ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 - 14 กรกฎาคม 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | On History |
ผู้เขียน | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ |
เผยแพร่ |
ใกล้วันพระใหญ่อย่างนี้ นอกเหนือจากใครต่อใครจะพูดเรื่องการทำบุญ การเตรียมบวช และอีกสารพัดเรื่องที่ชวนให้ผ่องแผ้วนพคุณแล้ว ก็ยังมีใครหลายคนซุบซิบเสียงกระปอดกระปอดกันให้ได้ยินอยู่เนืองๆ ด้วยเรื่องที่อาจจะไม่ชวนให้รู้สึก สว่าง สะอาด สงบ เท่าไรสำหรับใครต่อใครจำพวกแรกอย่าง กฎหมายการห้ามขายเหล้าวันพระใหญ่
ผมเดาว่า เอาเข้าจริงแล้วคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ก็คงจะไม่ทราบเหตุผลชัดๆ ว่า ทำไมรัฐท่านถึงห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันพระใหญ่ รวมถึงวันเข้าพรรษา และวันออกพรรษา?
แน่นอนว่าผมก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย ก็เลยได้แต่เดาเอาเองต่อไปอีกว่า คงจะเกี่ยวข้องกับทัศนะของพระพุทธศาสนาที่มีต่อเครื่องดื่มจำพวกนี้กระมังครับ?
กฎหมายห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันพระใหญ่ทั้งหลาย เพิ่งมีประกาศใช้เมื่อ พ.ศ.2552 ในรัฐบาลของ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
โดยเรือน พ.ศ. นั้น ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ออกมาสองฉบับ ซึ่งมีหลักใหญ่ใจความตรงกันคือ ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา
เพียงแค่ว่าฉบับที่ 2 ได้ยินยอมให้มีการจำหน่ายในโรงแรม เพื่อเป็นการส่งเสริมนโยบายการท่องเที่ยวในประเทศไทย และกระตุ้นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
แต่ประกาศทั้งสองฉบับ ที่ออกในเรือน พ.ศ. นั้นไม่ได้ระบุตรงไหนไว้เลยว่า ทำไมรัฐจึงได้ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันพระใหญ่เหล่านี้?
ต่อมาใน พ.ศ.2558 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป รัฐบาลทหารของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมมนตรี เรื่องกำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ 3)
ซึ่งแม้จะเป็นประกาศห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันพระใหญ่เหมือนกัน แต่มีรายละเอียดที่ เพิ่มเติม หรือเปลี่ยนแปลงไปจากประกาศเดิมแน่ (แน่ล่ะ ถ้าเหมือนเดิมแล้วจะประกาศใหม่ทำไม?) เพราะได้สั่งให้ยกเลิกประกาศฉบับที่บังคับใช้ในรัฐบาลของคุณอภิสิทธิ์
ซึ่งหมายความว่า จากนี้ไปแม้แต่ในโรงแรม ที่ได้รับการงดเว้นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ก็ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มเหล่านี้ในวันพระใหญ่
แต่ก็ไม่ใช่ว่ารัฐท่านจะใจไม้ไส้ระกำต่อธุรกิจการท่องเที่ยวเสียทีเดียว เพราะอย่างน้อยท่านก็เปิดให้ในวันพระใหญ่เหล่านั้น สามารถซื้อหาเครื่องดื่มเหล่านี้เฉพาะในร้านค้าปลอดอากรภายในท่าอากาศยานนานาชาติได้
(แปลง่ายๆ ว่า สามารถซื้อขายในร้าน duty free ทั้งหลายภายในสนามบิน ซึ่งคงจะไม่มีใครซื้อแล้วเปิดฝาซดกันในสนามบินทันทีแน่ ในแง่ของการส่งเสริมการท่องเที่ยว จึงมีมุมที่ต่างออกไปจากประกาศฯ ฉบับเดิมในสมัยรัฐบาลของคุณอภิสิทธิ์อยู่อย่างมีนัยยะที่น่าสนใจ อย่างไรก็ตาม ข้อเขียนชิ้นนี้ไม่ได้ต้องการที่จะเขียนถึงประเด็นเรื่องการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ)
สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาอีกประการหนึ่งในประกาศฯ ฉบับปี พ.ศ.2558 นี้ก็คือ ให้เพิ่มวันพระใหญ่ที่ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มเหล่านี้เข้าไปอีกหนึ่งวันคือ วันออกพรรษา
แต่ก็ไม่ได้มีรายละเอียดว่าเพิ่มขึ้นมาใหม่ทำไม?
และไม่ได้อธิบายเหตุผลไว้ในประกาศฯ ว่าทำไมต้องห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันพระใหญ่เหมือนเดิมอยู่ดี?
แน่นอนว่าในศาสนาพุทธสิ่งที่เรียกว่ามี “ศีล” (ซึ่งก็คือ “ข้อปฏิบัติ”) และที่คนไทยรู้จักกันดีคือ ศีล 5 ซึ่งมีข้อหนึ่งระบุเอาไว้ว่า ให้ละเว้นการเสพสุรา
ชาวพุทธ (ซึ่งก็คือประชากรส่วนใหญ่ของประเทศนี้) ทุกคนรู้ดีอยู่แล้วว่า ศีล 5 เป็นข้อยึดถือปฏิบัติของฆราวาส คือผู้ที่ไม่ได้บวชเป็นพระสงฆ์ ภิกษุณี (ที่ถูกศาสนาพุทธแบบไทยๆ คุมกำเนิด) สามเณร หรือแม้กระทั่งแม่ชี (ซึ่งไม่มีในดินแดนต้นกำเนิดของศาสนาพุทธอย่าง ชมพูทวีป เสียด้วยซ้ำ)
การประกาศห้ามจำหน่ายเครื่องดองของเมาทั้งหลายในวันพระใหญ่ จึงดูเหมือนจะเป็นที่เข้าใจได้ ก็ในพระพุทธศาสนาท่านก็อยากให้งดเว้นไม่ให้ดื่มอยู่แล้วนี่ครับ?
น่าสนใจว่าในบรรดาศีลทั้ง 5 ข้อนั้น มีเฉพาะศีลข้อสุดท้ายคือ “สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา” ที่ให้ละเว้นจากการดื่มเครื่องมึนเมาเท่านั้น ที่ให้คำอธิบายว่า “สุรา” (เหล้า, น้ำเมาที่ได้จากการกลั่น) “เมรัย” (น้ำเมาที่ได้จากการหมัก หรือการแช่) และ “มัชชะ” (น้ำเมา, ของเมา) เป็น “ปมาทฏฺฐานา” คือ “ที่ตั้งของความประมาท” ในขณะที่ศีลข้ออื่นไม่ได้มีคำอธิบายอะไรไว้เลย เพียงแค่ “เวรมณี” คือ “ขอเว้น” ไว้เท่านั้น
ทำไมต้องอธิบาย?
คําอธิบายที่ได้ยินกันให้เกร่อ ในปัจจุบันก็คือ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นำมาซึ่งความประมาท เพราะเมาแล้วขาดสติยั้งคิด ซึ่งก็เป็นคำอธิบายที่ไม่น่าแปลกอะไร หากมองจากมุมคิดเรื่องสุขภาพ และวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน แต่คงจะใช้อธิบายได้ไม่ดีนักในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่
คัมภีร์พระเวท อันเป็นคัมภีร์สูงสุดในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูปัจจุบัน แต่เดิมเป็นคัมภีร์ของศาสนาพระเวท (ที่จะพัฒนามาเป็นศาสนาพราหมณ์-ฮินดูนั่นแหละ) มาก่อน มีบทที่ว่าด้วยการถวาย “น้ำโสม” (Soma) คือ “เครื่องดื่มที่ให้ฤทธิ์มึนเมา” อยู่เต็มไปหมด
ในคัมภีร์สามเวท ซึ่งเก่าที่สุดเป็นอันดับสอง ในบรรดาคัมภีร์ทั้งสี่เล่มที่ประกอบเข้าเป็นคัมภีร์พระเวท ถึงกับมีบทสวดสรรเสริญเทพเจ้าที่ใช้สำหรับให้พราหมณ์อุทคาตา (Utgata) สวดในขณะที่คั้น กรอง และถวายน้ำ “โสม” แก่เทพเจ้าทั้งหลาย (ย้ำว่า “ทั้งหลาย” ซึ่งหมายความว่าแต่ละพระองค์ต่างก็นิยมที่จะดริ๊งก์ แดรงก์ ดรั๊งก์ ด้วยกันทั้งนั้น) เป็นการเฉพาะ แถมยังมีเทพปกรณ์ในพระเวทหลายเรื่องเลยเสียด้วยซ้ำ ที่กล่าวถึงประโยชน์ของการดื่มน้ำโสม
พูดง่ายๆ ว่า การดื่มน้ำโสม หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชมพูทวีปยุคโน้น (ซึ่งหมายรวมถึงสมัยของพระพุทธเจ้า) เป็นเรื่องของพิธีกรรมในศาสนาพระเวท ที่จะพัฒนาต่อมาเป็นศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
ดังนั้น ถ้าพระพุทธเจ้าจะเคยตรัสว่าให้ละเว้นเครื่องดองของเมาเหล่านี้ โดยอ้างว่าเป็นที่ตั้งของความประมาท “ความประมาท” ที่ว่าก็คงจะไม่ใช่ฤทธิ์ของพวกมันในทางวิทยาศาสตร์แน่
มีคำเรียกนักบวชในพระพูทธศาสนาคำหนึ่ง ที่คุ้นหูคนไทยเป็นอย่างดีคือคำบาลีว่า “สมณะ” พระพุทธเจ้าเองก็ถูกเรียกว่า “พระสมณโคดม” อยู่บ่อยๆ แต่ที่จริงคำนี้ไม่ได้หมายถึงพระภิกษุในพระพุทธศาสนาเท่านั้น เพราะนักบวชในศาสนาอื่น เช่น ศาสนาเชน ของพระมหาวีระ ที่ถือกำเนิดขึ้นในช่วงร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้า ก็ถูกเรียก “ศรมณะ” ซึ่งเป็นภาษาสันสกฤตด้วย
แน่นอนว่า คำว่า “สมณะ” ในภาษาบาลี ตรงกับคำว่า “ศรมณะ” ในภาษาสันสกฤต และถึงแม้วรรณกรรมในพุทธศาสนาอย่างพระไตรปิฎกจะไม่เรียกนักบวชในศาสนาว่า สมณะ เหมือนกับพวกตนเอง แต่หลักฐานเอกสารร่วมสมัยใช้คำคำเดียวกันนี้หมายรวมทั้งหมดว่า “ผู้ปฏิเสธพระเวท”
แม้ว่าพระพุทธเจ้า กับพระมหาวีระ จะมีแนวทางปฏิบัติที่แตกต่างกัน แต่ต่างก็เป็นผู้ปฏิเสธในพระเวทเหมือนกัน และส่วนหนึ่งที่พระศาสดาทั้งสองพระองค์ปฏิเสธก็คือพิธีกรรม แน่นอนว่าย่อมหมายรวมถึงพิธีกรรมที่มีเครื่องดื่มมึนเมาเป็นส่วนประกอบสำคัญด้วย
ถ้าพระพุทธองค์จะทรงตรัสให้ละเว้นจากเครื่องดื่มอันเป็นที่ตั้งของความประมาทนี้ ความประมาทที่ว่า ก็คือความหลงใหลในพิธีกรรมของศาสนาที่พระองค์ปฏิเสธ ไม่ใช่ความประมาทในฐานะสิ่งให้โทษต่อร่างกาย หรือในฐานะของยาเสพติด เพราะทัศนะของผู้คนในยุคสมัยของพระองค์นั้น เครื่องดื่มเหล่านี้เป็นของวิเศษ และมีสรรพคุณในฐานะ “ยาบำรุง” เสียด้วยซ้ำไป
ที่ห้ามซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กันในวันพระใหญ่ ถ้าจะอ้างถึงศีลข้อนี้ อย่างน้อยที่สุดก็ควรจะทำความเข้าใจให้ตรงกับหลักฐานก่อนนะครับ ไม่ใช่เชื่อตามๆ กันไป
อันที่จริงแล้วในศาสนาอื่น นอกเหนือจากพระเวทอีกมากมายทั่วทุกมุมโลกก็มี “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” เป็นส่วนสำคัญในพิธีกรรมทางศาสนา และรวมถึงศาสนาผีพื้นเมืองของอุษาคเนย์เราก็ด้วย
เรื่อง “นาค” ปลอมเป็น “มนุษย์” มาบวชเป็นมนุษย์แล้วถูกจับได้นั้นมีในพระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 1 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในพระไตรปิฎก
แต่ข้อความในพระไตรปิฎกจบลงที่พระพุทธเจ้าทรงตัดสินให้สึกเพียงเท่านั้น ไม่ได้มีการให้ “บวชนาค” เพื่อเป็นการระลึกถึงอย่างที่เราเข้าใจ
พิธีบวชนาคจึงเป็นเรื่องพื้นเมืองของเรานี่เอง ไม่มีในอินเดียเสียหน่อย (ที่ศรีลังกามี เพราะรับเอาไปจากสยาม พร้อมพุทธศาสนาแบบสยามวงศ์ ไม่ใช่อินเดีย)
จึงไม่แปลกที่ขบวนแห่นาค ในช่วง “เข้าพรรษา” จะเต็มไปด้วยเครื่องดองของเมา เพราะ “นาค” เป็นสัญลักษณ์ของ “คนพื้นเมือง” อุษาคเนย์ ที่กำลังจะเข้าไปสู่ร่มกาสาวพัสตร์ในพระศาสนา จากชมพูทวีป
ที่สำคัญคือช่วงเข้าพรรษาเป็นช่วงฤดูฝน ฤดูแห่งการเพาะปลูก ซึ่งในแต่ละภูมิภาคทั่วทุกมุมโลก มักจะมีพิธีกรรมดั้งเดิมเพื่อร้องขอความอุดมสมบูรณ์จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่มักจะมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นองค์ประกอบสำคัญอยู่แล้ว
ในแง่หนึ่งการดื่มแอลกอฮอล์ในขบวนแห่นาค ช่วงเข้าพรรษา จึงเป็นร่องรอยสำคัญของวัฒนธรรมดึกดำบรรพ์ในอุษาคเนย์ ที่สำคัญจนศาสนาพุทธจากอินเดียต้องรวบเข้ามาไว้เป็นส่วนหนึ่งของตนเอง โดยผูกโยงเข้ากับปกรณ์ในพระศาสนา และวันเข้าพรรษาเสียด้วยซ้ำ
ประเพณีเข้าพรรษาดูจะเป็นวันพระใหญ่ที่เก่าแก่ที่สุด เพราะวันอื่นๆ อย่างมาฆบูชา เพิ่งประดิษฐ์ขึ้นสมัยรัชกาลที่ 4 ในกรุงเทพฯ โดยรัชกาลที่ 4 เองนี่แหละ
วิสาขบูชา ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ก็เพิ่งมีสมัยรัชกาลที่ 2
ส่วนอาสาฬหบูชา เพิ่งเริ่มมีการประกอบพิธีบูชาขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2501 ในประเทศไทยนี้เอง
ประเพณีการงดดื่ม (อย่างน้อยก็ถูกจำกัดเสรีภาพด้วยการออกกฎหมายไม่ให้ซื้อ-ขาย) จึงไม่เคยมีมาก่อน
แถมความพยายามในการจัดการของรัฐแบบนี้ ยังไม่ต่างจากการทำลายร่องรอยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของวัฒนธรรมดั้งเดิมในภูมิภาคนี้ อย่างกรณีวันเข้าพรรษาเสียด้วยซ้ำ
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เองก็มีมิติที่สำคัญในทางวัฒนธรรม การออกกฎหมายให้งดจำหน่าย (ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับการบังคับไม่ให้ดื่ม ถ้าไม่ได้กักตุนเอาไว้) นอกจากจะเสียประโยชน์ในแง่ของการท่องเที่ยว และชวนให้เศรษฐกิจของสถานบันเทิงที่ซบเซาอยู่แล้วยิ่งย่ำแย่ลงไปอีก
ที่สำคัญอีกอย่างคือ คนไทยทั้งประเทศ ไม่ได้มีเฉพาะชาวพุทธเท่านั้นนะครับ ผู้นับถือศาสนาอื่นเขาก็มีสิทธิเต็มที่ในฐานะของพลเมืองไทย ซึ่งไม่ควรถูกลิดรอนจำกัดสิทธิของตนไปด้วยข้ออ้างจากศาสนาใดศาสนาหนึ่ง
มีเพียงรัฐที่เห็นคนไม่เท่ากันเท่านั้นที่จะทำแบบนั้น และมีเพียงศาสนาที่เห็นคนไม่เท่ากันเท่านั้นที่โน้มเอียงที่จะทำแบบนั้น