ทราย เจริญปุระ : กองฝุ่นยุ่ยย่อย

คุณซื้อชุดจานชามแสนสวย บอกกับตัวเองว่าจะเอาไว้ใช้ในโอกาสพิเศษ

แต่ไม่เคยมีอะไรพิเศษคู่ควรกับมัน

จนคุณตาย

เพื่อนพ้องจัดงานศพ

และหยิบใช้ทุกจานชามรวมกัน

“คุณซื้อเฟอร์นิเจอร์ คุณบอกตัวเองว่านี่คือโซฟาตัวสุดท้ายที่ฉันจำเป็นต้องมีในชีวิต ซื้อโซฟาเสร็จคุณก็จะอุ่นใจได้ว่า แม้อีกไม่กี่ปีถัดจากนี้ ต่อให้อะไรๆ ในชีวิตจะไม่เป็นอย่างที่ใจคิด แต่อย่างน้อยคุณก็จัดการเรื่องซื้อโซฟาสำเร็จไปหนึ่งอย่าง จากนั้นคุณก็เลือกซื้อชุดจานชามที่ถูกใจ เตียงนอนที่ใช่ ผ้าม่านที่เหมาะเจาะ และพรมสำหรับปูพื้น

แล้วคุณก็ถูกขังในรังที่คุณสร้างขึ้นมา สิ่งต่างๆ ที่คุณเคยเป็นเจ้าของ ตอนนี้พวกมันกลายเป็นเจ้าของคุณ”*

-The Things You Own End Up Owning You.-

วูบแรกที่เห็นข่าวการจัดพิมพ์นวนิยายไฟต์คลับออกมาเป็นภาษาไทย พลันฉันก็คิดถึงประโยคนี้จากในหนัง

คิดอย่างจริงจังว่ามันจะมีอยู่ในหนังสือต้นฉบับหรือเปล่า หรือเป็นการเสริมเข้ามาด้วยฝีมือนักเขียนบทภาพยนตร์

หนังเรื่องนี้ทำออกมาตั้งแต่ปี 1999 ฉันจำไม่ได้แน่ชัดว่าเพราะอะไร หรือทำไมอย่างไรจึงได้ดู

แต่ดูแล้วก็เลยกลายเป็นต้องดูซ้ำดูซากไปเรื่อยๆ

ไม่รู้สิ, มันคงจริงที่บอกว่า คนยุคเรา (คือยุคฉัน) เป็นผลผลิตของห้วงเวลาที่ปราศจากสงครามครั้งใหญ่ ไม่มีโรคระบาดหรือความอดอยากให้ต่อสู้

สิ่งเดียวที่เราพอจะให้เป็นศัตรู ก็คือตัวเราเอง

เราต่อสู้ทั้งกับความอยากและไม่อยากในตัวเรา

เราสู้กับระบบที่พยายามดูดกลืนเรา พอๆ กับที่เราอยากถูกดูดกลืนเข้าไป ตะเกียกตะกายขึ้นไปอยู่บนยอดสูงที่สุดของมัน

เพื่อจะมองลงมาที่ผู้คนซึ่งกระเสือกกระสนจะขึ้นมาอยู่ในระนาบเดียวกับเราด้วยสายตาเมตตาว่า โธ่เอ๋ย เจ้าทาสผู้อ่อนแอและโง่งม พวกไม่รู้จักพอเพียง พวกวัตถุนิยม

“เพิ่งเคยเห็นรองเท้าที่กลายเป็นฝุ่น”

“ก็ไม่ได้ใช้เลยนี่ ซื้อมาเก็บไว้เฉยๆ”

“จะบอกว่าเสียดายก็ไม่เชิงป่าว ได้มาฟรีนี่”

“เสียดายสิ ถ้าเอาไปแลกของให้คนอื่นน่าจะดีกว่า”

ช่วงหนึ่งของชีวิต ฉันได้รับสิทธิ์ไปเลือกเสื้อผ้าและรองเท้าของแบรนด์ดังแบรนด์หนึ่ง

มูลค่าก็เยอะอยู่ เลือกดีๆ ก็ได้ชุดครบพร้อมออกไปเที่ยว ไปงาน ไปทำอะไรต่อมิอะไรได้เลยทีเดียว

แต่ก็เหมือนกับทุกเรื่องในชีวิตช่วงนั้น ฉันไม่ได้เลือกหรือตัดสินใจอะไรด้วยตัวเอง เพราะแม่จะทำให้แทน

แม่ก็ไปเลือกชุดที่เหมาะกับฉัน

แล้วก็เลือกชุดให้ตัวเอง

บางทีที่ฉันไม่รู้จะซื้ออะไร แม่ก็หาของที่แม่ถูกใจจนได้ รองเท้า กระเป๋า น้ำหอม ครบทุกสี มีทุกคอลเล็กชั่น

ฉันถามแม่ว่ามันเก็บสะสมไว้ครั้งหน้าไม่ได้เหรอ คราวนี้ฉันยังไม่ถูกใจอะไร เราก็เก็บไว้ก่อนสิ

หรือไม่ก็เลือกของให้น้องบ้างดีมั้ย-ฉันถามแบบกล้าๆ กลัวๆ- ของผู้ชายสวยๆ เยอะเลย

“ใจดีไม่เข้าท่าตลอดนะพี่ทราย” แม่บอกเบื่อๆ รูดมือไปตามราวแขวนเสื้อในช็อปอันสวยงามสว่างไสว

ของตัวเองยังเลือกไม่ได้, จะเลือกไปให้คนอื่น น้องมันจะใส่ไปไหน แม่ก็เลือกอยู่นี่ไง

-ก็แม่ล่ะจะใส่ไปไหน- ฉันตอบได้เพียงในใจ สุดท้ายแม่ก็เลือกได้จนครบมูลค่าเหมือนทุกที

วันที่ไปคุยถึงหนังสือไฟต์คลับ ฉันก็นึกถึงวันที่จัดตู้ รื้อของกับน้องชายขึ้นมาเฉยๆ

เบื่อหน่ายงั้นหรือ?

มันก็ไม่เชิง

มันคือความเหนื่อยหน่าย ผะอืดผะอมมากกว่า ที่เปิดตู้แล้วเจอกองฝุ่นยุ่ยย่อย ที่เคยประกอบร่างกันเป็นรองเท้า กระเป๋า และข้าวของมากมาย

-แล้วยังไงล่ะ ยังไม่ทันตาย ก็เอาไปไหนไม่ได้ด้วยซ้ำ-

ฉันคิดแบบเจ็บๆ ในใจ รู้ว่าผิดหลักลูกกตัญญู ผิดหลักชาวพุทธ ขงจื๊อ เม่งจื๊อ ผิด ผิด ผิด ผิดแม่งทุกอย่าง

แต่ฉันห้ามตัวเองไม่ให้คิดแบบนั้นไม่ได้

“เห้ย เป็นไร หน้าซีดๆ ไม่ต้องช่วยก็ได้ ไปพักเหอะ” น้องชายฉันบอก

ฉันจะอ้วก ฉันผะอืดผะอม ฉันอยากกรี๊ดๆ ให้ทุกอย่างที่สูญไป ความอยากได้อันไม่มีที่สิ้นสุดของแม่ อยากร้องไห้ให้กับโซฟาราคาแพงที่แม่นอนใส่ผ้าอ้อมจมยุบยวบอยู่บนนั้น ร้องไห้ที่ฉันต้องบังคับเอามันออกไปจากบ้าน แล้วไปซื้อเตียงที่ปรับระดับสำหรับผู้ป่วยมาให้แม่ใช้นอนแทน

ผิด ผิด ผิด ทุกคนแม่งผิด

อาจจะมีไทเลอร์ เดอร์เดน คนเดียวที่ถูก

เดอร์เดนที่ถูกถ่ายทอดผ่านความคิดของพอลลานิก

-The Things You Own End Up Owning You.-

ไม่แต่ข้าวของ

แต่กับลูกด้วย

ลูกที่ถูกเทียมแอกไถ หันไปไหนๆ ได้ตามคำสั่ง ลูกที่เก็บปากออมคำ

เด็กพวกนั้น หายไปแล้วตลอดกาล

“แม่ทรายชอบเก็บข้าวของ คืออะไรที่มากกว่าสามชิ้น เค้าก็จะบอกว่าเค้าสะสม”

ฉันขยายความแค่นี้ในงานเสวนา ไม่ได้บอกหรอกว่าเงินที่เอามาซื้อข้าวของ หรือบัตรกำนัลต่างๆ นั้นมันผุดขึ้นมาจากไหน อย่างไร

นึกๆ แล้ว ฉันก็อยากให้ของมันคาอยู่แบบนั้น

จ้องมอง

กระซิบกระซาบ

พยักพเยิดต่อกัน

ให้ก้มลงดูแม่ที่นอนอยู่เดียวดาย

“Fight Club” เขียนโดย Chuck Palahniuk แปลโดย ธีปนันท์ เพ็ชร์ศรี ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 โดยสำนักพิมพ์แมร์รี่โกราวด์, กันยายน 2561

*ข้อความจากในหนังสือ

-The Things You Own End Up Owning You.- ประโยคภาษาอังกฤษจากภาพยนตร์เรื่อง Fight Club (1999)