัฐในตัวเอง

ด้วยหลักการเช่นนี้ เมื่อกองทัพไม่เป็นการเมืองในตัวเองแล้ว การโยกย้ายทหารก็จะไม่เป็นการเมืองในตัวเองด้วยเช่นกัน ซึ่งถ้าทำเช่นนี้ได้ก็จะทำให้แนวทางการรับราชการเป็นปัจจัยหลักในการปรับย้ายทหาร

ในอีกด้านหนึ่งกระบวนการทำให้เป็นการเมืองที่เกิดขึ้นในกองทัพนั้น ส่งผลให้เกิดสภาวะของ “การแบ่งขั้ว” (polarization) ในหมู่นายทหารในระดับต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เราคงต้องยอมรับความเป็นจริงประการสำคัญว่า ยิ่งกองทัพเป็นการเมืองมากเท่าใด นายทหารก็ยิ่งแตกแยกหรือแบ่งขั้วมากเท่านั้น

ในสภาวะเช่นนี้รัฐประหารเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิด “ทหารการเมือง” ในระดับสูงสุด เพราะการทำรัฐประหารไม่เพียงสะท้อนถึงความล้มเหลวของสายการบังคับบัญชาภายในกองทัพเท่านั้น

แต่ยังบ่งบอกถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพที่แตกหักจนนำไปสู่การใช้อำนาจทางทหารในการโค่นล้มรัฐบาลที่มีสถานะเป็นผู้บังคับบัญชาในทางการเมือง

ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อกองทัพมีบทบาททางการเมืองย่อมจะนำไปสู่ความแตกแยกภายในกองทัพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การเข้าไปสู่การเมืองทำให้เกิดการเป็น “กลุ่มการเมือง” ของคณะทหาร การกำเนิดของกลุ่มนายทหารระดับกลางไม่ว่าคณะนายทหารรุ่น 5 และรุ่น 7 เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของปัญหาเอกภาพของกองทัพไทย

เพราะได้เกิดการแข่งขันทางการเมืองภายในกองทัพ หรือในยุคปัจจุบันตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ “กลุ่มบูรพาพยัคฆ์” ที่มีนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 6 เป็นแกนกลาง

ซึ่งว่าที่จริงแล้วก็ไม่ต่างจากอดีตของการขยายบทบาทของรุ่น 5 และรุ่น 7 เพราะกลุ่มการเมืองที่เกิดขึ้นจำเป็นต้องแสวงหาสมาชิกของกลุ่ม และเมื่อมีการแต่งตั้งโยกย้ายก็จะต้องผลักดันคนในกลุ่มของกลุ่มตนให้ขึ้นสู่อำนาจ โดยเฉพาะการวางตัวบุคคลในสายคุมกำลังรบ ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่าในยุคใดที่กลุ่มการเมืองใดมีอำนาจ ก็มักจะเป็นโอกาสที่การโยกย้ายจะเป็นไปในทิศทางที่กลุ่มนั้นต้องการ เช่น ในยุคที่บูรพาพยัคฆ์เป็นใหญ่ สมาชิกของกลุ่มนี้จะเข้ามาสู่ตำแหน่งหลักในสายคุมกำลัง

ในเงื่อนไขเช่นนี้ การสลายขั้วในกองทัพพร้อมกับลดความเป็นการเมืองในกองทัพจะเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นที่จะทำให้การโยกย้ายในกองทัพเป็นมาตรฐาน แต่ถ้ากองทัพยังคงบทบาททางการเมือง การโยกย้ายจะถูกตัดสินจากปัจจัยของความเป็นกลุ่มการเมืองภายในกองทัพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะจำเป็นต้องสร้างฐานสนับสนุนจากการแบ่งกลุ่มของคณะทหาร

กองทัพที่อยู่ในลักษณะเช่นนี้ย่อมจะมีปัญหาเอกภาพและปัญหาการบังคับบัญชาในตัวเอง

และในขณะเดียวกันผลจากการโยกย้ายจะทำให้กองทัพกลายเป็นดัง “สมบัติส่วนตัว” ของทหารบางกลุ่ม ทั้งยังกลายเป็น “ฐานการเมือง” ของนายทหารระดับสูงบางคน

ในสภาพเช่นนี้ ผลกระทบที่สำคัญจึงได้แก่ ความเป็นสถาบันทหารจะลดระดับลง และกองทัพกลายเป็นเพียงกลุ่มการเมืองเช่นกลุ่มการเมืองอื่นๆ

The Merit System : ความฝันของการบริหารกองทัพ

หากวันหนึ่งจะต้องสร้างกองทัพไทยให้เป็นมาตรฐานเช่นกองทัพของทหารอาชีพดังที่ปรากฏในหลายประเทศทั่วโลกแล้ว

การบริหารจัดการจะเป็นประเด็นสำคัญ เพราะความเป็นองค์กรสมัยใหม่ของสถาบันทหารต้องการกระบวนการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ และการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพจะต้องรองรับด้วยระบบคุณธรรม (merit system)

ซึ่งหากการบริหารกองทัพเป็นไปโดยระบบ “ไร้คุณธรรม” แล้ว

เมื่อนั้นกองทัพจะไม่ได้มีสถานะเป็นกองทัพแห่งชาติแต่อย่างใด

หรือในสภาพเช่นนี้กองทัพอาจจะเป็นเพียงกองกำลังติดอาวุธที่อยู่ในมือของขุนศึก

และใช้ประโยชน์จากการมีกองกำลังติดอาวุธเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน ดังที่ปรากฏให้เห็นมาแล้วจากยุคขุนศึกในช่วงเวลาแห่งการแก่งแย่งอำนาจของผู้นำทหารจีน (หรือยุคก่อนการขึ้นสู่อำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์จีน)

การขาดระบบคุณธรรมยังส่งผลอย่างมากในการจัดวางตัวบุคคลที่เหมาะสมในตำแหน่งหน้าที่ในกองทัพเป็นปัญหาในตัวเอง เพราะหลักการพื้นฐานของระบบนี้คือ “put the right man to the right job” ซึ่งมีความหมายโดยตรงถึงการบรรจุนายทหารเข้ารับตำแหน่งที่เหมาะสมกับความรู้ความสามารถของนายทหารผู้นั้น อันมีนัยโดยตรงหมายถึงการใช้แนวทางการรับราชการเป็นเครื่องมือตัดสินการโยกย้ายบุคลากรในกองทัพนั่นเอง

และในกรณีนี้จะเห็นได้ว่า ระบบคุณธรรมไม่อาจนำมาใช้ได้กับกองทัพที่มีบทบาททางการเมืองหรือมีบทบาทอยู่กับอำนาจในยุครัฐประหาร เพราะสbjงที่ต้องคำนึงถึงในสถานการณ์เช่นนี้คือปัจจัยทางการเมือง ไม่ใช่ปัจจัยคุณธรรมในการโยกย้าย

ดังนั้น ถ้าจะทำให้โผทหารเป็นเรื่องของการแต่งตั้งโยกย้ายในแบบปกติ กองทัพคงต้องยุติบทบาททางการเมือง เพราะการยอมยุติบทบาททางการเมืองจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการปฏิรูปกองทัพ และการปฏิรูปนี้ในส่วนหนึ่งคือ การสร้างการบริหารกำลังพลที่มีประสิทธิภาพ…

กองทัพเป็นของประเทศชาติและประชาชน

การบริหารกองทัพจึงต้องมีระบบคุณธรรม ไม่ใช่บริหารด้วยคำตัดสินของนายทหารระดับสูงเพียงไม่กี่คนที่กลายเป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตของกำลังพลทั้งกองทัพ!