คลังผวา…เลือกตั้ง กฎหมายที่ดิน-คุม รสก.ไม่ถึงฝั่ง โหนกระแส(ห่วง)กระทบฐานเสียง

เศรษฐกิจ

 

คลังผวา…เลือกตั้ง

กฎหมายที่ดิน-คุม รสก.ไม่ถึงฝั่ง

โหนกระแส(ห่วง)กระทบฐานเสียง

 

ช่วงนี้ข้าราชการกระทรวงการคลังกำลังลุ้นว่ากฎหมายของกระทรวงยังอยู่ในการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และกฤษฎีกาให้มีผลก่อนเลือกตั้งหรือไม่

ถ้าไม่ทันกฎหมายต้องถูกตีกลับมายังกระทรวง และเริ่มนับ 1 ใหม่ โดยเฉพาะกฎหมายภาษีที่ดินที่พยายามผลักดันกันมานานหลายสิบปี

แม้รัฐบาลชุดนี้จะสนับสนุน แต่กฎหมายค้างอยู่ในชั้นกรรมาธิการ สนช.มานานกว่า 1 ปี

หากไม่ผ่านจะกลายเป็นตำนานกฎหมายอาถรรพ์อีกฉบับหนึ่ง

 

เดิมกฎหมายที่ดินมีกำหนดบังคับใช้ในช่วงต้นปี 2562 มีข่าวแว่วว่า แม้จะผ่าน สนช.ก่อนเลือกตั้ง อาจต้องเลื่อนกำหนดบังคับใช้ไปเป็นปี 2563 เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ระบุว่ายังไม่พร้อมที่จะจัดเก็บภาษีดังกล่าว

ส่วนกฎหมายฉบับอื่นๆ ที่มีความสำคัญไม่แพ้กฎหมายภาษีที่ดิน เช่น กฎหมายอีเพย์เมนต์

สาระสำคัญกำหนดให้ธนาคารต้องรายงานข้อมูลการฝาก-รับโอนของลูกค้า ที่ทำธุรกิจ 3,000 ครั้งต่อปี หรือฝาก-รับโอนเงินทุกบัญชีรวมกัน 200 ครั้งแต่มียอดรวม 2 ล้านบาทขึ้นไปต่อปี

เพื่อให้สรรพากรตรวจสอบภาษีกับธุรกรรมดังกล่าว

กฎหมายภาษีอีบิสซิเนส ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) กำหนดให้ผู้ประกอบการค้าขายและทำธุรกรรมในไทย มีหน้าที่ต้องเสียแวต และหากมีรายได้เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปีต้องจดทะเบียนแวต

ซึ่งกฎหมายดังกล่าวมาแก้ปัญหาการเสียภาษีออนไลน์ส่วนใหญ่ไม่ค่อยเสียแวต โดยเฉพาะผู้ประกอบการต่างชาติ

 

นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. … อยู่ในการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ สนช. ก็ถูกคัดค้านมาก มีแนวโน้มอาจไม่เสร็จก่อนเลือกตั้ง

สาระสำคัญของกฎหมายต้องการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจให้มีธรรมาภิบาล บริหารงานโปร่งใส เป็นมืออาชีพ ปลอดการเมืองแทรกแซงแล้ว

แต่ผู้ที่คัดค้านยังไม่วางใจเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจโดยเฉพาะการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ หรือโฮลดิ้งคัมปะนี ดึง 12 รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ อาทิ ปตท. ทอท. เข้ามาอยู่ในบรรษัทดังกล่าว ถ้าไม่ผ่านการพิจารณาในรัฐบาลยุคนี้ กฎหมายฉบับนี้คงต้องพับเก็บใส่ลิ้นชักไว้อีกนาน

ส่วนกฎหมายอื่นๆ อยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาและต้องเร่งผลักดัน เช่น กฎหมายกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ, กฎหมายธุรกิจสถาบันการเงิน, กฎหมายสถาบันการเงินประชาชน, การแก้ไขกฎหมายสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เพื่อเปิดทางให้ทำสลากรูปแบบใหม่, กฎหมายทรัพย์อิงสิทธิ์, กฎหมายการบริหารจัดการบัญชีเงินฝากที่ไม่มีการเคลื่อนไหวของสถาบันการเงิน

และกฎหมายภาษีลาภลอย

 

เรื่องนี้ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า อยากผลักดันกฎหมายที่ยังค้างอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา 20 ฉบับ และค้างอยู่ในการพิจารณา สนช.อีก 10 ฉบับ ให้จบก่อนเลือกตั้ง โดยจะให้ความสำคัญกับกฎหมายที่ ครม.เห็นชอบแล้ว หรืออยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาของกฤษฎีกา และ สนช. ซึ่ง สนช.กำหนดให้เสนอกฎหมายก่อนวันที่ 30 พฤศจิกายน ดังนั้น หากกฎหมายฉบับใดยังไม่ผ่านการพิจารณาจาก ครม.คงจะไม่ทันแล้ว

นายอภิศักดิ์กล่าวว่า ยังมั่นใจว่ากฎหมายของกระทรวงการคลังที่ค้างอยู่จะผ่านทั้งหมด เพราะกฎหมายที่คลังเสนอไปนั้นสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นเทรนด์ของโลก เช่น กฎหมายอีเพย์เมนต์ กฎหมายอีบิสซิเนส ถ้ากฎหมายดังกล่าวไม่ทันในรัฐบาลชุดนี้เชื่อว่ารัฐบาลหน้าต้องสานต่อ

นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มีกฎหมายค้างอยู่ทั้งกฎหมายแม่และกฎหมายลูกกว่า 80 ฉบับ หากไม่ผ่านในรัฐบาลนี้ ต้องถูกตีกลับมายังกระทรวง และต้องเสนอรัฐบาลใหม่พิจารณา ถ้ารัฐบาลใหม่ไม่เห็นด้วยต้องถูกพับหรือยกเลิกไป

หากกฎหมายสำคัญถูกยกเลิกอาจมีผลกระทบต่อรายได้ และอาจกระทบต่อแผนงบสมดุลที่ถูกกำหนดไว้ในอีก 11-12 ปีข้างหน้า ดังนั้น จะพยายามทำทุกทางเพื่อให้กฎหมายผ่าน แต่จะผ่านได้มากน้อยต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ สนช.

 

ด้านนักวิชาการให้ความเห็นต่อกฎหมายของกระทรวงการคลัง “ถ้าจบไม่ทันเลือกตั้ง” มีผลตามมาหลายเรื่อง อย่างนายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ถ้ากฎหมายของกระทรวงการคลังไม่เสร็จก่อนเลือกตั้ง ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลใหม่จะเห็นด้วยหรือไม่ โดยเฉพาะกฎหมายภาษีที่ดิน ผลักดันกันมาหลายรัฐบาลแต่ยังไม่เคยสำเร็จ และถ้ายังไม่สำเร็จในรัฐบาลชุดนี้ทำให้เสียโอกาส

ส่วนในเรื่องกฎหมายกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจหากไม่สำเร็จในรัฐบาลชุดนี้ กังวลใจว่า พอนักการเมืองมาจะถูกเปลี่ยนแปลงบางอย่าง

เพราะขณะนี้เริ่มมีนักการเมืองมาพูดถึงหน้าที่ของรัฐวิสาหกิจบางแห่งที่ควรจะเป็น ซึ่งในฐานะนักวิชาการอยากเห็นกฎหมายนี้ถูกผลักดันให้จบ เพราะเชื่อมือของคนร่างกฎหมายคือ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล และนายบรรยง พงษ์พานิช ว่าไม่มีผลประโยชน์จากการร่างกฎหมายดังกล่าว

นายนณริฏกล่าวต่อว่า ไทยจำเป็นต้องปฏิรูปภาษี เพื่อให้รัฐมีรายได้เพียงพอกับรายจ่าย เพราะไม่เช่นนั้นรัฐต้องกู้เงินมาใช้จ่ายมากขึ้น แม้ขณะนี้ไทยจะมีหนี้สาธารณะในระดับ 42% ของจีดีพี ถือว่าไม่สูงมาก แต่มีความเสี่ยง 20 ปีข้างหน้า หนี้สาธารณะของไทยสูงถึง 100% เนื่องจากรายจ่ายของภาครัฐมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี

ถ้าหารายรับไม่ทันต้องกู้เงินมากขึ้นเป็นภาระของหลานต้องใช้หนี้แทน

 

นายกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายภาษี กล่าวว่า กฎหมายที่กระทรวงการคลังยังค้างท่ออยู่คงต้องผลักดันต่อไป ถ้าไม่ทันต้องใช้กฎหมายเดิมที่ใช้ในปัจจุบัน หรือหากจำเป็นอาจต้องใช้ ม.44 เพื่อให้กฎหมายมีผลบังคับใช้โดยเร็ว โดยมองว่ากฎหมายเกี่ยวกับอีคอมเมิร์ซ (ค้าออนไลน์) ควรผ่านภายในรัฐบาลชุดนี้ รวมถึงกฎหมายภาษีที่ดิน ควรจะผ่านแต่ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียบางกลุ่มอาจไม่ต้องการให้ผ่าน ดังนั้น คงต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะดำเนินการอย่างไร

ฟากภาคเอกชนพยายามช่วยผลักดันให้กฎหมายยังค้างอยู่จบภายในรัฐบาลชุดนี้ โดยนายกิตติ ตั้งจิตรมณีศักดา เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลและเอกชนกำลังเร่งทำให้คือ ทบทวนกฎหมายที่ล้าสมัย หรือสร้างภาระแก่ประชาชน หากฉบับไหนไม่จำเป็นควรโละทิ้ง หรือที่เรียกกันว่า กิโยตินกฎหมาย

ทั้งนี้ ในส่วนของเอกชนว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาจากต่างประเทศมาช่วยดู โดยพบว่า กฎหมายล้าสมัยใช้มาตั้งแต่ปี 2500 มีเป็นแสนฉบับ ถ้าทำทั้งหมดคงไม่เสร็จก่อนเลือกตั้ง แต่จะมีตุ๊กตาเป็นตัวอย่างว่าจะต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งตรงนี้เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชน และประชาชน รัฐบาลชุดใหม่จะเอาด้วยหรือไม่คงตอบไม่ได้

แต่ถ้าสังคมร่วมกันเรียกร้องน่าจะช่วยผลักดันให้เดินหน้าต่อไป

 

ขณะที่นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กำลังรวบรวมความเห็นและข้อเสนอจากสมาชิกหอการค้าไทย และหอการค้านานาชาติในประเทศไทยเสนอรัฐบาล เพื่อให้เกิดการผลักดันกฎหมายให้แล้วเสร็จภายใน 4-5 เดือน โดยกฎหมายที่เอกชนเห็นว่าควรเร่งแก้ไข เช่น กฎหมายที่จะช่วยลดอุปสรรคและให้สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 กฎหมายรองรับสังคมผู้สูงอายุ กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานหรือการลงทุน เป็นต้น

ยิ่งใกล้เลือกตั้งต้องลุ้นว่ากฎหมายของกระทรวงการคลังตัวไหนจะผ่านบ้าง เพราะกฎหมายหลายตัวแม้จะดี แต่กระทบต่อคะแนนเสียงอาจถูกเบรกไว้ก่อน

ขณะนี้บรรดารัฐมนตรีในรัฐบาลแม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศตัวชัดเจนว่าสนใจการเมือง

ดังนั้น หลายคนฟันธงไปแล้วว่ากฎหมายที่กระทบต่อคะแนนเสียง เช่น ภาษีที่ดิน กฎหมายกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ อาจถูกดองยาว