“มิเชล บาเชเลต์” จากเหยื่อทารุณยุคปิโนเชต์ สู่ข้าหลวงใหญ่ยูเอ็นโอเอชซีเอชอาร์

มิเชล บาเชเลต์ ในช่วงเวลาที่ยังเป็นวัยรุ่น ครั้งหนึ่งเคยถูกทารุณกรรมจากรัฐบาลเผด็จการที่เธอต่อต้าน ทว่าเวลานี้บาเชเลต์ ผู้เคยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีชิลีสองสมัย ได้ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วยงานระดับนานาชาติที่ทำหน้าที่ปกป้องผู้คนจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ในฐานะข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติแล้ว

บาเชเลต์ ผู้ได้รับการจัดอยู่ในหนึ่งในผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลก วัย 66 ปี ได้ก้าวเข้ารับตำแหน่งคุมสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นโอเอชซีเอชอาร์) แทนที่เซอิด ราอัด อัล ฮุสเซน แห่งจอร์แดน อย่างเป็นทางการเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ลูกสาวของนายพลประจำกองทัพอากาศผู้ต่อต้านออกุสโต ปิโนเชต์ ในการยึดอำนาจจากประธานาธิบดีซัลวาดอร์ อัลเลนเด ของชิลีในปี 1973 เริ่มต้นงานในฐานะนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนในช่วงทศวรรษที่ 70

บาเชเลต์และพ่อแม่ถูกจับกุมในฐานะนักโทษการเมืองก่อนที่พ่อของบาเชเลต์จะเสียชีวิตระหว่างถูกคุมขัง

บาเชเลต์ถูกคุมขังในช่วงเวลารัฐบาลทหารเผด็จการ “ปิโนเชต์” เป็นเวลาหลายสัปดาห์ที่ศูนย์สอบสวนและทรมาน “บิลยา กริมาลดี”

“ฉันถูกทรมานทางจิตวิทยาเป็นส่วนใหญ่ และถูกทุบตีบ้าง แต่เขาไม่ได้ “ย่าง” ฉัน” บาเชเลต์เล่าในการให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2014 โดยใช้คำศัพท์สแลงของนักโทษที่หมายถึงการใช้ไฟฟ้าช็อตเพื่อควบคุมนักโทษ

“ฉันโชคดีหากเทียบกับคนอื่นๆ อีกหลายคน พวกเขาจำนวนมากเสียชีวิต” บาเชเลต์ระบุ

 

เคนเนธ โรธ จากฮิวแมนไรท์วอทช์ กลุ่มองค์กรเอกชนไม่แสวงผลกำไรด้านสิทธิมนุษยชนระบุว่า ประสบการณ์ของบาเชเลต์ทำให้เธอเป็นข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนที่สมบูรณ์แบบ

“เธอจะเข้ารับหนึ่งในตำแหน่งซึ่งยากที่สุดในโลกในเวลานี้ ในช่วงเวลาที่สิทธิมนุษยชนถูกโจมตีอย่างกว้างขวาง” โรธระบุหลังการเสนอชื่อบาเชเลต์

ในฐานะที่เธอเคยเป็นเหยื่อ “เธอจะนำมุมมองที่ไม่เหมือนใครในการทำงานเพื่อการปกป้องสิทธิมนุษยชน ประชาชนทั่วโลกจะมั่นใจในตัวเธอเพื่อเป็นนักต่อสู้เพื่อสาธารณะอย่างมีพลัง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นมีอำนาจมาก”

 

หลังได้รับการปล่อยตัว บาเชเลต์และแม่ใช้เวลาหลายปีลี้ภัยในประเทศออสเตรเลียและเยอรมนีตะวันออก

บาเชเลต์เดินทางกลับบ้านเกิดในปี 1979 เพื่อเรียนให้จบปริญญาด้านการแพทย์ แต่สุดท้ายแล้วเธอก็ถูกกีดกันไม่ให้ทำงานเป็นแพทย์ได้อย่างตั้งใจด้วยเหตุผลทางการเมืองหลายประการ

บาเชเลต์ ผู้เรียนมาด้านกุมารแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข เข้าทำงานกับกระทรวงสาธารณสุขหลังประชาธิปไตยกลับคืนสู่ชิลีในปี 1990 ก่อนจะได้รับการแต่งตั้งขึ้นเป็นรัฐมนตรีสาธารณสุขหญิงคนแรกในปี 2000 ก่อนที่อีก 2 ปีต่อมาจะได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมหญิงคนแรกของชิลี

ในที่สุดบาเชเลต์ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของชิลี 2 สมัยด้วยกันในปี 2006-2014 และอีกครั้งในปี 2014 จนถึงเดือนมีนาคม 2018 ที่ผ่านมา

ในฐานะประธานาธิบดี บาเชเลต์ ผู้เป็นนักสังคมนิยม ได้ปฏิรูประบบเงินบำนาญ ปรับปรุงบริการด้านสาธารณสุขและสังคม โดยเน้นไปที่กลุ่มแรงงานที่ยากจน

 

ในปี 2010 บาเชเลต์เข้ารับตำแหน่งในยูเอ็นเป็นครั้งแรกในฐานะผู้อำนวยการองค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ สนับสนุนให้มีความเท่าเทียมทางเพศเกิดขึ้นทั่วโลก

บาเชเลต์เข้ารับตำแหน่งหลัง “เซอิด” ตัดสินใจไม่เสนอตัวดำรงตำแหน่งต่อเป็นสมัยที่ 2 หลังเสียเสียงสนับสนุนจากชาติสมาชิกทรงอิทธิพลในยูเอ็นอย่างสหรัฐอเมริกา รัสเซีย และจีน

เซอิดชื่นชมการเสนอชื่อบาเชเลต์เพื่อดำรงตำแหน่งแทนที่ตน และเรียกร้องให้บาเชเลต์ไม่ต้องลังเลที่จะประณามผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง

ด้านอันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการยูเอ็น ระบุว่า บาเชเลต์นั้นเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิผู้หญิงมาอย่างยาวนาน มีประสบการณ์และทักษะทางการเมืองในฐานะผู้นำอย่างกว้างขวาง และเป็นที่รับรู้กันดีว่ามีความสามารถในการสร้างฉันทามติร่วมกันได้เป็นอย่างดี